เคยสงสัยไหมว่า ทำไมเราถึง เถียง ไม่ได้? อธิบายทำไมต้องหาว่าเถียงอยู่เรื่อยเลย เเล้วเราจะมีสิทธิที่จะพูดความรู้สึกหรือความคิดของตัวเองบ้างหรือเปล่า?
Alljit ร่วมกับคุณกวินทิพย์ จันทนิยม นักจิตวิทยาการปรึกษา ที่จะพาคุณมาทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่วัยรุ่นต้องพบเจอ และเรียนรู้วิธีรับมือในมุมมองของนักจิตวิทยา
แสดงความคิด ≠ เถียง แต่ทำไมผู้ปกครองชอบมองว่าเราเถียง
ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ปกครองแต่ละคน
- ผู้ปกครองบางท่านเค้าก็จะเปิดรับความคิดเห็นหรือให้เราแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่
- ผู้ปกครองบางท่านเค้าก็จะคิดว่าสิ่งที่เราพูดออกไปกลายเป็นการเถียงไปซะอย่างนั้น
ซึ่งในบางทีต้องดูที่ตัวเราเองด้วยว่าในการพูดแสดงความคิดเห็นออกไป เราพูดในลักษณะแบบไหน ใช้น้ำเสียงในการพูดแบบไหน ใช้อารมณ์ในการพูดออกไปหรือเปล่า
ถ้าเราพูดด้วยท่าทีหงุดหงิด ใช้อารมณ์ เสียงดังใส่ผู้ปกครอง อันนี้ก็จะดูเป็นการที่เราดูเหมือนกำลังเถียงเค้าอยู่
แต่ถ้าเราควบคุมการพูด การใช้อารมณ์ของตัวเองได้ ใช้น้ำเสียงปกติ และพูดด้วยหลักการและเหตุผล ผู้ปกครองก็น่าจะรับฟังเรามากขึ้น ใช้ความใจเย็นเข้าสู้ ผู้ปกครองก็น่าจะเห็นตรงจุดนี้ว่าเราใช้เหตุผล ในการแสดงความคิดเห็นอยู่
อาบน้ำร้อนมาก่อน?
คำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน ตอนนี้อาจจะใช้ได้กับแค่บางเรื่องบางกรณี เพราะตอนนี้ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป การที่ผู้ใหญ่เอาคำนี้มาพูด ในบางเรื่องมันก็ใช้ไม่ได้แล้ว
เพราะบางทีประสบการณ์ของผู้ใหญ่ในสมัยก่อน กับประสบการณ์ที่เด็กสมัยนี้เจอมันแตกต่างกันมาก
เด็ก ๆ สมัยนี้มีความคิดและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ถึงแม้ในบางเรื่องอาจจะมีคนเตือนแล้ว แต่เด็ก ๆ ก็อาจจะอยากลองทำดูอยู่ดี
วิธีที่สามารถทำให้ผู้ปกครองเปิดใจรับฟังมากขึ้น
บทความจากเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า ชูใจโปรเจค บทความชื่อว่า “วัยรุ่นจะคุยกับพ่อแม่ยังไงให้เข้าใจ (วิธีการสื่อสารกับผู้ใหญ่ไม่ให้พังพินาศ)”
4 วิธีการสื่อสารกับผู้ใหญ่ให้ราบรื่น
1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
“ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง” พอเราเป็นวัยรุ่นเราอาจจะเริ่มเป็นตัวเองมากขึ้น ความคิด นิสัยบางอย่างก็เปลี่ยนไปตามวัยที่โตขึ้น ความสนิทกับพ่อแม่ก็เลยลดลงเพราะเราในตอนนี้ก็ไม่เหมือนกับเราเมื่อก่อนเสียทีเดียว
อีกทั้งความเข้าใจของเราที่มีต่อพ่อแม่ก็จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนตอนเด็ก ๆ ความสัมพันธ์จึงต้องมีการสร้างเพื่อความแน่นแฟ้นมากขึ้น การมีช่วงเวลาที่ดีกับพ่อและแม่
2. ไวในการฟัง
การสื่อสารที่ดีต้องเริ่มต้นจากการฟัง สิ่งสำคัญของการฟังไม่ใช่เพียงแค่ให้เราได้ยินเนื้อหาหรือจับใจความสิ่งที่พ่อแม่พูดเท่านั้น แต่มันคือ “การฟังจนรับรู้ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ของผู้พูด โดยไม่รีบพูด ไม่รีบตัดสิน หรือด่วนสรุปจนเร็วเกินไป”
3.การพูดอย่างฉลาด
การพูดเป็นสิ่งที่ควรฝึกฝนอย่างมากและมีหลากหลายเทคนิคแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น การพูดสะท้อนความรู้สึก เช่น การที่เราพูดว่า “ผมเข้าใจว่าแม่กังวล”
การพูดแบบนี้จะทำให้คนที่เป็นพ่อแม่รับรู้ว่าลูกเข้าใจความหวังดีของตัวเขา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีด้วย
การใช้ I message คือ ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ฉัน/หนู/ผม/ลูก และตามด้วยความรู้สึก หรือสิ่งที่อยากจะเห็น การพูดแบบนี้ ทำให้การสื่อสารชัดเจน และทำให้คนฟังเข้าใจว่า เราต้องการ หรือรู้สึกอะไร
4.สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง
“การจะให้คนยอมรับ เราก็ต้องทำตัวให้เป็นคนที่ไว้วางใจได้ด้วย!” เมื่อพูดอะไรเราก็ควรรักษาคำพูด สิ่งนี้จะค่อย ๆ สร้างความไว้วางใจให้พ่อแม่รู้ว่าเรามีความรับผิดชอบและดูแลตัวเองได้
อาจจะต้องใช้เวลาพิสูจน์ให้คุณพ่อคุณแม่เห็นในครั้งแรก ๆ ว่าเราสามารถทำได้ตามที่พูดจริง ๆ
เขาอาจจะไว้ใจบ้างหรือไม่ไว้ใจบ้างก็ไม่เป็นไรเพราะพ่อแม่ก็แค่ห่วง แต่หากเรารักษาคำพูด สร้างความน่าเชื่อถือ รับผิดชอบคำพูดอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดท่านก็จะไว้ใจเรา และก็จะมอบอิสระให้การคิด ตัดสินใจ และปล่อยให้ดูแลตัวเองมากขึ้น
GAP ที่ต่างกันทำให้มีความคิดเห็นที่ต่างกัน อธิบายอย่างไรให้พวกเขาเข้าใจ ≠ เถียง
#ช่องว่างระหว่างวัย หรือ #Generation Gap เป็นปัญหาที่มีมานาน เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย เกิดจากการที่แต่ละคนแต่ละ gen มีความคิดความเข้าใจที่แตกต่างกัน ซึ่งตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ๆ บางทีพ่อแม่ก็ตามยุคสมัยไม่ทัน
เราก็ต้องทำความเข้าใจพ่อแม่ด้วยว่าบางทีท่านตามเราไม่ทัน ตามสิ่งใหม่ ๆ ไม่ทัน ทำให้ท่านไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำเลยมีมุมมองที่แตกต่างจากเรา
เราก็ไม่ควรที่จะไปหงุดหงิดใส่พ่อแม่เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันและทะเลาะกันไปใหญ่
เราควรใช้เวลาค่อย ๆ อธิบายให้พ่อแม่ฟัง ว่าตอนนี้สมัยนี้มันเป็นไปแบบนี้ ๆ นะ ต้องทำอะไรแบบไหนถึงจะโอเค อธิบายให้ท่านได้พอมองเห็นภาพ ต้องใจเย็น ๆ ให้ท่านได้ใช้เวลาค่อย ๆ ปรับตัวและทำความเข้าใจในยุคสมัยของเรา
ที่มา: https://www.choojaiproject.org/2018/08/how-to-talk-to-your-parents/
Post Views: 3,937