วิกฤตวัยกลางคน ความกังวลที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น

เรื่องAdminAlljitblog

วิกฤตวัยกลางคน ” หรือ Midlife Crisis เป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรถ้าตกอยู่ในภาวะ Midlife Crisis?

 

วิกฤตวัยกลางคน มาพร้อมกับความกังวล จริงไหม?

สารบัญ

วิกฤตวัยกลางคน คืออะไร?

วิกฤตวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความวุ่นวายทางอารมณ์ จะเกิดขึ้นกับช่วงอายุประมาณ 40 ถึง 60 ปี

 

บางคนเกิดขึ้นกับช่วงอายุ 35 ปี โดยจะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความตาย

 

เริ่มมีการตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำสำเร็จ ว่าสิ่งนั้นยังเติมเต็มความรู้สึกและยังมีความหมายอยู่ไหม คำถามเหล่านี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระทันหัน

 

ทั้งในด้านอาชีพ ความสัมพันธ์ หรืองานอดิเรก รวมถึงอาจจะมีพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่นมากขึ้น เช่น การใช้จ่ายที่เสี่ยง และ ความกังวลถึงสุขภาพ

 

 

มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงวัยกลางคน?

มีหลายการค้นพบเกี่ยวกับชีววิทยาของความสุข เช่น U-curve ซึ่ง U-curve เป็นสิ่งที่ใช้วัดความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม มีการศึกษาในแถบยุโรปที่มีกลุ่มตัวอย่างจาก 27 ประเทศ

 

พบว่า คนที่ใช้ยาต้านเศร้าหรือ Antidepressants มีจำนวนเยอะมากในวัยกลางคน หลักฐานในเชิงสถิติต่าง ๆ อาจจะกำลังบอกเราว่า เป็นไปได้นะ ที่วัยกลางคนจะมีความสุขกับชีวิต

 

เพราะมีครอบครัวแล้ว ทำงานมาหลายปีแล้ว ไม่ต้องปรับตัวกับอะไรมากแล้ว แต่สำหรับหลาย ๆ คน การมีความสุขกับชีวิตในวัยนี้ กลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าตอนอายุน้อยกว่านี้ 

 

 

วิกฤตวัยกลางคน เกิดจากอะไร?

“ความกังวล”

1. ความตาย

2. สุขภาพ วัยทอง

3. การตัดสินใจที่ผ่านมา

4. ชีวิตด้านต่าง ๆ ในอนาคต

5. บทบาทและความสำคัญที่ลดลง

“ความสับสน”

1. ชีวิตตัวเองที่ผ่านมาและชีวิตหลังจากนี้

2. การไม่รู้ความสุขและความต้องการของตัวเอง

“โดนความจริงของชีวิตเล่นงาน”

อาจเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในช่วงนี้ เช่น ตกงาน หย่าร้าง สุขภาพล้มเหลว การลาจาก

“ความรู้สึกว่าใกล้จะหมดเวลาแล้ว”

ถึงจะไม่พอใจกับชีวิต แต่ไม่มีเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีโอกาสแล้ว

 

 

วิกฤตวัยกลางคน นำไปสู่ภาวะอะไรได้บ้าง?

1. Midlife Burnout

คือ ความเครียดเรี้อรังที่ก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและจิตใจ รู้สึกไม่ดีกับงานและความสัมพันธ์ 

2. Dead Inside

เป็นภาวะที่รู้สึกว่างเปล่า อย่างที่หลาย ๆ คนชอบเรียกกันว่า เหมือนข้างในตายไปหมดแล้ว

3. Depression 

ภาวะซึมเศร้า จะรู้สึกเศร้ารุนแรงและอาจนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตายได้

 

 

สัญญาณและอาการ

1. ไม่พอใจในชีวิต

2. ผิดหวังกับชีวิต

3. กังวลกับสุขภาพ 

4. เป็นทุกข์กับความเปลี่ยนแปลง

5. รู้สึกสับสนกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตตัวเอง 

6. รู้สึกว่าขาดอิสระ เพราะมีข้อจำกัดต่าง ๆ

7. รู้สึกไร้ค่า ทำบางสิ่งไม่ได้เหมือนที่เคย

8. โหยหาอดีตและช่วงเวลาที่มีความสุข

 

 

ถ้าตกอยู่ในภาวะ วิกฤตวัยกลางคน รับมืออย่างไร?

1.ให้คิดว่า Midlife Crisis  ก็มีด้านบวก

ผลการศึกษาในปี 2016 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Behavioral Development พบว่าข้อดีของวิกฤตวัยกลางคนคือความอยากรู้อยากเห็นที่เพิ่มขึ้น

 

เกี่ยวกับตนเองและโลกรอบตัว ทำให้เกิดการเปิดกว้างต่อแนวคิดใหม่ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและการแก้ปัญหาที่ดี ความอยากรู้นั้นจะทำให้มีความก้าวหน้า

2. ดูแลตัวเอง

ดูว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าต้องการการพักก็พัก 

3. หาอะไรที่มีความสุขทำ 

เพราะการทำในสิ่งที่ชอบจะทำให้มีความสุข และอาจจะได้สังคมใหม่ ๆ ด้วย

4. กลับมาใช้ชีวิตเพราะอายุเป็นเพียงตัวเลข

แนวคิดนี้อาจช่วยสร้างพลังบวกและแรงบันดาลใจได้ ไม่ผิดที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ

5. ยืดหยุ่น

สภาพสังคมในไทยอาจไม่ได้เปิดโอกาสให้คนสูงวัยมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำสิ่งที่อยากทำไม่ได้ ขอให้ลองก่อน อาจจะค้นพบศักยภาพในตัวเอง

6. หาเวลาที่เป็นของตัวเอง 

“Me” time หรือเวลาที่เป็นของตัวเองสำคัญมาก ลองหาเวลาที่เป็นของเรา ดูแลตัวเอง เพราะหลาย ๆ คนให้เวลากับครอบครัว กับงาน จนหลงลืมตัวเองไป

 

 

ถ้าคนใกล้ตัวตกอยู่ใน วิกฤตวัยกลางคน ทำอย่างไรได้บ้าง?

1. เป็น Social Support ให้เขา ดูแลและตอบสนองเขาในสิ่งที่จำเป็น

2. เป็นผู้รับฟังที่ดี อาจจะถามถึงความสุขของเขาหรือกิจกรรมที่ชอบของเขา ไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว

3. อาจจะไม่ต้องคิดหาคำพูดดี ๆ เสมอไป ลองถามเขาว่า มีอะไรไม่สบายใจรึเปล่า? อาจทำให้เขารู้สึกดีที่มีใครสักคนห่วงใยเขา

 

ทุกช่วงของชีวิตไม่ว่าจะเป็น 10 20 30 หรือ 40 ล้วนเป็นการก้าวเข้าสู่ขอบเขตใหม่ ๆ เสมอ  เราทุกคนต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งนึงที่ช่วยได้ คือการทำความเข้าใจตัวเอง

 

เข้าใจว่าเราต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และที่สำคัญเลยคือ  ฟังเสียงตัวเองให้มากๆ ถ้าไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ คงติดค้างในใจไปตลอด โอกาสของเราไม่ได้คงอยู่ตลอดไป 🙂

 

 

ที่มา:

The Real Roots of Midlife Crisis 

What are the Signs of a Midlife Crisis?

Midlife Crisis: Signs and Treatments

If You Have a Midlife Burnout, Do These 4 Things – Quickly

Midlife Crisis ปัญหาหนักใจของวัยกลางคน เบื่องาน หมดไฟ หมด Passion ในการทำงาน