“อยากเลิก เก็บคำพูดคนอื่นมาคิด อยากเลิกใส่ใจคำพูดคนอื่น” หลาย ๆ คนมักจะเกิดความทุกข์ เพราะเก็บบางสิ่งบางอย่างจากผู้อื่นมาไว้กับตัวเอง จนทำให้เรามาตำหนิตนเอง
Alljit ร่วมกับคุณวันเฉลิม คงคาหลวง (นักจิตวิทยาการปรึกษา) เจ้าของแฟนเพจ Trust.นักจิตวิทยาการปรึกษา ทำไมเราถึงเก็บคำพูดคนอื่นมาคิดอยาก อยากแก้ต้องทำอย่างไร?
ทำไมเราถึง เก็บคำพูดคนอื่นมาคิด?
ย้อนไปในวัยเด็ก เราอาจจะได้รับคำตำหนิบางอย่าง จนสูญเสียการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) จนทำให้เราเจ็บปวดและรู้สึกว่าคำพูดของคนอื่นมีอิทธิพลต่อเรามาก
ในช่วงเวลานั้นเราเองก็ไม่สามารถรู้ได้อย่างชัดเจนว่าอะไรผิดหรือถูก หรือต่อให้รู้ก็ห้ามให้เก็บเอามาคิดไม่ได้ เพราะคนสำคัญเป็นคนพูด
จนเกิดเป็นการจดจำว่าอะไรก็ตามที่คนรอบข้างไม่เห็นด้วยกับเรา เราจะเป็นคนผิดทันที เเละเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นบ่อย ๆ ในประสบการณ์วัยเด็ก ก็จะเชื่อว่าเป็นแบบนั้นทั้งหมด
สุดท้ายแล้วเด็กคนนั้นก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจ มีความวิตกกังวลสูง กลัวคนอื่นตำหนิ เชื่อว่าคำพูดที่คนอื่นพูดถูกเสมอและนำคำพูดเหล่านั้นมาทำร้ายตัวเอง
ลองค่อย ๆ จินตนาการ ว่าตัวเรายืนอยู่ท่ามกลางคำพูดคนอื่นที่สาดใส่ตัวเรามาเรื่อย ๆ เเล้วเราคือคนที่วิ่งตามคำพูดคนอื่น ไปตามทิศทางของคำพูดคนอื่น แสดงว่าเรากำลังเป็นคนไม่มีหลักยึด
เพราะว่าลึก ๆ แล้ว ขาดการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นคนแบบไหน ไม่รู้ว่าเรามีข้อดีอย่างไรเลยต้องตามคำพูดของคนอื่นตลอด
เพราะฉะนั้นเมื่อเราตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง คำพูดเหล่านั้นก็จะไม่มีผลกระทบต่อตัวเรา
เมื่อเรารับและเก็บคำพูดคนอื่น จะมีวิธีแก้ไขอย่างไร?
“พิสูจน์คำพูดนั้น”
พิสูจน์คำพูดเหล่านั้นด้วยการเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นออกมา ถ้าพิสูจน์แล้วไม่จริงให้เราเชื่อความจริงที่อยู่ตรงหน้า แต่ถ้าพิสูจน์เเล้วจริง ให้เรายอมรับกับสิ่งนั้น
แต่ไม่ได้ยอมรับแล้วปล่อยทิ้ง ยอมรับแล้วแก้ไขใหม่ ไม่ต้องเปลี่ยนตัวตนของตัวเองแต่พัฒนาเป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น
“สร้างคุณค่าในตัวเอง”
แต่ก็มีอีกกรณีหนึ่ง ที่ถึงแม้จะพิสูจน์แล้วว่าคำพูดนั้นไม่จริง ตัวเราเองกลับไม่เชื่อ อาจจะเป็นประเด็นเรื่องของการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะเราไม่มีหลักยึดเราจึงกระเด็นไปตามความคิดของผู้อื่น
ทางลัดของการสร้างคุณค่าในตัวเองอาจจะเป็นการไปพบนักจิตวิทยาหรือใครสักคนที่พร้อมจะฟีดแบคให้เราได้ คนที่เขาหวังดีกับเราจริง ๆ มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน
ที่สามารถช่วยเหลือคุณได้อย่างตรงไปตรงมาสามารถทำให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะบางครั้งการมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้
เราอาจจะต้องหาใครสักคนที่จะเป็นตัวกลางในการสะท้อนให้เรามองเห็นคุณค่าในตัวเองได้ชัดขึ้นการเลือกคนที่จะปรึกษาเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องเลือกคนที่เราสัมผัสความรู้สึกของเขาได้
ว่าเขาหวังดีกับเราจริง ๆ ลองเปิดใจเชื่อเขา แต่ถ้าเราสามารถที่จะมองหาคุณค่าของตัวเองได้ เราก็ไปในทิศทางนั้นได้เลย
เมื่อเรามีหลักยึดของตัวเองเเล้ว เราก็จะไม่กระเด็นกระดอนไปตามคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่น แต่เราจะพิจารณาตัวเองก่อนว่าเราเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือเปล่าเพื่อนำมาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
Post Views: 2,312