‘ โรคหลงตัวเอง ’ โดยปกติมนุษย์มักจะสนใจตัวเองมากกว่าคนอื่น จนทำให้คนรอบข้างรู้สึกแย่ในการกระทำหรือคำพูดของเรา ถ้าหากสนใจตัวเองมากกว่าคนอื่นในระดับที่ผิดปกติล่ะ ?
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เป็นอยู่เข้าข่าย โรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเอง ชอบยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทุกคนต้องเชื่อฟังฉัน
รู้จัก โรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเอง หรือ Narcissistic Personality Disorder (NPD) เป็น 1 ในกลุ่มของความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality Disorder)
มาจากคำว่า Narcissism ที่หมายถึง บุคลิกภาพที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง สนใจแต่ตัวเอง ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาและความต้องการของตัวเองอย่างเดียว
ที่มาของคำว่า โรคหลงตัวเอง
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ Britannica มาจาก คำว่า Narcissism มาจากเทพที่ชื่อ Narcissus ในปกรณัมกรีกค่ะ Narcissus เป็นเทพที่มีรูปลักษณ์งดงาม
แต่การกระทำที่ใจร้ายของเขาต่อ เอคโค่ นางไม้ที่ตกหลุมรักเขา ทำให้เขาถูกสาปให้หลงรักตัวเองเป็นการลงโทษ จนวันหนึ่งขณะที่ก้มกินน้ำในแม่น้ำ
เขาเห็นเงาตัวเองสะท้อนจากน้ำแล้วหลงใหล จนไม่เป็นอันทำอะไร ไม่ลุกไปไหน จ้องมองอยู่อย่างนั้นนานจนเสียชีวิตกลายเป็นโศกนาฐกรรมเล่าขาน
ลักษณะเด่นของ โรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเอง แสดงออกได้หลากหลายแบบ โดยมากจะมีลักษณะ ดังนี้
1. ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง รู้สึกว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น
2. ขาดความสนใจ ความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
3. มีความต้องการให้คนอื่นสนใจและชื่นชมตัวเองมากจนเกินไป
4. มีความเชื่อว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น อาจจะเป็นในเรื่องของรูปร่างหน้าตา ความสามารถ ฯลฯ ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมการดูถูกคนอื่นได้
เรากำลังตกเป็นเหยื่อของคนที่เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางอยู่หรือเปล่า
รีเช็คตัวเองได้ง่าย ๆ เมื่อเราตกเป็นเหยื่อ มีแนวโน้มว่าเราจะรู้สึก ดังนี้
1. รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า ไร้คุณค่า
2. รู้สึกแย่กับตัวเองเพราะถูกทำร้ายด้วยคำพูดของพวกเขา
3. รู้สึกต้องโกหกตลอดเวลา ไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาได้
4. รู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง เวลาที่แสดงความเป็นตัวเองออกไปจะโดนเขากดหรือแสดงท่าทีที่เหมือนเราผิด
ประเภทของ โรคหลงตัวเอง
Narcissist มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าใช้เกณฑ์อะไรในการวัด แต่โดยหลักแล้วมี 2 ประเภท
1. Overt Narcissist
มีการแสดงออกแบบเห็นได้ชัดเจน คนอื่นสามารถมองออกได้ง่าย โดยมากจะทำตัวยิ่งใหญ่ ทนงตน ไม่ละอายใจต่อพฤติกรรมตัวเอง อวดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น ชอบโชว์พาว คาดหวังว่าคนอื่นต้องนับถือ
2. Covert Narcissist
มีการแสดงออกที่ไม่ชัดเจน หลบซ่อน เก็บอาการเก่ง คนอื่นดูไม่ค่อยออกว่าเขาเป็นโรคหลงตัวเอง เขาจะมีความกระหายการได้รับคำชม อยากได้รับการให้ความสำคัญจากคนอื่นตลอดเวลา จนถึงขอความเห็นอกเห็นใจคนอื่นแบบเนียน ๆ
สาเหตุของ โรคหลงตัวเอง
ภายนอกของคนที่เป็นโรคหลงตัวเองอาจจะดู หยิ่งทะนง โอ้อวด ทำให้คนรอบข้างรู้สึกว่าเขาน่าจะมีความมั่นใจในตัวเองมาก แต่กลับกันเลยคือ คนที่เป็นโรคหลงตัวเองมักมี self-esteem ที่ต่ำ
ทำให้ไม่สามารถรับคำวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบได้เลย รวมถึงต้องแสดงออกว่าตัวเองดี ตัวเองมั่นใจกว่าคนรอบข้าง เพื่อซ่อนความเปราะบางเอาไว้ ทำให้คนที่เป็นรู้สึกได้ถึงความย้อนแย้งภายใน
สาเหตุของโรคนี้ค่อนข้างซับซ้อน ไม่แน่ชัด ทำให้ยังคงมีการศึกษาและการวิจัยอยู่เรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้บุคคลเป็นโรคหลงตัวเองได้ มีดังนี้
1. ความสัมพันธ์ในครอบครัวและการเลี้ยงดู
พ่อแม่ที่ตามใจลูก โอ๋ลูกมากเกินไป หรือไม่ก็ วิพากษ์วิจารณ์เยอะเกินไป จนลูกไม่เหลือความมั่นใจในตัวเอง ทำให้ต้องแสดงออกถึงสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ หยิ่งทะนง โอ้อวด เพื่อปิดบังความ self-esteem ต่ำของตัวเอง
2. กรรมพันธ์ุ
เป็นสิ่งที่ได้รับการส่งต่อกันภายในครอบครัว
3. เหตุผลทางประสาทชีววิทยา
การทำงานประสานกันของสมองและร่างกาย ถ้ามีความผิดปกติ จะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรม
ผลกระทบของ โรคหลงตัวเอง
1. รู้สึกไม่มีความสุข
ทุกข์ทรมาน กับการที่คนอื่นไม่ปฏิบัติกับเขาเสมือนเขาเป็นคนที่พิเศษ เพราะเขามีความเชื่อไปแล้วว่าเขาสมควรที่จะได้รับแบบนั้น
2. เขาจะมีปัญหาความสัมพันธ์
เวลาคนอื่นไม่ปฏิบัติกับเขาเหมือนกับว่าเขาเป็นคนพิเศษ เป็นคนสำคัญ เขาจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์นั้นไม่เติมเต็มเขา ซึ่คงยากที่จะรักษาความสัมพันธ์
3. สร้างความทุกข์ใจให้คนรอบข้าง
กลายเป็นว่าในทุก ๆ เรื่อง คนรอบข้างจะกลายเป็นฝ่ายผิด คนที่เป็นโรคหลงตัวเองจะไม่ฟังใคร ไม่ปรับปรุงตัว ซึ่งจะสร้างความทุกข์ใจให้กับบุคคลที่อยู่รอบตัว
เมื่อคนรอบข้างมีอาการของ โรคหลงตัวเอง
1. NPD ในพ่อแม่
การที่ลูกมีพ่อแม่เป็น NPD อาจจะส่งผลให้ลูกมีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ต่ำ สร้างเกราะคุ้มกันด้วยภาวะหลงตัวเองแทน
2. NPD ในคนรัก
ถ้าเรามีคนรักของเราเป็น NPD เขาจะเล่นกับความรู้สึก ทำให้เราเชื่อว่าเราคงอยู่ไม่ได้หรอกถ้าไม่มีเขา เพราะเขาทั้งรักและสนใจเรามากกว่าใคร
แล้วการที่เขาเป็นคนหลงตัวเองเราจะเห็นว่าเขาเป็นคนที่ทะเยอทะยาน มีเป้าหมายอาจจะทำให้ในช่วงแรกเราหลงรักเขาแบบหัวปักหัวปำเลยจนไม่สามารถตัดขาดเขาได้ในเวลาต่อมา
จัดการตัวเองอย่างไรถ้าต้องอยู่ร่วมกับคนที่เป็น โรคหลงตัวเอง
1. คล้อยตามพวกเขาไปเลยเพื่อตัดความหงุดหงิดใจ เพราะคนที่เป็นโรคหลงตัวเองมักจะไม่ฟังความคิดเห็นคนอื่น
2. ยอมรับว่าพวกเขาเป็นคนที่หาผลประโยชน์มากกว่าให้ผลประโยชน์
3. เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ เป็นสิ่งที่คนเป็นโรคหลงตัวเองไม่ชอบแต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะต้องทำ เพื่อตัวของเราเอง
4. เรียนรู้ที่จะปล่อยวางไม่ไปยึดติดกับพวกเขา
5. ปกปิดจุดด้อยของเราพยายามไม่ให้เขารู้ เพื่อไม่ให้เอามาเป็นข้อได้เปรียบหรือพูดให้เราเสียน้ำใจ
6. ถ้าคนใกล้ตัวเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้ เรามองหาสังคมอื่น ๆ แทนพวกเขา เช่น พ่อแม่ไม่ได้รับฟังเรามากพอเราไปหาฟังก์ชันอื่น สังคมอื่นที่สามารถซัพพอร์ตเราได้
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงวิธีที่หาทางร่วมอยู่แต่ถ้ามันฝืนตัวเรามากเกินไปจนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ อาจจะต้องพิจารณาอีกทีว่ามันคุ้มไหมกับการที่ต้องอยู่ การออกมาเพื่อตัวของเราก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่เลย
ที่สำคัญ NPD เป็นความผิดปกติที่เกิดมาจากการมีความเชื่อผิด ๆ ทำให้ยากที่เขาจะตระหนักรู้ในตัวเอง การทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาเป็นสร้างปัญหาให้ตัวเขาเองและตัวคนรอบข้าง เพื่อให้เขายอมเข้ารับการรักษาจะดีต่อตัวเขา
อ้างอิง
narcissistic personality disorder
Oxford classic dictionary
narcissism
Post Views: 7,778