เราจะ ให้อภัยตัวเอง จากความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นได้อย่างไร? บทความนี้ Alljit ร่วมกับคุณวันเฉลิม คงคาหลวง (นักจิตวิทยาการปรึกษา) เจ้าของแฟนเพจ Trust.นักจิตวิทยาการปรึกษา
การให้อภัยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับการเป็นมนุษย์
คนเราสามารถผิดพลาดกันได้เสมอ บางคนทำผิดพลาดแบบไม่รู้ตัวไม่ตั้งใจที่จะทำลงไป และบางคนตั้งใจทำแต่พอได้ทำลงไปแล้วก็มานั่งคิดว่าเราไม่น่าทำสิ่งนั้นลงไปเลย
แต่กว่าที่เราจะคิดได้ก็สายเกินไปจนเป็นความรู้สึกผิดที่ติดตัว เราต้องรู้จักการเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเอง ยอมรับกับความผิดพลาดที่เราได้ทำไปไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
การ ให้อภัยตัวเอง จากความผิดพลาดแบ่งได้สองกลุ่มใหญ่ ๆ
1.กลุ่มคนที่ตั้งใจทำผิดพลาดแต่ยังไม่สามารถปล่อยวางความผิดของตัวเอง
กรณีตัวอย่าง ของการเป็นแฟนกัน การบอกเลิกใครสักคนในอดีตทำให้ชีวิตของเขาพังมาก ๆ เป็นความผิดพลาดของเราจนเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ เพราะมันผ่านมานานแล้ว การที่เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้
เราคิดว่าเพราะเราเขาจึงรู้สึกแย่แบบนั้น ทำให้ปัจจุบันเราไม่ยอมรับกับตัวเอง ปิดกั้นตัวเอง กดดันตัวเองกลัวทำให้คนอื่นเสียใจ ทำให้มีปัญหาบานปลายมาด้วยการไม่กล้าที่จะเปิดใจกับใคร
แต่ถ้าเราลองมองย้อนหลับไปในอดีต มันคือความผิดพลาดของเราจริง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว และเราไม่แก้ไขอะไรได้แล้วแต่จริง ๆ ชีวิตของเราคือการที่เดินไปข้างหน้านั้นคือสัจธรรมของชีวิต อยากให้เราลองมองย้อนกลับไปว่า
ที่บอกเลิกในวันนั้นยอมรับจากใจจริงเลยว่าเหตุผลที่บอกเลิกไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ณ เวลานั้นเราได้ตัดสินใจไปแล้ว ไม่ใช่ความผิดของเราฝ่ายเดียวเพราะจริง ๆ แล้วอีกฝ่ายก็ต้องรับผิดชอบความรู้สึกของตัวเองเช่นกัน
2.กลุ่มคนที่ไม่ได้ตั้งใจทำให้ผิดพลาดแต่โทษตัวเอง
กรณีของคนที่ถูกข่มขืน ไม่ว่าจะเป็นการที่ถูกหลอกจากกลุ่มเพื่อน หรือโดนคนแปลกหน้า จนทำให้ตัวผู้กระทำรู้สึกผิดกับตัวเอง เป็นตราบาปกับตัวเอง
ซึ่งผู้ที่ถูกกระทำจะโทษตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมีสังคมที่ชอบมาคาดโทษผู้ตกเป็นเหยื่อว่าเพราะ การแต่งตัว การออกไปที่เปลี่ยวคนเดียว แต่ในความจริงแล้วคนที่เลวร้ายคือคนที่กระทำต่างหาก
อีกกรณีคือ การโดนแกล้ง หรือบูลลี่ คนผิดคือคนที่ลงมือเมื่อตกอยู่ในสถานะของเหยื่อ เราอาจจะโทษตัวเอง
แต่อยากให้คิดว่าเราสามารถโทษอีกฝ่ายได้เลย ไม่ควรโทษตัวเอง เพื่อที่จะได้ให้อภัยตัวเองเพราะเราไม่ได้พลาดไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้อยากใช้ชีวิตให้เป็นแบบบนี้ แต่อีกฝ่ายต่างหากที่มาละเมิดสิทธิเสรีภาพของเราไป
การยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อ ให้อภัยตัวเอง
ไม่ว่าการกระทำใด ๆ ก็ตามที่ผ่านมาแล้วมีความจำเป็นอย่างมาก ที่ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับกับสิ่งที่เราตัดสินใจไป และยอมรับว่ามันเป็นไปแบบนั้นซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งของการมีวุฒิภาวะ
เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสุขภาพจิตที่ดีเมื่อเรายอมรับได้เราก็จะปล่อยเรื่องราวในอดีตได้ ไม่ว่าจะเป็นความกดดัน ความคาดหวัง ความรู้สึกที่ดีไม่พอ หรือแม้กระทั่งการโทษตัวเอง
ในท้ายที่สุดเมื่อเรายอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเราได้จริง ๆ เราจะสามารถปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการได้ และไม่รู้สึกผิดกับตัวเอง หรือโทษตัวเองอีก
อาจจะมีบ้างแต่จะไม่รู้สึกผิดถึงกับก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ การให้อภัยตัวเองต้องมองเห็นข้อเท็จจริงให้แน่ชัด และที่สำคัญคือการยอมรับตัวเอง
ทุกความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับเราต้องมองให้เห็นข้อเท็จจริงให้ชัด
ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ใช้ชีวิตต่อไปให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นการปลอบโยนตัวเองต่อความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ระมัดระวังตัวเองเสมอที่จะไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำ
ถึงแม้ว่าระวังแล้วแต่ยังผิดพลาดแต่อย่างน้อยเราก็ได้ระวังอย่างเต็มที่แล้ว
ในกรณีที่เราไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นถึงแม้ว่าสังคมจะคาดโทษกับสิ่งที่เราโดนกระทำ โดนสายตาคนนอกมองเราไม่ดี แต่ในความจริงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเราเลย
ทำไมเราต้องใช้ชีวิตด้วยตราบาปที่เป็นความเชื่อผิด ๆ ของสังคม เราต้องเห็นความจริงยอมรับความจริงให้ได้
และยืนขึ้นด้วยความแข็งแรงของเรา เราไม่ได้ตั้งใจเปิดโอกาสให้ใครมาทำร้ายเรา ล่วงละเมิดเรา คนผิดคือคนที่เข้ามาล้ำเส้นและทำให้เราตกเป็นเหยื่อต่างหาก
Post Views: 4,402