สู้ ๆ

คำว่า ‘ สู้ ๆ ‘ อาจไม่ช่วยให้ใจฟู โดยเฉพาะผู้ซึมเศร้า

เรื่องAdminAlljitblog

คำว่า สู้ ๆ ในวันที่รู้สึกอยากได้กำลังใจ เราคงรู้สึกว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราได้ดี ที่อยากจะสู้ต่อแต่ถ้าได้ยินในวันที่เรารู้สึกไม่พร้อม รู้สึกเหนื่อย หรือหมดพลังอาจมีคำถามย้อนกลับมาว่า

 

ให้เราสู้กับอะไร ฉันต้องสู้กับใคร สู้กับสิ่งไหนช่วยบอกได้ไหม. .

คำว่า สู้ ๆ ให้กำลังใจได้จริงหรือเปล่า?

คำว่าสู้ ๆ นะ อาจไม่ได้ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้กับใครหลาย ๆ คน และในขณะเดียวกันอาจส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์ของเขา ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่าเราไม่ได้รู้สึกถึงสิ่งที่เขากำลังเผชิญ

 

หรือเข้าใจในมุมมองของเขาจริง ๆ ซึ่งคำบางคำที่เรารู้สึกว่าเป็นการให้กำลังใจเขาในความรู้สึกของเรา คำเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เป็นการช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นมาได้

 

แต่กลับกลายเป็นการตั้งคำถามกลับมาว่า ให้ฉันสู้กับอะไร ฉันไม่ได้อยากสู้กับอะไรทั้งนั้น 

 

บางครั้งตัวเราเองอาจต้องกลับมาถามตัวเราด้วยว่า ถ้าหากเราได้ยินคำพูดเหล่านั้น เราจะรู้สึกดีขึ้นไหม เพราะกับคนที่เขากำลังมีปัญหา กับคนที่เขากำลังทุกข์ใจ กับคนที่เขากำลังแบกภาระความรู้สึกบางอย่างไว้

 

และกำลังรู้สึกแย่กับชีวิตมาก ๆ คำพูดบางคำเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาได้มากเท่าไหร่นัก ถึงแม้ว่าจะมาจากความจริงใจของเราเองก็ตาม เขาอาจจะมองว่าเรามองข้ามปัญหาของเขา

 

มองว่าก็เพราะว่าเราไม่ได้มายืนอยู่จุดเดียวกับเขานิ  ไม่ได้มาเข้าใจความรู้สึกของเขาจริง ๆ ว่ามันหนักแค่ไหน มันเหนื่อยยังไงบ้าง 

 

ซึ่งจริง ๆ การที่เราจริงใจและหวังดีที่อยากจะพูดบางอย่างเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเขา อยากให้เขาผ่านเรื่องราวเหล่านั้นไปได้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ ที่เรามีความรู้สึกแบบนั้น

 

แต่สิ่งที่เราอาจจะลองเริ่มกลับมาทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก่อน คือ การทำความเข้าใจในการพูดเพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้อื่น เพื่อเป็นการให้กำลังใครสักคนหนึ่ง การช่วยใครสักคนหนึ่ง

 

ถ้าไม่ใช้คำว่า สู้ ๆ ใช้คำพูดไหนถึงไม่ทำร้ายความรู้สึก

ลองดูว่าเราสามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง เราควรใช้คำพูดแบบไหน พูดว่าอะไรเพื่อที่จะไม่ไปกระทบความรู้สึกของเขา. .

 

เริ่มจากการลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเราเองหรือนึกถึงว่าถ้าในวันหนึ่งที่เรากำลังรู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกแย่ 

 

แล้วเราได้ยินประโยคที่ว่า “ เฮ้ย มันเป็นเรื่องแค่นี้เอง ” หรือเรากำลังรู้สึกเศร้า แล้วมีคนพูดกับเราว่า “ เศร้าทำไม เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ” 

 

เราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้ยินคำพูดเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าในบางครั้งเรามักคุ้นชิน กับประโยคที่คุ้นหูกันอยู่บ่อยครั้ง แล้วพูดออกไปเพียงเพราะอยากช่วยให้รู้สึกดี เช่น “เราเคยผ่านมันไปได้ เธอก็ต้องผ่านมันไปได้สิ” 

 

“เราอาบน้ำร้อนมาก่อน เราเคยผ่านเรื่องแบบนี้มาก็ไ่ม่เห็นจะยากที่จะผ่านมันไปได้” คำพูดเหล่านี้ คือการเปรียบเทียบจากมุมมองของเราเอง แต่อย่าลืมว่าตอนนั้นจิตใจของเขากำลังย่ำแย่อยู่

 

ซึ่งในภาวะอารมณ์ตอนนั้นของใครหลาย ๆ คนก็อาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับและผ่านมันไปได้ สิ่งที่เราเริ่มจากความหวังดี เราสามารถเริ่มจากการให้กำลังใจเขาได้ด้วยการรับฟังเขาจากความจริงใจ

 

รับฟังเขาอย่างไม่ตัดสิน ไม่เอาความคิดของเราไปตัดสินเขา ไม่เอาเรื่องของเขาไปเปรียบเทียบกับเรื่องของใครเลย หรือเอาเรื่องของเขามาเปรียบเทียบกับตัวเราเองที่เคยผ่านเรื่องราวเหล่านั้นมาได้

 

การที่เรารับฟังเขาจากมุมมองที่เกิดขึ้นจากตัวเขาจริง ๆ ที่เขากำลังเผชิญกับเรื่องอะไรมาหรือกำลังทุกข์ใจ เพียงแค่นี้ก็สามารถช่วยให้เขาเริ่มรู้สึกดีขึ้นมาได้ หรือถ้าเราต้องการที่จะพูดสื่อสารอะไรกับเขาสักอย่างหนึ่ง

 

เพื่อให้เขารู้สึกดีและมีกำลังใจ อาจเริ่มต้นจากการถามความรู้สึกของเขา ว่าเขารู้สึกยังไงกับเรื่องราวที่เขาเจอมา มันกระทบกับความรู้สึกของเขามากน้อยแค่ไหน หรือความรู้สึกเศร้าที่มันเกิดขึ้นเกิดขึ้น

 

จากการที่เขากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ ลองทำความเข้าใจกับความรู้สึกว่าเรื่องเป็นยังไง ข้อเท็จจริงเป็นแบบไหน ทำความเข้าใจอารมณ์ของเขาให้มันมากยิ่งขึ้น

 

เพราะเราเองต้องการให้กำลังใจเขา ต้องการช่วยเหลือเขา เราไม่ได้ต้องการที่จะไปสอบสวนเขา เพราะฉะนั้นการมองข้ามต่ออารมณ์และความรู้สึกของเขาอาจจะทำให้เขารู้สึกแย่กว่าเดิมก็ได้ที่เราเข้าไปอยู่ตรงนั้น 

 

ถ้าเราเริ่มรู้แล้วว่านั่นคือความเศร้ามาก ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วเราเริ่มเจอเหตุผล และเริ่มเข้าใจว่าความเศร้านั้นมีเหตุมารองรับ ให้เราแสดงความเข้าอกเข้าใจเขา อาจพูดกับเขาว่า

 

“เราเข้าใจว่าเรื่องนี้ทำให้เธอเศร้ามาก ซึ่งถ้าเป็นเรา เราก็คงเศร้าไปกับเรื่องนี้เหมือนกัน” หรือ “ถ้าเรามองในมุมมองของเธอ แล้วเราไปยืนอยู่ตรงนั้น เราอาจจะเศร้าได้แบบนี้เหมือนกัน”

 

คำพูดเหล่านี้อาจทำให้เขารู้สึกได้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขา มันไม่ได้ผิดเลยที่เขาจะเศร้าหรือรู้สึกแย่ที่เขากำลังรู้สึกอะไรแบบนี้

 

แต่หากเขาไม่สามารถแสดงความรู้สึกให้เรารับรู้ได้เลย เราอาจจะแสดงออกด้วยการอยู่ข้าง ๆ เขา หรือพูดกับเขาว่า “เราอยู่ตรงนี้นะ” 

 

“เราช่วยอะไรได้บ้างได้ไหม” หรือ “โอเคนะ ถ้าจะร้องไห้ในวันที่เรารู้สึกเศร้า” 

คำพูดเพียงแค่ไม่กี่คำก็สามารถเป็นตัวช่วยหนึ่งได้แล้วที่ทำให้เขาไม่ต้องรู้สึกว่าเขาต้องเผชิญกับความรู้สึกแบบนี้อย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง และเขาอาจรู้สึกได้ว่า การมีเราอยู่ตรงนี้สามารถช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

 

และช่วยให้เขาผ่านเรื่องราวเหล่านั้นไปได้ รู้สึกมีคนเข้าใจเขา และมองเราเป็นพลังบวกที่ดี เพราะถ้าเขาเกิดภาวะความเครียด การมองปัญหาและมองหาทางออกจะค่อย ๆ เล็กลง

 

เวลาที่ใครสักคนต้องตกอยู่ในสภาวะจิตใจย่ำแย่ สิ่งที่ปรากฎออกมาอย่างชัดเจอคือความคิด กลัวการถูกคนอื่นมองว่าแย่ มองว่าไม่เก่งถ้าเราอยากเป็นคนหนึ่งที่ช่วยเขา

 

ลองชวนเขามองจากสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเดิมให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น พยายามชวนเขามองในแง่มุมต่าง ๆ ของปัญหาแต่ไม่เอาความคิดของเราไปใส่ในความคิดของเขา ไม่ต้องไปบอกว่าเขาต้องทำอะไร

 

เพียงแค่ลองถามเขาว่าสามารถเป็นทางอื่นได้ไหม เป็นคำพูดที่ช่วยให้เขาสะท้อนความคิดออกมา เป็นเทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยให้เขาสามารถเปิดมุมมองในการให้เขาเผชิญกับปัญหาได้ ช่วยให้เขาเรียนรู้จากความรู้สึก 

 

การที่เราอยากช่วยใครอาจต้องลองมองย้อนกลับมาดูที่ตัวเราด้วย ว่าเราเองก็สามารถทำแบบนั้นได้หรือเปล่า ถ้าเราอยากเป็นพลังบวกที่ดีให้กับคนอื่นได้ เราก็ต้องเป็นพลังบวกที่ดีให้กับตัวเองได้ด้วยเหมือนกัน

 

และความหวังดีของเราไม่ได้มีอะไรที่บอกว่าถูกและผิด เพียงแค่เราคิดอยากเป็นกำลังใจให้กับเขา ก็เป็นการเริ่มต้นด้วยความหวังดีที่ดีมาก เป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้เราได้กลั่นกรองความคิดก่อนพูด ด้วยการเลือกคำ

 

เลือกประโยค และตั้งคำถามเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์นั้น

 

อีกหนึ่งเทคนิคง่าย ๆ ที่สามารถเป็นกำลังให้กับคนอื่นได้ คือ การเป็นผู้รับฟังที่ดี ซึ่งการรับฟังเป็นเรื่องที่ง่าย เพียงแค่ฟังเขาผ่านมุมมองของเขา ฟังเขาอย่างไม่ตัดสิน

 

ฟังเขาอย่างไม่เปรียบเทียบเขากับคนอื่นหรือแม้กระทั่งกับตัวเอง ก็เป็นการช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง โดยที่เราอาจจะไม่ต้องเลือกใช้คำพูดอื่นใดอีกต่อไปแล้ว

Related Posts