เก็บคำพูดคนอื่นมาคิด

อย่า เก็บคำพูดคนอื่นมาคิด พูดง่ายแต่ทำยาก ถ้าไม่อยากเก็บคนพูดคนอื่นมาคิด ต้องทำอย่างไร?

เรื่องAdminAlljitblog

อย่า เก็บคำพูดคนอื่นมาคิด พูดง่ายแต่ทำยาก ถ้าไม่อยากเก็บคนพูดคนอื่นมาคิด ต้องทำอย่างไร? ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางครั้งเราก็เก็บคำพูดของคนอื่นมาคิดจนเป็นตัวเราเองที่ทุกข์ใจ ไม่สามารถพาตัวเองออกมาจากคำพูดเหล่านั้นได้เลย…

 

คุยกับนักจิตวิทยาคลินิก Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ

ทำไมเราต้อง เก็บคำพูดคนอื่นมาคิด

สังคมในยุคปัจจุบัน มีการเปิดกว้างให้เราได้เเสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ได้แสดงออกในสิ่งที่ตัวเราเองคิด แต่ในขณะเดียวกันเราเองก็ไม่ได้เปิดรับขนาดนั้น

 

เวลาที่มีคนมาวิพากษ์วิจารณ์เรา คำพูดเหล่านั้นก็จะกระทบกับอารมณ์และความรู้สึกของเราใช่ไหมคะ?

 

จนบางทีการที่เรารับฟังคำพูดเหล่านั้น เราก็มักจะเก็บมาคิดและที่จดจำได้ดีที่สุดคือความคิดแย่ ๆ และคำพูดด้านลบที่มีต่อตัวของเราเอง จนบางครั้งเราก็คิดมาก ยิ่งคิดวน ๆ ตัวเราก็ยิ่งแย่ลง ไปตามเป้าหมายของตัวเองไม่ได้เลย นอนไม่หลับ

 

หรือบางคนในเกิดเป็นภาวะอารมณ์บางอย่างที่ไม่อยากจะทำอะไร เบื่อหน่าย ไม่อยากจะเจอใคร และตามมาด้วยปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ

ไม่อยาก เก็บคำพูดคนอื่นมาคิด ทำอย่างไรดี?

การที่เราได้รับคำพูดเชิงวิพากย์วิจารณ์หรือตำหนิติเตียนเรา บางครั้งก็ไม่ได้ดีต่อใจเราเลย บางครั้งก็รู้สึกแย่กับคำพูดเหล่านั้นมาก ๆ หรืออาจจะรู้สึกสนกับตัวเองว่า “หรือจริง ๆ เราเป็นแบบนั้นกันแน่” 

 

แต่ในขณะเดียวกันเราเองมีสิทธิ์ที่จะเก็บคำพูดเหล่านั้นมาคิดได้ แต่เราต้องเลือกว่าเราจะต้องแคร์กับคำพูดของคนแบบไหน  และคำพูดแบบไหนที่เราควรที่เก็บมาคิดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเอง

1.เปลี่ยนความคิด

อย่างแรก เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนแง่มุมความคิดของตัวเราก่อน ว่าสิ่งที่เขามาพูดคุยกับเราคือเขามาวิพากษ์วิจารณ์และให้โอกาสตัวเองได้เลือกว่าเราอยากจะเก็บคำพูดแบบไหนมาคิด ไม่จำเป็นต้องเก็บมาคิดทั้งหมด

 

หรือถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะเลือกได้เลย ว่าคำพูดไหนควรที่จะเก็บมาคิด ให้เราลองเปลี่ยนความคิดว่านั่นอาจจะเป็นแค่ความคิดเห็นของเขา ไม่ใช่ตัวเราทั้งหมด 100 %

 

อาจจะมาจากการที่ตัวเขาตัดสินเราว่าเราเป็นแบบนั้น เพราะอาจจะผ่านจากประสบการณ์ของเขาเอง เขาไม่ได้รู้จักเราจริง ๆ

 

เรารู้ตัวเองดีที่สุดว่าเราเป็นอย่างไรและเราก็รู้ว่าจริง ๆ แล้วความจริงเป็นอย่างไร ถ้าเราเปลี่ยนความคิดว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นความคิดเห็นของเขา เราก็จะปล่อยวางได้บ้าง

2.ถอยออกมาจากคนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์เรา

ถ้าเรารู้แล้วเวลาที่เราอยู่กับคนไหน แล้วมีการใส่คำพูดที่เป็นด้านลบหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เรารู้สึกแย่ลง เราก็อาจจะต้องค่อย ๆ ถอยตัวเองออกมา ถอยออกมาให้ห่างจากคนที่มีความคิดลบ ๆ แบบนั้น

 

พาตัวเองออกมาให้ไกลที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะถ้าเรายังอยู่ในสภาพแวดล้อมของคนที่มีความคิดด้านลบตลอด จะทำให้บั่นทอนและสุดท้ายก็จะเป็นตัวเราที่เเย่ลง เราจะเริ่มจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้

 

จนบางครั้งเราอาจจะลดคุณค่าในตัวเอง ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือบางครั้งเราก็อาจจะหลงลืมความเป็นตัวเองไป

 

ยิ่งเราถอยห่างออกมา เราจะยิ่งเห็นเลยว่าจริง ๆ แล้ว เราไม่ได้เป็นแบบที่เขาเคยพูด เราก็ไม่ต้องเอาคำพูดที่เขาพยายามจะป้อน เก็บกลับมาคิดทบทวน วนไปวนมา และอาจจะรู้สึกว่าชีวิตเราจะเดินหน้าได้ง่ายขึ้น

3.เราเลือกได้ว่าเราจะคุยกับใคร

เราเลือกได้ว่าตัวเราอยากคุยกับใคร ใครที่เรารู้สึกไว้วางใจได้ เวลาที่เราเจอคำพูดอะไรที่เป็นความคิดด้านลบ เราเองก็คงอยากพาตัวเองหนีออกมาจากคำพูดเหล่านั้นและคนเหล่านั้น

 

แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าเวลาที่มีใครสักคนมาพูดกับเรา เราก็อดไม่ได้ที่จะเก็บคำพูดนั้นมาคิด

 

แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเอาแต่คำพูดของเขามาคิด มาทบทวน วนไปวนมาอยู่แบบนั้น ตัวเราเองก็จะไม่สามารถออกมาจากคำเหล่านั้นได้

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือ “เลือกฟัง” คนที่เราควรจะฟัง การที่เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นมาจากความคิดเห็นและมาจากใครเยอะแยะไปหมด เราควรจะเลือกด้วยว่าสิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ สิ่งไหนที่มาจากคนที่เขาหวังดีกับเราจริง ๆ 

 

การที่เราเชื่อคำพูดจากคนที่เราแคร์ หรือคนที่ไว้วางใจได้จริง ๆ จะทำให้เรามองเห็นตัวตนที่แท้จริงว่าเราเป็นอย่างไร แต่การเเสดงความเห็นเหล่านั้น อาจจะต้องสอดคล้องกับหลักความเป็นจริงด้วย

 

ว่าเราเลือกเชื่อคนนี้แล้ว เราเป็นแบบนี้จริงๆหรือเปล่า เพราะบางครั้งไม่ใช่แค่คำพูดลบ ๆ เท่านั้นที่ตัวเราเก็บมาคิดและส่งผลลบต่อตัวเองได้

 

เราสามารถเลือกที่จะเก็บ สามารถเลือกคำพูด เลือกคนได้ แต่อย่าลืมที่จะวิเคราะห์ตัวเองว่าเราเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือเปล่า การที่เราวิเคราะห์ตัวเอง อาจจะทำให้เราชั่งน้ำหนักกับตัวเองได้ถึงคำพูด ที่เขาแสดงความคิดเห็นกับเราได้

“เราเป็นแบบนั้นมากน้อยแค่ไหน”

“สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เราได้วิเคราะห์ตัวเองไว้หรือเปล่า”

“ตัวเราเองก็จะรู้ว่าใครที่เราควรจะเอาคำพูดของเขาเก็บมาคิด”

และที่สำคัญที่สุด ตัวเราเองที่รู้จักตัวเองดีที่สุด คนอื่น ๆ เป็นเหมือนกระจกที่คอยสะท้อนให้ตัวเราเองเห็นตัวเองในมุมมองต่าง ๆ แต่ไม่ได้แปลว่ากระจกนั้นจะจริง 100%

 

ถ้าเราได้มีการวิเคราะห์กับตัวเองแล้วว่าในโลกของความเป็นจริงเป็นอย่างไร จะทำให้เราหยุดคิดมากกับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ง่ายขึ้น

 

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันกลับมาดูแลและฟังเสียงความรู้สึกของตัวเรา การที่เก็บคำพูดของคนอื่นมาคิดตลอดเวลา เหมือนการที่เราปล่อยใจไปกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยตัวเองไปกับคำพูดของคนอื่นมากเกินไป

 

จนบางครั้งเราก็มองข้ามความรู้สึกของตัวเราไป ว่าจริง ๆ แล้วเรารู้สึกอย่างไรและลึก ๆ เเล้วเราคิดอย่างไร ใครว่าดีเราก็ว่าดีตาม ใครว่าแย่เราก็แย่ตาม เราหลงลืมตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไป 

 

อาจจะเริ่มจากการฝึกคุยกับตัวเอง ฝึกฟังเสียงตัวเองและเลิกฟังเสียงคนรอบข้างสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้ตัวเราเองเข้าใจและทำความรู้จักตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นคนอย่างไร รู้สึกอย่างไร

Related Posts