คนรอบตัวมากมายยังรู้สึกเหงา จัดการกับ ความเหงา

เรื่องAdminAlljitblog

เคยไหม ? รู้สึกเหงาทั้ง ๆ ที่มีคนรอบข้างมากมาย… ” ความเหงา ” เป็นความรู้สึกหนึ่งที่นำพามาซึ่งความเศร้าจริงไหม ? เพราะอะไรมนุษย์ถึงรู้สึกเหงา ทำไมความเหงาของเราและคนอื่นถึงไม่เท่ากัน ?

 

 

เมื่อ ความเหงา เท่าอวกาศ ทำอย่างไรดี?

สารบัญ

ความเหงา คืออะไร? 

จากหนังสือ เหตุเกิดจากความเหงา หมอปีย์กล่าวว่า ความเหงาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อ เรามี “ปริมาณคนในชีวิตหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชีวิต” น้อยกว่าที่เราคาดหวังไว้ 

 

ในมุมของวิวัฒนาการ ความเหงาที่เรามองว่าเป็นความรู้สึกหนึ่งที่นำพาความเศร้ามาให้  เพราะอะไรถึงวิวัฒนาการตามเรามานะ? มันมีประโยชน์ยังไง? หมอปีย์บอกว่า ความเหงาทำให้เราเกาะกลุ่ม

 

หาคนอยู่ด้วย เพื่อให้เราอยู่รอด และที่น่าสนใจคือ ความเหงาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า เรามีเพื่อนเยอะหรือเพื่อนน้อย คนเพื่อนเยอะ คนเข้าสังคมเก่ง ก็เหงาได้ ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขามีตอนนี้ไม่เพียงพอ

 

สิ่งที่เขามีไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกเขาได้ จากที่อ่านเล่มนี้และจากที่เคยเรียนด้วย ทำให้มิ้นเข้าใจและมองว่าความเหงาเป็นความรู้สึกและมุมมองที่เรามีต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเราเอง 

 

 

ความเหงา มีกี่รูปแบบ?

Weiss (1973) ได้จำแนกความเหงาออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ความเหงาทางอารมณ์ (Emotional loneliness)

หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากการขาดความสัมพันธ์กับบุคคลที่ใกล้ชิด การเพิ่มปริมาณของความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่สามารถช่วยให้ความเหงาประเภทนี้ลดลงได้

2. ความเหงาทางสังคม (Social loneliness)

หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากการขาดเครือข่ายทางสังคมหรือการขาดกิจกรรมทางสังคม ความเหงาประเภทนี้สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มเครือข่ายทางสังคมและกิจกรรมทางสังคม

 

 

ส่วน Beck และ Young (1978) ได้แบ่งความแตกต่างของความเหงาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ความเหงาแบบเรื้อรัง (Chronic loneliness)

หมายถึง ความเหงาที่เกิดจากความล้มเหลวในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่น่าพึงพอใจเป็นระยะเวลาหลายปี รวมถึงการรับรู้ว่าถูกทอดทิ้งจากการสื่อสารระหว่างบุคคล

2. ความเหงาจากสถานการณ์ (Situational loneliness)

เป็นความเหงาที่มีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดทางลบ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดการหยุดชะงัก เช่น การตายของคนที่รัก

3. ความเหงาแบบชั่วคราว (Transient loneliness)

เป็นความรู้สึกอ้างว้างที่เกิดขึ้นชั่วขณะเป็นครั้งคราว เช่น หลังจากประสบความสำเร็จ บุคคลอาจพบความสุขและความโล่งอกแต่ยังรู้สึกว่างเปล่า หรือความรู้สึกหลังจากจบงานเลี้ยงเนื่องจากต้องแยกจากกลุ่มเพื่อน

 

 

ความเหงา เป็นโรคติดต่อ จริงไหม?

หมอปีย์กล่าวว่ามนุษย์ส่งความรู้สึกต่อกันง่ายมาก ถึงขนาดที่ว่าแค่เราอยู่ใกล้คนที่รู้สึกเหงา โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาเหงา เราก็เหงาได้แล้ว และไม่ใช่แค่ความเหงาด้วย ความเศร้าหรือแม้กระทั่งความสุข

 

ก็ติดต่อกันได้ง่าย ลองนึกภาพดู คนรอบข้างหัวเราะเราก็หัวเราะหรือคนรอบข้างเศร้าเราก็เศร้า เวลาเจอคนเศร้า ถึงเราจะไม่ได้เข้าไปคุยกับเขา เราก็คงรู้สึกซึม ๆ ตามไปด้วย

 

 

ความเหงา ในงานวิจัย เป็นอย่างไร?

รัฐบาลอังกฤษได้ก่อตั้งกระทรวงแห่งความเหงา (Ministry of Loneliness) ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ตั้งแต่ช่วงปี 2561 ถือเป็นความพยายามในการรับมือกับปัญหาสุขภาวะทางจิต

 

โดยเฉพาะความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเหงาของผู้คนในช่วง COVID-19 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แต่งตั้ง นายเท็ตสึชิ ซากาโมโตะ

 

ในตำแหน่งใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็น Minister of Loneliness หรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความเหงา โดยมีหน้าที่พิเศษเพื่อต่อสู้กับวิกฤตความเหงาและความโดดเดี่ยวของประเทศที่ทวีความรุนแรงขึ้น

 

ในช่วงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ส่วนประเทศไทยจากผลสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 ของมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าประเทศไทยมีสถิติคนเหงาพุ่งสูงถึง 26.57 ล้าน 

 

นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ ก็ออกมาให้ข้อมูลตรงกันว่า ความเจ็บปวดทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพราะความเหงานั้น นำไปสู่ภาวะความผิดปกติทางจิตเวชได้  เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล

 

ถ้าอาการหนักขึ้นก็อาจจะเข้าขั้นภาวะประสาทหลอน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลบ่งชี้ด้วยว่า ภาวะความเหงาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง

 

ที่อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และอัลไซเมอร์ รวมถึงทำให้อายุขัยสั้นลงเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ประมาณ 15 มวนต่อวัน 

 

 

อยู่กับคนเยอะ ๆ จะหายเหงา จริงไหม?

มีมุมมองหนึ่ง สำหรับคนที่มีทุกอย่างครบ ครอบครัว คนรัก เพื่อน เหงาไหม? กล่าวได้ว่า ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เหงา เพราะการที่เราเคยชินกับการมีครบ วันหนึ่งมีใครสักคนหายไป

 

เช่น ทะเลาะกับแฟน เลิกกับแฟน อาจจะเกิดความเหงาได้ ถึงแม้จะยังมีครอบครัวกับเพื่อนอยู่ และอยู่กับคนเยอะ ๆ แล้วเหงา เป็นไปได้มากง่ายมาก ถ้าคนเหล่านั้นเป็นคนที่ต่างวัย ต่างสังคม

 

ต่างทัศนคติ ที่เราไม่สนิท ไม่สบายใจ ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เลย ทุกคนจะรู้สึกได้ง่ายเวลาการปฏิสัมพันธ์มันไม่ลงล็อกกัน กลับกัน ถ้าเราเจอคนที่คล้ายเราสักคนในนั้น ความเหงาจะบรรเทาลง

 

 

อยู่คนเดียวแล้วต้องเหงา จริงไหม?

ที่น่าสนใจอีกอันนึงคือ ความเหงาอาจเกิดขึ้นกับ ‘คนที่เหนื่อยกับการอยู่คนเดียว’ ได้เหมือนกัน คำว่าคนที่เหนื่อยกับการอยู่คนเดียว มาจากหนังสือชื่อ Travel notes attraction ของ ลีบยองรยอล 

 

ถ้าอยู่คนเดียวแล้วเราไม่เหนื่อย เราชอบ เรามีความสุข เราได้ชาร์จพลัง สมการที่บอกว่า อยู่คนเดียว = เหงา คงไม่จริง เพราะหลาย ๆ คน เช่น กลุ่ม Introvert ที่ชอบหาเวลาส่วนตัว ในการเอนจอยกับการทำอะไรคนเดียว 

 

สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองเหงา เพราะไม่มีใครคอยอยู่เคียงข้าง พี่อีฟ นักจิตวิทยา เคยบอกว่า บางคนมีคนอยู่รอบตัว แต่การตอบสนองของเขาไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ เลยรู้สึกเหมือนไม่มีใครคอยอยู่เคียงข้างได้ 

 

ยิ่งหนาว ยิ่งเหงา จริงไหม?

ในทางวิวัฒนาการบอกว่า ร่างกายมนุษย์เราถูกดีไซน์มาให้เข้ากับความร้อน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่มีขนตามตัวเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่

 

กลับกัน เวลาหนาว เราจะใช้คนรอบข้างนี่แหละในการสร้างความอบอุ่น เช่น การกอด การซุกอยู่ใกล้ ๆ กัน นั่นทำให้ยิ่งหนาว ยิ่งเหงา เป็นเรื่องจริง 

 

มีการทดลองให้คนที่เหงาและไม่เหงามาอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วทำแบบทดสอบ ผลพบว่า คนที่เหงาจะรู้สึกว่าห้องนี้หนาวกว่าคนที่ไม่เหงา นั่นเป็นเพราะความหนาวและความเหงาเชื่อมโยงกัน

 

 

ความเหงา ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะอะไร?

1. ความคาดหวัง 

เมื่อความคาดหวังของเราไม่เท่ากับปริมาณคนรอบข้างที่เรามีอยู่ เราจะเหงา

2. การเปรียบเทียบ

ถ้าเราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น คนนั้นมีเพื่อนเยอะ คนนั้นไปเที่ยวกับเพื่อนบ่อย เราอาจจะเหงาได้เหมือนกัน

3. การปรับตัว

ซึ่งความเหงามักจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ได้รับการสนับสนุน ไม่รับรู้ถึงความใกล้ชิดผูกพันกับบุคคลอื่น

4. ปัญหาด้านความสัมพันธ์

ในงานวิจัยของ Rokach กล่าวว่า คู่แต่งงานบางคู่มีความรู้สึกเหงา เพราะขาดความรู้สึกใกล้ชิดผูกพัน หรือ มีปัญหาความสัมพันธ์ 

 

ความเหงา ส่งผลต่ออะไรได้บ้าง? 

1. ทำให้มีมุมมองทางลบต่อคนรอบข้าง

จากหนังสือซ่อมแซมความสุขที่สึกหรอ  Emotional first aid ที่เขียนโดย กาย วินช์  อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เวลาเหงา เราจะมองคนรอบข้างในแง่ร้ายกว่าความเป็นจริง

 

เช่น เขาคงไม่อยากคุยกับเราหรอก พอคิดแบบนี้ จะยิ่งทำให้เราไม่เข้าสังคม พอไม่เข้าสังคมเราก็จะเหงา เป็นวงจรแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ 

 

2. ติดเกม

จากหนังสือ เหตุเกิดจากความเหงา เหตุผลเบื้องหลังคือ เราจะติดเกมเพราะ หนึ่งคือความต้องการเอาชนะ การไต่ขั้นไต่เลเวลไปเรื่อย ๆ จะกระตุ้น reward system ในสมอง

 

สองคือ หลายเกมยังถูกพัฒนามาเพื่อคลายความเหงาด้วย ซึ่งจะดีไซน์มาเพื่อให้เล่นเป็นทีม ถ้าเล่นพร้อมเพื่อนจะชนะง่ายกว่า หรือ ดีไซน์มาแบบให้เราสามารถพบปะผู้คน

 

สองจุดนี้ทำให้หลาย ๆ คนได้มีปฏิสัมพันธ์ที่หาไม่ได้ในชีวิตจริง นี่เลยเป็นคำตอบว่าทำไมความเหงาทำให้เราติดเกมได้ 

 

3. อัตราการเสียชีวิต

จากงานวิจัย ‘Loneliness and Social Isolation as Risk Factors for Mortality’ โดยคณะวิจัยมหาวิทยาลัยบริกแฮม ชี้ให้เห็นว่าบุคคลที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวนั้นมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 20 

 

รับมือกับ ความเหงา ยังไงดี?

1. ฟังเพลง 

หมอปีย์บอกว่า ‘เพลง’ เป็นการสื่อสารที่สื่อสารได้ครั้งละหลายคนที่สุด การฟังเพลงเปรียบเสมือนการมีใครสักคนสื่อสารบางอย่างให้เราซึ่งจะช่วยคลายความเหงาได้ประมาณหนึ่งเลย 

2. หางานอดิเรกทำ 

การหางานอดิเรกทำที่ต้องใช้การโฟกัส จะช่วยดึงเราจากความเหงาได้ และสิ่งที่อาจจะได้เป็นกำไรคือ ถ้าเราชอบสิ่งนั้นมากพอจนทำเป็นประจำ เราอาจจะได้รู้จักคนใหม่ ๆ สังคมใหม่ ๆ ที่มีความสนใจเหมือนกัน

3. สะท้อนและยอมรับความรู้สึกโดดเดี่ยว

ลองสะท้อนและยอมรับความรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งในด้านความคิดและความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น เพื่อให้เกิดการตระหนักและการปรับโครงสร้างทางความคิด

4. พัฒนาตัวเองและความเข้าใจตัวเอง

พัฒนาตนเองและความเข้าใจตัวเอง โดยเน้นถึงความเชื่อและคุณค่าในตนเอง

5. เพิ่มการมีส่วนร่วมทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

อาจจะเป็นการเข้าหาคนที่มีอยู่ในชีวิตอยู่แล้วและคนใหม่ ๆ

 

 

ที่มา :

หนังสือเหตุเกิดจากความเหงา

หนังสือซ่อมแซมความสุขที่สึกหรอ (Emotional First Aid) 

ความเหงาคืออะไรและทำไมเราต้องรู้สึกเหงา? นักจิตวิทยามีคำตอบ

“Loneliness Epidemic” การแพร่ระบาด “ความเหงา” ที่ทำร้ายเรามากกว่าที่คิด

ความเหงาคือโรคร้ายแรง? แล้วความเหงาทำร้ายจิตใจเราถึงระดับเซลล์ได้จริงหรือเปล่า?