Burnout Syndrome

หมดไฟในการทำงาน ภาวะ Burnout Syndrome

เรื่องAdminAlljitblog

Burnout Syndrome คือ อาการหมดไฟในการทำงาน หมดไฟกับการเรียน หมดไฟในการใช้ชีวิต เป็นความรู้สึกที่หมดกำลังใจ เมื่อเกิดความรู้สึกหมดไฟแล้วมันทำให้เราอยากหยุดทุกอย่าง

 

ไม่อยากทำอะไรเลย เหมือนกับการที่เราทำอะไรไปด้วยความหมดใจที่จะทำสิ่งนั้นเลย 

บางครั้งการบ่นก็เป็นสัญญาณของความรู้สึกหมดไฟ (Burnout Syndrome)

สารบัญ

เช่นประโยคที่ว่า เบื่อจังเลยไม่อยากตื่นมาทำงานเลย พรุ่งนี้วันจันทร์แล้วหรออยากให้หยุดเพิ่มจังเลย คำพูดเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าเรากำลังหมดไฟในการทำงานได้เช่นกัน

 

 

สภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome)

สภาวะหมดไฟหรือชื่อเรียกภาษาอังกฤษก็คือ Burnout syndrome  เป็นภาวะหมดไฟในการทำงานเกิดจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ควรได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางก่อนจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต 

 

 

สาเหตุของภาวะหมดไฟ ( Burnout Syndrome )

สาเหตุอาจเกิดจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงานเป็นหลักและความเครียดเรื้อรังของแต่ละคนมีที่มาที่ไปที่แตกต่างกันได้ บางคนความเครียดเกิดขึ้นเพราะงานที่หนักเกินไป รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน รู้สึกโดนเอาเปรียบจากเพื่อนร่วมงาน 

 

ผลตอบแทนที่ได้รับมาอาจจะไม่คุ้มค่ากับการพยายามและความทุ่มเทในการทำงาน หรือหัวหน้างานก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน แล้วตัวเรามีความรู้สึกเบื่อ เหนื่อยหน่ายกับงานหรือเริ่มเครียดกับงานหรือเปล่า ลองสังเกตตัวเองได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร

 

 

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome)

  1. รู้สึกเหนื่อยล้า หมดพลังทั้งกายและใจ
  2. รู้สึกทางด้านลบกับงานในหน้าที่ที่เรากำลังทำ
  3. รู้สึกเฉยเมย เห็นอกเห็นใจกับผู้คนน้อยลงอย่างไม่สมเหตุสมผล
  4. รู้สึกหงุดหงิดกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือหงุดหงิดเพื่อนร่วมงาน
  5. รู้สึกไม่เข้าใจเพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนร่วมงานเริ่มไม่ชอบเรา
  6. รู้สึกเหมือนไม่มีใครที่จะพูดคุยด้วยได้
  7. รู้สึกว่าประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
  8. รู้สึกเหมือนอยู่ภายใต้แรงกดดัน
  9. รู้สึกว่ายังไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการในการทำงาน
  10. รู้สึกว่าเลือกทำงานในองค์กรที่ผิดหรือเลือกอาชีพผิด

 

 

การทำแบบประเมินภาวะหมดไฟ

ทั้งหมดเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้น สามารถทำแบบทดสอบภาวะหมดไฟในการทำงานจากแอปพลิเคชั่น Alljit  ซึ่งในแบบทดสอบจะมีคำถามที่มากกว่านี้เพื่อให้เราทราบคะแนนว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

 

ที่จะเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานพร้อมกับให้คำแนะนำเราได้ ซึ่งผลคะแนนที่ได้มาเป็นผลการประเมินเบื้องต้นเท่านั้นที่อ้างอิงมาจากกรมสุขภาพจิต

 

 

ถ้าหากเราตกอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ทำอย่างไรได้บ้าง?

ในสภาวะสถานการณ์ปัจจุบันที่ส่งผลให้คนค่อนข้างหมดไฟ ทั้งสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ ความเหน็ดเหนื่อย การเสียสุขภาพจิตในการทำงาน ถ้าเราอยากจัดการความรู้สึกหมดไฟ 

 

1.ยอบรับความรู้สึกของตัวเองก่อน

บางคนก็ปฏิเสธกับตัวเองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวความรู้สึกนี้มันก็หายไป แต่ความรู้สึกจริง ๆ คือมันล้าไปหมดจนกระทบกับร่างกาย พักก็ไม่หาย ในส่วนนี้ตัวเราต้องเริ่มรู้ให้เท่าทันกับตัวเองแล้วว่าเราไม่ไหวแล้ว 

 

2.คุยกับหัวหน้า หรือเจ้านาย

ส่วนนี้อาจจะทำได้ยากมาก อาจจะขึ้นอยู่กับที่ทำงานและความสัมพันธ์ของเรากับเจ้านายของแต่ละคน เพราะภาวะหมดไฟมันเกิดจากการทำงาน หากจะคุยให้ชัดเจนที่สุด

 

คือบอกเล่าความรู้สึกเหนื่อยล้าให้เจ้านายฟัง และอาจจะบอกถึงสาเหตุที่ทำให้หมดไฟ และอยากพักให้กับเจ้านายได้รับรู้ หรือถ้าหากไม่สามารถบอกได้จริงๆ อาจจะลองปรึกษาใครสักคนในที่ทำงาน

 

ที่เรารู้สึกสนิทใจเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนแชร์ปัญหากัน เพราะการหมดไฟส่งผลให้งานของเรามีประสิทธิภาพที่ต่ำลง เนื่องด้วยมันล้าทั้งกายและใจถ้าเราระบายกับคนที่ร่วมงานเช่นเดียวกับเรา เขาอาจจะได้เข้าใจเราถึงการเปลี่ยนแปลงในการทำงานได้

 

3.หาเวลาพักผ่อนให้ตัวเอง

พักที่แปลว่าพักจริ งๆ พักหมายถึงเราต้องเลือกหยุดคิดเรื่องงาน ให้เวลกับตัวเองแบบไม่โฟกัสเรื่องงาน

 

4.เช็คความรู้สึกตัวเองว่า เราหมดไฟ หรือ หมดรัก กับงานที่ทำอยู่

เช็คความรู้สึกของตัวเองเกี่ยวกับงานประจำที่ทำอยู่ว่า เรากำลังหมดไฟ หรือ เรากำลังหมดความรักกับงานของเราแล้ว หากหมดไฟเรายังพอปรับตัวได้ แต่ถ้าเรามีความคิดเชิงลบ ไม่มีความรักกับงานที่ทำอันนี้คือยากที่จะปรับตัว

 

5.กำหนดขอบเขตงานของตัวเองให้ชัดเจน

ลองกำหนดขอบเขตงานของตัวเองให้ชัดเจน ว่าหน้าที่ของเราคืออะไร สาเหตุที่เรารู้สึกหมดไฟ เพราะเราอาจจะกำลังแบกหน้าที่งานของคนอื่นจนเกินตัวอยู่หรือเปล่า เขียนลิสต์งานของเราไว้เพื่อเตือนตัวเองว่าเราควรทำแค่ไหน

6.หยุดพักระหว่างวัน

ลองหยุดพักระหว่างวันบ้าง หากรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ปล่อยให้ตัวเราได้หยุดพักบ้าง  อาจจะทำให้เรารู้สึกดีและมีแรงกลับมาสู้กับงานต่อ

 

7.หลีกเลี่ยงการทำงานนอกเวลาหรือคิดเรื่องงานนอกเวลา

 

 

Burnout Syndrome ต้องปรับที่ตัวเราเองคนเดียวหรือเปล่า

บางครั้งอาการหมดไฟการแก้ที่เราอาจจะไม่พอ ลองกลับมานั่งทบทวนกับตัวเองดูก่อน ว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ทำงานเราหรือเปล่า นั้นก็คือเพื่อนร่วมงานกับหัวหน้า

 

การที่เราทำงานถึงแม้จะทำคนเดียวแต่เราอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ทำงานร่วมกับคนอื่น บางทีพวกเขาเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้เราเหนื่อยและแก้ได้ยาก

 

ถ้าหากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเขายินดีที่จะรับฟังเรา เราสามารถลองคุยกับเขาได้ แต่ถ้าเรากับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าไม่สามารถหาตรงกลางที่จะสามารถอยู่ร่วมกันได้

 

แล้วเรารู้สึกว่าไม่ไหวจริงๆ เหนื่อยล้า และเกิดความรู้สึกลบขึ้นทุกวันจนส่งผลกระทบกับสุขภาพจิต ในส่วนนี้การออกมาอาจจะเป็นทางเลือกที่ดี บางครั้งเราก็เลือกสุขภาพจิตใจของเราก่อนได้

 

 

หัวหน้า หรือเจ้านายองค์กรควรมี Empathy ความเข้าใจกันและกัน

บางครั้งการที่เรามีความเข้าใจ เห็นใจกันในองค์กรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เหมือนเป็นการป้องกันกับภาวะหมดไฟให้เราได้ รวมถึงทำให้เรารู้ได้ด้วยว่าเพื่อนร่วมงานทำงานหนักไปไหม

 

เกิดความเครียดที่จะนำไปสู่ภาวะหมดไฟหรือเปล่า และที่สำคัญคือหัวหน้างาน หากขาด empathy ไปก็อาจจะเสียลูกน้องไปได้เช่นกัน 

 

มีหลายคนที่เกิดภาวะหมดไฟจากหัวหน้างาน เพราะบางทีหัวหน้างานมองว่า พนักงานคนนี้เก่งจังลองเพิ่มงานชิ้นนี้ไปดูสิว่าเขาจะทำได้ไหม พอพนักงานคนนั้นทำได้ทำออกมาดี ก็เพิ่มให้เรื่อย ๆ

 

จนไม่ได้ใส่ใจพนักงานคนนั้นเลยว่าเขาจะจัดการเวลาทำงานได้หรือไม่ และงานส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตหรือกินเวลาชีวิตคนนั้นหรือเปล่า  ไม่ได้ฉุกคิดว่าเรากำลังสั่งงานมากเกินไป อาจจะทำให้พนักงานคนนั้นเกิดภาวะหมดไฟได้เช่นกัน 

 

ผลตอบแทนและสวัสดิการมีผลหรือไม่กับการหมดไฟ

มีผลวิจัยจาก Gallup พบว่า กว่า 71% ของคนรุ่นใหม่ไม่มีความสุขกับงาน และหากเจองานใหม่ โอกาสที่ดีกว่า เงินที่ดีกว่า ก็พร้อมจะลาออกเสมอ  ซึ่งผลตอบแทนส่งผลต่อการตัดสินใจได้สูงมากกับการเลือกทำงาน

 

ถ้าหากเราทำงานไป 100% แต่ผลตอบแทนไม่เพิ่มขึ้น แต่หน้าที่ที่ได้รับต้องทำมากขึ้น มันก็ทำให้เราหมดไฟและหมดใจได้ เพราะทุกๆ ผลงานที่เราทำไป เราตั้งใจ แลกมาด้วยเวลาและความคิดของเรา

 

 

ผลตอบแทนมีส่วนกับการตัดสินใจในการทำงานหรือเปล่า

ผลตอบแทนที่เราได้รับจากการทำงานนั้นมันมีส่วนมากๆ  ถ้าหากเราได้รับงานเพิ่ม มีหน้าที่เพิ่ม แต่ผลตอบแทนมันยังไม่ต่างจากเดิมก็ทำให้รู้สึกว่าที่เราทุ่มเทไป

 

ไม่มีประโยชน์เลย เพราะการที่เราเปลี่ยนตัวเอง พัฒนาตัวเอง เพื่อที่ทำงานก็เพื่อรายได้ที่มากขึ้น เพื่อเอามาดูแลครอบครัว หรือเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตที่ทุกวันนี้ค่าครองชีพมันสูงมากขึ้น

 

ถ้าหากเราพัฒนาแล้วองค์กรเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เรายังย่ำอยู่ที่เดิมมันก็จะทำให้เกิดเป็นภาวะหมดไฟได้

 

ไม่ว่าการทำงานหรือการเรียน ก็สามารถหมดไฟได้เช่นกัน ส่วนมากภาวะการหมดไฟมาจากภาระงานมันทับถมเรามา เลยทำให้รู้สึกว่าอยากเททุกอย่าง อยากทิ้งทุกอย่างอาจไม่ใช่แค่ความเหนื่อยกายแต่มันเหนื่อยใจ

 

การได้หยุดพัก การหยุดคิดเรื่องงาน เรื่องการเรียนบ้าง ก็ทำให้เราได้ผ่อนคลายขึ้น การออกกำลังกายก็ช่วยให้เราหยุดอยู่กับตัวเองกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เรื่องงานก็ช่วยได้ เราทุ่มเทกับงานได้แต่ต้องไม่ลืมทุ่มเทให้ตัวเองเช่นกัน