โรคขาดความรักไม่ได้

โรคขาดความรักไม่ได้ (Hysteria) เกี่ยวข้องกับ ความเหงา และ บาดแผลที่เจ็บปวด

เรื่องAdminAlljitblog

 “อยู่คนเดียว อยู่ลำพังหว่าเว้”  สเตตัสจากคนคนหนึ่ง อาจจะกำลังส่งสัญญาณว่าเขาตกอยู่สภาวะของ โรคขาดความรักไม่ได้

โรคขาดความรักไม่ได้ คืออะไร ?

คือ ความผิดปกติและเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยจะมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ พฤติกรรมและความวิตกกังวล

 

คนที่ตกอยู่ในสภาวะของโรคขาดรักความไม่ได้ จะเเบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

 

  1. โรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย (Histrionic Personality Disorder : HPD) 
  2. โรคประสาทฮิสทีเรีย (Conversation Reaction) 

 

โรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย จะมีการแสดงออกของพฤติกรรมที่ดูเรียกร้องความสนใจมากเกินปกติ การแสดงออกก็จะเป็นในลักษณะของการยั่วยวน จนทำให้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคขาดผู้ชายไม่ได้ ซึ่งที่จริงแล้ว hysteria เป็นได้ทั้งชายและหญิง

 

แต่การแสดงออกก็อาจจะเเตกต่างกันออกไป จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าโรคนี้เป็นโรคที่เป็นเฉพาะในเพศหญิง หรือมีพฤติกรรมที่เเสดงออกว่าเรียกร้องความสนใจจนเหมือนเด็ก หรือเหมือนแสดงละคร

 

โรคประสาทฮิสทีเรียจะตรงข้ามกับโรคบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียเลย คือ เวลาที่มีความเครียดหรือความกังวลใจมาก ๆ จะเกิดอาการผิดปกติที่ระบบการเคลื่อนไหว และการรับรู้

 

เช่น ชาที่แขนและขา พูดไม่มีเสียง ตามองไม่เห็น กล้ามเนื้อกระตุก สูญเสียความทรงจำบางเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ จำชื่อสิ่งของ สถานที่หรือเวลา ไม่ค่อยได้

 

แต่เมื่อผู้ป่วยตรวจร่างกายอาจจะไม่พบความผิดปกติเพราะเกิดจากจิตใจของผู้ป่วยเองไม่ได้มากจากโรคจริง ๆ

 

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ โรคขาดความรักไม้ได้

โรคขาดความรักไม่ได้หรือ hysteria มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคขาดผู้ชายไม่ได้ เพราะอาการของ hysteria ใกล้เคียงกับโรคนิมโฟมาเนีย (nymphomania) หรือ โรคเสพติดเซ็กส์ อาการแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจทางเพศจึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด 

 

ทำไมคนถึงเข้าใจผิด มันมีประวัติศาสตร์ 

ต้องย้อนไปที่ยุคอียิปต์โบราณและกรีกโบราณ ในสมัยนั้นสังคมคิดว่าฮิสทีเรียเป็นโรคเฉพาะผู้หญิง เพราะเชื่อว่ามดลูกเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในร่างกายของคนที่จะเดินทางไปทั่วทุกทิศทางในร่างกายและไปอุดช่องทางเดินหายใจ

 

เป็นสาเหตุให้เกิดโรคที่หลากหลาย จึงตั้งชื่ออาการเหล่านี้ว่าฮิสทีเรียที่แปลว่า ‘มดลูก’ ในภาษากรีก

 

ฮิสทีเรียถูกพูดถึงมากขึ้นจริง ๆ ในยุควิคเตอเรียที่ผู้คนในสังคมต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ทางจริยธรรม หลักศาสนาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี ต้องเป็นคนที่เก็บอารมณ์ ความรู้สึก

 

รวมถึงความต้องการทางเพศเอาไว้ ผู้หญิงที่แสดงออกความต้องการทางเพศมากเกินไป เช่น โสเภณี ผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊  (ในยุคนั้น)  ก็จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต ‘ฮิสทีเรีย’ ทั้งหมด

 

บุคคลสำคัญที่นิยามว่า ‘ฮิสทีเรีย’ คือความผิดปกติทางจิตในกลุ่มความผิดปกติทางบุคลิกภาพ คือ ปิแอร์ จาเนต์ และ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ซึ่งทั้งสองบอกว่า ‘ฮิสทีเรีย’ เป็นความเจ็บป่วยจิตใจ มีสาเหตุมาจาก Trauma ในอดีต

 

เช่น ขาดความรักในวัยเด็ก พบเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ผิดหวังหรือสะเทือนใจจะส่งผลให้สมองเกิดการปรับสถานะของความตระหนักรู้ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการกระทำบางอย่างของตนเองได้

 

ปิแอร์ จาเนต์ ยังได้บันทึกไว้อีกว่า “คนที่เป็นฮิสทีเรียโดยทั่วไปแล้ว เขาไม่ได้มีความต้องการทางเพศมากไปกว่าคนทั่วๆไป” 

 

ส่วนซิกมันด์ ฟรอยด์ ก็ได้บอกไว้ว่า “ผู้ชายเป็นฮิสทีเรียได้และการแพทย์ในอดีตที่โยงฮิสทีเรียเข้ากับเรื่องเพศ เป็นการดูถูกผู้หญิงรูปแบบหนึ่ง”

 

อยากให้เข้าใจโรคฮิสทีเรียว่ามันเป็นโรคหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเขาขาดผู้ชายไม่ได้ 

 

Hysteria โรคนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์ หลงไหลเพศตรงข้ามหรือกระหายผู้ชายจนควบคุมตัวเองไม่อยู่ จึงอยากให้มองโรคนี้ด้วยความเข้าใจและไม่อคติกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคฮิสทีเรีย

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วเราควรมีความรู้ก่อนจะไปว่าหรือตัดสินใครด้วยถ้อยคำที่ออกมาจากเพียงแค่จากความรู้สึกตัวเอง ไม่ถูกไตรตรองผ่านข้อเท็จจริง

 

หากลองคิดดูดี ๆ ถ้าสมมติตัวเราเป็นจริง ๆ แล้วถูกคนอื่นพูดใส่ว่า ‘ขาดผู้ชายไม่ได้’ เราก็คงรู้สึกแย่หรืออีกมุมนึง ถ้าเราไม่ได้เป็น ‘ฮิสทีเรีย’ แต่เรากลับโดนคนรอบข้างต่อว่าแบบนี้ เราคงรู้สึกแย่เช่นกัน

 

อาการของ โรคขาดความรักไม่ได้

  1. อิจฉา  “เหม็นความรัก” เห็นคนรักกันหรือแสดงออกว่ารักกันไม่ได้
  2. เรียกร้องความสนใจ พยายามแสดงออกให้ตัวเองเป็นจุดเด่น จนบางทีดูไม่ถูกกาลเทศะ แสดงว่ามีตัวตนหรือเล่าว่าชีวิตดีกว่าคนอื่น
  3. ต้องมีคนคุยตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกเหงา โดดเดี่ยว รู้สึกเหมือนมีคนคอยอยู่ข้าง ๆ 
  4. วิตกกังวล กลัวไม่มีใครรัก ถ้าโดนตำหนิเพียงเล็กน้อยก็จะมีความรู้สึกกังวลว่าจะถูกเกลียด ไม่มีใครรัก มีความกังวลมากกว่าระดับปกติ

 

สาเหตุของ โรคขาดความรักไม่ได้

  1. ความเหงา ส่งผลให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว นิยามความเหงาของฮิสทีเรีย คือ “สะสมความเหงาแบบมหาศาล”
  2. ขาดความอบอุ่น วัยเด็กบางคนถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่ค่อนข้างไม่ใส่ใจ ทำให้เขาไม่รู้จักกับคำว่าอบอุ่น เลยโหยหาความรัก ความอบอุ่น กลัวว่าจะไม่ได้รับความรัก 
  3. เจอกับความผิดหวัง บางคนเจอกับสถานการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจมาก ๆ เกินกว่าที่จะรับไหว แล้วมีวิธีจัดการแบบไม่เหมาะสม

 

การรักษา โรคขาดความรักไม่ได้

  1. จิตบำบัด ปรับความคิด ปรับพฤติกรรม หากแพทย์วินิจฉัยแล้วมีอาการซึมเศร้าหรืออื่น ๆ ร่วมด้วยต้องใช้ยาในการรักษา
  2. เลือกโฟกัสที่ปัจจุบัน ไม่ทำให้ตัวเองจมอยู่กับเมื่อวานหรือกังวลในวันพรุ่งนี้
  3. ฝึกการหายใจ
  4. เขียนระบายความรู้สึก เขียนเพื่อระบายอารมณ์และความรู้สึก
  5. ดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์และวางแผนการนอนหลับ

 

คนรอบข้างสำคัญอย่างไร ?

คนรอบข้างสำคัญมาก ๆ บางครั้งปัญหาหนัก ๆ ในชีวิตของเราที่เห็นว่าไม่น่าจะมีทางออกแล้ว เราก็มีคนรอบข้างที่ทำให้เราผ่านไปได้  ไม่ว่าจะเป็นการก้าวผ่านปัญหาหรือเราตกอยู่ในสภาวะอะไรก็ตามและสำหรับใครมีคนข้าง ๆ ตกอยู่ในสภาวะของโรคขาดความรักไม่ได้

 

เบื้องต้นอยากให้ทำความเข้าใจว่าฮิสทีเรียคือโรคที่เกิดจากภายในจิตใจ จะทำให้เขาไว้วางใจ กล้าที่จะขอความช่วยเหลือและหลีกเลี่ยงการต่อว่าหรือตัดสินการกระทำ  

 

สิ่งที่สำคัญคือคนรอบข้าง ถ้าเรามีคนข้างกายที่กำลังเจอกับช่วงเวลาที่เเย่ ๆ เราคอยอยู่เคียงข้างเขา รับฟังเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเขายังมีเราอยู่ข้าง ๆ และเชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ เขาจะผ่านไปได้อย่างแน่นอน

 

ถ้าเป็นตัวเราเองกำลังตกอยู่ในสภาวะที่ต้องการคนเคียงข้าง ลองสื่อสารออกไปให้คนสำคัญได้รับรู้อาจจะส่งผลดีต่อตัวเรา

 

 

ที่มา:

https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/hysteria.html

 

https://kinyupen.co/2018/10/25/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%B5/

 

https://thewmtd.com/hysteria/