บาง ความทรงจำ ทำให้มีความสุข บางความทรงจำกลับทำให้มีน้ำตา หรือกับบางความทรงจำที่เคยเจ็บปวด วันนี้นึกถึงมันก็ไม่ได้รู้สึกอะไรแล้ว เรื่องที่เคยเจ็บปวดกลับกลายเป็นเรื่องเล่าได้ในวันนี้
ลองย้อนความทรงจำกันเถอะ
ความทรงจำ : memory with & without Feeling คืออะไร?
Memory with Feeling : ความทรงจำ แบบมีความรู้สึกร่วม
ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับความทรงจำระยะสั้น เมื่อเวลาผ่านไปความรู้สึกจะค่อย ๆ จางลง แต่ถ้าเป็น life events ก็อาจจะเป็นความทรงจำระยะยาวได้ ในช่วงแรกที่เจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ
คนเราจะตกอยู่ในห้วงของ memory with feelings เราจะเจ็บปวดกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ยังนึกถึง ยังโหยหา ยังไม่สามารถออกมาได้ เหมือนว่าเราเจอกับเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ
Memory without Feelings : ความทรงจำ ที่ปราศจากความรู้สึก
เมื่อเวลาผ่านไปความทรงจำจะเหลือเพียงแค่เรื่องราวที่เกิดขึ้น เหลือเพียงการตกตะกอนหรือแง่คิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่ไม่มีความรู้สึกใด ๆ ที่เคยมีในอดีตกับความทรงจำนั้นอีกต่อไปแล้ว
เราอาจจะจำได้ลาง ๆ ว่า เคยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกับคนนี้ เขาเป็นใคร อาจจำดีเทลของเขาได้บ้าง แต่เราจะไม่มีความรู้สึกอะไรกับคนนี้และเหตุการณ์นี้แล้ว
เหมือนกับคำที่ว่า “เรื่องเลวร้ายในอดีตจะกลายเป็นเรื่องเล่าในวันนึง”
feeling without memory : รู้สึกแต่ไร้ความทรงจำ
ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ที่สูญเสียความทรงจำ เช่น มีภาวะแอมนีเซีย หรือ เป็นโรคอัลไซเมอร์ Feeling without memory คือ ความทรงจำที่หายไปเหลือไว้เพียงความรู้สึก
มูฟออนได้ เท่ากับ ลืมได้ จริงไหม?
การลืม หมายความว่ามัน Delete ไปเลย ไม่มีคลังข้อมูลอันนี้ในหัวแล้ว ถ้าถามถึงคนคนนี้คือตอบไม่ได้ว่าคือใคร ชื่ออะไร บ้านอยู่ไหน
เเต่ Move On คือ ทำใจได้ ไม่ได้เจ็บปวด ไม่ฟูมฟายอะไรแล้ว แต่ไม่ได้ลืมว่าคนนี้ชื่ออะไร คือใคร เหมือนว่าจำได้แต่ไม่รู้สึก
หลาย ๆ คนจะเรียกว่า “การลืม” เวลาใช้ในบริบทของการมูฟออนได้ แต่จริง ๆ แล้วการลืม Forgetting กับ Memory without feeling แตกต่างกัน
Forgetting = การลืม เป็นการที่สมองสูญเสียความทรงจำนั้นไป มี 2 กรณี คือ
1.เราสูญเสียความทรงจำนั้น จากการที่เราไม่ได้ rehearse คือ ไม่ได้นึกถึงและไม่ได้ทบทวนเรื่องนั้นในหัว เวลาผ่านไปเลยลืมไป
2.ความทรงจำนั้นอาจจะเข้าไปใน LTM หรือความจำระยะยาวแล้ว แต่ไม่สามารถ recall หรือระลึกกลับมาได้
Memory without feeling คือ การลืมความรู้สึก หรือ ความรู้สึกเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว เทียบได้กับการมูฟออน เป็นการที่เราก้าวข้ามผ่านเรื่องราวนั้นไปได้จนเริ่มต้นใหม่และมีความสุขกับชีวิตในปัจจุบันได้แล้ว
ประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจผ่านไปจะกลายเป็น memory without feeling ได้ไหม?
เป็นไปได้ เรื่องที่เคยเจอแล้วมันเจ็บช้ำน้ำใจ ย้อนกลับไปก็ไม่รู้สึกเหมือนเดิมแล้วนะ แต่ไม่ใช่กับทุกคนและทุกเรื่องที่จะสามารถจำเเบบไม่รู้สึกอะไรได้
เรื่องบางเรื่องสำหรับบางคนกระทบจิตใจมาก มันยากที่จะผ่านไปได้แบบไม่รู้สึกอะไรการจำแบบมีความรู้สึกร่วม เราจะจำมันได้ดีขึ้น ยิ่งกับความรู้สึกเชิงลบ ยิ่งฝังใจมาก
แต่ก็เรื่องที่ “ไม่ว่ายังไงก็คงทำใจไม่ได้” อยู่แต่เวลาผ่านไป กระบวนการฮีลใจจากความสูญเสียจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถึงแม้จะลืมหรือทำใจไม่ได้ แต่เราจะยอมรับได้มากขึ้น เจ็บน้อยลง
จากเว็บไซต์ Psych central ให้ข้อมูลว่า เรื่องที่ร้ายแรงจริง ๆ จะทำให้เกิดภาวะสูญเสียความทรงจำไปเลยได้ แต่ในเคสนี้ความทรงจำไม่ได้หายไป แต่ถูกสมองซ่อนไว้เฉย ๆ เพื่อป้องกันตัวเองจากความเจ็บปวด
“ถ้าเป็นเพื่อนพี่น้องกับแฟนเก่าได้ หมายความว่า ยังรักอยู่ หรือไม่ก็ ไม่เคยรักกัน” จริงไหม?
การเป็นเพื่อนพี่น้องกับแฟนเก่าได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้สึกรักอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ความสัมพันธ์ และปัจจัยภายนอก เช่น
1.ปัจจัยที่ทำให้เลิก
ถ้าไม่มีเรื่องร้ายแรง เช่น ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่าเราไม่ใช่ต่อกันและกันเท่านั้นเอง อาจจะทำให้ยังมีความรู้สึกดี ๆ ต่อกันมากพอที่จะสานสัมพันธ์เป็นเพื่อนพี่น้องได้
2.ประสบการณ์การเลิกกัน
ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่ดี เช่น ทะเลาะกันรุนแรง มีการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ โอกาสที่จะกลับไปสานสัมพันธ์ให้เป็นแบบอื่นคงยาก
3.ความยินยอมพร้อมใจ
เรื่องความสัมพันธ์ไม่ใช่การตบมือข้างเดียว ถ้าทั้งเราและอีกฝ่ายคิดตรงกัน อยากเป็นเพื่อนพี่น้องกันทั้งคู่ คงเป็นไปได้
4.เลิกเป็นแฟนแล้ว แต่ยังต้องเกี่ยวข้องกันในฐานะอื่นๆ
เรากับเขาต้องเกี่ยวข้องกันทางธุรกิจ เป็นหุ้นส่วน เป็นเพื่อนร่วมงาน หรืออาจจะต้องทำหน้าที่ร่วมกันในฐานะพ่อและเเม่
5.บางคนอาจจะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้แบบเพื่อน เพื่อหวังว่าจะเริ่มต้นใหม่
เหตุผลนี้อาจทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบหลายอย่าง เราอาจจะอกหักอีกรอบ สุขภาพจิตแย่ลง ซึมเศร้า เพื่อนในกลุ่มอึดอัด และเกิดความรู้สึกหึงหวง การเป็นเพื่อนกันต่อไป
เพราะความรู้สึกที่ยังค้างคาอยู่จะส่งผลเสียต่อการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ด้วย และสุดท้ายแล้วมีแนวโน้มว่ามิตรภาพจะจบลงในอนาคต
การมีคนใหม่เพื่อลืมคนเก่า ช่วยได้ไหม?
ช่วยให้ลืมไม่ได้ แต่สิ่งที่ช่วยได้แน่ๆ คือ ช่วยเบี่ยงเบนตัวเองออกมาจากเรื่องของคนเก่าได้บ้าง จากเว็บไซต์ Sirichaiwatt ได้พูดถึงการลืมคนเก่าด้วยการมีคนใหม่ไว้ว่า
บางครั้งที่คนคนนึงมีคนใหม่แล้ว move on ได้ไวกว่าเป็นเพราะ ความทรงจำเก่าได้ถูกเขียนทับด้วยความรู้สึกอื่น หรือเขียนใหม่กับคนอื่น จนเหลือแค่ความจำกับคนเดิม เขาไม่ได้ลืม แค่รู้สึกไม่เหมือนเดิมแล้ว
การไปรู้จักคนใหม่ สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นจะเข้ามาแทนที่ความรู้สึกแย่ในอดีต แต่มีข้อควรระวัง บางคนรีบในวันที่ไม่พร้อม ทำให้มาตรฐานและความคาดหวังที่มีต่อคนอื่นลดลง
จนเลือก “ใครก็ได้” เข้ามาในชีวิต หวังแค่ว่าเพื่อให้ลืมแฟนเก่าได้ สุดท้ายอาจจะลงเอยด้วยการหลวมตัวไปรับคนที่ไม่ใช่หรือไม่ดีเข้ามาทำให้เสียใจอีกรอบ
ทำยังไงให้ ความทรงจำ ร้าย ๆ กลายเป็น Memory without feeling?
1.ยอมรับความจริง
สิ่งสำคัญที่ทุกคนรู้คือ “ยอมรับความจริง” ขอยกคำพี่อ้อยพี่ฉอดว่า “อยู่ให้รอดเป็นวัน ๆ แล้วเดี๋ยวจะรอดทุกวัน” ตั้งเป้าหมายใกล้ ๆ แล้วไปให้ได้ก่อน บางคนคิดว่า เราจะต้องมูฟออนให้ได้
เราจะได้มีความสุขสักที แต่พูดตามตรงว่า ธรรมชาติไม่ได้ work แบบนั้น ไม่ได้ก็คือไม่ได้ “จะกี่เดือนกี่ปีก็ช่างเหอะ” ไม่รู้ว่าจะกดดันตัวเองไปทำไม เพราะงั้นเวลาจะผ่านไปแค่ไหน
ทำใจไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่เรารู้ว่าจะมีวันที่ผ่านเรื่องนั้นไปได้ก็พอ เพราะเรื่องที่หนักหนาก่อนหน้านี้ ยังกลายเป็น Memory without feeling ได้ตั้งหลายเรื่อง
2.ปล่อยให้ตัวเองเสียใจ
“ปล่อยให้ตัวเองมีช่วงเวลานั้น ช่วงเวลาของความเสียใจ” ให้เวลาตัวเองได้รู้สึกแบบที่ควรจะเป็น ช่วงเวลานั้นเราจะได้รู้อะไรหลายอย่างเลยนะ เราจะได้รู้ว่ามีใครบ้างที่รักและเป็นห่วงเรา
รู้จักตัวเอง ได้แก้ไขความรู้สึกตัวเอง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่โอเคเหมือนกันนะที่จะปล่อยให้ตัวเองได้เสียใจ
3.แทนที่ความทรงจำ
ไม่ต้องลบมัน แค่ไม่พูดถึง ไม่ฉายซ้ำ การ Move On ด้วยการมีคนใหม่ มักทำให้ทำใจได้เร็วกว่าเพราะมันคือการเขียนทับความทรงจำ แต่เราไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนทับด้วยคนใหม่เท่านั้น
อาจจะเป็น ‘สิ่งใหม่’ เเทน เช่น สิ่งใหม่ที่อยากจะทำหรือเคยอยากทำ แต่ไม่ได้ทำสักที ในชีวิตนี้อยากเลี้ยงแมวสักตัว ลองประเมินเเล้วเราพร้อมที่จะดูเเลเขา
อาจจะหาน้องเเมวจรที่ต้องการความอบอุ่นสักตัวมาเลี้ยง หรือถ้ามีงบมากพอก็หาซื้อแบบที่เราชอบ
4.ใช้ชีวิตต่อในเส้นทางของเรา
คนเราทำใจได้เพราะ เวลาที่ผ่านไป เรื่องบางเรื่อง ของบางอย่าง คนบางคน เลือนหายไปเองเพราะเวลาผ่านที่เปลี่ยน อาจจะเร็วนานแตกต่างกันไปตามเรื่องราว
เราไม่สามารถลืมคนคนนึงได้ก็จริง แต่เราก็ยังต้องใช้ชีวิตต่อนะ เรายังต้องไปเรียน ไปทำงาน เจอเพื่อน เจอครอบครัว เราอาจไปโฟกัสกับสิ่งอื่น ๆ แทน
จนความทรงจำหรือความรู้สึกค่อย ๆ จางลงเ จนวันนึงเขาก็กลายเป็นแค่คนนึงในชีวิตเราก็ได้
บางเรื่องทำใจไม่ได้จริง ๆ จะอยู่กับ Memory with feeling ยังไงดี ?
ส่วนใหญ่ Memory with feeling มักจะเกิดกับเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น การสูญเสียคน สัตว์ หรือสิ่งของที่รัก ด้วยการตายจาก อุบัติเหตุ เพราะเราไม่ได้มีโอกาสเตรียมใจ
แต่เรื่องแบบนี้ถึงให้มีเวลาเตรียมใจ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เจ็บปวดอยู่ดี
“ความสุขในการใช้ชีวิต” กับ “ความเศร้าที่มีต่อความทรงจำ” เป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเราพยายามแบ่งสันปันส่วนให้ทั้งสองอย่าง โดยการที่ ปล่อยให้ตัวเองเศร้ากับความทรงจำนั้นเมื่อนึกถึงได้
แต่ในขณะเดียวกัน ยังมีความสุขกับชีวิตปัจจุบันได้ด้วย จากการทำสิ่งที่ชอบหรืออยู่กับคนรอบข้างที่มีอยู่ เท่านี้คงเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนให้ความทรงจำนั้นเป็น Memory without feeling เสมอไป
คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่เรารู้ว่าความสุข ณ ตอนนี้มันแยกกับความทุกข์ในอดีต ความทรงจำบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องปราศจากความรู้สึกเสมอไป
เช่น เรายังคงอยากที่จะสัมผัสได้ว่าเรารู้สึกอย่างไรตอนยังมีพ่อ เราคงอยากนึกถึงโมเม้นต์ที่ได้อยู่กับน้องแมวของเราเพื่อทำให้เรารู้สึกว่าวันเวลาที่ผ่านมามันเกิดขึ้นจริง
แต่ถ้าเรารู้สึกว่าความรู้สึกทุกข์ใจของเรามันท่วมท้นจนไม่สามารถโฟกัสกับตัวเราเองได้เลย การสื่อสารกับเพื่อน ครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญ ก็อาจช่วยให้เรามีความสุขกับปัจจุบันได้มากขึ้น
สำหรับใครที่กำลังอยู่กับความความทรงจำที่เจ็บปวด อยากจะบอกว่าสิ่งที่เรากำลังเจ็บปวดกับมัน เราอาจจะไม่มีวันลืมมันได้ตลอดไปก็จริง
แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันอาจจะมีอิทธิพลต่อเราน้อยลง จนวันนึงเราจะไม่รู้สึกอะไรเลย
ที่มา :
The forgetten part of memory
does-trauma-cause-memory-loss
เมื่อลบไม่ได้ช่วยให้ลืม
should-you-stay-friends-your-exes
Post Views: 2,895