เคยไหม ? รู้สึกไม่สบายใจ พาตัวเองไปทะเลอยู่กับธรรมชาติ ให้ ธรรมชาติฮีลใจ การได้ฟังเสียงธรรมชาติ ได้สูดกลิ่นป่า หายใจเอาอุ่นไอต้นไม้ที่ล้อมรอบ ส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจจริงหรือเปล่า ?
มนุษย์เชื่อมโยงกับธรรมชาติได้จริงไหม ? มารวมพูดคุยกันในรายการ Learn&Share หรือรับฟังได้ที่ Alljit Podcast
ทำไมเวลาเศร้า ต้องเดินเข้าป่า ไปทะเล ใช้ ธรรมชาติฮีลใจ ?
Wallace Nichols นักชีววิทยาทางทะเลและ ผู้เขียนหนังสือ Blue Mind ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทะเลกล่าวว่า ประชากรโลกเกือบ 80% อาศัยอยู่ในรัศมี 60 ไมล์จากชายทะเล
ร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นองค์ประกอบ 78% และเรา ‘ลอย’ อยู่ในน้ำคร่ำในครรภ์มารดาตั้งแต่ก่อนออกมาลืมตาดูโลก มนุษย์กับน้ำจึงผูกพันกันระดับเซลล์เลยทีเดียว
กลิ่นทะเลยังเต็มไปด้วยไอออนลบ ซึ่งมีมากในธรรมชาติ เช่น ทะเล ภูเขาและน้ำตก เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ไอออนลบจะสร้างปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่ไปเพิ่มระดับเซโรโทนินที่ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า
ช่วยให้ผ่อนคลายหายเครียด ผลการวิจัยใน Journal of Alternative Complementary Medicine เรียกว่า ‘การบำบัดด้วยไอออนลบ’
เพราะสีฟ้าคือสีโปรดของมนุษย์
Denis Dutton นักปรัชญาชาวอเมริกันที่สนใจเป็นพิเศษเรื่องศิลปะกับวิวัฒนาการเชื่อว่า การที่เรามองว่าอะไร ‘สวย’ เป็นผลมาจากความคุ้นเคยที่อยู่ในสภาพแวดล้อมริมทะเลมาตั้งแต่มนุษย์ยังเก็บของป่าล่าสัตว์
นอกจากนี้สีฟ้ายังเป็นสีโปรดอันดับ 1 ของประชากรโลก และเมื่อให้เลือกสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกเป็นบวก เช่น สงบ สบายใจ มีความสุข ผ่อนคลาย ฯลฯ ภาพทะเลก็เป็นตัวเลือกอันดับ 1 เช่นกัน
งานวิจัยต่าง ๆ ที่บอกว่าเราเชื่อมโยงกับธรรมชาติ
นักชีววิทยาชาวอเมริกัน E. O. Wilson ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า มนุษย์มีสายใยที่เชื่อมโยงกันกับโลกของธรรมชาติ กล่าวคือ การอยู่ในธรรมชาติจะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสุขภาพของมนุษย์
และหลังจากที่ Qing Li ศึกษาเรื่องนี้ต่อมาอีกหลายปี เขาพบว่าการใช้เวลาอยู่ในป่าสามารถลดความเครียด ความวิตกกังวล ความซึมเศร้า และความโกรธได้ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
และยังช่วยทำให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงระบบเผาผลาญในร่างกายดีขึ้นได้อีกด้วย ถือเป็นการเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยรวมให้กับมนุษย์ได้อีกด้วย
ธรรมชาติฮีลใจ เราด้านไหนบ้าง
ธรรมชาติช่วยเยียวยา
การอยู่ในธรรมชาติ หรือแม้แต่การชมทิวทัศน์ของธรรมชาติ ช่วยลดความโกรธ ความกลัว ความเครียด และเพิ่มความรู้สึกรื่นรมย์ การสัมผัสกับธรรมชาติไม่เพียงแต่ทำให้ฉันคุณรู้สึกดีขึ้นเท่านั้น
แต่ยังช่วยให้ร่างกายของคุณมีสุขภาพที่ดี ลดความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และการผลิตฮอร์โมนความเครียด นักวิทยาศาสตร์ เช่น Stamatakis และ Mitchell
นักวิจัยด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ การวิจัยในโรงพยาบาล สำนักงาน และโรงเรียนพบว่าแม้แต่ต้นไม้ธรรมดา ๆ ในห้องก็สามารถมีผลกระทบอย่างมากต่อความเครียดและความวิตกกังวล
ธรรมชาติช่วยผ่อนคลาย
ธรรมชาติช่วยให้เรารับมือกับความเจ็บปวด เนื่องจากเราได้รับการตั้งโปรแกรมทางพันธุกรรมให้ค้นหาต้นไม้ พืช น้ำ และองค์ประกอบทางธรรมชาติอื่น ๆ เราจึงซึมซับบรรยากาศธรรมชาติและหันเหความสนใจจากความเจ็บ
ในการศึกษาผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดถุงน้ำดี ครึ่งหนึ่งมีทิวทัศน์ของต้นไม้และ อีกครึ่งหนึ่งมีทิวทัศน์ของกำแพง โรเบิร์ต อูลริชแพทย์ผู้ดำเนินการวิจัยกล่าวว่า ผู้ป่วยที่เห็นต้นไม้ทนความเจ็บปวดได้ดีกว่า
ธรรมชาติฟื้นฟู
การวิจัยในปัจจุบันคือ ผลกระทบของธรรมชาติที่มีต่อความเป็นอยู่ที่ดี ในการศึกษาเรื่องจิตใจ 95% ของผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า อารมณ์ของพวกเขาดีขึ้นหลังจากใช้เวลาอยู่ข้างนอก เปลี่ยนจากซึมเศร้า เครียด กังวล
เป็นสงบและสมดุลมากขึ้น การศึกษาอื่น ๆ โดย Ulrich, Kim และ Cervinka แสดงให้เห็นว่าเวลาในธรรมชาติหรือฉากของธรรมชาติมีความสัมพันธ์กับอารมณ์เชิงบวกและความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ
วิจัยจากสแตนฟอร์ด กล่าวว่า การเดินเล่นตามธรรมชาติ จะลดการคิดมาก จากการทดลอง ให้คนลองเดินเล่นในสวนสาธารณะ 90 นาที จะทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวกับการคิดมากทำงานลดลง
ธรรมชาติเชื่อมโยง
จากการศึกษาภาคสนามที่จัดทำโดย Kuo และ Coley ที่ Human-Environment Research Lab เวลาที่ใช้ในธรรมชาติเชื่อมโยงเราเข้าด้วยกันและเชื่อมต่อกับโลกใบใหญ่
การศึกษาอีกชิ้นที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชี้ให้เห็นว่าผู้อยู่อาศัยในอาคารสาธารณะในชิคาโกซึ่งมีต้นไม้และพื้นที่สีเขียวรอบอาคารของพวกเขา รายงานว่ารู้จักผู้คนมากขึ้น มีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนบ้านมากขึ้น
มีความห่วงใยในการช่วยเหลือและสนับสนุนซึ่งกันและกัน มากกว่าผู้เช่าอาคารที่ไม่มีต้นไม้ นอกจากความรู้สึกเป็นชุมชนที่มากขึ้นแล้ว ยังลดความเสี่ยงต่ออาชญากรรมบนท้องถนนอีกด้วย
ประสบการณ์การเชื่อมต่อนี้อาจอธิบายได้จากการศึกษาที่ใช้ fMRI เพื่อวัดการทำงานของสมอง เมื่อผู้เข้าร่วมดูฉากธรรมชาติ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเอาใจใส่และความรักจะสว่างขึ้น
แต่เมื่อพวกเขาดูฉากในเมือง สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความกลัวและความวิตกกังวลจะทำงาน ดูเหมือนว่าธรรมชาติจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกที่เชื่อมโยงเราถึงกันและกันและสิ่งแวดล้อม
โรคขาดธรรมชาติ (Nature Deficit Disorder)
ด้วยความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เราอยู่กับหน้าจอกันมากขึ้น พอไม่ได้สัมผัสธรรมชาติ ใช้เวลาอยู่แต่กับมือถือ คอมพิวเตอร์ จะกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับตนเอง และขาดความคิดสร้างสรรค์
โรคขาดธรรมชาตินี้จะยังไม่ได้มีการระบุทางการแพทย์ว่าเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชเด็ก แต่ก็เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าการที่คนเราใช้เวลาอยู่กลางแจ้งน้อยลง จะส่งผลต่อปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก ๆ ได้
ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้นาน ๆ บางคนก็มีภาวะซึมเศร้าหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ และส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการเข้าสังคมต่อไป
วิธีการบำบัด โดยใช้ ธรรมชาติฮีลใจ
1. Forest Bathing การอาบป่า
การอาบป่า Forest Bathing เป็นการบำบัดแบบญี่ปุ่น ไม่ใช่การเข้าป่า เพื่อไปออกกำลังกาย หรือ ไปเดินป่า ไปปีนเขา “การอาบป่า”ในที่นี้มีความหมายมาจากคำว่า ชินรินโยคุ (Shinrin-yoku)
ชินริน (Shinrin) แปลว่า ป่า และ โยคุ (Yoku) แปลว่า อาบ จึงแปลรวมกันว่า “การอาบป่า” ใช้ ธรรมชาติฮีลใจ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในช่วงปี 1980 เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มมองเห็นปัญหาว่า ประชาชนเกิดความเครียดจากการทำงาน
เพราะอยู่หน้าจอมากเกินไป techno-stress จนนำมาสู่การลงทุนเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการจัดตั้งคลินิกอาบป่าทั้งหมด 62 แห่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนไข้ที่มาหาหมอเพราะความเครียด หรือมีความดันโลหิตสูง
การอาบป่า จะเป็นวิธีการที่จะช่วยเชื่อมตัวเราเข้ากับธรรมชาติผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผ่านรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส โดยใช้ธรรมชาติบำบัดในการชำระล้างความเครียด ความวิตกกังวล
ความอ่อนล้าที่แบกไว้ในวามคิดและจิตใจ ซึ่งถือเป็นวิธีการบำบัดตัวเองในแบบง่าย ๆ ที่สามารถทำเองคนเดียวได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือจะชักชวนกันทำเป็นกลุ่มแบบในครอบครัว หรือ ในที่ทำงานก็ได้เช่นกัน
นอกจากประโยชน์ในด้านสุขภาพกาย ยังส่งผลดีต่อสุขภาพจิตด้วย งานวิจัยในปี 2021 พบว่าอาสาสมัครจำนวน 61 คนที่ได้ไปอาบป่าเป็นเวลาสองชั่วโมง มีความวิตกกังวล และการคิดวนไปวนมากับปัญหาต่าง ๆ น้อยลง
ขั้นตอนการอาบป่า หรือ Rewilding การฟื้นคืนธรรมชาติ
1. วางใจให้คุ้นเคย
ก่อนเริ่มต้น ลองสังเกตและทำความคุ้นเคยกับสถานที่นั้น หาพื้นที่ที่สงบ ที่เมื่อถ้าเราหลับตาลง เราจะยังรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย เมื่อได้จุดยืนที่รู้สึกสบายและเป็นตัวของตัวเอง ลองขยับแขน ขา และคอ เพื่อผ่อนคลาย
ร่างกาย ยืนหันหน้าไปทางทิศที่เรารู้สึกว่าอยากเดินไปค่อย ๆ วางความคิดและความกังวลใจลง สูดลมหายใจให้ลึกและยาวกว่าปกติสัก 3 ลมหายใจ ยืนด้วยท่าที่รู้สึกมั่นคง รับรู้บรรยากาศทั้งหมดรอบ ๆ ตัว
2. เปิดการรับรู้สัมผัส
ลองหลับตาลง รับรู้ถึงฝ่าเท้าและน้ำหนักทั้งหมดของเราที่ถ่ายลงผืนดิน ค่อย ๆ จัดระเบียบร่างกาย กระดูกสันหลัง และคอ ให้ตั้งตรง ทิ้งน้ำหนักแขนลงข้างตัว ปล่อยมือสบาย ๆ ลองรับรู้เสียงที่เกิดขึ้นรอบ
และค่อย ๆ ขยายสัญญาณการรับรู้เสียงนั้นออกไปให้กว้างและไกลที่สุด รับรู้ถึงลมที่พัดมาสัมผัสร่างกายของเรา มันพัดมาจากทางทิศไหน รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย อาจจะเป็นความรู้สึกอุ่นที่ปลายมือทั้งสอง
เสียงเต้นของหัวใจ รับรู้กลิ่นที่เกิด กลิ่นหอมชื้นของดิน กลิ่นดอกไม้ กลิ่นป่าในฤดูนั้น ค่อย ๆ ลืมตา มองทัศนียภาพทั้งหมดด้วยสองตาของเรา ค่อย ๆ ผสานการรับรู้จากผัสสะทั้งหมดให้คงอยู่กับตัวเรา
3. ออกเดิน
เริ่มเดินไปบนทางที่รู้สึกว่าน่าสนใจหรือดึงดูดเรา โดยยังคงรักษาผัสสะการรับรู้ทั้งหมดไว้กับตัวเอง หากรู้สึกว่ามีความคิดวอกแวกเกิดขึ้น เพียงแต่กลับมาที่การเดินโดยไม่ต้องคิดและตัดสินตัวเอง
ข้อนี้มิ้นไปเจอข้อมูลมาว่า เป็นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทำเบื้องต้น ไม่ว่าจะมีซึม เศร้า ดิ่ง การได้ออกไปสูดอากาศช่วยได้มาก ง่าย ๆ แค่ไปสวนสาธารณะใกล้บ้าน หรืออาจจะลองเดินป่า ภูเขา แม่น้ำ ก็ได้
4. หยุดพักและสังเกต
หากมีสิ่งใดระหว่างเส้นทางเดินที่เราสนใจ ดึงดูดเรา ก็เพียงลองหยุด สังเกต อาจจะลองสัมผัสให้รู้สึกถึงน้ำหนัก พื้นผิว ความร้อนเย็น สีสัน รูปทรง หรือลักษณะเฉพาะบางอย่างที่เราสนใจ หรือหากเจอที่เหมาะ ๆ น่านั่งพัก
หยุดสังเกตสิ่งต่าง ๆ โดยยังคงรักษาความเปิดกว้างของสัมผัสการรับรู้เอาไว้อย่างเป็นธรรมชาติ เราอาจจะถ่ายภาพสิ่งที่สังเกตเห็นได้ โดยไม่ทำลายความรู้สึกสงบที่เรามีระหว่างการเดิน
5. บันทึกและแลกเปลี่ยน
เมื่อออกเดินถึงจุดที่รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว นั่งพักและบันทึกความรู้สึก ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง อาจจะเป็นภาพวาดหรือถ้อยคำบางอย่างที่ผุดขึ้นมาจากความรู้สึกหรือสิ่งที่สังเกต
2. เพิ่มธรรมชาติในชีวิต
หากไม่มีเวลา ไปอาบป่าหรือกิจกรรมธรรมชาติบำบัดอื่น ๆ การนำธรรมชาติบำบัดมาปรับใช้อาจจะต้องหาทางเลือกเพิ่มเติมไว้ด้วย เช่น ท้องฟ้าจำลอง อควาเรียม จัดสวนที่บ้าน รวมไปถึงการเสพสื่อที่เกี่ยวกับธรรมชาติ
มีงานจัยที่บอกว่าทดลองใช้ VR แล้วพบว่า อาการกังวลและอาการแพนิคของผู้เข้าร่วมการทดลองลดลงด้วย สำหรับหลาย ๆ คน อาจจะไม่ต้องใช้ธรรมชาติจริง ๆ ต้องไปป่าเท่านั้น ไปทะเลเท่านั้น
แต่ใช้สื่อหรือสิ่งที่ทดแทนก็อาจจะช่วยได้บ้างเหมือนกัน ถึงแม้จะอยู่ในเมืองใหญ่ แต่เรายังสัมผัสธรรมชาติได้ เช่น ถ้าอาศัยอยู่หรือทำงาน ซึ่งแถว ๆ นั้นมีถนนหนทางที่มีต้นไม้ มีธรรมชาติ ก็สามารถไปเดินเล่นได้
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่
ที่มา :
การฟื้นคืนธรรมชาติ
5 Science-Backed Reasons Nature Can Heal the Soul
โรคขาดธรรมชาติ
Post Views: 2,509