Podcast สำหรับคน นอนหลับยาก Alljit ร่วมกับคุณวันเฉลิม คงคาหลวง (นักจิตวิทยาการปรึกษา) เจ้าของแฟนเพจ Trust.นักจิตวิทยาการปรึกษา
ฟังก่อนนอน ep.1 เคลียร์ใจก่อนนอน ให้เรานอนหลับง่ายมากขึ้น สำหรับคนที่ นอนหลับยาก นอนไม่หลับ พร้อมวิธีเคลียร์สิ่งรบกวนภายในใจ วิธีให้นอนหลับ ง่ายมากยิ่งขึ้น
#Podcast สำหรับคน นอนหลับยาก นอนไม่หลับ
ทำไมคนเรามักจะเกิดความคิดฟุ้งซ่านก่อนเข้านอน? แล้วเราจะหาทางออกให้กับความคิดฟุ้งซ่านนั้นได้อย่างไร?
เคยเป็นกันไหมคะ ช่วงเวลาก่อนที่เราจะเข้านอน เรามักจะใช้เวลาในการขบคิดเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาในแต่ละวัน เฝ้ามองดูชีวิตตัวเองที่ดำเนินไปในแต่ละวัน ยิ่งมองดูชีวิตมากเท่าไหร่ก็ยิ่งวิตกกังวลกับเรื่องที่มันเกิดขึ้นมากเท่านั้น
จนบางครั้งหลาย ๆ คนกังวลไปถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นและมันก็คงจะดีมาก ๆ เลยใช่ไหมคะ ถ้าเราได้คิดทบทวนจนตกตะกอนเป็นชุดความคิดหรือคำตอบบางอย่างที่เราต้องการค้นหา
หลังจากนั้นเราก็สามารถนอนหลับได้อย่างสบาย ไม่ฝันร้าย ตื่นเช้าขึ้นมาด้วยความสดใส เชื่อว่านั่นคงจะเป็นภาพที่ใครหลายคนใฝ่ฝันกันใช่ไหมคะ
Episode แรกนี้ Alljit ร่วมมือกับคุณวันเฉลิม คงคาหลวง นักจิตวิทยาการปรึกษา ที่จะมาบอกเล่าและแนะนำถึงการเคลียร์สิ่งรบกวนที่อยู่ในใจก่อนเข้านอน
เพื่อให้เราสามารถหลับพักผ่อนได้อย่างสบายและไม่ต้องกังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้วหรือเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น
เพราะความคิดก่อนนอนของคนเราทุกคนมักจะฟุ้งซ่านและหาทิศทางไม่ได้ มันคงจะดีกว่าถ้าเราสามารถกำหนดทิศทางความคิดของตัวเองได้ เพื่อการนอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
การตั้งคำถามกับตัวเอง
อันดับแรกการที่เราจะคิดหรือทบทวนอะไรก่อนนอน อาจจะเริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าเราทบทวนตัวเองเพื่ออะไร ทำไมเราจะต้องมาจัดการกับความคิดของเรา
ลองค่อย ๆ ทบทวนและสำรวจลงไปลึก ๆ ว่าเราตั้งใจจะทบทวนด้วยตัวของเราเองหรือเพราะมีใครบอกกับเราว่ามันคือสิ่งที่ดี เราก็เลยเลือกที่จะทำในสิ่งนั้น
โดยที่เราเองก็ยังไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่ดีกับเราคืออะไร สิ่งที่เราทำนั้นดีกับเราจริง ๆ หรือเปล่า
ขั้นแรกคือการตั้งคำถามตรงนี้ก่อน ถ้าคำตอบคือเราอยากจะทบทวนความคิดด้วยตัวของเราเอง เราอาจจะต้องมาหาสมดุลและจัดการให้เกิดความเหมาะสมว่าระยะที่ใช่และสบายใจมันอยู่ตรงไหน
การนอนคืออะไร?
การนอนเป็นระบบอัตโนมัติที่ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนหรือว่า Shutdown ตัวเอง การนอนไม่ได้พักแค่ร่างกายหรือจิตใจ แต่คือการพักจากทุกสิ่งทุกอย่าง
รวมไปถึงการพักผ่อนทางจิตวิญญาณด้วย เป็นช่วงเวลาที่เราได้พักจากการคิดเรื่องชีวิต ความรัก ความกลัว ความกังวล การเรียน การทำงาน ให้เราได้หลับตาลงอยู่กับภาพมืด ๆ
แล้วก็ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าเพื่อรับแสงแดดอ่อน ๆ และพร้อมสำหรับการเริ่มต้นวันใหม่
การจัดการเวลา สำหรับคน นอนหลับยาก
ทำไมการจัดการเวลาถึงสำคัญ? ด้วยหลักการพื้นฐานแล้วเรามีความจำเป็นจะต้องจัดการเวลาของตัวเองก่อน ว่าเราจะทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ถึงเมื่อไหร่ เราจะเข้านอนตอนไหน
เพราะฉะนั้นการที่เรามีการล็อคเวลาของตัวเองจะมีความสอดคล้องกับการจัดการเวลานอนของตัวเราเองด้วย
บางครั้งเราเป็นคนคิดฟุ้งซ่านก็จริง แต่พอเราได้รู้ว่าหน้าที่เราต้องทำอะไร ความฟุ้งซ่านนั้นจะสงบลง เช่น บางคนคิดฟุ้งซ่านตลอดทั้งวันแต่มีการกำหนดเวลานอน 4 ทุ่ม
ก็สามารถที่จะเข้านอนได้เพราะนั่นคือหน้าที่ความรับผิดชอบและเป้าหมายของเรา เพราะฉะนั้นการเซ็ตเวลานอนค่อนข้างมีความสำคัญมาก ๆ
กังวลกับเรื่องที่ผ่านไปแล้วหรือวิตกกังวลกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึงจน นอนหลับยาก
เราจะทำอย่างไรดีนะ ถ้าเราหยุดที่จะคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วไม่ได้? ถ้ามันคือความวิตกกังวลต่อสิ่งที่เราได้ผ่านมันไปแล้ว เราอาจจะต้องเริ่มต้นจากการยอมรับก่อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถที่จะกลับไปแก้ไขได้
คนที่ยอมรับได้แล้วค่อย ๆ มองดูการกระทำของตนเอง ปรับปรุงหรือวางแผนที่จะรับมือในวันต่อไป จะแตกต่างจากคนที่ยอมรับไม่ได้
ที่สุดท้ายแล้วถึงแม้ว่าเราจะมีวิธีการที่เตรียมไว้ดีแค่ไหนแต่ถ้าเราไม่ยอมรับกับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้เสมอ
เราก็จะยังคงวิตกกังวลต่อสิ่งที่ทำหรือวิตกกังวลต่อความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแล้วจะเห็นได้ชัดเลยว่าหลาย ๆ คนไม่ได้วิตกกังวลต่อสิ่งที่เราทำพลาด
แต่กำลังวิตกกังวลต่อตัวเองที่กำลังจะต้องเผชิญหน้ารับความผิดพลาด
การยอมรับคือการเรียนรู้และฝึกฝนให้ตัวเราค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับความผิดพลาด ว่ามันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดมหันต์ที่เราจะทำผิดพลาดบ้าง
ขอเเค่เราเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเองต่อจากการยอมรับตัวเอง ไม่โทษตัวเองด้วยการแก้ไขที่ดีที่สุดเมื่อใดก็ตามที่เราสามารถยอมรับความผิดพลาดได้ มันจะเกิดความมั่นคงบางอย่างเกิดขึ้น
ไม่ใช่ว่าเราเป็นคนที่เก่งที่สุดหรือดีที่สุดแต่ท้ายที่สุดแล้วเราจะเป็นคน ๆ หนึ่งที่พยายามทำอย่างเต็มที่และดีที่สุด
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราก็จะสามารถยอมรับและพร้อมที่จะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป เรื่องราวที่เรานำมาเเนะนำในวันนี้คือการดูแลตัวเองเบื้องต้นที่จะทำให้คุณนอนหลับได้อย่างสบาย
และจัดการกับความคิดที่ฟุ้งซ่านได้ สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรมากำหนดว่าเราจะต้องคิดทบทวนตัวเองในทุก ๆ คืนก่อนนอน
ความเหมาะสมของการทบทวนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเจอจุดสมดุลตรงไหน บางคนอาจจะคิดทบทวน 1 ครั้งก่อนนอนทุกวัน บางคนอาจจะทบทวนเพียงแค่ 1 ครั้งต่อสัปดาห์หรืออาจจะนาน ๆ ที
เพราะว่าในแต่ละช่วงรอบชีวิตของเราก็จะมีบทสรุปที่แตกต่างกันออกไป บทสรุปของแต่ละรอบวัน รอบสัปดาห์ รอบเดือนหรือว่ารอบปีก็ให้บทสรุปที่แตกต่างกัน
และแน่นอนว่าไม่จำเป็นจะต้องยึดถือวิธีการที่แชร์ในวันนี้ไปทั้งหมด ทุกคนสามารถค้นหาหรือสร้างสรรค์วิธีการที่ทำให้ตัวเองนอนหลับพักผ่อนอย่างสบายใจได้ สำหรับค่ำคืนนี้ ราตรีสวัสดิ์
Post Views: 3,815