ถ้ามีคนมาเล่าเรื่องที่ไม่สบายใจให้เราฟัง เราควรทำยังไงดี? ควรนั่งฟังเฉย ๆ หรือ ตอบโต้กับเขา แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาให้เขา เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเป็นผู้ฟังที่ดีหรือยัง? แบบไหนที่เรียกว่า ” ผู้ฟังที่ดี ”
ฟังอย่างไรให้เป็นการ รับฟัง ด้วยใจ?
รู้จัก Active Listening
เป็น “การฟัง” ที่ไม่ใช่แค่ “การได้ยิน” จาก APA ให้ข้อมูลว่า Active Listening เป็นเทคนิคในการบำบัดทางจิตวิทยา เป็นการที่ผู้ฟังตั้งใจรับฟัง ตั้งคำถามที่จำเป็น เพื่อทำความเข้าใจสารและอารมณ์ของอีกฝ่าย
องค์ประกอบของ ผู้ฟังที่ดี
นอกจากนี้ อิตาเลี่ยนไทยกรุ๊ป กล่าวด้วยว่า การฟังแบบ Active Listening คือ การฟังโดยทำความเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการนำเสนอออกมาจริง ๆ ประกอบไปด้วยหลัก 3A
1. Attitude (ทัศนคติ)
การยอมเปิดใจรับฟังโดยปราศจากอคติ เพราะจะทำให้สามารถรับฟังเรื่องราวทั้งหมดจนจบได้อย่างเข้าใจจริงๆ
2. Attention (ความสนใจ)
ตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด รอฟังเหตุผลและเรื่องราวทั้งหมดของอีกฝ่ายให้จบ ก่อนนำมาคิดและประมวลผลตาม
3. Adjustment (การปรับตัว)
หลังจากรับฟัง ควรปรับอารมณ์และความคิดให้เหมาะสม แล้วเลือกวิธีการตอบกลับที่ผ่านการไตร่ตรองมาดีแล้ว
การเป็น ผู้ฟังที่ดี สำคัญอย่างไร?
1. สำคัญต่อสุขภาพจิต
ถ้าต่างคนต่างรับฟังกัน ไม่ว่าจะมีช่วงเวลาที่แย่แค่ไหน คงผ่านไปได้ง่ายขึ้น เพราะทุกคนต่างต้องการ social support กันทั้งนั้น ในวันที่เจอปัญหา
2. สำคัญต่อการทำงาน
หากในองค์กรบริษัทรับฟังกันแบบ Active Listening จะทำให้ได้ความคิดสร้างสรรค์และความคิดเห็นใหม่ ๆ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันและกัน
3. สำคัญต่อความสัมพันธ์
ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน แฟน พวกเขาอาจมีอะไรอยากระบาย หากรับฟังกัน จะทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น
อยากเป็น ผู้ฟังที่ดี ต้องทำอย่างไร?
1. Eye contact ให้พอเหมาะ
สำหรับบางคน การไม่มองตา อาจทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้ฟังอยู่ แต่สำหรับบางคน การมองตา อาจทำให้รู้สึกอึดอัดหรือเกร็งได้ ควรสังเกตปฏิกิริยาของอีกฝ่าย
2. ตั้งคำถามให้อีกฝ่ายได้ระบาย
การตั้งคำถามเปิด ให้โอกาสอีกฝ่ายได้พูดและได้ระบายอย่างเต็มที่ จะช่วยให้ความอึดอัดใจน้อยลง เช่น รู้สึกยังไง คิดยังไงกับเรื่องนี้ วางแผนจะทำอะไรต่อไป
3. คำพูดและการแสดงออกควรไปในทางเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง แววตา ควรเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะถ้าอีกฝ่ายบอกว่า รับฟังอยู่นะ แต่เล่นโทรศัพท์หรือพูดแทรก อาจทำให้เสียความรู้สึกได้
4. ใช้ใจฟัง เข้าใจแบบ empathy หลีกเลี่ยง sympathy
empathy คือเข้าใจในมุมเขา แต่ sympathy คือเข้าใจในมุมเขา แบบที่รู้สึกตามไปด้วย เขาดิ่งเราดิ่งด้วย จากที่จะหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน กลายเป็นเศร้าไปหมด
5. มีปฏิกิริยาที่แสดงให้เห็นว่าเรากำลังรับฟังเขาอยู่ มี feedback
แสดงให้เห็นว่ากำลังฟัง ด้วยการพยักหน้าเป็นระยะ ยิ้มให้ หรือแสดงอารมณ์ที่เป็นไปในทางที่เล่า รวมถึงอย่าลืมให้ feedback อย่างการทวน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน
คนรอบข้างที่มีอาจไม่ใช่ ผู้ฟังที่ดี ทำอย่างไร?
การเลือกคนที่ไว้ใจได้สำคัญ แต่ถ้าไม่มีเลยจริง ๆ อาจต้องพึ่งนักจิตวิทยาหรืออาสาสมัครรับฟัง การจัดการด้วยตัวเองทั้งหมดอาจยากสำหรับหลาย ๆ คน ไม่จำเป็นต้องปิดกั้น
เช่น ถ้าเรามีเพื่อนในกลุ่ม 5 คน ทั้ง 5 คนนั้นอาจจะไม่ใช่คนที่สามารถรับฟังเราได้ทุกเรื่อง ลองพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน แล้วสังเกตว่าใครเหมาะกับการที่จะปรึกษาเรื่องไหน
และสุดท้ายการรอเวลาสำคัญไม่แพ้กัน คือ ให้เวลาตัวเอง รอให้เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นแผลสำหรับเราแล้ว เราใจเย็นลงแล้ว เรามีทางออกแล้ว ค่อย ๆ เล่าให้คนอื่นฟังทีหลังได้
ถ้าไม่มี ผู้ฟังที่ดี รับฟัง ทำอย่างไร?
ในแง่ที่ว่าไม่มีความพร้อมไปหานักจิตวิทยา อาสาสมัครรับฟังคู่สายเต็ม แต่เราไม่ไหวแล้ว ณ เวลานั้น อาจลองอยู่กับตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองได้ระบายความรู้สึกออกมา
ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้ เขียนระบาย หรือพูดระบายคนเดียว บางคนที่เศร้ามาก จะปล่อยให้ตัวเองร้องไห้ ร้องจนไม่มีอะไรให้ร้องจะหยุดได้เอง และที่สำคัญคือ ” เวลา “
เวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง อาจช่วยเหลือตัวเองได้ระหว่างรอเวลา ด้วยการหาอะไรทำไม่ให้มีเวลาว่างมาเศร้าเสียใจ พยายามหากิจกรรมที่ชอบทำ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
ถ้ารู้สึกว่า คนอื่นไม่เข้าใจเรา รับมืออย่างไร?
บางครั้ง อย่าปล่อยให้คนใจร้าย ทำให้เราไม่ให้โอกาสคนอื่น คนรอบข้างที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะไม่ใช่ไปด้วย จะมีสักคนที่รับฟังอย่างเข้าใจ
และการที่จะลบอคติว่า ไม่มีใครเข้าใจเราเลย ค่อนข้างยาก บางทีอาจจะลองหยุดตามหาคนนั้น แต่ระบายทางอื่นแทน เช่น โลกส่วนตัว โซเชียลมีเดียแล้วตั้งเป็น Private
นักจิตวิทยา มีหน้าที่ ให้คำปรึกษา จริงไหม?
ไม่ถูกต้องไปซะทั้งหมด เพราะแก่นสำคัญไม่ใช่การให่คำปรึกษา แต่เป็น ” การรับฟัง ” การอยู่เคียงข้าง การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ
เป็นคนที่ทำหน้าที่สะท้อนให้เขาเข้าใจตัวเองและตัดสินใจได้ว่าควรจัดการกับชีวิตตัวเองอย่างไร ไม่ได้มีหน้าที่คิดทางออกให้ ถึงแม้ว่าผู้รับการปรึกษาจะต้องการแบบนั้น
เพราะเงื่อนไขในชีวิตของทั้งสองฝ่ายไม่เหมือนกัน จะให้ผู้ให้คำปรึกษาชี้ทาง บอกให้ทำแบบนี้สิ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะอาจจะทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ
นอกจากนักจิตวิทยา บางคนจะหันหน้าไปหาคนแปลกหน้า เช่น เพื่อนในโลกออนไลน์ กลุ่มใน Facebook ที่มีการรับฟังและให้กำลังใจและกัน อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีได้
ที่สำคัญกว่าการหาคนมาอยู่เคียงข้าง คือ การเป็นเพื่อนที่ดีให้กับตัวเอง 😊🤍
ที่มา :
เคล็ดลับงานพุ่ง รักรุ่ง ในช่วงล็อคดาวน์
Active listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม
Post Views: 5,720