ความ ล้มเหลว ในชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเคยพบเจอ คนส่วนใหญ่มักจะกลัวความล้มเหลวทำให้กดดันและไม่อยากที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ ให้กับชีวิต แต่แท้จริงแล้วความล้มเหลวก็มอบสิ่งที่ดีให้แก่เราเช่นกัน
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ รับมือกับวันที่เราล้มเหลวที่เกิดขึ้นในชีวิต
ความ ล้มเหลว คืออะไร?
ความล้มเหลว คือ การที่เราไม่สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามรูปแบบเงื่อนไข กฎเกณฑ์ ที่เราสร้างขึ้นมากำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตของตัวเอง ซึ่งเราจะมีความผิดหวัง ความทุกข์ เสียใจ เมื่อไม่สามารถดำเนินให้เป็นไปในรูปแบบที่คาดหวังไว้
แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครที่สามารถทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จได้ตลอดเวลา ทุกคนต้องเคยประสบกับความล้มเหลวในชีวิต ซึ่งความล้มเหลวจะแปรเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ชีวิต ให้เราเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้น
แต่หลายคนมักกลัวความล้มเหลว จนไม่อยากทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะกลัวล้มเหลวอีก ซึ่งในทางทฤษฎีจิตวิทยาแล้วภายใต้ความกลัวความล้มเหลวนั้น จะมีความกลัวอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การกลัวไม่เป็นที่รัก กลัวไม่เป็นที่ยอมรับจากบุคคลอื่น หรือกลัวความอับอาย
สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้บางคนไม่กล้าที่จะต่อสู้กับความกลัวการล้มเหลวในชีวิต
ความกลัวจะสร้างความกดดันให้ตัวเอง
ความกลัวจะสร้างความกดดันให้ตัว เพื่อป้องกันผิดพลาด เมื่อเราสะสมความกดดันกับตัวเองมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ก็อาจส่งผลให้ตัวเรากลายเป็นคนที่กลัวการเริ่มต้มทำสิ่งใหม่ ๆ
ซึ่งในความเป็นจริง ความล้มเหลวเป็นบทเรียนที่สำคัญบทหนึ่งของชีวิต เราล้มเหลวได้ สามารถพักได้ และควรจะเริ่มต้นใหม่กับชีวิตต่อไปให้ได้เสมอ
สำรวจตัวเองว่าเราเป็นคนกลัวความ ล้มเหลว หรือเปล่า?
เราสามารถสำรวจนิสัยของตนเองว่าเป็นคนกลัวความล้มเหลว หรือมีมุมมองด้านลบต่อความล้มเหลวหรือไม่ ได้ดังนี้
1. ยอมแพ้ง่าย ๆ แม้จะยังไม่เคยทำ
บางคนมีนิสัยวิตกกังวลจนเกินไป ซึ่งเวลาเริ่มต้นที่จะทำอะไร การคิดรอบด้านหรือคิดถึงด้านแย่ที่อาจเกิดขึ้นได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรคิดวิตกกังวลเกินไป จนกลัวว่าสิ่งที่กำลังจะเริ่มทำนั้นจะมีปัญหาจนต้องล้มเหลว และไม่ยอมที่จะเริ่มต้นทำสิ่งนั้นเลย
2. กลัวการทำอะไรใหม่ ๆ หรือไม่อยากออกจาก safe zone
คนประเภทนี้ จะตีกรอบให้กับตัวเอง โดยคิดว่ากรอบนั้นคือพื้นที่ปลอดภัย ขาดความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิต
3. ความคาดหวังสูงเกินไป
บางคนคาดหวังเกินกว่าความเป็นจริงหรือศักยภาพของตัวเอง เช่น ฝันอยากจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีแต่ในความเป็นจริง ทำงานเป็นพนักงานบริษัท รับเงินรายเดือน เมื่อความฝันกับความจริงมันต่างกันเกินไป ก็ทำให้เกิดความท้อแท้ ในการไล่ตามความฝัน
4. น้ำเต็มแก้ว
คนประเภทที่ไม่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งในควมเป็นจริง พวกน้ำเต็มแก้ว อาจจะกลัวการเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ กลัวการเปลี่ยนแปลง จนไม่พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่นั่นเอง
5. ไม่รู้จักการวางแผนชีวิต
คนประเภทที่ใช้ชีวิตตามใจ อะไรก็ได้ยังไงก็ได้ ไม่มีการจัดระเบียบ ขาดการวางแผนในการดำเนินชีวิต ภายนอกอาจจะดูเหมือนว่าคนเหล่านี้ไม่สร้างความกดดันในการดำเนินชีวิตให้กับตนเอง
แต่ในความจริงลึก ๆ แล้ว อาจจะมีความกลัวความล้มเหลวแฝงอยู่ จึงไม่ยอมวางแผนให้กับชีวิตตนเอง
ไม่อยากเป็นพวกกลัวความล้มเหลวต้องทำอย่างไร
ประการแรก ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ความล้มเหลว” ของเรานั้นคืออะไร สำหรับบางคนความล้มเหลวอาจหมายถึงการทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ส่วนบางคนอาจหมายถึงการที่ทำงานใหญ่ ๆ ไม่สำเร็จหรือไม่ดีตามที่คาดหวัง
ประการที่สอง ให้สำรวจตนเองว่า เมื่อเกิดความล้มเหลวขึ้น มีความรู้สึกใดสะท้อนออกมาบ้าง เช่น ฉันไม่เก่ง ฉันแย่ ฉันไม่มีค่า หรือแม้กระทั้งการไปตอกย้ำตนเองว่าฉันไม่เหมาะที่จะอยู่ในจุด ๆ นี้
เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้เรายิ่งกลัวกับความล้มเหลวได้
ประการที่สาม คือ การเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น บ่อยครั้งที่เราเห็นสิ่งต่าง ๆ บนโลกโซเชียลแล้วนำไปเปรียบเทียบกับผลสัมฤทธิ์ของตนเองจนทำให้เรารู้สึกว่าผลสัมฤทธิ์ของคนอื่นดูประสบความสำเร็จจังเลย
บางครั้งมันทำให้เรารู้สึกแย่ เราเก่งไม่พอ เราสู้คนอื่นไม่ได้ และเห็นคุณค่าตัวเองน้อยลงเรื่อย ๆ ถึงแม้จะมีคนบอกเราว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีแล้วแต่ตัวเราจะบอกกับตัวเองว่าไม่ยังดีไม่พอ
เพราะคนนั้นยังดีกว่าเลย เมื่อเราให้ความสำคัญกับตรงนั้นมาก ๆ ก็ทำให้เรารู้สึกล้มเหลวกับสิ่งที่เราทำสำเร็จ
นิยามความล้มเหลวสำหรับตัวเรา
เมื่อเราให้นิยามกับตัวเองได้แล้วว่าความล้มเหลวสำหรับเรานั้นคืออะไร และเรารู้แล้วว่าเมื่อมันเกิดขึ้นเรารู้สึกอย่างไรบ้าง จากนั้นให้เรารวบรวมความคิดทั้งหมดแล้วมาพิจารณากับตัวเราเองว่าจริง ๆ แล้ว
ความล้มเหลวมัน คือทั้งหมดของชีวิตเราหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราจะต้องนำมาตัดสินชีวิตตนเองหรือไม่ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่เราทำอะไรล้มเหลว นั้นเกิดจากเราประเมินสถานการณ์หรือสิ่งที่เราจะทำผิดพลาด
หรือทำไปโดยขาดประสบการณ์ ขาดความรู้ความเข้าใจ จึงไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถจัดการแก้ไข หรือพัฒนาตนเองให้สามารถทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้
เมื่อล้มเหลวแล้วจะดึงตัวเองออกจากความรู้สึกนั้นได้อย่างไร?
จงอย่าเชื่อทุกความคิดของตัวเองเพราะในบางครั้งความคิดของเราที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่สมองสั่งการให้เราคิดแบบนั้น แต่จริง ๆ แล้วสมองของเราสามารถหลอกเราได้ ฉะนั้นอยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเอง
เช่น การที่เขาได้เงินเดือนเยอะกว่าเขามีความสุขจริงหรือไม่ การที่เขามีบ้านหลังใหญ่โตเขาอาจจะกำลังเผชิญกับความทุกข์บางอย่างที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ก็เป็นได้
ลองมองตัวเราเองอย่างที่ตัวเราเป็น เพราะตัวเราเองนั้นมีเพียงแค่คนเดียวบนโลกใบนี้ โฟกัสในด้านดีของตัวเองบ้าง การที่เราเปรียบเทียบกับคนอื่นก็จะทำให้เราเห็นแต่ข้อเสีย
จงดีในแบบที่เป็นเราเก่งในแบบที่เป็นเรามีความสุขในแบบที่เราเป็น
Post Views: 6,532