ทฤษฎี สามเหลี่ยมความรัก (Triangular theory of love) ความรู้สึกมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยเฉพาะความรู้สึกรัก เป็นความรู้สึกที่อธิบายยาก
และยังมีคนที่ค้นหาถึงความรู้สึกรักแท้จริงแล้วมาจากอะไร เพราะเวลาที่เรารู้สึกรัก มักจะนำความรู้สึกอื่นพ่วงมาด้วย
ไม่ว่าจะเป็นความหลงใหล ชื่มชม เทิดทูน หึงหวง และแน่นอนว่า ความรักมีหลากหลายรูปแบบให้เราได้พบเจอ
ความรัก คือ . .
เราคุ้นเคยกับคำว่า ‘รัก’ แต่กลับไม่เข้าใจคำ ๆ นี้ในบางมุม อาจเป็นเพราะแต่ละคนจะมีนิยามของคำนี้เเตกต่างกันไป ความรักเป็นความรู้สึกนึงที่ดี ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลก
ความรู้สึกนี้ทำให้เกิดความรู้สึกอื่นตามมาด้วย อุ่นใจ ปลอดภัย มีความสุข แต่ขอคำนิยามคำว่ารักจากหนังสือ สัญญานะว่าจะยิ้มให้กับตัวเอง
เขียนไว้ว่า “จริงๆแล้ว ความรัก.. ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย ความรักคือ การที่เราพร้อมให้ใครอีกคน เข้ามาแบ่งปันเรื่องราวในชีวิตของเรา เข้ามาเป็นกำลังใจและเติมเต็มส่วนที่ขาด พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมกัน แต่ในขณะเดียวกัน เราต่างคนก็ยังต่างได้ใช้ชีวิตของตัวเอง”
อ้างอิงถึงวิจัยนึงกล่าวไว้ว่า ความรู้สึกรัก เป็นความรู้สึกที่เข้าใจยากที่สุด ไม่รู้ว่าที่มาของความรักมาจากอะไร คน ๆ นึงจะรู้สึกได้มากขนาดไหน ถ้าให้ตอบว่าความรักคืออะไรมันยากมากจริง ๆ
เพราะตั้งแต่เกิดมาเราก็มีความรักหลายรูปแบบ ครอบครัว เพื่อน แฟน สัตว์เลี้ยง ซึ่งแน่นอนแต่ละนิยามความรู้สึกที่มอบให้ไปกับแต่ละความสัมพันธ์มีความแตกต่างกัน
สามเหลี่ยมความรัก (Triangular theory of love)
นิยามของความรักจะแตกต่างกันไปตามศาสตร์ ความเชื่อ ทัศนคติของแต่ละบุคคล แต่ ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรักถือว่าเป็นคำนิยามความรักในความจิตวิทยาที่แพร่หลายและถูกยอมรับ
โดย apa : ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก (Robert Sternberg) เกี่ยวข้องกับธรรมชาติของความรักและความรักในความสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ
มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ความใกล้ชิด ความหลงใหลและความผูกมัด
1.ความใกล้ชิด (Intimacy) ความรู้สึกใกล้ชิด สนิทสนมและความผูกพัน ทั้งหมดนี้ทำเกิดความรู้สึกอบอุ่น ความเข้าใจกัน ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ระยะยาว
2.ความหลงใหล (Passion) แรงเสน่หา นำไปสู่ความโรแมนติก ความดึงดูดทางกาย และทางเพศ
3.ความผูกมัด (Commitment) หรือการตัดสินใจ ถ้าในระยะสั้น จะหมายถึง การตัดสินใจว่าจะเรารักกัน และในระยะยาวหมายถึง คำมั่นสัญญาที่จะรักษาความรักนั้นเอาไว้
ระดับและประเภทของความรักที่แต่ละคนได้รับขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งขององค์ประกอบทั้ง 3 ส่วน เพราะมันมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
เช่น ถ้าเรามีความใกล้ชิดมากขึ้นอาจทำให้มีความหลงใหลและความผูกมัดที่มากขึ้น หรือถ้ามีความผูกมัดที่มากขึ้นอาจทำให้ความใกล้ชิดมากขึ้น หรือหรือมีความหลงใหลต่ออีกฝ่ายมากขึ้น
ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรักจะสามารถอธิบายถึงแง่มุมต่าง ๆ ของความรัก รวมถึงรูปแบบของความรักด้วย
รูปแบบของความรักมีอะไรบ้าง
1. การไม่มีความรัก Non-love/ไม่มีทั้งสามองค์ประกอบ
เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีความรู้สึกรักต่อกัน ไม่สามารถนับว่าเป็นความรักได้เลย เกิดกัยคนที่เราเพียงเเค่รู้จัก
2.ความชอบ Liking/ความใกล้ชิด
เป็นความรักที่เกิดจากความใกล้ชิดเท่านั้น เกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบเพื่อน
3.ความรักแบบหลงใหล Infatuated love/ความหลงใหล
เป็นความรักที่เกิดจากความหลงใหล พอใจกับรูปลักษณ์ภายนอก ไม่ใกล้ชิดสนิทสนม หรือมีข้อผูกมัดต่อกัน เช่น รักแรกพบ (Love at first sight) หรือ one night stand เป็นความรักที่ไม่มั่นคงแต่ก็สามารถสานต่อได้
4.ความรักแบบว่างเปล่า Empty love/ความผูกมัด
เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความผูกมัด ไม่มีความผูกพัน และความหลงใหล เช่น คู่รักที่ต้องแต่งงานกัน “คลุมถุงชน” หรือใช้ชีวิตร่วมกันมานาน จนหมดรักกัน แต่ยังอยู่ด้วยกัน
5.รักแบบโรแมนติก Romantic love/ความใกล้ชิด+ความหลงใหล
เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความใกล้ชิดและความหลงใหล มักเกิดในความสัมพันธ์ที่ได้รู้จัก ได้ใกล้ชิดกันและเกิดความชอบพอกัน โดยไม่มีความผูกมัด เช่น FWB
6.รักแบบเพื่อน Companionate love/ความใกล้ชิด+ความผูกมัด
เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความใกล้ชิดและความผูกมัด เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น ความสัมพันธ์แบบเพื่อน พี่น้อง คนในครอบครัว หรือคู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาอย่างยาวนาน
ไม่มีความชอบพอในเชิงเสน่หา แต่มีความมั่นคงสม่ำเสมอ ถือเป็นความรักที่ยั่งยืนและยาวนานที่สุด
7.รักลวง Fatuous love/ความหลงใหล+ความผูกมัด
เป็นความสัมพันธ์ที่มีเพียงความหลงใหลและความผูกมัด ความสัมพันธ์ประเภทนี้เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความพึงพอใจกันและตัดสินใจรักกันอย่างรวดเร็ว
อาจจะไม่รู้จักตัวตนของกันและกันจริงๆด้วยซ้ำ มักเกิดและจบอย่างรวดเร็ว
8.รักแท้ complete love มีทั้งสามองค์ประกอบ
เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีองค์ประกอบทั้ง 3 ถือว่าเป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ ที่เกิดขึ้นและรักษาเอาไว้ได้ยาก
ความรัก กับ ความผูกพัน
ไม่มีความรัก ผูกพันได้ไหม?
มีเส้นบาง ๆ ของสองคำนี้ อาจมองได้ 2 มุม ความผูกพันเกิดความรักเกิด ผูกพันเกิดความรักไม่เกิด ความผูกพัน เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดในระยะยาว
ซึ่งถูกกระตุ้นมาจากฮอร์โมน 2 ชนิด ออกซิโตซิน กับ วาโสเปรสซิน พอเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกผูกพัน ความรักต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ
ถ้าไม่มีความรักเกิดขึ้นความผูกพัน ก็จะไม่เกิด เพราะความรู้สึกผูกพันคือความรู้สึกที่มีปฏิสัมพันธ์ อยากใช้ชีวิตร่วมกัน
ความรักมาคู่กับความผูกพัน แต่ถ้าไม่เหลือความรักแล้วแต่ยังผูกพันอยู่ความผูกพันนั้นอาจจะมีความรู้สึกอื่นร่วมด้วย ความเป็นห่วง หรือมีอะไรที่ยังต้องรับผิดชอบร่วมกัน หรือความกลัวที่ไม่อยากให้อีกคนหนึ่งหายไป
เราจะได้ยินคำว่าอยู่กันไปแบบไม่รักแต่เพราะยังผูกพันบ่อย ๆ กับคนที่คบกันมานานแล้ว คนที่เป็นพ่อเป็นแม่หรือคนที่แต่งงานกันเเล้ว ที่อยู่กันมานานจนเริ่มหมดรักแต่สิ่งที่เหลืออยู่คือความผูกพัน
การที่ยังออกมาจากความสัมพันธ์ไม่ได้ ไม่ได้เป็นเพราะความผูกพันอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมันมีทั้งข้อผูกมัด มีความรับผิดชอบร่วมกัน อยู่ด้วยกันมานานจนเกิดความเคยชินและติดกับดัก Safe zone กลัวการเปลี่ยนแปลง
มีข้อมูลที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับความผูกพัน คือ ผูกพันโดยปราศจากความรู้สึก (Involvement Devoid of Feeling) คู่ที่ไม่มีความลึกซึ้งทางอารมณ์และความห่วงใยกันจริง ๆ
แต่ความสนใจที่มีต่ออีกฝ่ายเป็นไปเพราะความอยากรู้อยากเห็น อยากควบคุมหรือเป็นไปตามหน้าที่ เช่น สามีที่มีคนอื่น แต่ต้องมาแสดงความห่วงใยภรรยายามเจ็บไข้
กับอีกแบบนึง คือ ปราศจากความผูกพัน (Lack of Involvement) คู่รักไม่มีความสนใจใยดีกันเลย เป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ชีวิตคู่มีความหมายเพียงแค่การอย่ร่วมกันเท่านั้น
แต่ความรู้สึกผูกพัน เป็น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเหมือนกัน ลองสังเกตว่า ตั้งแต่เด็กเราจะยึดติดกับของเล่น เสื้อผ้า ตุ๊กเน่าหรือผ้าเน่า หรือแม้กระทั่งเพื่อนเรา
ความรู้สึกผูกพันจะทำให้เราเกิดความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง เลยไม่อยากที่จะเสียสิ่งนี้ไป ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าความผูกพันอาจะเกิดขึ้น แต่ความรักอาจไม่เกิด
ความผูกพันกลายเป็นความรักได้ไหม
ใครก็ได้ที่อยู่ในชีวิตเรามาสักระยะหนึ่ง แล้วอยู่ดี ๆ เราเห็นเขาในรูปแบบที่ไม่ใช่แค่คนสนิทอีกแล้ว เราอยากให้เขามาอยู่ข้าง ๆ เราอยากใช้ชีวิตร่วมกับเขาไปเรื่อย ๆ
น่าจะเป็นเพราะมันเกิดความรู้สึกที่สะสมกลายเป็นความรู้สึกดี ๆ ที่เราอยากดูแลเขา เรารักเขา
เรารู้สึกผูกพันกับคนที่ยังไม่เคยเจอได้ไหม
- แบ่งเป็นในมุมของศิลปินที่เป็นความรู้สึกที่เราปลื้ม เราไม่เคยเห็นตัวจริงเขา แต่เราตามผลงาน ฟังเพลง ตามไปเรื่อย ๆ จนเรารู้สึกผูกพัน เห็นเสต็ปการเติบโตในการใช้ชีวิตของเขาได้
- เป็นในด้านความสัมพันธ์ ที่คุยกันผ่านโลกออนไลน์ แบบเพื่อนที่ไม่เคยเห็นหน้า หรือคนคุยที่เราอาจจะบังเอิญเจอในออนไลน์ ก็ทำให้เราผูกพันได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลา ให้เรารู้จัก พูดคุย รู้วงจรการใช้ชีวิตในแต่ละวันจนเกิดเป็นความรู้สึกดี ๆ
ทฤษฎี 21 วันใช้กับความรักได้ไหม
ทฤษฎี 21 คือ ทฤษฎีที่อธิบายถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์จากหนังสือ Psycho-Cybernetics โดย ดร. แมคเวล มอลท์ (Dr.Maxwell Maltz) มีสาระสำคัญที่ว่า ‘การกระทำ’ จะตกผลึก กลายเป็น ‘นิสัย’
โดยทำต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน ซึ่งบางคนก็เอามาใช้ในด้านความรักเหมือนกัน จีบคน ๆ นึง 21 วัน เคยฟังของรายการพุธทอร์คพุธโธที่คนโทรมาเล่าว่าเขาลองใช้ทฤษฎี 21 วัน
แต่ผลก็คือฝ่ายที่ถูกชอบก็ไม่ได้ชอบเขากลับ ไม่มีคำตอบที่ตอบได้ว่าสามารถใช้ได้ไหมเพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก ความรัก ต้องเป็นเรื่องของคนสองคนที่รู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน อาจจะมีทั้งคนที่ใช้ได้ผล บางคนก็อาจจะไม่ได้
ความสัมพันธ์ประเภทต่าง ๆ
ความสัมพันธ์มีหลายหลายรูปแบบมากๆ บางความสัมพันธ์ที่ไม่เคยได้หรือรู้จัก ในปัจจุบันกลับมีการพูดถึงบ่อยจนเราสงสัยว่า มีจริง ๆ เหรอ? ความสัมพันธ์แบบนี้ มีจริง ๆ เหรอคนที่ยอมตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้
FWB /Friend with benefits
เป็นคำที่ใช้อ้างอิงถึงความสัมพันธ์ทางเพศที่ปราศจากความโรแมนติก โดยปกติแล้วความสัมพันธ์จะเป็นแบบระยะสั้นหรืออาจจะบางคู่อาจจะพัฒนาเป็นระยะยาว แต่มีกฎอยู่ว่า ต้องไม่มีฝ่ายไหนที่คิดเกินเลย จุดประสงค์ของความสัมพันธ์รูปแบบนี้ คือ
- เพศสัมพันธ์ เป็นแรงจูงใจทางเพศล้วน ๆ
- การเชื่อมต่อทางอารมณ์ อยากมีความใกล้ชิด
- ความเรียบง่ายของความสัมพันธ์ เป็นธรรมชาติ และปราศจากความเครียด
- การหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ที่จริงจัง ไม่ชอบการผูกมัดหรือมีสถานะที่โรแมนติกให้ใคร
Parasocial/ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม
รักเขาข้างเดียว Parasocial ใช้เรียกความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกิดขึ้นเพียงข้างเดียว ความสัมพันธ์นี้อาจจะอธิบายคำถามข้างต้นได้ดีว่าเราสามารถผูกพันกับคนที่ไม่เคยเจอหน้าได้ไหม
เพราะมันเกิดจากการที่เราสนใจอีกฝ่ายนึงมาก ๆ ชื่นชอบมาก ๆ จนเกิดเป็นความรู้สึกผูกพันและสนิทกับคนนั้น รู้สึกหวังดี ห่วงใย เหมือนว่าเขาเป็นคนที่มีตัวตนอยู่จริงในชีวิตเรา
แต่อีกฝ่ายอาจจะไม่รับรู้การมีอยู่ของตัวตนของเราด้วยซ้ำ เราจะเจอได้บ่อย ๆ กับ ศิลปิน/ตัวละคร กับ แฟนคลับ
Ghosting
นึกถึงเพลงอยู่ดี ๆ ก็หายไลน์ไม่ตอบ ใช้ในสถานการณ์ระหว่างคนรัก คู่รัก คนคุย เพื่อน ครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานก็ได้ แต่อันนี้พูดถึงความรักเลยจะขอเน้นย้ำที่ความสัมพันธ์แบบคนรัก คนคุย
โดยคำนี้ มีที่มาจากการที่คนเราเจอกันได้ง่าย ๆ จากแอปแชท หรือแอปเดท เหมือนจะพัฒนาความสัมพันธ์กันได้ แต่สุดท้าย อยู่ดี ๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ ทิ้งให้เราเคว้ง อยู่กับความรู้สึกผิด
และคำถามคาใจว่า “ทำไม” ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์นี้ถ้าเราเจอบ่อยครั้งจะทำให้เรา low selfesteem ได้นะ
ons/one night stand
ความสัมพันธ์ที่ไม่ผูกมัด ไม่ผูกพัน เพียงคืนใดคืนนึงเรารู้สึกไปถูกตาต้องใจใครโดยต้องเป็นการ ยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย
Complicated Relationship มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน?
วันนั้นมากับน้องคนนี้แล้ววันนี้เปลี่ยนอีกคนแล้ว? หรือแบบในเพลง ไม่รู้ว่าเราคบกันแบบไหนไม่ต้องหาคำ ๆ ไหนมาอธิบาย ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนนั้นเองและแตกต่างกับ ons
อาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่คาดหวัง จากความสัมพันธ์นี้ หรือมีใครสักคนที่เราชอบที่จะอยู่ด้วยกันนะแต่เราไม่อยากเป็นไรกับเธอเรากลัวเป็นมากกว่านี้แล้วจะเสียเธอไป
คำถามที่สงสัย ถ้าเรามีแค่องค์ประกอบใดประกอบหนึ่งในสามเหลี่ยมนี้ ถือว่าเป็นความรักได้ไหม คำตอบของทฤษฎีนี้คือ ความรักไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบทั้งหมด มีเพียงแค่หนึ่งหรือสอง
ก็ถือว่าเป็นความรักรูปแบบหนึ่งแล้ว ส่วนประกอบที่ต่างกันก็เป็นความรักในรูปแบบที่ต่างกัน คนคนเดียวมีความรักได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับว่าจะรักใคร
สามเหลี่ยมความรักไม่จำเป็นว่าเราต้องมีครบทุกองค์ประกอบ ขอยกตัวอย่าง Long-distance relationship รักทางไกลที่มีอุปสรรค เพราะไม่มีโอกาสได้ติดต่อหรือใช้เวลาร่วมกัน ขาดความสนิทชิดใกล้ (Intimacy)
ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ แต่บางคู่ก็สามารถคบกันได้ยาวนาน จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะไม่มีความสนิทชิดใกล้ถ้าเรารักและมีความเข้าใจกัน ก็สามารถทำให้ความสัมพันธ์ไปต่อได้
หรือบางคู่ที่อยู่ใกล้กัน เจอกันทุกวัน มีครบทั้ง 3 องค์ประกอบของสามเหลี่ยมความรัก ถ้าขาดความรัก ความเข้าใจสักวันก็ต้องจบกันไปอยู่ดี
สามเหลี่ยมความรักของเราจะเปลี่ยนแปลงไหม เมื่อผ่านไปเวลานึง
ความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก เเน่นอนว่า ความรู้สึกเปลี่ยนไปได้เสมอ วันนึงเราอาจจะมีความรู้สึกรักเขามาก ๆ ผ่านไปเราอาจจะรักเขาน้อยลง
เหลือเพียงความหวังดีหรือความรู้สึกดี ๆ ให้กัน ก็เหมือนองค์ประกอบบนสามเปลี่ยมของความรักของเรา
วิธีดูแลความรักจากสามเหลี่ยมความรัก
ความรักเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากให้เกิดเรื่องดี ๆ กับคู่ของเรา ถ้าเรามีความหวังดี ความห่วงใย ความใส่ใจซึ่งกันและกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ครบทั้ง 3 องค์ประกอบสามเหลี่ยมความรัก ความรักต้องดำเนินต่อไปได้แน่นอน
ความรักที่ดีไม่จำเป็นต้องมีทุกส่วนประกอบทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน แต่ต้องไม่ทำร้ายกัน ถ้าเกิดเรารักแบบเหมือนเราจะเอามีดปักหลังกันและกันตลอดเวลา หมายถึงทั้งคำพูด
และการกระทำที่ toxic นั้นก็คงไม่ดีแน่ ๆ เราอาจกลายเป็นเรื่องเล่าแย่ ๆ สำหรับเขา และเราอาจเกลียดเขาไปก็ได้เหมือนกัน
ทฤษฎีนี้อาจจะทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้นว่าทำไมเรื่องราวของความรักมันช่างซับซ้อน จนบางครั้งดูจับต้องไม่ได้เลย ทั้งนี้ทั้งนั้นเราทุกคนต่างกัน ความสัมพันธ์ต่างกัน
ทฤษฎีเองก็ไม่สามารถระบุหรือตัดสินความสัมพันธ์ของใครได้เลย ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ เพราะทุกความสัมพันธ์อาจเป็น social support ที่ดีให้กับเราได้นะ
ที่มา
ความรักในรูปแบบต่าง ๆ
รักของเราเป็นรูปแบบไหน?
Triangular Theory of Love
Biography of Psychologist Robert Sternberg
Post Views: 6,386