ในวันที่ ‘ หมดกำลังใจ ’ หลาย ๆ ครั้ง คนเราเลือกที่จะมองหากำลังใจจากคนอื่นในวันที่แย่ ถ้าตอนนั้นเป็นเวลาที่เขาไม่พร้อมที่จะซัพพอร์ตเรา ไม่พร้อมที่จะให้กำลังใจเราล่ะ ? เราจะผ่านวันนั้นไปได้อย่างไร ?
กำลังใจ และ หมดกำลังใจ คืออะไร
คำว่า กำลังใจ ตามพจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ว่า สภาพของจิตใจที่มีความเชื่อมั่น และกระตือรือร้น พร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ
นั่นหมายความว่า การหมดกำลังใจ คือ “สภาพของจิตใจที่หมดความเชื่อมั่น และไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ”
หมดกำลังใจ มีรูปแบบไหนบ้าง?
หมดกำลังใจ แบ่งตามแหล่งที่มา
1.ขาดกำลังใจจากตัวเอง
เพราะเรามีมุมมองทางลบต่อตัวเอง ไม่ชอบไม่รักในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่สนใจความสำเร็จตัวเอง เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ดีพอ
เช่น Imposter Syndrome เป็นภาวะที่เรารู้สึกเหมือนเรากำลังหลอกลวงคนอื่น ความสำเร็จที่คนอื่นเห็นไม่ใช่เรื่องจริง จริง ๆ เราไม่ได้ดีหรือเก่งแบบนั้นเลย
2.ขาดกำลังใจจากคนรอบข้าง
ไม่มี social support ไม่มี encouragement จากคนรอบข้าง เพราะบางคน ไม่มีเลยจริง ๆ คนที่คอยบอกว่า เป็นกำลังใจให้นะ เรารู้ว่า เธอเก่ง เธอทำได้ ลองจินตนาการดู มันเหนื่อยนะ
ถ้าต้องสู้และรู้สึกโดดเดี่ยวเพราะขาดกำลังใจจากคนรอบข้าง ยิ่งถ้ากำลังใจจากคนรอบข้างเป็นสิ่งที่ต้องการจริง ๆ ถึงจะให้กำลังใจตัวเองมากแค่ไหนก็ไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกได้
หมดกำลังใจ แบ่งตามลักษณะ
1.ขาด Passion
passion ในทางจิตวิทยา apa ให้ความหมายว่า passion คือ แรงขับ ความรู้สึก หรือความเชื่อมั่น ที่แรงกล้าและเข้มข้น สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนมีกำลังใจในการใช้ชีวิต
ถ้า passion หายไป สำหรับคนที่ให้ความสำคัญว่าต้องมี passion กำลังใจในการใช้ชีวิตคงหายไปด้วย
2.หมดไฟ Burn out
ภาวะหมดไฟ Burn out อ้างอิงจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Systematic review ในปี 2019 กล่าวว่า Burn out คือ กลุ่มอาการทางจิตวิทยา คนที่มีภาวะนี้จะมีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์
นอกจากนี้ จะดูถูกและด้อยค่าความสำเร็จของตัวเองด้วย ทำให้ใช้ชีวิตแบบขาดกำลังใจ
3.เหนื่อยล้า Exhaustion , Fatigue , Tiredness
ทำงานหนักหรือใช้ชีวิตหนักเกินไป ไม่อนุญาตให้ตัวเองได้พักผ่อนและทำสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข จนไม่เหลือแล้วกำลังใจจะใช้ชีวิตต่อ เชื่อว่าหลายคนเป็น
ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมที่ว่า productive ถึงจะดี มีคุณค่า ใช้เวลาคุ้ม
4.ไม่มีแรงบันดาลใจ
แรงบันดาลใจ หรือ inspiration ในทางจิตวิทยา อ้างอิงจาก apa แรงบันดาลใจ คือ กระบวนการที่คนถูกกระตุ้นให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ถ้าเราไม่มีแรงบันดาลใจคงไม่มีกำลังใจจะทำสิ่งต่าง ๆ
ทำไมถึง หมดกำลังใจ ในทางจิตวิทยา
จากบทความของเว็บไซต์ SARAKADEE LITE ได้อธิบายเกี่ยวกับการหมดกำลังใจ โดย ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ ที่เคยเขียนเล่าถึงสาเหตุการหมดกำลังใจในนิตยสารสารคดี
เขาแบ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มจะหมดกำลังใจเอาไว้ 2 กลุ่มด้วยกัน
1.หมดกำลังใจจากสถานการณ์ภายนอก
เนื่องจากเจอกับความล้มเหลวบ่อยครั้ง จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากทำ ไม่อยากเจออะไร ไม่มีกำลังใจที่จะทำอะไรอีกต่อไปแล้ว
2.หมดกำลังใจจากการหล่อหลอมพฤติกรรมบางอย่างขึ้นในจิตใจ
กลุ่มหลัก ๆ เรียกว่า As if Low Ability หรือ การชอบคิดว่าตัวเองมีความสามารถต่ำ ทั้ง ๆ ที่ความจริงอาจจะไม่ด้อยไปกว่าคนอื่นเลย
โดยกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกไปได้อีกหลายด้านตามพฤติกรรม
1.การมองโลกในแง่ร้าย
2.การมองว่าตัวเองมีปมด้อย
3.ตั้งความหวังไว้สูงเกินไป
4.ชอบโทษตัวเอง
5.รอคอยคำชื่นชมจากคนอื่น
6.ไม่สามารถชื่นชมตัวเองได้
7.ต้องพึ่งพาคนอื่น
การเปรียบเทียบก็ทำให้ หมดกำลังใจ ได้เหมือนกันนะ
อีกสิ่งนึงที่เป็นสิ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนหมดกำลังใจ เพราะชอบเปรียบเทียบ ยิ่งในตอนนี้ที่เราเห็นชีวิตของคนอื่นได้ง่าย ก็จะทำให้คนเราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นได้ง่ายเช่นกัน
“คนนั้นเก่งจัง สอบได้คะแนนเต็มด้วย ดูเราสิ อ่านเเทบตายผ่านครึ่งมานิดเดียวเอง”
“คนนั้นสวยจัง แต่งตัวอะไรก็สวย”
คำพูดเเบบนี้ดูทั่วไปมาก แต่ถ้าเราพูดแบบนี้กับตัวเราเองบ่อย ๆ เชื่อไหมว่า กำลังใจเราจะลดลง เพราะการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในรูปแบบนี้ เป็นการกดตัวเอง ทำให้เรารู้สึกแย่กับสิ่งที่ตัวเองเป็น
แง่คิดของ John Acuff ซึ่งอาจจะทำให้เราหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เขาบอกว่า “Don’t Compare Your Beginning to Someone Else’s Middle”
คือเวลาที่เรากำลังวางเป้าหมายอะไรสักอย่าง พอเราลงมือทำแล้วเห็นใครสักคนนึงที่ทำเป้าหมายเดียวกับเราแต่เขาไปได้ไกลหรือเริ่มประสบความสำเร็จแล้ว เราจะ…
1.เปรียบเทียบ
2.หมดกำลังใจ
เพราะฉะนั้นอย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เขามาได้ครึ่งทางแล้ว เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน เริ่มต้นมาไม่เหมือนกัน บางทีจุดมุ่งหมายก็อาจจะไม่เหมือนกันด้วย
กำลังใจสำคัญอย่างไร?
เมื่อเรามีกำลังใจมากพอ เราจะมีความสามารถในการก้าวผ่านปัญหาหนักเบาในชีวิตไปได้ หรือกำลังใจทำให้เราทำเป้าหมายที่อยู่ตรงหน้าได้
กำลังใจที่เรามีมากพอทำให้เราส่งต่อกำลังใจให้กับคนอื่นได้ กำลังใจเป็นต้นทุนที่ทุกคนมี เป็นสิ่งที่ให้คนอื่นได้แค่การกระทำเล็ก คำพูดเล็ก ๆ ก็ made the day ให้เขาได้
แต่เชื่อไหมว่าเวลาที่ตัวเราเองเจอกับสิ่งที่ Suffer ในชีวิต การมองหากำลังใจเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร ยิ่งหายิ่งไม่เจอ เพราะปัญหาที่เจอมันบดบังวิสัยทัศน์ของเราไปหมดเลย
เหมือนใช้ชีวิตผ่านแว่นตาสีดำ แค่กำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เหมือนแสงสว่างที่ลอดเข้ามาให้เราได้เห็นถึงหนทางไป
สร้างกำลังใจให้ตัวเอง ในวันที่ หมดกำลังใจ
“กำลังใจจากคนอื่นไม่สำคัญเท่ากำลังใจจากตัวเอง” เราอาจจะต้องมาลองซัพพอร์ตตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองในวันที่แย่ การรอให้คนอื่นมาเติมเต็ม บางครั้งมันเป็นไปไม่ได้จริง ๆ
เพราะคนอื่นก็มีภาระหน้าที่ของตัวเองที่จะต้องจัดการ เราเลยต้องเรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตัวเองให้เป็น
กำลังใจจากคนอื่น VS กำลังใจจากตัวเอง
กำลังใจจากคนอื่นเป็นอะไรที่เราควบคุมไม่ได้ ทั้งช่วงเวลาในการให้กำลังใจและรูปแบบการให้กำลังใจ
แต่ในขณะที่การให้กำลังใจตัวเอง เราจะให้กำลังใจตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้ และแน่นอนว่ามันมันอิมแพคมากกว่า เข้าไปลึกถึงจิตใจเรามากกว่า เราได้ยินเสียงของตัวเองชัดกว่า
เพราะก็เป็นตัวเราเองนั่นแหละที่รู้ว่าเราอยากได้กำลังใจแบบไหน
ให้กำลังใจตัวเองยังไง?
1.เหนื่อยก็พัก หา Safe Zone ของตัวเอง
คนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ ต้องมีอาการเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบใช้แรงกาย หรือว่าการทำงานแบบใช้สมอง ก็ทำให้เหนื่อยเมื่อยล้าได้เหมือนกัน
และการที่ต้องทำอะไรต่อทั้ง ๆ ยังคงเหนื่อยอยู่ก็ไม่ได้เป็นผลดีอะไร ควรหยุดพักตัวเองให้หายเหนื่อยก่อน เราก็จะมีความพร้อมที่จะกลับมาทำงานอย่างเต็มที่ได้มากขึ้นกว่า
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีพลังงานจำกัด ถึงคุณจะแอคทีฟ จะมีพลังงานเยอะแค่ไหน ก็ต้องมีบ้างแหละ วันที่คุณเหนื่อย วันที่คุณหมดกำลังใจ ค่านิยมที่ว่าต้อง productive ตลอดเวลา
มันสวนทางกับธรรมชาติของคนเรามาก ต้องหาเวลาพัก แบ่งเวลาให้กับงาน กับคนรอบข้างแล้ว อย่าลืมแบ่งเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนหรือทำสิ่งที่ชอบบ้าง
Small Trick:
ทุกครั้งที่เครียด ลองหลับตาลง จินตนาการถึงพื้นที่ปลอดภัยที่อยากไปอยู่ จะเป็นที่ไหนหรืออะไรก็ได้ บางคนชอบทะเลก็คิดภาพทะเล บางคนชอบห้องเงียบก็นึกถึง
มันจะแฟนตาซีแบบไปอยู่ในประสาทที่มีแต่ขนม อะไรก็ได้ ขอแค่คุณชอบ ไม่ผิดค่ะ การจินตนาการแบบนี้ เพื่อให้ตัวเองใจเย็นลง ให้ความเครียดน้อยลง เพื่อให้ใช้ชีวิตต่อไปได้
อาจจะเอาไปใช้ข้างนอกได้ ถ้ามีอะไรมากระทบให้เครียดมาก ๆ หาเวลาสักเล็กน้อย อาจจะไปเข้าห้องน้ำ หรือเข้าไปในห้องที่ไม่มีคนแล้วลองทำดูก็ได้
2.Positive self-talk
เพราะในตอนที่เรารู้สึกแย่มาก ๆ ตัวเราเองก็น่าจะมองเห็นแต่อะไรที่มันลบ ๆ จนมองไม่เห็นด้านดีเลย พอตัวเราเลือกที่จะมองแต่มุมนั้น เราก็จะยิ่งแย่ลง Positive self-talk เป็นเหมือนการย้ำกับตัวเองว่าเราทำได้
เราทำได้ดีแล้ว เรามีดีในแบบของเรา เมื่อเราทำแบบนั้นบ่อย ๆ เราก็จะเชื่อแบบนั้นจริง ๆ มันเหมือนการ Cheer up ตัวเอง
เราลองชื่นชมตัวเองและมองหาเรื่องดี ๆ ที่เรามีในตอนนั้นก็เป็นการสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้เหมือนกัน
“ไม่เป็นไรนะ เอาใหม่”
“ทำให้เต็มที่ก็พอ”
3.Embrace yourself
ถ้าแปลแบบตรงตัวเลยก็คือการโอบกอดตัวเอง แต่ถ้าเรามองให้ลึกถึงสัญญะของการกอด เป็นการเเสดงออกถึงการยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวเราเองตัวเราเอง ข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัดหรือสิ่งที่เราทำได้ดี
Butterfly hug Hug of self love ท่าโอบกอดตัวเองบำบัดความเครียดหรือที่เรียกว่า อ้อมกอดผีเสื้อ Hug therapy เห็นครั้งแรกจากซีรีส์เรื่อง It’s okay to be not okay
เป็นฉากที่พระเอกสอนนางเอกให้รู้จักการรับมือกับความเสียใจด้วยท่า Butterfly Hug คือการไขว้แขนเป็นตัว x แล้วตบไหล่ตัวเองเบาๆ เหมือนกับผีเสื้อที่กำลังกระพือปีก
จากนั้นหายใจเข้า-ออกช้าๆ ปลอบโยนตัวเองว่าเราเก่งมากๆเลย วันนี้ทำได้ดีมากๆ ไม่เป็นไรนะ ฉันอยู่ตรงนี้ เป็น Possitive message
เมื่อใช้ท่า Butterfly Hug ที่มีลักษณะโอบกอด ร่างกายแบบนั้น จะช่วยทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยได้ จึงทำให้จิตใจสงบและสั่งการให้ร่างกายลดความตึงเครียดได้ดีขึ้น
รู้สึกเหมือนได้ฮีลจิตใจและผ่อนคลายความกังวลลง
เพราะการให้กำลังใจใครสักคนเป็นเหมือนการบอกรักอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นหมายความว่าการที่เราให้กำลังใจตัวเองก็เป็นเหมือนการบอกรักตัวเองด้วยเช่นกัน
4.ติดตามคอนเทนต์ดี ๆ
การติดตามคนที่มีทัศนคติดี ๆ กระจายพลังบวกเก่ง ๆ ทำให้เรามีกำลังใจขึ้นจริง ๆ เช่น spencer barbosa คอนเทนต์หลัก ๆ ที่เขาทำคือ คอนเทนต์สำหรับผู้หญิง สร้างความมั่นใจ สร้างความรักและพอใจในตัวเอง
แล้วมีหลายครั้งเลยที่คำพูดเขาสร้างกำลังใจมากๆ แต่คนนี้อาจจะไม่ใช่ cup of tea ของทุกคนก็ได้ point สำคัญคือ อยากให้ลองหาช่องทางหรือคอนเทนต์ดี ๆ มาไว้รอบตัว
เอาที่เหมาะกับสไตล์และความชอบของเรา อาจจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยสร้างกำลังใจให้เราได้
5.หากำลังใจจากคนรอบข้าง
- ขอกำลังใจตรง ๆ สื่อสารออกไปให้คนรอบข้างรู้ เพราะบางครั้งคนอื่นอาจจะแค่ไม่รู้ว่าเราเผชิญกับปัญหาหรือเรื่องยาก ๆ อยู่
- สำหรับคนที่ไม่ถนัดการสื่อสาร ไม่กล้าพูดตรง ๆ อาจหากำลังใจจากคนรอบข้างทางอ้อมก็ได้ ในทางจิตวิทยา มีการเรียนรู้ด้วยการสังเกต ที่เรียกว่า observational learning , apa นิยามว่า เป็นการรับข้อมูล สกิล หรือพฤติกรรม ผ่านการสังเกตคนอื่น ทั้งการเห็นคนนั้นทำโดยตรงหรือเห็นคนนั้นทำผ่านสื่อวิดีโอ อยากชวนให้ลองมองไปรอบตัวดูหรืออาจจะหาบนโลกโซเชียลก็ได้ ว่ามีใครที่ให้กำลังใจตัวเองเก่งบ้างไหม? มีใครที่สร้างพลังใจให้ตัวเองเก่งไหม? ลองสังเกตและนำวิธีของเขามาปรับใช้
6.หาหมอขอคำความช่วยเหลือ
เพื่อการเข้าใจตัวเองและได้วิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ตรงจุดที่สุด
อ้างอิง
–https://www.sarakadeelite.com/better-living/why-dont-you-have-the-courage/
– https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2019.00284/full
Post Views: 6,470