Quarter-life crisis เพราะการเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เรื่องAdminAlljitblog

การเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย นี่เรากำลังอยู่ในวิกฤตที่เรียกว่า ” Quarter-life crisis ” อยู่หรือเปล่า? เราจะรับมืออย่างไรในวันที่รู้สึกว่าชีวิตไม่เป็นในแบบที่เราตั้งใจ?

 

Quarter-life crisis เพราะการเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย

สารบัญ

รู้จัก Quarter-life crisis 

จากเว็บไซต์ frontiers in บทความที่มาจากงานวิจัย ให้ข้อมูลไว้ว่า Quarter-life crisis เป็นวิกฤตทางพัฒนาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หรือมีอายุประมาณ 18-30 ปี มีลักษณะสำคัญ คือ 

1. เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ รู้สึกติดขัด รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง 

2. รู้สึกสับสนกับความเป็นผู้ใหญ่ของตัวเอง รู้สึกเหมือนตัวเองติดอยู่ตรงกลางระหว่างคำว่า “วัยรุ่น” กับ “วัยผู้ใหญ่”

 

นิยามของคำว่า Quarter-life crisis 

1. เป็นช่วงเวลาของการทำความรู้จักตัวเองและโลกใบนี้

2. เป็นช่วงเวลาที่บทบาทและความสัมพันธ์ยังไม่มั่นคง

3. เป็นช่วงเวลาที่กำลังปรับตัว พยายามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้มีอนาคตที่ดี

 

4 ขั้นของ Quarter-life crisis

จากเว็บไซต์ mindbodygreen กล่าวว่า Quarter-life crisis มี 4 ขั้น ได้แก่ 

1. the initial crisis

เป็นช่วงเริ่มต้นของวิกฤต เริ่มรู้ตัว เริ่มรู้สึกว่าตัวเองติดขัด ไม่มีจุดมุ่งหมาย สับสนในตัวเองและอนาคต 

2. the grappling 

เป็นช่วงที่รู้สึกว่าตัวเองตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก รู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกกลัวที่จะต้องใช้ชีวิตต่อ ในขั้นนี้ทำให้เกิดความพยายามที่จะต่อสู้

3. making strides 

เป็นช่วงที่พอต่อสู้กับวิกฤติไปสักระยะ ในขั้นนี้เราจะเริ่มรู้สึกว่ามีทางออก มีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง เลยเริ่มลงมือทำ 

4. resolution 

เป็นช่วงที่เราจะรวบรวมตัวเองกลับมา แล้วเดินต่อไปข้างหน้าอย่างแข็งแรงขึ้น มีความมั่นใจ มีการดูแลเอาใจใส่ตัวเอง และรู้สึกว่าชีวิตถูกเติมเต็ม

 

 

Quarter life crisis กับ เบญจเพศ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

เบญจเพศ แปลว่า 25 เป็นความเชื่อหนึ่งว่า เมื่ออายุ 25 ปี ทุกคนต้องซวย ต้องเจอเรื่องไม่ดี ต้องเจอกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เปลี่ยนชีวิต 

 

เทียบกับ Quarter life crisis ทั้ง 2 อย่างเหมือนกันตรงที่พูดถึงความยากลำบากบางอย่างที่จะต้องเจอในช่วงเวลาหนึ่ง แต่แตกต่างกัน ดังนี้

1. ช่วงอายุ

เบญจเพศจะพูดถึงในช่วงอายุ 25 อย่างเดียวเท่านั้น แต่ Quarter life crisis จะพูดถึงช่วงอายุที่มี range กว้างกว่านั้น คือ ประมาณ 18-30 ปี

2. ลักษณะ

เบญจเพศจะเอนเอียงไปทางความเชื่อมากกว่า แต่ Quarter life crisis จะพูดถึงปัญหาที่ต้องเจอในวัยนั้น เช่น กังวลกับอนาคต ไม่รู้จักตัวเองดีพอ

 

เบญจเพศ วิกฤตที่มากกว่าความเชื่อ

นักวิจัยจาก Harvard Business Review กล่าวไว้ว่า เมื่ออายุ 25 ปี จะเป็นปีที่ระดับความกังวลและความเครียดเพิ่มขึ้น เพราะช่วงก่อนอายุ 25 ปีจะเป็นช่วงที่เรามองโลกในแง่ดี 

 

แต่หลังจากนั้น ความจริงในชีวิตจะทำให้เรามีความเครียดทางจิตใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนต้องตกอยู่ในวิกฤตเบญจเพศ แต่อารมณ์เชิงลบเหล่านี้จะบรรเทาลงเมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป

 

เพราะเราได้เรียนรู้การจัดการอารมณ์เเละปรับเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง ซึ่งนักจิตวิทยาเชื่อว่า นั่นคือตอนที่เราเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น มีความสุขขึ้น ด้วยอารมณ์ของเราเองแล้ว 

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิด Quarter-life crisis

1. ตกงาน เจอกับความไม่มั่นคงในการทำงาน

2. เลิกรา จบความสัมพันธ์ที่มีความหมาย

3. ย้ายที่อยู่ในที่ที่ไม่มีใครรู้จัก

4. อยู่คนเดียวเป็นครั้งแรก

5. มีความไม่มั่นคงทางการเงิน

6. ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

7. แต่งงานหรือมีความสัมพันธ์ที่ผูกมัด

8. เรียนจบแบบไม่มีแผนที่จะทำอะไรต่อไป

 

Quarter-life crisis และ Mid-life crisis แตกต่างกันอย่างไร

1. ช่วงอายุต่าง

Quarter-life crisis จะเป็นช่วงอายุ 18-30 แต่ Mid- life crisis จะเป็นช่วงอายุ 40-50 ที่เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน

2. ปัญหาต่าง 

เพราะจุดสำคัญของ Quarter-life crisis คือ ความรู้สึกที่สับสนในช่วงวัยเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ Mid-life crisis จะเป็นวิกฤตของคนที่เป็นผู้ใหญ่มาหลายปีแล้ว

3. จุดสำคัญต่าง

Quarter-life crisis จะเน้นไปที่ “ความเร่งรีบ” ที่จะเป็นผู้ใหญ่แบบที่ควรจะเป็น แต่ Mid-life crisis จะเป็นเรื่องของ “การหมดเวลา” และความเศร้า เสียดาย และไม่พอใจในชีวิต

 

จากเว็บไซต์ helpguide บอกไว้ว่า Mid-life crisis ซึ่งเมื่อตกอยู่ในวิกฤตินี้จะมีอาการ คือ 

1. รู้สึกเศร้า รู้สึกเสียดาย

2. ฝันกลางวัน เพราะรู้สึกเบื่อกับรูทีนเดิม ๆ 

3. ไม่พอใจตัวเองและสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน 

4. โหยหาถึงอดีต

5. มีพฤติกรรมตามใจตัวเอง 

6. ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลงไป 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิด Quarter-life crisis

1. ผู้ใหญ่ในวัยนี้ มักคิดวนแต่เรื่องเกี่ยวกับ ฉันอยากทำอะไร ฉันอยากมีอาชีพแบบไหน แล้วพอสิ่งที่เป็นขัดกับสิ่งที่อยากเป็น ทำให้ยากที่จะรับมือกับความจริงนั้น

2. เกิดจากการเปรียบเทียบ  เช่น เห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันใช้ชีวิตนำหน้าไปแล้ว  ทำให้กลับมาสงสัยกับตัวเองว่า แล้วฉันล่ะ? แล้วฉันทำอะไรอยู่? ฉันผิดปกติตรงไหน? 

3. เกิดจากความรู้สึกท้อแท้ เพราะการที่จะต้องก้าวสู่โลกแห่งความเป็นจริง ต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเอง รับผิดชอบตัวเอง มันเป็นการก้าวผ่านที่รวดเร็ว ทำให้ความเครียด

4. เพราะไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จึงเกิดความหวาดกลัว ทำให้ปรับตัวและตั้งรับหน้าที่ต่างๆ ที่มาพร้อมกับความเจ็บปวดไม่ทัน 

5. มีความจำเป็นในชีวิต เพราะทุกคนมีเงื่อนไขในชีวิตต่างกัน บางคนมีความจำเป็นในชีวิตที่กดดันและบังคับให้รีบใช้ชีวิต รีบค้นหาตัวเอง รีบทำงาน ทำให้เกิดความเครียด

6. เร่งรีบในด้านการงานมากจนเกินไป หางาน วางแผนทางอาชีพ สัมภาษณ์งาน มากเกินไป ทำให้เกิดความเครียดและความกังวล เพราะเร่งรีบโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าต้องการอะไร

 

ผลกระทบจาก Quarter-life crisis

จากเว็บไซต์ Choosing therapy กล่าวไว้ว่า วิกฤตนี้นำไปสู่อะไรได้หลายอย่าง

1. มีอาการซึมเศร้า (depression)

2. มีอาการตื่นตระหนกฉับพลัน (panic attack)

3. มีอาการติดบางสิ่งบางอย่าง (addiction)

4. มีอาการวิตกกังวล (anxiety)

5. มีความรู้สึกหมดหวัง (hopelessness) 

 

จัดการตัวเองอย่างอย่างไร

1. สำรวจตัวเอง 

สำรวจความคิดของตัวเอง แล้วลองแทนที่ด้วยความคิดที่มีเหตุมีผลมากขึ้น

2. ค้นหาและทำสิ่งที่ทำให้มีความสุข

ลอง Audit your days ด้วยการเลือกช่วงเวลาในทุกวัน เขียนสิ่งที่ทำ ความคิด ความรู้สึก เมื่อย้อนกลับไปอ่าน เราจะเห็นรูปแบบของกิจกรรมที่ทำให้มีแรงบันดาลใจและกิจกรรมที่ทำให้หมดแรง

3. วางแผนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้

เพราะการวางแผนจะช่วยบรรเทาความรู้สึกสับสน ความรู้สึกจับต้นชนปลายไม่ถูก การตั้งสติแล้วกลับมาดูเป้าหมาย มาดูแผนมี่วางไว้ ว่ามีแนวโน้มจะพาเราไปจุดที่ต้องการหรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญ 

4. ปรึกษาคนรอบข้างที่เคยประสบกับปัญหานี้หรือผู้เชี่ยวชาญ

ถ้าการสำรวจและดูแลเอาใจใส่ตัวเองไม่ได้ผล ยังไม่สามารถจัดการตัวเองได้ การปรึกษาคนรอบข้างที่เคยประสบกับปัญหานี้หรือผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักวิกฤต และหาแนวทางที่เหมาะสมได้

 

https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2020.00341/full

https://www.choosingtherapy.com/quarter-life-crisis/

https://www.mindbodygreen.com/articles/quarter-life-crisis

https://www.facebook.com/sachminhtam.book/photos/a.568756763156069/4224109654287410/

https://www.arts.chula.ac.th/~artsgoz/wordpress/index.php/archive/quarter-life-crisis/

https://www.betterup.com/blog/quarter-life-crisis