ความคิดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเราทุกคน คนเรามักจะชอบ เก็บทุกเรื่องมาคิด คิดถึงบางสิ่งบางอย่างอยู่ตลอดเวลา
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
เราจะใช้ความคิดเพื่อวางแผนและหาเหตุผลในการประกอบการตัดสินใจอย่างไรดี เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกดาวน์กับความคิดของตัวเอง
มนุษย์เรามีทั้งคนที่มีความคิดมาก คิดเล็กคิดน้อย ซึ่งกระบวนการความคิดทำงานทันทีที่เรารู้สึกตัว คนที่มีพื้นฐานความคิดมากเป็นบุคลิกอย่างหนึ่ง อาจนำไปสู่ความผิดปกติทางด้านร่างกายได้
เพราะเกิดจากความคิดมากจนไม่สามารถปล่อยวางความคิดนั้นลงได้
คนที่มีภาวะคิดมาก นอกจากจะไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรแล้ว ความคิดนั้นยังวนไปวนมา บางคนมีเรื่องเดียวให้คิด บางคนมีหลายเรื่องที่ต้องคิด
เก็บทุกเรื่องมาคิด ความคิดมากมี 2 รูปแบบ คือ
1.คิดมากเกี่ยวกับเรื่องในอดีต หมกมุ่นกับเรื่องที่เกิดขึ้นไปแล้ว เก็บคำพูดของคนอื่นมาคิด เก็บบางสิ่งที่เราทำผิดพลาดมาคิดว่าอยากกลับไปแก้ไข จนไม่โฟกัสที่ปัจจุบัน
2 กลุ่มคนที่คิดถึงแต่เรื่องอนาคต กังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น มักจะถามตัวเองด้วยคำถามเดิมซ้ำ ๆ และมักจะกังวลกับสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถควบคุมได้
ทั้ง 2 รูปแบบ สามารถเกิดขึ้นกับคนใดคนหนึ่งหรือเกิดได้กับคนเดียวทั้งสองแบบ
ปัจจัยหลักที่ทำให้คนบางคนมีความคิดมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว หรือเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ปัจจัยที่มองเห็นคือ เกิดจากความไม่มั่นใจในตัวเอง ขาดความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง
หรือมีบาดแผลทางจิตใจ เจ็บปวดอยู่กับสิ่งนั้น คิดถึงแต่เรื่องนั้นอยู่ตลอดเวลา
ลักษณะนิสัยที่มีความวิตกกังวลอยู่แล้ว จะนำไปสู่ความคิดวกไปวนมา จนทำให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตของตัวเองเท่าที่ควร นำไปสู่การเกิดเป็นภาวะอารมณ์อย่างหนึ่ง และจัดการกับสิ่งนั้นอย่างไม่เหมาะสม
กระทบต่อการรับรู้คุณค่าในตัวเอง คิดมากจนไม่อยากทำอะไร ส่งผลกระทบทางกายจนนอนไม่หลับ ส่งผลกระทบทางด้านสมาธิเพราะในสมองมีเรื่องให้คิดอยู่ตลอดเวลา จนไม่สามารถพาตัวเองมาอยู่กับปัจจุบันได้
ผลกระทบมากสำหรับคนคิดมาก
สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบมากสำหรับคนคิดมาก ซึ่งในทางจิตวิทยา คนที่มีอาการคิดมาก จะมีแค่เจ้าตัวที่รู้ว่าคิดอยู่กับเรื่องใด ให้ลองสังเกตตัวเองดูว่าความคิดนั้นเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน
กระทบต่อการใช้ชีวิตตัวเองหรือเปล่า ส่งผลทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิตมากน้อยแค่ไหน บางคนคิดมากเพราะคนอื่นจะมองตัวเองเป็นยังไง
กลายเป็นปัญหาตามมาทำให้ตัวเองไม่สามารถกล้าทำอะไรได้เลย ไม่กล้าตัดสินใจทำอะไร การที่เราคิดมากมักเกิดจากสาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แรกเริ่มเราอาจเอาเรื่องเล็กน้อยมาคิดบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัย
แล้วคิดว่าเป็นเรื่องปกติพอเรื่องที่เราจัดการไม่ได้ เราก็ยิ่งคิดและเกิดความล้า ทำให้ไม่สามาถดึงสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้
เรื่องนี้ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเอาความคิดนั้นมาจัดการและปล่อยผ่านออกไปได้เลย เพราะนั่นไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่าย ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้
วิธีเลิกคิดมาก
1. ทบทวนกับตัวเอง
อยากให้เริ่มจากการทบทวนตัวเองดูก่อนว่า เรามีความคิดมากกับเรื่องอะไร คิดวกวนกับเรื่องไหน คิดถึงแต่เรื่องดี ๆ เป็นเรื่องที่มีแต่ความสุข หรือมีความคิดไปในทางลบ จนเป็นผลกระทบ
ถ้าหากคิดถึงแต่เรื่องแย่ ๆ สิ่งนี้จะเป็นปัญหาก่อให้เกิดอะไรในการใช้ชีวิตของเราได้ ถ้าหากเกิดขึ้นบ่อยและจัดการกับสิ่งนั้นไม่ได้
2. จัดการกับความคิดมากนั้น
พอเราลองสังเกตแล้วว่า เราเป็นคนคิดมากกับเรื่องอดีตหรืออนาคต อยากให้เราค่อย ๆ กลับมาจัดการความคิด อาจจะต้องดูว่าตัวเองกำลังคิดมากกับเรื่องอะไร
ถ้าเราเป็นคนขี้กังวล เราก็มักจะเชื่อแบบนั้นจนเป็นข้อจำกัดว่าเราไม่อยากเปลี่ยนตัวเอง ถ้าเราตรวจจับความคิดด้านลบของเราได้แล้ว ค่อย ๆ วางแผนกับตัวเองว่าเรากำลังคิดกับเรื่องนี้อยู่
วิธีการนี้จะสามารถช่วยจัดการเพื่อให้ความคิดเบาบางลงได้ แต่ต้องพยายามฝึกฝน
อะไรที่เกิดขึ้นกับเราซ้ำจนเราไม่ได้ทบทวนได้ เราก็จะไม่ทันกับความคิดนั้น ถ้าเราตรวจสอบความคิดได้แล้วว่าเราคิดกับเรื่องอะไรอยู่คิดไม่หยุด ซ้ำไปมา
3. ฝึกหายใจ
ฝึกการหายใจเข้าออกลึก ๆ ด้วยหน้าท้องของตัวเอง ดึงอาการทางกายที่เกิดจากระบบสมองให้ช้าลงไปด้วย ดึงตัวเองกลับมาที่ลมหายใจของตัวเอง หายใจเข้าลึก ๆ ท้องป่อง หายใจออกช้า ๆ ท้องะแฟบ
ถ้าเป็นแบบนี้การทำงานของระบบจะช่วยให้เลือดเดินทางได้ดียิ่งขึ้น ใช้เทคนิคนี้กับตัวเองเมื่อเราคิดว่าเราหยุดตัวเองไม่ได้ สิ่งนี้จะช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจตัวเองได้ด้วย จะทำให้ร่างกายของเรารู้สึกผ่อนคลายได้ดี
4. ลองเขียนระบาย
ถ้าหากยังหยุดคิดไม่ได้ ทบทวนแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ลองเขียนออกมาเป็นข้อ ๆ จะทำให้สมองของเราทำงานช้าลง สมองจะประมวลสิ่งที่เกิดขึ้น และตอนที่เรากำลังเขียน การทำงานร่วมกันของมือและตา
จะสามารถทำให้ความคิดของเราช้าลง เราจะเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น
อะไรบ้างที่วิ่งเข้ามาในสมองของเราตอนนั้นให้เขียนลงไป การเขียนเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลมาก ๆ เมื่อเรามีความคิดฟุ้งซ่าน คิดถึงเรื่องอะไรบ้าง คิดถึงเรื่องของใครอยู่
การเขียนเป็นข้อหรือบรรยายสามารถทำได้หมด สิ่งนี้จะช่วยทำให้เรารู้สึกค่อย ๆ เบาบางลงเมื่เราได้ระบายออกมา
5. เล่าให้ใครสักคนฟัง
ถ้าลองทำตามแล้วเราก็ยังคิดมาก ทั้ง ๆ ที่รู้แล้วว่าปัญหาคืออะไร แต่เราก็ไม่สามารถจัดการได้ ลองเลือกใครสักคนที่เขาสามารถรับฟังเราได้ ช่วยเปิดมุมมองความคิดให้หลากหลายมากขึ้น
ลองพูดสิ่งที่อยู่ในความคิดออกมา จะช่วยทำให้เราเห็นอะไรชัดเจนขึ้นปัญหานั้นจะไม่จบและเบาลงได้เลย ถ้าเราไม่ดึงความคิดนั้นออกมาให้ชัดเจน
มันจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนเรารับไม่ไหว และคิดว่าเราไม่สามารถจัดการเรื่องนั้นได้ จนร้องไห้ จนไม่อยากทำอะไร จนอาจจะนำไปสู่ภาวะทางจิตเวช
6. พบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าหากเราคิดวกวนกับปัญหาไม่ได้ไปไหนสักที จนมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง อาจจะต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การเยียวยาทางด้านจิตใจของตัวเอง ยังไม่มีสูตรสำเร็จอะไรที่จะสามารถกลับมาทำให้เราดีขึ้นได้ในทันทีทันใด แต่ถ้าเรากำลังย่ำแย่กับความคิดแบบเดิม ๆ
เราอาจจะต้องกลับมาตระหนักกับความคิดนั้นให้ได้ก่อน
ถ้าไม่ได้คำตอบและไม่สามารถจัดการตัวเองได้ อาจจะต้องหาอะไรสักอย่าง หรือใครสักคนที่สามารถเยียวยาตัวเราได้ เพื่อให้เราสามารถค่อย ๆ หาวิธีจัดการที่เหมาะสมและช่วยทำให้ความคิดนั้นเบาบางลงได้
Post Views: 9,220