เมื่อ แฟนติดเพื่อน มากจนเกินไป จะมีวิธีรับมือได้อย่างไร?
เพื่อให้เขารับรู้โดยคุณไม่ถูกมองว่าเป็นคนงี่เง่า และตัวเขาก็ไม่รู้สึกว่ากำลังถูกกล่าวหา
บทความนี้ Alljit ร่วมกับคุณวันเฉลิม คงคาหลวง (นักจิตวิทยาการปรึกษา) เจ้าของแฟนเพจ Trust.นักจิตวิทยาการปรึกษา
วิธีการตักเตือนแฟนให้เขารับรู้ว่า แฟนติดเพื่อน มากไป
เมื่อแฟนติดเพื่อนมากจนเกินไป สิ่งแรกที่ควรทำคือให้นึกคิดย้อนกลับไปดูตอนช่วงแรกที่คุณจีบเขาหรือเขาจีบเราว่าตอนนั้นเขาเป็นแบบนี้มาก่อนอยู่แล้วหรือเปล่า
ถ้าเขาเป็นแบบนี้อาจจะค่อนข้างยาก เพราะนั่นคือตัวตนของเขา
ยิ่งพูดคุยก็อาจจะยิ่งเกิดการทะเลาะหรือขัดแย้งกันมากกว่าเดิม อาจมีความรุนแรงทางอารมณ์ เพราะต่างคนต่างเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งลักษณะแบบนี้อาจจะเลี่ยงกันไม่ได้
การพูดคุยกับเขาควรใช้ประโยคที่ฟังดูแล้วไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงทางอารมณ์หรือเป็นการกล่าวหาเขามากจนเกินไป อาจใช้คำประมาณว่า
“ช่วงนี้เธอดูสนใจเพื่อนมากเกินไปนะ” หรือ “ช่วงนี้เราดูไม่ค่อยได้เจอกันเลยนะ”
เลี่ยงการใช้คำว่าเขาติดเพื่อน หรือ เปรียบเทียบตัวเราเองกับเพื่อนของเขา ว่าเขาสนใจเพื่อนมากกว่าเราอย่างไร
สิ่งที่สำคัญคือการค่อย ๆ คุยกันด้วยเหตุผล ถ้าหากเรากับเขาสามารถทำแบบนี้ได้ก็อาจจะทำให้เราทั้งคู่เข้าใจกันได้มากขึ้นและอีกฝ่ายก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน
เพราะถ้าหากอีกฝ่ายไม่เรียนรู้ที่จะปรับ นั่นหมายความว่าเขาไม่ยอมที่จะเปลี่ยน
ทุกอย่างก็จะวนไปกลับไปเป็นเหมือนเดิม คือ ทะเลาะ มีปัญหา มีปัญหาแล้วก็ทะเลาะ นั่นจึงทำให้ปัญหานั้นไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย
บางครั้งเราอาจจะต้องขยายโจทย์ให้กว้างขึ้นกว่าเดิม คือการถามตัวเองว่าเราอยากได้อะไร แฟนติดเพื่อนเพราะอะไร เพราะบางครั้งการที่คุณมีแฟน เราก็อาจจะเป็นคนที่ติดแฟนมากจนเกินไป จนลืมคิดถึงเรื่องของตัวเอง
พึ่งพาแฟนมากจนเกินไป คิดว่าแฟนคือทุกอย่าง แฟนคือคำตอบจนทำให้เราไม่ได้ฟังเสียงหัวใจที่แท้จริงของตัวเองว่าเราต้องการอะไรกันแน่ คำตอบของชีวิตตัวเราคืออะไร
ซึ่งตัวเราอาจะได้คำตอบว่า ไม่ต้องมีแฟนตลอดเวลาก็อยู่ได้ หรือคำตอบว่าไม่ได้ ต้องมีเขาอยู่ตลอดเวลาเลย
ซึ่งแท้จริงแล้วแฟนของคุณเขาอาจจะไม่ได้ติดเพื่อน แต่เขาอาจจะแค่ต้องการทำกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งกิจกรรมนั้นต้องมีเพื่อนเข้ามาเกี่ยว เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา นั่นก็เพื่อสุขภาพร่างกายของตัวเขา
คนที่ติดเพื่อนและละเลยแฟน
คิดเสมือนว่าเขาเพิ่งมาเป็นตอนหลัง ก้ำกึ่งว่านี่คือปัญหาคู่รักหรือปัญหาของตัวคุณกันแน่แบ่งออกเป็น 2 อย่าง
1.คือยอมรับและรู้จักความทุกข์ของตัวเอง
2.คุยกับคู่รักให้เป็นตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง เรียนรู้ที่จะใจเย็นแต่ไม่ต้องเย็นตลอดเวลา
ถ้าแฟนติดเพื่อน สะท้อนได้ว่า แฟนไม่ได้สนใจเรามากขนาดนั้นหรือมากเท่าที่ควร ถ้ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ จำเป็นไหมที่จะต้องแบกความทุกข์ แบกความสัมพันธ์นั้นไปต่อ
จากนั้นก็ค่อยมาจัดการความทุกข์ของตัวเองว่าจะอยู่ต่อหรือพอแค่นี้ดี
แต่ถ้าแฟนแค่เป็นคนที่นิสัยเสีย อยากให้ลองตักเตือนกันดู เพราะคนเรานิสัยเสียกันได้ ทุกคนมักจะมีช่วงเวลาที่ละเลยกันได้กับทุกเรื่อง
ขอยกตัวอย่างเปรียบเหมือนตัวเราเองซึ่งไม่ได้ปลูกต้นไม้เป็นอาชีพ ตัวเราเองก็มักจะมีช่วงเวลาที่ละเลย ไม่ดูแลต้นไม้ต้นนั้น ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่พรวนดิน ไม่รดน้ำ
เช่นเดียวกับความสัมพันธ์บางครั้งเราก็อาจจะเผลอละเลยบางอย่างไป เพราะฉะนั้นระหว่างคนสองคน ควรมีการพูดคุยกัน
บอกความรู้สึกของคุณให้เขารับรู้ว่าตัวเขาละเลยอย่างไร เขาทำให้คุณทุกข์หรือรู้สึกแย่ที่ไม่ให้ความสำคัญกับความพันธ์นี้แบบไหน
ถ้าเขาเป็นคนรักที่ดีสำหรับคุณ เป็นคนที่รักเราอยู่ อยากจะมีเราอยู่ในชีวิต เขาอาจจะจัดการหรือตอบสนองบางอย่างได้ไม่ดีมากนัก
แต่เขาจะแคร์ความรู้สึกของเรา เขาจะไม่ทอดทิ้งความรู้สึกที่เราได้บอกกับเขาไป นี่จึงสำคัญมาก ถ้าพูดแล้วเขาไม่มีตรงนี้ ต้องคิดทบทวนดูอีกครั้งว่าจะอยู่กับเขาคน ๆ นั้นได้จริง ๆ หรือเปล่า คุณจะสามารถอยู่กับเขาไปตลอดได้มากแค่ไหน
ความสัมพันธ์นั้นไม่ใช่เรื่องสวยหรู หรือโปรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป คุณต้องผ่านประสบการณ์ความรักมาเยอะและเข้มข้นกับชีวิตมามากมาย ต้องผ่านทุกช่วงเวลา ช่วงโปรโมชั่น และช่วงแห่งความเป็นจริง ความรักที่จริงแท้ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับมนุษย์
เพราะมันหมายความว่าจะรักหรือไม่รักก็ได้ ถ้าอยู่ด้วยความรักจริงแท้แบบไม่มีช่วงโปรโมชั่น ไม่มีความพยายามเอาใจใส่ ต้องยอมรับให้ได้ตลอดเวลาว่าเขาคนนั้นอาจจะทิ้งหรือเลิกรักคุณไปเมื่อไหร่ก็ได้
ถ้าไม่ผ่านประสบการณ์มาเลยค่อนข้างอยู่ยาก ซึ่งความพยายาม ความตอบสนองต่อเงื่อนไข การเรียกร้องให้อีกฝ่ายมาอยู่กับเรา
ถ้าหากผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้วนั่นคือตัวตนที่แท้จริง ต้องยอมรับตัวตนที่แท้จริงของเขา
แฟนติดเพื่อน โดยไม่รู้ตัว
อาจจะต้องมีการพูดคุยกับเขาเพื่อให้เขารับรู้ว่าตอนนี้เขาละเลย และเขาควรที่จะปรับตรงส่วนไหน
เพราะคนเราทุกคนสามารถเป็นกันได้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน สิ่งที่สำคัญคือการสื่อสารให้เขารับรู้ อย่าแสดงออกโดยการไม่พูด
เพราะการไม่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา จะนำพาไปสู่ความซับซ้อนซึ่งก่อให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นกว่าเดิม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คู่รักสามีภรรยาอยู่กินกันมาหลายปี ซึ่งช่วงนี้สามีออกไปตีกอล์ฟกับเพื่อนบ่อยครั้งมากจนเกินไป
ทำให้ภรรยาเกินอาการน้อยใจรู้สึกว่าสามีไม่ให้ความสำคัญ จึงไม่ทำอาหารเย็น สามีกลับมาบ้านถามถึงอาหาร
ภรรยาบอกแค่ว่าวันนี้ปวดหลัง ด้วยความที่สามีก็คิดว่าเป็นเช่นนั้นจึงไม่ได้เกิดข้อสงสัย
ผ่านไปอีก 2-3 วัน ภรรยาก็ยังไม่ได้ทำอาหารเตรียมไว้ สามีจึงเข้าใจว่าภรรยาปวดหลังจริง ๆ จึงซื้อเก้าอี้นวดมาให้แทน
จะเห็นว่าการสื่อสารที่ไม่ตรงไปตรงมา ทำให้ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข และอาจจะทำให้เกิดความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้
เพราะฉะนั้นถ้าหากเรารู้สึกไม่สบายใจตรงไหน ควรค่อย ๆ พูดคุยกัน ปรับความเข้าใจกัน บอกให้เขารับรู้ถึงความรู้สึกที่แท้จริงว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
และปัญหาอีกอย่างหนึ่งในคู่รัก คือการสื่อสาร การพูดคุยกัน คู่รักควรพูดคุยกันให้เป็นเรื่องปกติระหว่างคนสองคน
เพื่อให้เกิดการเข้าใจกันในการสื่อสารมากยิ่งขึ้น เพราะบางครั้งคุณเองก็อาจจะรับรู้บางอย่างพลาดไป
ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะมันคือปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย การสื่อสารก่อให้เกิดการประสานสัมพันธ์กันระหว่างบุคคล
ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจกันดีและเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเรา
Post Views: 13,335