ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกซึมเศร้า ที่จะพาทุกคนร่วมเดินทางไปในโลกซึมเศร้าเรื่องของ ยา และโรคซึมเศร้า อย่างที่รู้กันว่าวิธีการรักษาหลักของโรคซึมเศร้า
คือ การพูดคุยให้คำปรึกษา จิตบำบัดและยา หลาย ๆ คนมักจะมีคำถามเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาซะส่วนใหญ่ เช่น ทำไมต้องกินยาด้วย ทานยาแล้วเสพติดจริงไหม ทานยาแล้วหยุดเองได้ไหม
วันนี้เรามาร่วมพูดคุยกันในรายการ “โลกซึมเศร้า” กับหัวข้อ “ยา” ช่วยได้จริงไหม ?
ยา ช่วยอะไร
โรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล เพราะฉะนั้น ยารักษาโรคซึมเศร้าหรือยาต้านเศร้า (antidepressants) จะช่วยแก้ไขสมดุลของสารเคมีในสมอง
หรือสารสื่อประสาทในสมอง คือ เซโรโทนิน , โดพามีน และ นอร์อิพิเนฟรีน
- โดปามีน : มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ แรงจูงใจ การปลุกเร้า การตื่นตัว และการความสุข
- นอร์อิพิเนฟริน : มีอิทธิพลต่อความตื่นตัว ช่วยควบคุมความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจเพื่อตอบสนองต่อความเครียด
- เซโรโทนิน : ควบคุมอารมณ์ ความอยากอาหาร การนอนหลับ ความจำ พฤติกรรมทางสังคมและความต้องการทางเพศ
เศร้า กับ โรคซึมเศร้า แตกต่างกัน ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าต้องรับประทานยาเพราะภาวะนี้เกิดขึ้นเป็นระยะ ยิ่งปล่อยไว้นานยิ่งแก้ไขลำบากแถมยังสร้างความเสียหายให้กับสมองด้วย
คนที่ไม่ทานยาแล้วสามารถหายได้ไหม? ซึ่งคำตอบจากคนที่ไม่ทานบาเขาบอกว่า ‘ หายแต่ใช้เวลานาน ‘ การที่เป็นก็ทรมานมาก ๆ อารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เราต้องเจอมันเหนื่อยมาก
เขาเน้นย้ำเลยว่าหายอะหายได้แต่ใช้เวลานานกินเวลากับความเศร้านาน นอกจากตัวเราก็ส่งผลกับคนรอบข้าง และสนับสนุนให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ+บำบัด+ทานยาดีกว่า
และมีความคิดเห็นนึงว่าอย่าให้ใครมาเสี่ยงด้วยด้วยการที่ไม่ทานยาเลย เพราะบางคนรับมือปัญหาโดยการที่ไม่ทานยาได้ไม่เท่ากัน
หยุดยาเเล้วกลับมากินต่อได้ไหม
ถึงจะรู้สึกว่าอาการที่เคยเป็นเบาลงเเล้วหรือหายดีแล้วก็ตาม เพราะกิน ๆ หยุด กินเกินขนาน กินน้อย จะทำให้การรักษายากขึ้น ระยะเวลาการรักษายาวนานกว่าเดิมและอาการกำเริบได้
จากที่เคยสอบถามคุณหมอ คุณหมอบอกว่าไม่สามารถหยุดเองได้ การทานยาต้องทานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อย่างน้อย 6 เดือน เพราะร่างกายช่วงแรกที่ทานต้องปรับยา
และ 6 เดือนคือช่วงที่เซลล์ในสมองเราดูดซึบซับปรับฮอร์โมน เคมีในสมองของเรา คุณหมอคอยถามตลอดว่าเราโอเคกับยานี้ไหม หากอยากหยุดยาต้องบอกแพทย์ ค่อย ๆ ลดลงตามลำดับขั้นของการรักษาของคุณหมอ
ยา ต้านเศร้าอันตรายไหม
บางคนกลัวว่าการกินยาต้านเศร้าจะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น มึนงง เบลอ หรือคิดยา จนทำให้ไม่ทานยาหรือทานยาไม่ครบ จริง ๆ แล้วยาต้านเศร้าไม่อันตรายและไม่เกิดอาการติดยา
สามารถทานได้ตามคำสั่งของแพทย์ แต่ทุกยาย่อมมีผลข้างเคียง สิ่งนี้เราต้องยอมรับเพราะไม่ว่าจะยาอะไรย่อมมีผลข้างเคียง แต่ผลข้างเคียงนั้นถ้าเราปรับกับยาได้ก็จะเบาขึ้น
หรือถ้ายานั้นเอฟเฟคกับเราเกินไปเราสามารถไปหาหมอเพื่อให้เขาปรับลดยาได้ หรือบางคนที่ไปทานยามาแล้ว เกิน 2-3 อาทิตย์แล้วไม่ดีขึ้นเลย เราก็สามารถบอกให้หมอเพิ่มยา/ปรับเปลี่ยนได้เหมือนกัน
กินยาแล้วหายทันทีเลยไหม
แน่นอนว่ายาต้านเศร้าไม่ได้ออกฤทธิ์ทันทีเหมือนยาแก้ปวด เราต้องมีความอดทนเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ จากเว็บไซต์ของโรงพยาบาลมนารมย์ เขียนโดย วรวัฒน์ บานชื่นวิจิตร เภสัชกร โรงพยาบาลมนารมย์
“อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด ยามีส่วนช่วยในระยะแรก ๆ ทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดี เจริญอาหารขึ้น มีเรี่ยวแรงทำอะไรมากขึ้น ความรู้สึกกลัดกลุ้มหรือกระสับกระส่ายเริ่มลดลง” เราต้องมีความอดทน
และช่วงแรกอาจจะดิ่งดาวน์กว่าปกติจนเราไม่อยากกินต่อ เพราะอย่างที่บอกว่าต้องใช้เวลาในการปรับตัวเราให้เข้ากับยา ช่วงแรกของการกินทั้งปากแห้ง หาว เพลีย ไม่มีสมาธิ ไม่อยากกินอะไร แต่พอปรับตัวได้ก็เริ่มโอเค ต้องใช้เวลาและใจเย็นในการทานยา
เป็นซึมเศร้าเหมือนกัน แพทย์จ่ายยาเหมือนกันหรือเปล่า
ไม่เหมือนกัน ยาต้านเศร้ามีหลายกลุ่ม โดยตัวยาแต่ละกลุ่มมีประโยชน์ ความเสี่ยง และการใช้งานที่เหมาะสม การเลือกใช้ยาอาจแตกต่างกันไปตามอาการประวัติการรักษา
และความผิดปกติทางอารมณ์ จิตใจ แพทย์จะพิจารณาการใช้ยาให้เหมาะกับตัวผู้ป่วยแต่ละคน ว่าคนไหนถูกกับยาตัวไหน รวมถึงพิจารณาร่วมกับยาอื่นๆหรือโรคทางร่างกายที่ผู้ป่วยกำลังรักษา
อย่างเราเป็นโรคซึมเศร้าแต่เราอาการแตกต่างกันคนนั้นเป็นมากกว่าเรา เราเป็นคนน้อยกว่าเขา ก็ได้ยาแตกต่างกัน บางคนน้ำหนักลด ได้วิตามินมากินด้วย แต่กลับบางคนไม่มีผลกับน้ำหนักก็จะไม่ได้วิตามิน
ผลข้างเคียงจากยามีอะไรบ้าง
กลุ่มยา มี 5 กลุ่มหลัก
กลุ่มที่ 1 Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) ผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หงุดหงิด ปวดศีรษะและความต้องการทางเพศลดลง
กลุ่มที่ 2 Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitors (SNRIs) นอร์อิพิเนฟริน ผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ ง่วงซึม อ่อนเพลีย ท้องผูก และปากแห้ง
กลุ่มที่ 3 Tricyclic antidepressants ไทรซีคลิก (TCAs) ผลข้างเคียง คือ ท้องผูก ปากแห้ง ตาพร่า ง่วงซึม เวียนศีรษะ และน้ำหนักขึ้น ในบางกรณี อาจเกิดอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ และอาการชักได้
กลุ่มที่ 4 Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) ผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้ วิงเวียน ง่วงนอน กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับ
กลุ่มที่ 5 Atypical antidepressants เอทิพิคอล เป็นกลุ่มยาต้านเศร้าประเภทใหม่ที่ไม่จัดอยู่ในประเภทใด ๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น ผลข้างเคียงอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของยา
แต่อาจรวมถึงอาการวิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ตาพร่ามัว น้ำหนักขึ้น และความต้องการทางเพศลดลง
ถ้ายาส่งผลกระทบเยอะหรือไม่ได้ผล ขอลดยาหรือเพิ่มยาได้ไหม
ประมาณ 60% ของผู้ที่ทานยาต้านเศร้าจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อได้รับยาตัวแรก หากยาต้านเศร้าตัวแรกไม่ได้ผล ก็เป็นไปได้ว่ายาต้านเศร้าตัวอื่นจะได้ผล หรือการที่ผู้ป่วยทานยาเเล้วรู้สึกว่าไม่ได้ผลในระยะแรก
เป็นเพราะยังปรับยาไม่ได้ขนาดหรือยายังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ หากทำการรักษาไประยะหนึ่งแล้วเห็นว่าการให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้วแต่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจพิจารณาใช้ยาตัวอื่นต่อไป
หรือถ้าหากว่าเรารู้สึกว่ายาที่ทานอยู่ส่งผลกระทบที่กระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น การทำงาน การเรียน ควรแจ้งเเพทย์ทุกครั้ง และควรทานยาตามขนาดที่แพทย์สั่งเท่านั้น ไม่ควรปรับลดเอง
ยา ส่งผลกระทบเยอะ ดูแลตัวอย่างไร
ผู้ป่วยต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของยา ต้องรู้ว่าเรากำลังใช้ยาต้านเศร้าตัวไหน รวมถึงวิธีการรับมือ ด้วยความที่ผลข้างเคียงของยาจะแตกต่างกันไป
หากรู้สึกว่ารุนแรงเกินไป ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อการปรับลดยาต่อไป
ควรปฏิบัติตัวดังนี้เมื่อเกิดอาการข้างเคียงของยา
- ง่วงซึม ง่วงนอนมาก : ไม่ควรขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรอาจเกิดอันตรายได้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อลดหรือเปลี่ยนยา
- ปากแห้ง : ควรบ้วนปาก จิบน้ำ ทาลิปบาร์มลิปมัน หรือน้ำมะนาวบ่อย ๆ เพื่อให้ปากชุ่มชื่น
- ท้องผูก : ควรรับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ พยายายามเพิ่มการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายทุกวัน
- คลื่นไส้ : ควรทำความสะอาดปากและฟัน ดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยวหรืออมลูกอมที่มีรสชาติให้ลดความคลื่นไส้
- พฤติกรรมเชื่องช้าลง : ระมัดระวังการหกล้มหรือการเกิดอุบัติเหตุ
- ลิ้นคับปาก น้ำลายไหล : ดูแลเรื่องความสะอาด พยายามควบคุมอารมณ์ไม่ให้หงุดหงิด เวลาสื่อสารกับผู้อื่นควรพูดช้า ๆ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจ
ทานยาอย่างเดียวเลยได้ไหม
ไม่ควรใช้ยาต้านเศร้าเพียงอย่างเดียวในการรักษาโรคซึมเศร้า แต่ควรใช้ร่วมกับจิตบำบัด เพราะหากเราคิดว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องของสารเคมีในสมองอย่างเดียวเราก็จะกินยาโดยลืมเรื่องของจิตใจไป
การปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตหรือวิธีคิดก็สำคัญในการรักษาภาวะซึมเศร้า เช่น สร้างสมดุลให้กับชีวิต หาเวลาพักผ่อน ออกกำลังกาย ดูแลเรื่องโภชนาการอาหารและใช้เวลากับธรรมชาติ ก็เป็นวิธีที่สามารถทำเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นได้
ถ้าพอไหว พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้ใกล้เคียงกับที่เราทำให้มากที่สุด อาจจะต้องฝืนไปบ้าง จากเดิมที่เราชอบเจอเพื่อน คุยกับเพื่อน ชอบออกไปเดินเล่นข้างนอก แต่ตอนนี้เหนื่อยมากเลยเหมือนโดนดูดพลังงานไปทั้งหมด
อีกอย่างหนึ่งที่ Alljit พูดบ่อย ๆ เสมอว่า มนุษย์มีพื้นฐานความต้องการความผูกพันกับผู้อื่น อยากให้ลองพยายามที่จะเข้าหาเพื่อนหรือว่าคนที่เราคุ้นเคย ไว้วางใจ แล้วก็อาจจะพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ปัญหาต่าง ๆ
บางทีปัญหาของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจจะไม่เยอะนัก แต่ว่าพอเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว จะทำให้เรามองว่ามันคงจะแย่ไปกว่าเดิม แต่ว่าถ้ามีคนอื่นที่เขาคอยให้คำปรึกษาและคอยรับฟังเรา บางทีเขาอาจจะมีมุมมองใหม่ ๆ ให้เราก็ได้ 😀
ที่มา
The 5 Types of Antidepressants
ข้อควรรู้เกี่ยวกับยารักษาโรคจิตเวช
How Your Depression Medicine Can Affect Your Life
Post Views: 1,875