เมื่อคนใกล้ตัวเป็น โรคซึมเศร้า เราจะทำยังไง

เมื่อคนใกล้ตัวเป็น โรคซึมเศร้า เราจะทำยังไง

เรื่องAdminAlljitblog

ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่ “โลกซึมเศร้า” เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับคนที่เป็น โรคซึมเศร้า หรือเป็นคนในครอบครัวเรา เราจะทำยังไงดี?

 

วันนี้เรามาร่วมพูดคุยกันในรายการ “โลกซึมเศร้า” กับหัวข้อ คนใกล้ตัวเป็นซึมเศร้า ทำยังไงดี ?

 

ในขณะที่เป็น ซึมเศร้า อยากให้คนอื่นเข้าใจไหม?

ในคนที่เป็นโรคซึมเศร้า อาจจะมีความคาดหวังและความต้องการ “ความเข้าใจ” จากคนอื่น  แต่ในอีกมุมหนึ่ง มิ้นว่าทุกคน ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้าต่างต้องการความเข้าใจกันทั้งนั้น

 

การรับฟังและปฏิบัติต่อกันโดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ตัดสินด้วยอคติส่วนตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่ากับใคร 

 

รู้สึกอย่างไร เวลาคนถามเกี่ยวกับโรค ซึมเศร้า ?  เป็นซึมเศร้าหรอ? พอเป็นแล้วเป็นยังไง?  

ในบางครั้งก็รู้สึก รำคาญใจ บางครั้งก็อยากตอบ  เนื่องจากจะมีคนเข้ามาถามใน 2 รูปแบบ คืออยากรู้ไว้เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ เพื่อเอาไปปรับใช้ในชีวิต กับบางคนที่ถามไปเพียงแค่อยากรู้เฉย ๆ 

 

คนรอบข้างไม่มีความรู้เรื่อง โรคซึมเศร้า รับมือยังไงในมุมมองของเรา?

 จริง ๆ แล้ว ในช่วงแรกคือ ไม่ชอบมาก ๆ ทำไมเขาต้องไม่เข้าใจ ,เขาจะคิดว่าเราบ้าไหม ,ทำไมเขาต้องตัดสินเราด้วย แต่ผ่านไปซักระยะ จะค่อย ๆ มีความคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก

 

บางวันเราก็ไม่เข้าใจตัวเองเลยเหมือนกัน แล้วเขาจะมาเข้าใจเราคงเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเขาเช่นกันนะ 

 

เนื่องด้วยในทุกวันนี้มีคอนเทนต์เกี่ยวกับสุขภาพจิตและ โรคทางอารมณ์ต่าง ๆ ให้ดูและฟังเยอะมากขึ้น หลายคนน่าจะพอเข้าใจโรคนี้ในระดับหนึ่ง

 

แต่ไม่ได้หมายความว่าการสื่อสารโดยตรงไม่สำคัญ หลาย ๆ ครั้ง ถ้าเราไม่บอกเขาก็ไม่รู้ ถ้าเราไม่บอกเขาก็ไม่เข้าใจ 

 

หากเราไม่มีคนรอบข้างเลยจริง ๆ จะผ่านไปยังไง? 

ก่อนอื่น สิ่งสำคัญคือต้องถามตัวเองให้แน่ใจว่า “ไม่มีใครซัพพอร์ตหรือไม่ยอมให้ใครซัพพอร์ต?” ในกรณี ไม่ยอมให้ใครซัพพอร์ตเกิดขึ้นได้

 

ด้วยความที่คนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีการโทษตัวเอง มีความกลัวว่าตัวเองจะเป็นภาระ ทำให้ไม่กล้าเอื้อมมือไปขอความช่วยเหลือจากใคร

 

จนบางครั้งสายไป… เช่น อาการรุนแรงจนรักษาได้ยาก ทำร้ายตัวเอง หรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย สิ่งสำคัญคือการสำรวจตัวเองและสื่อสารให้คนรอบข้างรับรู้

 

แต่ถ้าในกรณีที่รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างจริง ๆ เราสามารถใช้วิธีอื่น ๆ ได้ เช่น

1. รับสัตว์เลี้ยง

2. ใช้บริการอาสาสมัครรับฟัง

3. พบผู้เชี่ยวชาญ

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับคนที่เป็น โรคซึมเศร้า มีอะไรบ้าง? 

1. ความรู้เรื่องโรคซึมเศร้า

การที่เรามีความรู้เรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้นทำให้เราเข้าใจเขาได้มากขึ้นจริง เพราะเราจะรู้ได้ว่า ที่เขาเป็นแบบนี้ตอนนี้เพราะอาการของโรค

2. การสื่อสาร

เราได้พยายามเข้าหาเขาไหม? เราเข้าหาเขาในแบบที่เขาสบายใจหรือเปล่า? ปัจจัยพวกนี้มีผลหมด ว่าจะทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอยากจะสื่อสารกับเราแค่ไหน?

 

รับมืออย่างไร? เมื่อต้องดูแลคนเป็น โรคซึมเศร้า

1. เป็นผู้รับฟังที่ดี คอยอยู่เคียงข้าง

คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้ต้องการอะไรจากเรามากมาย เขาเพียงแค่ต้องการคนรับฟัง คนที่คอยอยู่เคียงข้างเท่านั้นเอง

 

2. แยกแยะตัวตนและตัวโรค

จากพี่อีฟ นักจิตวิทยาคิลนิกบอกว่า ต้องแยกแยะตัวตนและตัวโรค แยกนิสัยของคนนั้นกับนิสัยของโรคซึมเศร้า ซึ่งส่วนใหญ่ “นิสัยที่เปลี่ยนไป”

 

มักจะเป็นนิสัยของโรคซึมเศร้าถ้าเราเข้าใจว่าที่เขาเป็นแบบนี้ตอนนี้เพราะอาการของโรค เราจะเข้าใจเขาและโรคนี้มากขึ้น

 

3.รู้ทันอคติของตัวเอง

เมื่อไหร่ที่มีอคติเกิดขึ้น ลองหยุดพัก เพื่อถามตัวเองและรีเช็คกับตัวเองดู ว่าเรากำลังตัดสินเขาบนฐานความคิดของเราอยู่หรือเปล่า

 

อย่าลืมว่าทุกคนมีเงื่อนไข ปัญหา และภูมิต้านทานที่แตกต่างกัน ถ้ารู้ทันอคติตัวเองได้ เราจะเข้าใจเขาได้ 

 

4.หมั่นดูแลตัวเอง

จากหนังสือชื่อ “เหตุเกิดจากความเหงา” หมอปีย์บอกว่า ความรู้สึกเป็นโรคติดต่อ ทุกคนส่งผ่านความรู้สึกต่อกันได้โดยง่าย โดยที่ไม่ต้องพูดคุยกันด้วยซ้ำ

 

ความเศร้าเป็นความรู้สึกหนึ่งเหมือนกัน จึงเป็นไปได้ที่ครอบครัว เพื่อน คนรอบข้างจะรู้สึกเศร้าไปด้วยเมื่ออยู่กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เพราะฉะนั้น

 

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การดูแลคนที่เรารักคือ อย่าลืมหมั่นที่จะดูแลร่างกายและจิตใจตัวเองไปพร้อมกัน