พ่อแม่รักลูกเท่ากันจริงไหม

พ่อแม่รักลูกเท่ากันไหม ?

เรื่องAdminAlljitblog

พ่อแม่รักลูกเท่ากันไหม ? คำว่า “ลูกรัก ลูกพ่อ ลูกแม่” เพื่อใช้เรียกลูกคนโปรดของพ่อหรือแม่ แล้วก็จะมีคำว่า “ลูกชัง” เพื่อใช้เพื่อเรียกคนที่ไม่ใช่คนโปรดของครอบครัว

 

จนหลายครั้งก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า พ่อแม่รักลูกเท่ากันจริงๆเหรอ? วันนี้เราจะมาร่วมพูดคุยกันใน Alljit Podcast กับรายการ Learn&Share 😊

คำพูดที่ว่า ‘พ่อแม่รักลูกเท่ากันไหม’ ?

โดยแพทย์ 

คุณหมอ พญ.พนิดา รณไพรี กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กกล่าวว่า รักเป็นความรู้สึก คงไม่มีใครตัดสินได้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าเกิดถามหมอ หมอว่ามีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง

 

ทั้งที่รักเท่ากันและไม่เท่ากัน ขึ้นกับบริบทว่า พ่อแม่ลูกมีภูมิหลังกันมาอย่างไร หมอมองว่ารักลูกเท่ากันมีโอกาสเป็นไปได้ แต่รักลูกเหมือนกัน อาจจะเป็นไปไม่ได้ เช่น รักเท่ากัน แต่อาจแสดงออกคนละอย่าง

 

โดยงานวิจัย 

การวิจัยของนักวิชาการอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล เปิดเผยว่า พ่อแม่มีแนวโน้มจะรักลูกคนโตมากกว่าลูกคนเล็ก ในครอบครัวที่มีลูก 2 คน โดยสังเกตได้จากพฤติกรรม เช่น

 

เมื่อลูกคนแรกเกิดมาจะได้รับความเอาใจใส่มากกว่า ทั้งการเลี้ยงดู ความเสน่หา รางวัลของขวัญ ได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่อย่างเต็มที่ 

 

ด้านของ Kristina Durante ศาสตราจารย์ด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัย Rutgers ได้ทำการวิจัยในเรื่องนี้ เธอพบว่าเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี พ่อแม่จะรักลูกสาวมากกว่า แต่ถ้าเศรษฐกิจดี พ่อแม่จะรักลูกชาย

 

เหตุผลก็เป็นเพราะผู้ชายที่ประสบความสำเร็จจะ เป็นพ่อของลูกได้มากกว่าผู้หญิง ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องช่วงวัยและจำนวนลูกหลานที่สามารถมีได้ ในทางกลับกัน ผู้ชายที่ยากจนก็ไม่สามารถจะดูแลลูกได้ดี

 

ขณะที่ผู้หญิงที่ยากจนจะทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่ได้ดีกว่า คนที่ร่ำรวยจึงมักจะชอบลูกชาย เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่า สังเกตได้ว่าผู้ชายที่ร่ำรวยจะน่าดึงดูดกว่า เลยมีโอกาสที่จะให้กำเนิดลูกหลานจำนวนมากได้

 

ขณะที่ผู้ชายที่ยากจนจะมีเสน่ห์น้อยกว่าเลยทำให้หาคู่ครองได้ยากกว่า การที่พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ลึก ๆ แล้วส่วนหนึ่งก็มีสาเหตุมาจากมุมมองเชิงวิวัฒนาการนั่นเองว่าลูกคนไหนมีแนวโน้มจะสืบทอดเผ่าพันธุ์ได้ดีกว่า 

 

โดยความคิดเห็นส่วนตัว 

ความรักวัดไม่ได้ มองไม่เห็น เหมือนจับต้องไม่ได้แต่ การแสดงออกมันเห็นได้ชัดกว่า เพราะฉะนั้นถ้าการแสดงออกไม่เหมือนกัน ก็คิดได้ว่ารักไม่เท่ากัน รักลูกไม่เท่ากันเกิดขึ้นได้จริง จากการเเสดงออกของครอบครัว

 

 

สาเหตุใดที่ทำให้เกิดความรู้สึก พ่อแม่รักลูกเท่ากันไหม ?

บุคลิก ความสนใจ ความต้องการ และวิธีการแสดงความต้องการที่แตกต่างกัน เด็กบางคนก็ต้องรับมือกับภาวะบางอย่าง เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรมที่รับมือได้ยากกว่าลูกคนอื่น

 

จึงอาจเป็นไปได้ว่าการที่พ่อแม่รักลูกคนหนึ่งมากกว่า ก็เพราะเด็กคนนั้นเลี้ยงง่ายและอยู่ด้วยได้ง่ายกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ความสนใจของสมาชิกแต่ละคนในบ้านก็ส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน 

 

คำว่า ‘Parental favoritism’ คือ พ่อแม่แสดงความลำเอียงต่อลูกคนใดคนหนึ่งแบบสม่ำเสมอ ทั้งใช้เวลาร่วมกันเยอะกว่าคนอื่น ไม่เข้มงวด และมีสิทธิพิเศษให้ลูกคนนี้ ถึงแม้ว่าในฐานะพ่อแม่มักจะพยายามวางตัวเป็นกลาง

 

และปฏิบัติต่อลูกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่การที่ต้องรู้สึกเท่ากันมันยากกว่าที่คิด เพราะจริง ๆ แล้ว พ่อแม่ทุกคนล้วนมีลูกคนโปรด

 

 

ปัจจัยที่ทำให้พ่อแม่มีคนโปรด

1.  ลำดับการเกิด (birth order) – ลูกคนเเรกเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ และเธอคือ ภาพลักษณ์ของแม่ เมื่อเติบโตเป็นสาว แม่อาจจะรู้สึกว่ากิริยาท่าทาง พฤติกรรม และทัศนคติของลูกสาวสะท้อนถึงตัวเอง 

 

และถึงแม้จะไม่ได้ตั้งใจ ความลำเอียงก็เกิดขึ้นได้ โดยปกติแล้วลูกคนโปรดของบ้านจะเป็นคือลูกคนโตหรือลูกคนเล็ก เพราะลูกคนโตจะได้ที่พิเศษในใจของพ่อแม่และลูกคนเล็กต้องการความเอาใจใส่ 

 

2. เพศ – อาจจะมาจาก ค่านิยม ทัศนคติและวัฒนธรรมของแต่ละครอบครัว รวมถึงไปถึงระดับประเทศ

 

3.  ความฉลาด อุปนิสัย – เด็กคนไหนเก่งมากก็จะได้รับการสนับสนุนมากเป็นพิเศษ เคยคุยกับเเม่เพื่อน เเขาบอกว่าจะส่งลูกได้มากเท่าที่ทำได้ ทั้งเรียนพิเศษ ซื้อหนังสือแต่กับลูกอีกคนบอกว่าส่งไปก็ไม่รู้จะจบไหม

 

4.  ปัจจัยทางการเงิน – ที่ผู้ปกครองนิยมเด็กผู้หญิงในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีและเด็กผู้ชายในช่วงเศรษฐกิจดี อาจเป็นเพราะผู้ชายที่ประสบความสำเร็จสามารถมีบุตรได้มากกว่าผู้หญิง

 

ซึ่งจำกัดด้วยจำนวนทารกที่สามารถให้กำเนิดได้ ในทางกลับกัน เด็กชายที่ยากจนอาจไม่มีบุตรในขณะที่เด็กหญิงที่ยากจนมีแนวโน้มที่จะมีบุตรมากกว่า

 

 

ลูกคนกลาง (Wednesday’s child)

ลำดับการเกิดก็มีผลต่อจิตใจและอารมณ์ของลูกจริง ๆ สภาวะลูกคนกลาง ก็อาจส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่มั่นคงได้ และตัวแม่เองก็อาจทำให้ลูกรู้สึกแบบนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

ลูกคนแรกอาจจะดูแลดี ลูกคนที่สอง พ่อแม่อาจรู้สึกเฉย ๆ ที่เขาเกิดมา ทำให้ไม่ได้ดูแลเป็นพิเศษ แต่พอมีลูกคนเล็กกลับมีความรู้สึกว่า ต้องดูแลเอาใจใส่เยอะ ก็จะทำให้ลูกคนกลางน้อยเนื้อต่ำใจ ระแวง

 

สงสัยต่อความรักของพ่อแม่ และอาจส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น ลูกคนกลางดื้อ ต่อต้าน โมโหก้าวร้าว หรือไม่ก็เป็นเด็กที่มีพฤติกรรมยอมคน ซึ่งถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมผิดปกติไหม มันก็ไม่ผิดปกติ มันเกิดขึ้นได้ 

 

“ช่วงอายุลูกที่ห่างกันสองปี เป็นช่วงเวลาที่พี่น้องจะอิจฉากันมากที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าวางแผนจะมีลูก ก็อยากจะให้พี่คนโตอายุมากกว่าสามขวบขึ้นไป”

 

 

ผลกระทบจากความรู้สึก รักลูกไม่เท่ากัน 

1. สูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป เพราะขนาดพ่อแม่ของตัวเองยังไม่รักเขาเลย 

 

2. การรับรู้ในคุณค่าของตัวเองต่ำ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถยอมรับตัวเอง และพัฒนาตัวตนที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาในอนาคตได้

 

3. พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ ในเด็กบางคนเลือกที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ่อแม่หันกลับมามองและสนใจเขา ถึงแม้สิ่งที่เขาทำจะเป็นที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ตาม

 

ความพยายามที่ไม่เป็นผล นานวันเข้าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ กัดกินหัวใจเกิดเป็นบาดแผลทางใจ และรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพ่อแม่และพี่น้อง

 

4. ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เด็กอาจจะทำตัวห่างเหิน และไม่อยากใกล้ชิดกับพี่น้องตนเอง เพราะรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นน้องหรือ พี่ได้รับความรักในขณะที่ตัวเองไม่เคยได้รับเช่นนั้น

 

5. เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะความเครียด ความเกลียดตัวเองจากการไม่ได้รับความรักส่งผลต่อการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ยิ่งทำให้ไม่รู้ว่าตนเองจะอยู่ไปเพื่อใคร หรือ สิ่งใด? 

 

นอกจากตัวของลูกที่ไม่เป็นคนโปรดจะได้รับผลกระทบแล้ว ตัวของลูกคนโปรดเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน  เขาจะเกิดความรู้สึกไม่พออยู่เสมอ ฉันต้องได้มากกว่านี้ ต้องเป็นที่ 1 จนกลัวการล้มเหลว

 

ใช้ชีวิตแบบกดดันว่าไม่มีที่ว่างให้ความผิดพลาดหรืออาจจะเกิดความรู้สึกผิดต่อพี่น้อง จนผลกระทบลามไปถึง familiy unit คือ ความสัมพันธ์ในครอบครัวเกิดความตึงเครียด toxic ห่างเหิน

 

การชิงดีชิงเด่นของพี่น้อง (sibling rivalry) ด้วยความรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก เหมือนถูกทอดทิ้ง อาจนำไปสู่ความต้องการอิสระ เขาจะไม่ต้องการพ่อแม่ ไม่ต้องการใครเลยและนำไปสู่การแยกตัว

 

 

วิธีการทำความเข้าใจ ยอมรับ หากรู้สึกว่า พ่อแม่รักลูกเท่ากันไหม ?

1. ยอมรับ และอนุญาตให้ตนเองรู้สึกโกรธ

2. หาที่พึ่งพิงทางใจ หรือ พื้นที่ปลอดภัย

3.  บอกความรู้สึกของเราออกไปให้พ่อแม่ได้รับรู้

4. เรียนรู้ที่จะรักตัวเองก่อน

 

 

ทำอย่างไรให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้ลำเอียง

1. การแสดงออกสำคัญ ควรแสดงออกอย่างเท่าเทียมและพยายามรักษาความยุติธรรมให้มากที่สุด แน่นอนว่ามันจะดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ในบางเรื่อง แต่ต้องตระหนักว่าเด็กทุกคนมีความต้องการเท่า ๆ กัน 

 

2. ลดการเปรียบเทียบ มันจะเจ็บปวดแค่ไหนที่คนที่พ่อแม่นำมาเปรียบเทียบเป็นพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกัน 

 

3. ทุกคนต้องการความเอาใจใส่ ไม่ว่าเขาจะมีนิสัยยังไง ดื้อหรือเรียบร้อย ดูแลตัวเองได้ดี เข้มเเข็งหรือทำทุกอย่างได้ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องการให้ที่บ้านเอาใจใส่

 

4. อย่าเพิกเฉยกับคำพูดของลูก การที่เขาถามว่าพ่อแม่รักใครมากกว่า หรือพ่อแม่มีลูกคนโปรดไหม อย่าพึ่งรีบตอบกลับว่า ไม่มี หรือตอบความจริงออกไป ลองถามความรู้สึกของเขาก่อน เพราะมันอาจจะเป็นตัวสะท้อน

 

ถึงสิ่งที่อยู่ข้างในจิตใจของเขา ลองเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความรู้สึกและความต้องการของเขาออกมา เพื่อเราจะได้เข้าใจมุมมองความรู้สึก และสามารถดูแลสิ่งที่เขาต้องการได้

 

ขออนุญาต ยกคำพูด ของคุณหมอ พญ. พนิดา รณไพรี—กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กว่า

 

“ความรู้สึกไม่สำคัญเท่าการแสดงออก ถึงแม้เราจะรู้สึกรักลูกเท่ากันหรือไม่เท่ากัน รักเหมือนหรือไม่เหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ควรจะแสดงออกในทางบวกกับลูกทุกคน”

 

 

สามารถติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่

 

 

ที่มา :

“พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักเป็นเรื่องไม่อาจฝืน”

พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่ากันจริงหรือ ?

เปิดเหตุผล!! พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน

Long Term Effects of Parental Favoritism

The Secret Reason Why Parents Play Favorites