ใครกำลังมีความคิดที่ไม่ค่อย Healthy กับสุขภาพจิตใจตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคิดเชิงลบต่อตัวเอง เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น
กดดันตัวเองจนหลับไม่ลง … ความคิดลบมักเกิดขึ้นง่ายกว่าสิ่งอื่นใด เพราะมันเป็นหนทางที่นำพาเราไปสู่การมีชีวิตรอด แม้มันจะไม่น่าภิรมย์ก็ตาม
การเปรียบเทียบที่แสนจะอภิรมย์
ถ้าให้เพื่อน ๆ คิดไว ๆ ด้วยความคิดที่เปรียบเทียบกับคนอื่น เราจะเปรียบเทียบเรื่องอะไรกัน ส่วนใหญ่อาจจะนึกถึงเรื่องหน้าตา ฐานะการเงิน ครอบครัว
ความอยากมี อยากเป็น อยากได้ จริง ๆ ความคิดเชิงเปรียบเทียบมีไว้ก็ไม่เสียหาย อยู่ที่เราจะทำยังไงกับความรู้สึกอยากนั้นมากกว่า
เพราะอารมณ์ความรู้สึกที่ตามมาหลังจากการเปรียบเทียบ ไม่จำเป็นต้องเป็นความอิจฉาเสมอไป
เด็ก ๆ สมัยเรียน พวกเราคงเคยมีความคิดว่า อยากเรียนให้เก่งเหมือนพี่ อยากมีความกล้าแบบเพื่อน และไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย
ความคิดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกก็ยังคงได้ยินและพบเจอได้ทุกวัน…‘อยากเกิดมาสวยแบบพี่สาวคนนั้นบ้าง’ ‘อยากสูงหุ่นดี ร้องเพลงเพราะเหมือนไอดอลชายคนนี้’
จนถึงวัยที่หาเลี้ยงตัวเองได้ ก็ยังมีบางช่วงเวลาที่คิดว่า อยากกินทุกอย่างโดยไม่ต้องคิดมากเรื่องเงิน หรือเวลามีเรื่องเครียด
อยากหนีไปนอนโรงแรมหรือไปเที่ยวต่างประเทศบ้างจัง..คนเรามักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่มีอำนาจทางการเงินที่สูงกว่า
เพราะความฝันของใครหลายคน คงเป็นการมีเงินถุงเงินถังโดยไม่ต้องกังวลว่า ชาตินี้จะมีวันใช้หมดไหม เพราะเงิน
แทบจะเป็นเหมือนปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้เลย แค่มีเงิน ทุกคนก็สวยขึ้น หล่อขึ้นได้ เลือกเข้าสังคมได้ง่าย
ดูแลสุขภาพร่างกายได้ยาวนานขึ้น บางคนอาจจะเถียงกลับว่าไม่จริงหรอก แต่ถ้ามองว่ามีเงินดีกว่าไม่มี จะมีใครเถียงคำพูดนี้กลับมาไหม
จริงอยู่ที่การเปรียบเทียบกับคนที่มีน้อยกว่าเรา จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้บ้าง
แต่คนเรายังคงเลือกที่จะไล่ไขว่คว้าสิ่งที่อัพเกรด เพิ่มความพิเศษ ความพรีเมียม นั่นก็เพื่อต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น
การจัดการความรู้สึกอยากเป็นคนอื่น
ความอิจฉา การเปรียบเทียบ แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายจนต้องห้ามเกิดขึ้นในชีวิต การที่เรายอมปล่อยให้มันเกิดขึ้นอย่างซื่อสัตย์และยอมรับมัน
ก้อนความคิดความรู้สึกเหล่านั้นจะยังไม่ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นก้อนเนื้อร้าย แต่ตราบใดที่เรามัวแต่วิ่งหนี ก้อนความรู้สึกนั้นมันจะได้ใจ
มันจะใช้เวลาก่อตัวจนกลายเป็นความทุกข์ก้อนโตที่ทำให้เราจุกอกจนหน้าแดง อยากร้องไห้แต่ร้องไม่ออก และจะอึดอัดมากเมื่อมันกลืนกินความกลัวที่เรามีต่อมันจนตัวมันใหญ่ขึ้น
สิ่งที่จะละลายก้อนความรู้สึกนั้นได้… คิดว่าคืออะไร บางคนอาจจะละลายก้อนเนื้อนั้นด้วยการสารภาพความรู้สึกและกลับมาจัดการความรู้สึกตัวเองด้วยการยอมรับ
และโฟกัสแค่ตัวเองว่าเรามีดีอะไร ขาดอะไรที่สามารถหามาทดแทนได้ เพราะบางคนก็มองว่า ความรู้สึกอิจฉา มันเกิดจากความรู้สึก ‘ขาด’ ของตัวเองที่มีต่อคนอื่น
ถึงแม้บางครั้งเราอาจไม่ได้โหยหามันขนาดนั้น แต่เมื่อสังคมรอบข้างมี ดันกลายเป็นว่าเราบังคับให้ตัวเองต้องมีเหมือนคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
หากถามว่าความคิดส่งผลต่อการกระทำคนเรามากขนาดนั้นเลยเหรอ จุดเริ่มต้นของการกระทำมักมาจากความคิด
การที่เรามุ่งมั่นที่จะลงมือทำบางอย่างนั้นก็เกิดจากการที่เราเชื่อมั่นในความคิดตนเองว่ามันจะออกมาอย่างที่เราคิดหรือคาดหวังไว้
และการที่เรามีความรู้สึกอยากเป็นคนอื่นคนที่เราชอบ คนที่เราชื่นชมดูสักครั้ง นั่นก็มาจากความคิด จากสมองที่ประมวลผลให้เราดิ้นรนเพื่อตามหาความสุขของตัวเอง
ความรู้สึกนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก
บางครั้งเราก็อาจอดไม่ได้ที่จะคิดว่า “ถ้าฉันได้เป็นเขา ชีวิตคงจะดีกว่านี้” ความอยากลองเป็นคนอื่นไม่ได้แปลว่าเราไม่พอใจกับตัวเองเสมอไป
แต่มักเกิดจากความสงสัย ความเปรียบเทียบ หรือแม้แต่ความฝันที่อยากจะหลุดพ้นจากข้อจำกัดบางอย่างที่ตัวเองเผชิญอยู่
การได้มองชีวิตผ่านมุมมองของคนอื่นจึงกลายเป็นความปรารถนาที่แฝงไปด้วยทั้งความอยากรู้และความหวัง
ไม่ว่าจะเป็นการอยากมีความมั่นใจแบบคนนั้น หรืออยากมีชีวิตที่เรียบง่ายเหมือนคนนี้
ความรู้สึกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่แสวงหาความหมายและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับชีวิตของตนเอง
บางคนเขาอยากมีหน้าตาเหมือนดาราคนนี้ เขาก็อาจใช้วิธีการเข้ารับการศัลยกรรมตกแต่งใบหน้า
หรือบางคนก็เลือกการคอสเพลย์เป็นตัวช่วยเสริมความฝันให้เป็นความจริง ซึ่งก็ถือเป็นการตัดสินใจด้วยสิทธิ์ของชีวิตและร่างกายของเขา
ถ้าเขามีความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น ดูมีความสุขมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่ดีสำหรับตัวเขาเอง และมันคงไม่หนักหนาอะไรที่เราจะเคารพสิทธิ์และยินดีที่เขามีความสุข
ดังนั้นความรู้สึกอยากลองเป็นคนอื่นไม่ใช่เรื่องแปลกเลย มันเป็นสิ่งธรรมชาติที่เกิดจากการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น
โดยเฉพาะในยุคที่เราถูกกระตุ้นด้วยภาพลักษณ์ ความสำเร็จ และชีวิตของผู้อื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ่อย ๆ
แต่เมื่อความเปรียบเทียบกลายเป็นแรงกดดัน ความรู้สึกไม่พอใจในตัวเองก็อาจค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่มนุษย์ใช้เพื่อประเมินคุณค่าของตัวเอง
การเปรียบเทียบอาจกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาก็จริง แต่ในทางกลับกัน หากเปรียบเทียบในเชิงลบมากเกินไป
ก็อาจก่อให้เกิดความรู้สึกด้อยคุณค่า ความวิตกกังวล หรือแม้กระทั่งอาการซึมเศร้าได้ ในอีกด้านหนึ่ง ความอยากเป็นคนอื่นอาจสะท้อนถึง “การหลีกเลี่ยงตัวตน”
ซึ่งเป็นกลไกป้องกันทางจิตที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกไม่พอใจในตัวเอง หรือรู้สึกว่าเราไม่สามารถจัดการกับความจริงบางอย่างในชีวิตได้
ความรู้สึกอยากหนีไปเป็นใครสักคน อาจเกิดจากความเหนื่อยล้าหรือความไม่มั่นใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่ ทำให้การจินตนาการว่าได้เป็นคนอื่น
จึงกลายเป็นทางหนีชั่วคราวจากความเจ็บปวดหรือแรงกดดันที่เผชิญอยู่ … สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของการอยากเป็นคนอื่น
อาจทำให้เราหลงลืมคุณค่าและความงดงามที่ตัวเราเองมีอยู่ การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นตลอดเวลาอาจนำมาซึ่งความกดดันและความไม่พอใจในชีวิตปัจจุบันได้
อย่าโทษตัวเองในวันที่เราอยากเป็นคนอื่น แค่กอดตัวเองเบา ๆ…
“เหนื่อยหน่อยนะวันนี้ แต่ไม่เป็นไรนะ พอแค่นี้ก่อนก็ได้ พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่”
Post Views: 21