แฟนชอบพูดทำร้ายจิตใจ

แฟนพูดทำร้ายจิตใจ อยู่เสมอ รับมืออย่างไร

เรื่องAdminAlljitblog

เมื่อ แฟนพูดทำร้ายจิตใจ เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร?

 

บทความนี้ Alljit ร่วมกับคุณวันเฉลิม คงคาหลวง (นักจิตวิทยาการปรึกษา) เจ้าของแฟนเพจ Trust.นักจิตวิทยาการปรึกษา

 

มาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็น “แฟนพูดทำร้ายจิตใจ”

“แฟนพูดทำร้ายจิตใจ” เป็นเรื่องที่เราพบเจออยู่เสมอ

วันนี้หัวข้อที่เราจะพูดถึงเป็นเรื่องที่พบเจอได้อยู่บ่อย ๆ และฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อเจอเหตุการณ์คำพูดที่ทำร้ายจิตใจกันอยู่บ่อยครั้ง

 

เริ่มรู้สึกบั่นทอนจิตใจจนอยากจะหาวิธีพูดกับเขา ให้เขารับรู้ว่าเราไม่ชอบโดยที่ไม่ต้องทะเลาะกัน “ก่อนที่เราจะพูด เราเป็นนายคำพูด แต่พอเราพูดไปแล้ว คำพูดจะเป็นนายเรา”

 

ถ้าเราพูดไปแล้ว ต้องรับผิดชอบกับคำพูดนั้น เรื่องคำพูดเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนควรคิดก่อนที่จะพูดอะไรออกมา

 

อยากให้ฟังเสียงของหัวใจตัวเอง และคิดว่าจะพูดกับเขาอย่างไรดี เพื่อให้เขาเข้าใจโดยที่ไม่ต้องทะเลาะกัน 

การบอกความรู้สึกของเราออกไปเมื่อ “แฟนพูดทำร้ายจิตใจ”

เราอาจจะต้องพึ่งศิลปะในการนำเสียงในใจมาบอก ต่อให้เขาได้รับรู้ด้วยคำพูดที่นุ่มนวล สุภาพ ถ้าหากคู่รักของเราพูดคุยกันด้วยภาษาพ่อขุนรามเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

 

ก็พูดได้เพียงแต่อย่าใส่อารมณ์เข้าไป ให้ใช้น้ำเสียงที่ฟังดูแล้วไม่ได้เป็นการชวนทะเลาะ

 

ถ้าเผลอใส่อารมณ์ต่อให้เราพูดคำสุภาพแค่ไหนแต่น้ำเสียงฟังดูก้าวร้าว

 

อีกฝ่ายจะรับรู้แค่ว่าตอนนี้เรากำลังโกรธ และนั่นอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ 

เก็บความโกรธไว้ในใจเมื่อ “แฟนพูดทำร้ายจิตใจ”

ไม่ใช้คำพูดแดกดัน คำพูดด่าทอ และใส่อารมณ์ ควรบอกให้เขารู้ว่าคำพูดของเขาคำไหน ประโยคแบบไหน ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่โอเค ไม่ดีต่อความรู้สึกของเรา

 

บอกให้ชัดเจนดีกว่าการไม่พูดอะไรเลย เพราะนั่นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง 

 

สมมุติว่าถ้าเราถูกแฟนเรียกว่า “ เหนียง ” ซึ่งตอนแรกอาจฟังดูตลกขบขัน แต่บ่อยครั้งอาจจะเริ่มรู้สึกไม่โอเคแล้ว 

 

ถ้าแฟนของเรารักเรา เราต้องลองบอกเขาว่ารู้สึกอย่างไร อยากให้เขาหยุดเรียกแบบนี้ได้ไหม ถ้าเขาแคร์เราเขาจะปรับเปลี่ยน

 

เพื่อรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้อย่างแน่นอน แต่ถ้าเขาตอบกลับมาแบบไม่ใส่ใจใยดีนั่นแปลว่า เขายังแคร์ความรู้สึกของไม่มากพอ

กรณีที่โดนวิจารณ์จากเพื่อนหรือคนอื่น 

การวิจารณ์หรือการแซวเรื่องของรูปร่างหน้าตา เช่น หน้าบาน หัวเถิก ขาใหญ่ ห่วงยาง ล้วนแต่เป็นการบูลลี่อย่างหนึ่งที่บางครั้งคนพูดอาจไม่รู้ตัว

 

เพราะคิดแค่ว่าฉันอยากที่จะพูดให้ดูตลก ฉันอยากที่จะหยอกล้อฉันอยากที่จะทักทาย

 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีมาช้านานที่คนเรามักจะเล่นตลกกับสิ่งแย่ ๆ ของคนอื่น มักเอารูปร่างหน้าตาของคนอื่นมาหยอกล้อ โดยที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนที่ถูกกระทำ 

 

สาเหตุเกิดจากความเคยชินจากวัฒนธรรมที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน และนี่ไม่ได้หมายความถึงแค่ประเทศไทย แต่เป็นกันทั่วโลกจึงเป็นต้นเหตุให้บางครั้งคนเราทำอะไรที่ไม่น่ารักออกมา

 

ด้วยคำพูดที่ทำร้ายคนอื่นแบบไม่คิดให้ดี เพียงแค่ต้องการให้ทุกอย่างออกมาดูตลก แต่ไม่รู้จักการเลือกสรรคำพูดหรือไตร่ตรองให้ดีก่อน 

หากเราถูกวิจารณ์ เราควรที่จะพูดตรง ๆ หรือ มองข้าม?

อย่างแรกคือเราเองต้องประเมินความสัมพันธ์ก่อนว่า เขาคือคนสำคัญ หรือเป็นคนที่ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตของเราเลย จากนั้นฟังเสียงหัวใจของตัวเองว่า

 

เราอยากจะพูดคุยกับเขาอยู่ไหม หรือไม่อยากจะพูดคุยกับเขาอีกแล้ว หากเลือกที่จะพูดก็อาจจะต้องพูดอย่างนิ่มนวล

 

เพราะถ้าใช้คำที่พูดรุนแรงก็จะทำให้ความสัมพันธ์นั้นแตกหักไปเลยก็ได้ แต่หากเราเลือกที่จะไม่พูดก็สามารถเลือกที่จะไม่พูดก็ได้

 

เพราะปลายทางนั้นคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ใจเราไม่ทุกข์ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญนั่นคือ

“การฟังเสียงหัวใจตัวเองเป็นหลัก”

ดังนั้น การสื่อสารสามารถร้างความสัมพันธ์ได้ และสามารถทำลายความสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกัน ก่อนที่จะพูดอะไร อยากให้คิดทบทวนไตร่ตรองให้ดีก่อน

 

นึกถึงผลที่จะตามมา เพราะบางทีอาจจะต้องรับผิดชอบต่อความสัมพันธ์ และสิ่งที่ได้พูดออกไป