อกตัญญูคืออะไร

ลูก อกตัญญู คืออะไร? มีจริงไหมคำนี้ ในมุมมองของนักจิตวิทยา

เรื่องAdminAlljitblog

การกตัญญูอาจไม่ใช่การที่เราทำตามคำสั่งของท่าน เป็นในแบบที่ท่านต้องการ หรือทำตามความหวังของท่านให้สำเร็จ แม้แต่การที่เราทำตามความต้องการของตัวเองนั่น

 

ไม่ได้แปลว่าเรา อกตัญญู เพราะความหมายของความกตัญอยู่ของแต่ละคน แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน

 

บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ ลูก อกตัญญู คืออะไร? มีจริงไหมคำนี้ ในมุมมองของนักจิตวิทยา

อกตัญญู และ กตัญญูในมุมของ ครอบครัว ลูก และ นักจิตวิทยา 

1. ในมุมมองของพ่อแม่

ในมุมมองของผู้ใหญ่อาจมาจากความเชื่อว่าทุก ๆ อย่างที่ท่านสั่งสอน และปูทางไว้ให้ จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เตรียมไว้ให้กับลูก เมื่อไหร่ที่ลูกเดินตามคำสั่งสอนของเขานั้นเท่ากับเชื่อฟัง เมื่อเชื่อฟังพ่อแม่แปลว่าได้ดี แล้วเมื่อไหร่ที่ลูกได้ดีเท่ากับลูกกตัญญู

 
2. ในมุมมองของลูก

ในมุมมองของลูกมักมองว่ากตัญญูคือ การกระทำใดก็ได้ที่ทำให้พ่อแม่สบายใจ หรือการกระทำใดก็ตามที่ไม่ทำให้พ่อแม่เดือดร้อน เพราะวัยรุ่นในยุคนี้มีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน หากไม่ทำให้พ่อแม่เดือดร้อนก็ถือเป็นความกตัญญูแล้ว

 
3. ในมุมมองของนักจิตวิทยา

การที่เราตระหนักและสำนึกได้ว่าคนนี้ทำดีกับเรา คนนี้ช่วยเหลือเรา คนนี้ดูแลเรา และเราสามารถตอบแทนเขาได้ เป็นความรู้สึกที่เมื่อใครสักคนนึงดีต่อเรา เราก็อยากจะทำดีตอบกลับไป โดยไม่หวังผลตอบแทน

 

ซึ่งอาจจะไม่ใช่ในมุมมองแค่พ่อแม่อย่างเดียว อาจเป็นได้ทั้ง ญาติ คนใกล้ชิดอื่น ๆ ด้วย แต่การที่เราไม่ทำดีกลับไปใช่ว่าเรา “อกตัญญู” แต่เราอาจจะมีเหตุผลส่วนตัวบางอย่างได้

อะไรที่ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าลูกต้องเชื่อฟังหรือทำตามพ่อแม่?

อาจจะเกิดจากคำว่าพ่อแม่ต้องดูแลลูก เกิดเป็นความคาดหวังว่า อะไรก็ตามที่ฉันดูแลเธอ เธอจะต้องดูแลฉันกลับมาในรูปแบบนั้นเช่นกัน นอกจากนั้นแล้วพ่อแม่บางท่านจะพยายามควบคุมลูกให้ได้ด้วย

 

พยายามให้เชื่อฟังทุก ๆ อย่าง เมื่อลูกเชื่อฟังลูกก็จะเป็นเด็กดี  พ่อแม่ภูมิใจ จากนั้นคนข้างบ้านก็ชื่นชมพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ได้รับคำชื่นชมเหล่านั้นอาจจะไปเติมเต็มความรู้สึกบางอย่างของท่าน

 

ในบางบ้านอาจจะรู้สึกว่าเขาดูแลลูกมาอย่างดี ลูกจะต้องทำงานดี ๆ และกลับมาดูแลเขาให้เหมือนกับที่เขาเคยดูแลลูกมา จริง ๆ พ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะคาดหวังสิ่งเหล่านั้น ในพ่อแม่บางท่านอาจจะไม่ได้รู้สึกแบบนั้นตั้งแต่ตอนแรก

 

แต่ในเมื่อท่านเต็มที่กับลูกแล้ว ท่านก็อยากจะให้ลูกเต็มที่กลับมาเช่นกัน เกิดเป็นหนี้ทางความรู้สึก เมื่อมีเงื่อนไขต่อกัน ลูกจะรู้สึกเหนื่อยเพราะต้องแบกรับความรู้สึกบางอย่าง เช่น ฉันจะต้องหาเงินให้ได้มาก ๆ

 

ต้องมีบ้านหลังใหญ่เพื่อให้พ่อแม่มาอยู่ด้วย ความเชื่อเหล่านี้ทำให้เกิดภาระทางความความรู้สึก และกดดัน เพราะเราอยากตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ที่ท่านเลี้ยงดูเรามา 

ลูกจะเชื่อฟังพ่อแม่ก็ต่อเมื่อพ่อแม่ฟังลูกจริงหรือไม่?

ถ้าพ่อแม่อยากให้ลูกรับฟัง ตัวท่านเองก็ต้องรับฟังลูกเหมือนกัน หากลูกอยากให้พ่อแม่รับฟัง ลูกก็ต้องรับฟังพ่อแม่เช่นเดียวกัน เพราะไม่ว่าเราทำอะไรกับใครเราก็อยากจะได้สิ่งนั้นกลับมาเหมือนกัน

ถ้าพ่อแม่บอกว่าเราอกตัญญูจะทำยังไงดี?

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคำว่าอกตัญญูและกตัญญู ในความเชื่อของเราคืออะไร หากเราเข้าใจความหมาย จะช่วยให้เรามีแนวทางในการปฏิบัติตนง่ายขึ้น 

 

อีกทั้งควรดูด้วยว่า คำว่า กตัญญูของเราและพ่อแม่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพื่อหาจุดตรงกลางว่าระหว่างเราและพ่อแม่คือตรงไหน ต้องปฎิบัติตัวอย่างไร หรือจะต้องทดแทนบุญคุณอย่างไร

 

ที่ทำให้พ่อแม่รู้สึกดีและไม่เป็นภาระต่อความรู้สึกของตนเอง

 

การคุยกันไม่ได้ช่วยแค่ทำให้เข้าใจตรงกันแต่จะช่วยทำให้เราเข้าใจด้วยว่าความเชื่อที่เราเชื่อนั้นถูกต้องหรือไม่ เช่น การที่เราไม่ให้เงินพ่อแม่เท่ากับอกตัญญูจริงไหม

 

ซึ่งจริง ๆ แล้วพ่อแม่อาจจะไม่ได้คิดอย่างนั้น บางครั้งในมุมพ่อแม่แค่เรามีเวลาอยู่กับท่าน นั่นก็อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่ากตัญญูแล้วก็เป็นได้

Related Posts