เกลียดการเปรียบเทียบ

เกลียด การเปรียบเทียบ แต่ฉันเองเป็นคนเปรียบเทียบตัวเอง แก้ไขอย่างไรดี?

เรื่องAdminAlljitblog

เคยรู้สึกเกลียด การเปรียบเทียบ ไหมคะ? แล้วเคยเผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นจนทำให้ตัวเองรู้สึกแย่หรือเปล่า?

 

บทความนี้ คุยกับนักจิตวิทยาคลินิก Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก

 

พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ วันนี้ถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็นคนใหม่ที่รู้สึกดีกับตัวเองให้มากขึ้น

ความรู้สึกเกลียด การเปรียบเทียบ

บางคนมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรก็ล้มเหลว ทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมดทุกอย่าง และมักจะกดดันตัวเองดึงตัวเองให้รู้สึกแย่ลงไปอยู่เรื่อย ๆ มักจะบอกกับตัวเองว่าตัวเองไม่เก่ง

 

เรื่องง่าย ๆ แค่นี้ทำไมตัวเองถึงทำไม่ได้ รู้สึกว่าตัวเองนั้นแปลกแตกต่างไปจากคนอื่น

 

จนรู้สึกแย่กับตัวเองที่คิดแบบนี้ ถ้าหากวันนี้เราไม่สามารถหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นได้ ไม่สามารถหยุดดูถูกตัวเองได้ อาจจะต้องลองหาวิธีเพื่อดึงตัวเองกลับมาเป็นคนใหม่อีกครั้ง

 

ช่วงวัยเรียนกำลังเข้าสู่วัยทำงานอาจจะพบเจอคนที่มีลักษณะแบบนี้มากกว่าวัยอื่น เพราะเป็นช่วงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คือ การทำงาน ที่จะต้องมีความรับผิดชอบให้มากขึ้น ไม่อยากที่จะเป็นภาระของคุณพ่อคุณแม่

 

บางคนก็อาจจะมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลคนในครอบครัว จังหวะนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนต้องพยายามใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ แสวงหาความสำเร็จ

 

และอาจจะเผลอเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่บ่อย ๆ ตำหนิตัวเองเมื่อไหร่ก็ตามที่ทำไม่ได้ดั่งใจหวัง 

ความสำเร็จของคนอื่นทำให้เกิด การเปรียบเทียบ กับตัวเอง

ทุกวันนี้เราสามารถมองเห็นความสำเร็จของคนอื่นได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมจากการดูผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เนื้อหาในสื่อออนไลน์ที่ทุกคนเห็นมักจะเป็นเรื่องประสบความสำเร็จของคนอื่น

 

ที่เราอาจคิดว่านั่นช่างง่ายเหลือเกิน เขาสำเร็จได้เร็วเหลือเกิน ถูกเล่าต่อ ๆ กันมา ถูกพูดถึง เขียนถึง ซึ่งตอนนี้ยุคโซเชียลเป็นยุคที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้พฤติกรรมบางอย่างของคนเราเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว

 

จนทำให้คุณอาจเผลอเกิดความคิดเปรียบเทียบโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน เช่น ทำไมเขาเก่งจังเลย ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จได้เร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ทำไมเขาถึงเลื่อนขั้นได้เร็วแบบนี้

วิธีการที่จะช่วยคุณได้ การเปรียบเทียบ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองเปลี่ยนความกังวลใจให้เป็นกำลังใจ

1. สร้างการเปรียบเทียบเพื่อการเรียนรู้ กลไกลหนึ่งที่ทำให้คนเราสามารถดำรงชีวิตได้ คือ การเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจ เพื่อการเรียนรู้จากความล้มเหลวของคนอื่น

 

เช่น ประสบการณ์ของเขาทำให้เราเรียนรู้ได้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำเรียนรู้ว่ากว่าเขาจะมายืนจุดที่ประสบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง

 

ให้ดูและเปรียบเทียบเพื่อหาผลลัพธ์ที่คุณจะสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยนช์ต่อตัวเองได้ โดยข้ามจุดที่เขาเคยทำพลาดหรือล้มเหลวมาก่อน 

 

2. เปรียบเทียบเพื่อประเมินตัวเอง เพื่อลดความเอนเอียงต่อตัวเอง ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดว่าคุณแตกต่างหรือเหมือนกับเขาอย่างไร

 

คุณกับเขามีต้นทุนที่แตกต่างกันตรงไหน ทักษะ กระบวนการดำเนินชีวิต สิ่งที่เขาเลือกทำ ข้อดี ข้อเสีย การใส่ใจข้อมูลตรงนี้จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตัวคุณเองได้

 

3. เปรียบเทียบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ การที่เราเห็นคนรุ่นเดียวกัน ต้นทุนเท่ากันประสบความสำเร็จได้ดีกว่า อาจทำให้คุณเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบขึ้นมาได้ อยากให้เราดูว่าเขาทำอย่างไรเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ

 

อยากให้มองว่าเขาเป็นต้นแบบ ที่จะสามารถเป็นแรงผลักดันให้คุณประสบความสำเร็จได้ จงเชื่อมั่นในตัวเองใหม่ว่าเราสามารถก้าวหน้าได้ด้วยความสามารถของตัวเองที่มีมากพอ สิ่งนี้จะช่วยลดความอิจฉา

 

และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้คุณประสบความสำเร็จ จงใส่ใจในเส้นทางที่เราเลือกเดิน และมุ่งมั่นที่จะเดินตามเส้นทางที่เราวางแบบแผนไว้

 

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือเราต้องเชื่อมั่นในตัวเองก่อนว่า อะไรที่จะช่วยให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ อะไรที่จะช่วยลดความกังวล ลดการเปรียบเทียบ อยากให้เราลองตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน

 

พยายามเปลี่ยนแรงกดดันภายในจิตใจที่ตัวเองกำลังไม่พึงพอใจในตัวเอง เปลี่ยนจากการตำหนิตัวเองแปรผันมาเป็นการให้กำลังใจกับตัวเอง ถ้าเราเชื่อมั่นและตั้งใจ เราจะต้องประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

Related Posts