inside out

Inside Out ทุกความรู้สึก ล้วนมีความหมายเสมอ

เรื่องAdminAlljitblog

เราอยากจะมาชวนทุกคนพูดคุยเกี่ยวกับ Inside Out แอนิเมชั่นดี ๆ ที่อาจจะทำให้มุมมองที่มีต่อสิ่งที่เรียกว่า “ความสุข” เปลี่ยนไป

 

แอนิเมชั่นเรื่องนี้ทำให้เราเกิดคำถามว่า วันที่ดี คือ วันที่เต็มไปด้วยสิ่งดี ๆ ที่ทำให้มีความสุขจริงหรือเปล่า 

 

Alljit ร่วมกับ มิ้น พนิดา มิตรวงษา จะมาแนะนำ รีวิว วิเคราะห์ ชวนทุกคนพูดคุยเกี่ยวกับ ซีรี่ส์ดีต่อใจเรื่องหนึ่ง ที่อาจจะทำให้วันของทุกคนเป็นวันที่ดีขึ้นได้

ไฮไลต์ของแอนิเมชั่นเรื่องนี้ คือ สำหรับคนที่สนใจเกี่ยวกับจิตวิทยา ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงานภายในของมนุษย์

 

ส่วนตัวแล้วเราคิดว่าแอนิเมชั่นเรื่องนี้ถ่ายทอดเกี่ยวกับอารมณ์ ความทรงจำ ความฝัน และเรื่องราวต่าง ๆ ภายในสมองและจิตใจของมนุษย์ออกมาได้อย่างสร้างสรรค์มาก ๆ

Inside Out : เรื่องที่อาจทำให้คุณนิยามคำว่า “วันที่ดี” เปลี่ยนไป 

Inside out เล่าเรื่องผ่านชีวิตของ ไรลีย์ เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เติบโตมาพร้อมกับครอบครัวที่อบอุ่น เพื่อนสนิทที่น่ารัก และ Ice hockey กีฬาที่เป็นความสามารถและความภาคภูมิใจของตัวเอง

 

แต่วันหนึ่ง ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

 

เมื่อไรลีย์ต้องย้ายบ้าน ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องพบเจอประสบการณ์ทั้งดีและร้าย ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่พาให้รู้สึกสับสนกับชีวิต ไรลีย์

 

และอารมณ์พื้นฐานทั้ง 5 ของเธอ คือ Joy, Sadness, Anger, Fear, และ Disgust จะจัดการอย่างไร

 

ก่อนที่จะพาไปรู้จักกับตัวละครน่ารัก ๆ อยากเสริมข้อมูลเพิ่มเติมสักเล็กน้อยเกี่ยวกับอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์

 

หากอ้างอิงจากทฤษฎีของนักจิตวิทยา Paul eckman เสนอว่า 6 อารมณ์ที่มีความเป็นสากล มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือวัฒนธรรมใดจะต้องมี

 

ได้แก่ Happiness สุข,Sadness เศร้า,Anger โกรธ Disgust ขยะแขยง,Fear กลัว และ Surprise ประหลาดใจ แต่ในแอนิเมชั่น ผู้สร้างเน้นไปที่ 5 อารมณ์เท่านั้น

Inside Out : ตัวละคร

Joy 

ในช่วงแรก จอยเป็นตัวเอกในหมู่อารมณ์พื้นฐานของ ไรลีย์ เป็นเหมือนผู้นำที่คอยควบคุมอารมณ์พื้นฐานอื่น ๆ เป้าหมายสูงสุดของจอยคือการดูแลไรลีย์ ให้มีความสุข จอยมักคอยแบ่งหน้าที่ให้กับอารมณ์พื้นฐานอื่น ๆ 

Anger 

อารมณ์โกรธที่คอยทวงความเป็นธรรมให้กับไรลีย์

Fear 

อารมณ์กลัวที่ทำให้ไรลีย์รู้จักระมัดระวังอันตรายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ฉากที่ไรลีย์กำลังสนุกไปกับของเล่น Fear เห็นว่ามีสายไฟ จึงกดไปที่แผงควบคุมเพื่อหยุดไม่ให้ไรลีย์เหยียบเข้า ซึ่งช่วยให้ไรลีย์รอดพ้นจากการถูกไฟดูด

Disgust 

อารมณ์ขยะแขยงที่ช่วยป้องกันไรลีย์ออกจากสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย คิดว่าจุดนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นว่า อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์สุขต่างมีข้อดีและมีความำสคัญต่อชีวิตทั้งสิ้น 

Sadness 

ตัวละครที่จอย ไม่ให้ความสำคัญสักเท่าไหร่ Sadness ไม่เคยรู้เลยว่า ตัวเองมีหน้าที่อะไร ควรอยู่ตรงไหน ทำให้ระหว่างที่เรื่องราวดำเนินไป

 

เป็นตัวละครที่มักยืนอยู่ขอบ ๆ ทำนู่นทำนี่อยู่เงียบ ๆ คนเดียวตามมุมต่าง ๆ ของศูนย์บัญชาการ

 

ตั้งแต่ไรลีย์เป็นเด็กจนโต Joy พยายามทำทุกทางให้ ความทรงจำของไรลีย์มีแต่สิ่งดีๆ โดยการรักษาลูกแก้วความทรงจำให้เป็นสีเหลือง ลูกแก้วความทรงจำจะมีหลายสี ตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นในประสบการณ์นั้น ๆ แบ่งเป็น

 

สีแดง ความทรงจำที่มีอารมณ์โกรธ

สีเขียว ความทรงจำที่มีอารมณ์ขยะแขยง

สีม่วง ความทรงจำที่มีอารมณ์กลัว

สีฟ้า ความทรงจำที่มีอารมณ์เศร้า

 

ในแต่ละวันที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย 4 อารมณ์พื้นฐานจะผลัดกันกดที่แผงควบคุม ทำให้ลูกแก้วความทรงจำเป็นสีต่างๆ ลูกแก้วเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้บนชั้น และเมื่อไรลีย์เข้านอน Joy จะย้ายลูกแก้วเหล่านั้นจาก

 

“ความทรงจำระยะสั้น หรือ short term memory” เข้าไปเก็บไว้ที่ “ความทรงจำระยะยาว หรือ Long term memory” ในทางจิตวิทยา

 

เรียกว่า การทำให้ข้อมูลย้ายจาก ความจำระยะสั้นไปความจำระยะยาวกระบวนการ Consolidation

 

หากอธิบายง่าย ๆ ความทรงจำระยะสั้นเป็นที่สำหรับเก็บข้อมูล ที่มีพื้นที่จำกัดและอยู่ได้ชั่วคราว ความทรงจำระยะยาวเป็นที่สำหรับเก็บข้อมูล ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และอยู่ได้ตลอดไป

 

นอกจากนี้จะมีลูกแก้วที่เรียกว่า Core memory หรือความทรงจำหลัก ที่เป็นประสบการณ์สำคัญในชีวิต Core memory จะสร้างบุคลิกภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนในทางจิตวิทยา

 

บุคลิกภาพ (personality) มาจากคำว่า Persona แปลว่า

 

“หน้ากากที่ใช้สวมเพื่อแสดงบทบาทในการเล่นละครกรีกโบราณ” มีความหมายครอบคลุมทั้งลักษณะภายนอกและกระบวนการภายในต่าง ๆ ของมนุษย์

 

เช่น ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรม ซึ่งมีความคงทน และเป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนและสร้างเอกลักษณ์ให้กับบุคคล 

บุคลิกภาพของไรลีย์ จะมีลักษณะเป็นเกาะต่าง ๆ ได้แก่ เกาะครอบครัว เกาะแห่งมิตรภาพ เกาะขี้เล่น เกาะแห่งความซื่อสัตย์ และเกาะฮ็อกกี้

 

ที่บ่งบอกว่าไรลีย์เป็นเด็กที่มีลักษณะ เป็นมิตร ขี้เล่น ทำให้เป็นที่รักของครอบครัวและเพื่อน ๆ มีความซื่อสัตย์ ไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

 

และชอบเล่นฮ็อกกี้เป็นชีวิตจิตใจ ผู้สร้างทำให้เห็นว่า เกาะเหล่านี้ถูกพังและสร้างใหม่ได้ นั่นหมายความว่า บุคลิกภาพ

 

ถึงแม้จะเป็นลักษณะที่คงทน แต่ไม่ใช่ลักษณะที่ถาวร บุคลิกภาพสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามประสบการณ์ที่พบเจอในชีวิต

 

ในช่วงที่ทุกอารมณ์พื้นฐานเตรียมรับมือกับการไปโรงเรียนวันแรกของไรลีย์ จอยแบ่งหน้าที่ให้ Anger Disgust และ Fear อย่างขยันขันแข็ง

 

แต่สำหรับ Sadness จอยใช้ชอล์กสีขาวขีดที่พื้นเป็นรูปวงกลม แล้วบอก Sadness ว่า ให้อยู่ในวง เก็บอารมณ์เศร้าไว้ในนี้ ในสังคมที่การแสดงออกอารมณ์เศร้าเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไหร่

 

เช่น หากมีวันที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ ทำงานพลาดแล้วถูกเจ้านายต่อว่า ระหว่างนั่งรถไฟฟ้ากลับบ้านที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย คงไม่มีใครร้องไห้ออกมาตรงนั้น ยิ่งไปกว่านั้น

 

ถึงแม้จะอยู่คนเดียวหลายคนอาจไม่อนุญาตให้ตัวเองได้ร้องไห้เลยด้วยซ้ำ กรอบความคิดที่ว่า ร้องไห้เท่ากับอ่อนแอ ทำให้หลายคนคิดว่าไม่ควรทำ

 

ในความเป็นจริงแล้วการปล่อยให้ตัวเองเศร้า การปล่อยให้ตัวเองร้องไห้ เป็นแนวทางของการการระบายออกที่ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตมาก ๆ

 

เพราะเวลาที่ร้องไห้ ร่างกายจะหลั่งสารที่ชื่อว่า ออซิโทซินและเอนดรอฟินออกมา นอกจากนี้สารต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดจะหลั่งออกไปพร้อมน้ำตาอีกด้วย แน่นอนว่าการร้องไห้จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น

 

หลังจากที่ไรลีย์ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ความสับสนที่เกิดขึ้นทำให้ศูนย์บัญชาการเกิดความวุ่นวาย Joy และ Sadness ถูกดูดไปยังที่ความทรงจำระยะยาว หรือ Long term memory อย่างไม่ตั้งใจ

 

ทำให้ทั้งสองพยายามหาทางกลับ เพราะรู้ดีว่า หากขาด Joy ไปจากศูนย์บัญชาการ ไรลีย์จะไม่สามารถมีความสุขได้

 

ระหว่างทางคำพูดหนึ่งของ Sadness ที่บอกจอยว่า การร้องไห้ช่วยให้ฉันเย็นลงและไม่หมกมุ่นกับปัญหาชีวิตจนเกินไป Sadness ตั้งคำถามว่า

 

นี่เราจะต้องยุ่งกับคนอื่น ต้องทำอะไรตลอดเวลา จริง ๆ ใช่ไหม บางทีการที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวของชีวิตคนอื่น

 

บวกกับการที่ทุกอย่างเกิดขึ้นรอบตัวตลอดเวลา ทำให้คิดไปแบบนั้น ทั้งที่จริง ๆ การให้เวลาตัวเองได้อยู่นิ่ง ๆ กับตัวเอง ไม่เป็นเรื่องผิดอะไร

ตัวละครทั้ง 5 คิดว่าการที่จอยพยายามทำให้ไรลีย์มีความสุขอยู่เสมอเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ แต่ในอีกมุม นั่นหมายความว่าไรลีย์จะไม่มีโอกาสได้เปิดรับและเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ไม่ดีเลย

 

การพยายามคิดบวกจนเกินไป มองว่าบางครั้งเหมือนเป็นการปลอบใจตัวเองไปอย่างนั้น ไม่ได้ช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นได้ในทุกสถานการณ์ การยอมรับให้อารมณ์อื่นเข้ามามีบทบาท อาจส่งผลดีได้ 

ตัวละครอื่น ๆ ที่ช่วยให้เห็นภาพการทำงานภายในสมองและจิตใจของมนุษย์

ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในเรื่อง คือ ปิ๊งป่อง เป็นตัวแทนของเพื่อนในจินตนาการ (Imaginary friend) ในทางจิตวิทยา

 

อ้างอิงจากบทความของ Eileen Kennedy-Moore นักจิตวิทยาคลินิก เด็กส่วนใหญ่มักจะเล่นกับตุ๊กตาเหมือนกับตุ๊กตามีชีวิต

 

จากการศึกษาของ มาจอรี่ เทย์เลอร์ พบว่า 37 เปอร์เซ็นของเด็กอาจไปไกลกว่านั้น คือสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาเลย ซึ่งเพื่อนจินตนาการมีได้หลากหลายรูปแบบ อาจเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีอยู่จริง

 

ในเรื่อง ปิ๊งป่องเองก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีอยู่จริง เป็นส่วนผสมของช้าง แมว ปลาโลมา และมีลำตัวเป็นสายไหมสีชมพู ปิ๊งป่องเป็นเพื่อนในจินตนาการของไรลีย์

 

ที่ทำสัญญาระหว่างกันไว้ว่าจะไปดวงจันทร์ด้วยกัน เด็กที่มีเพื่อนในจินตนาการมักจะอธิบายได้ว่า เพื่อนมีลักษณะอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร

 

ซึ่งเพื่อนในจินตนาการจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้เป็นปี ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ใช่เด็กเท่านั้นที่สร้างเพื่อนในจินตนาการได้ ผู้ใหญ่ที่มีทักษะในการเข้าสังคมและมีความคิดสร้างสรรค์อาจสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาได้ เช่นกัน

กองถ่ายความฝัน

ผู้สร้างสะท้อนกระบวนการเกิดความฝันออกมาเป็น กองถ่ายความฝัน ที่มีตัวละครน้อยใหญ่ รูปร่างหน้าตาหลากหลาย แสดงละครและถ่ายทำ ภาพที่ฉายจะเป็นภาพที่ไรลีย์เห็นในความฝัน 

พนักงานเก็บกวาดความทรงจำที่เลือนราง

พนักงานเก็บกวาดความทรงจำ ทำให้เห็นถึงกระบวนการภายในที่เรียกว่า “การลืม” อะไรก็ตามที่ตกลงไปจะหายไปตลอดกาล มีฉากที่จอยพยายามห้ามไม่ให้ดูดลูกแก้วสีเทาไปทิ้ง

 

ตัวละครเหล่านั้นบอกกับจอยว่า  เวลาที่ไรลีย์ไม่ได้ใส่ใจสิ่งนั้นอีกต่อไปแล้ว สีของลูกแก้วจะจางลง

 

ซึ่งในทางจิตวิทยา เวลา มีบทบาทและอิทธิพลต่อความจำ หากข้อมูลต่างๆ ไม่ได้ถูกนึกถึง ทบทวน นำมาใช้ประโยชน์ สุดท้ายแล้วข้อมูลเหล่านั้นจะถูกลืมไป

ข้อคิด

1. ทุกอารมณ์ต่างมีความสำคัญกับชีวิตในแง่ที่แตกต่างกันไป อยากสนับสนุนให้เปิดใจยอมรับกระบวนการภายในที่เกิดขึ้นดู

2. ในวันที่เจอเรื่องทำร้ายหัวใจ การคิดบวกนั้นดี ทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง แต่การอนุญาตให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกทางลบ การอนุญาตให้ตัวเองได้ร้องไห้ ก็สำคัญไม่แพ้กัน 

3. เมื่อมีปัญหา เมื่อมีอารมณ์ทางลบ การขอความช่วยเหลือ ขอกำลังใจ จากคนรอบข้างไม่ใช่เรื่องผิด ความเศร้าอาจทำให้รู้ว่ามีใครบ้างในชีวิตที่จริงใจ ที่รัก และพร้อมอยู่เคียงข้างกันในวันที่ดีและวันที่แย่