ชอบใส่อารมณ์

อยู่กับคน ชอบใส่อารมณ์ กับคนใกล้ตัว รับมืออย่างไรดี

เรื่องAdminAlljitblog

อยู่กับคน ชอบใส่อารมณ์ กับคนใกล้ตัว รับมืออย่างไรดี? การที่เราจะเป็นมิตรกับคนที่หงุดหงิดง่าย ขี้โมโหอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ความท้าทายอยู่ตรงที่เราจะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเราซึมเศร้าความหงุดหงิดและขี้โมโหง่ายตรงนั้น จนกลายมาเป็นนิสัยของเรา 

 

บทความนี้ Alljit Podcast X รัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ 

อารมณ์หงุดหงิด โกรธ ขี้โมโห เป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์เรา ที่เกิดขึ้นเพราะว่าตัวเราเองมีบางอย่างเข้ามาคุกคาม ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเรากำลังเสียผลประโยชน์บางอย่างไป

 

สัญชาตญาณของตัวเราเองจะเริ่มทำงาน เเล้วสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ “ความโกรธ”

 

อารมณ์เหล่านี้จะพลุกพล่านได้ง่ายในเวลาที่เรารู้สึกว่าอะไรบางอย่างมันเข้ามาเเล้วเรารู้สึกไม่ปลอดภัยกับมัน ซึ่งพอเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

 

ก็จะมีทั้ง “คนที่สามารถควบคุมตัวเองได้” กับ “คนที่สามารถควบคุมตัวเองได้ด้วยการเอาอารมณ์ไปลงที่คนรอบข้าง”

 

ซึ่งมันคงไม่แฟร์สำหรับคนที่รู้สึกว่า เขายังไม่ได้ทำอะไรเลยเเล้วเพราะอะไรต้องเอาอารมณ์มาลงที่เขาด้วย?

 

การอยู่กับคนที่อารมณ์ไม่คงที่ เหวี่ยงง่าย ขี้วีนอยู่ตลอดเวลา บางทีก็เข้ามากระทบกับความรู้สึกของเราทำให้สุขภาพจิตแย่ มันเหมือนเราอยู่กับระเบิดเวลาที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะมาระเบิดที่เรา

 

เหมือนเราต้องรู้สึกกังวล หวาดระเเวงตลอดเวลาว่า วันนี้ฉันจะโดนอีกหรือเปล่า? ฉันจะเจอกับอารมณ์ขี้โมโหนั้นอีกเมื่อไหร่? เวลาเจอแบบนี้บ่อย ๆ เข้ามันก็จะกระทบกับจิตใจและแน่นอนว่ามันกระทบกับความสัมพันธ์ด้วยอย่างแน่นอน

วิธีรับมือกับคนใกล้ตัวที่ ชอบใส่อารมณ์ และโมโหง่าย 

1.นิ่งไว้ก่อน

การนิ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนิ่งเพื่อรอการตอบโต้ แต่มันหมายถึงเรากำลังคุมอารมณ์ของตัวเองได้ด้วย กฏแรกของการรับมือกับคนที่มีอารมณ์ขี้หงุดหงิด โมโหง่ายคือเราต้องเอาความนิ่งเข้าสู้

 

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารับมือกับเขาด้วยความนิ่ง แปลว่า ตัวเรากำลังให้ตัวเราเองเป็นคนที่มีเหตุและผลมากกว่าเขา เราต้องรักษาความสงบในจิตใจของตัวเราเองให้ได้

 

ยิ่งเรานิ่งนานเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีโอกาสรับมือกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีมากขึ้น

 

เพราะตัวเราเองรู้ว่า ตัวเองกำลังจะมีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้น และจะทำให้เราลดความขุ่นเคืองที่มีในจิตใจ ก่อนที่จะพูดอะไรออกไปลองอยู่กับตัวเอง “นับ 1-10 ในใจ หายใจเข้า-ออกช้า ๆ” ตัวเราเองก็จะสงบลง ผ่อนคลายลง

 

ความหงุดหงิดในจิตใจเราก็จะลดลงมา การคุยกับคนเหล่านั้นก็จะง่ายมากขึ้น

2.ลองมองหาสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความหงุดหงิดนั้น

ลองมองว่าการที่เขาเเสดงพฤติกรรมเหล่านั้น มันอาจจะมีบางอย่างซ่อนอยู่หลังพฤติกรรมนั้น การใส่อารมณ์ การโมโหร้ายใส่เรา มันคงมีบางอย่างซ่อนอยู่ เช่น การที่เขาเหวี่ยงวีน แสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมา มันอาจจะมีสาเหตุอื่น ๆ

 

เขาอาจจะพึ่งโดนกดดันจากงานมาหรืออาจจะเจอกับจราจรที่มันน่าหงุดหงิดมา หรือถ้าเขาเป็นคนที่ใกล้ชิดเรามาก ๆ เราอาจจะมองให้ลึกลงไปว่า นั่นคือพฤติกรรมและบุคลิกของเขาที่ขาดการควบคุมอารมณ์หรือควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ต่ำ

 

ถ้าเรามองเห็นตรงนี้เเล้ว เราก็จะเข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น

3.ค่อย ๆ พาตัวเองออกมาจากตรงนั้น

ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเรากำลังจะปะทุกับเหตุการณ์ตรงนั้น ให้เราลองพาตัวเองออกมา ค่อย ๆ หายแว๊บออกมาก่อน การที่เราทำแบบนี้ มันเเสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะมากกว่าคนที่อยู่ตรงนั้น การที่เราออกมาไม่ได้หมายความเรายอมแพ้ให้เขาเป็นคนชนะ

 

แต่หมายถึงการที่เราควบคุมตัวเองได้ดีกว่า และเพื่อให้เขาได้อยู่กับตัวเอง เพราะทุกคนมีหน้าที่จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ถ้าเขามีอารมณ์หงุดหงิด โมโห อยากจะเหวี่ยง อยากจะวีน

 

ก็ปล่อยเขาไว้ตรงนั้น ตัวเราเองก็เดินออกมา ทำอะไรที่เราอยากจะทำ

4.สะท้อนให้เขาเห็นถึงพฤติกรรมของเขา

หลังจากที่เราได้ปล่อยให้เขาได้อยู่กับตัวเอง ถ้าเขาสงบลงแล้ว ลองสะท้อนให้เขาเห็นถึงพฤติกรรมด้วย แต่การที่เราจะมีการคุยกันให้มีเหตุมีผลต้องไม่อยู่ในสภาวะที่มีอารมณ์ร่วมหรือการที่เขากำลังอยู่ในภาวะอารมณ์โกรธ โมโห

 

เราอาจจะต้องให้พื้นที่และเวลาทั้งเขาและเราในการปรับสภาวะอารมณ์ก่อน การที่เราเอาอารมณ์กับอารมณ์มาต่อยอดกันไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ลองโฟกัสที่พฤติกรรมของเขาว่ามันกระทบต่อความสัมพันธ์ของเราอย่างไร

5.ลองทำข้อตกลงกัน

เวลาที่เขาเอาอารมณ์มาลงที่เรา ก็มักจะทำให้เราอารมณ์ฉุนเฉียวตาม เพราะฉะนั้นลองทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของเขาว่ามันเป็นอย่างไร เช่น เขาเสียงดัง พูดคำหยาบ

 

เราก็ต้องบอกกับเขาไปตรง ๆ และลองทำข้อตกลงกันให้ชัดเจนว่าเวลาที่เขาอารมณ์ร้อน ให้แยกกันก่อน

 

เพราะการที่เราจะควบคุมอารมณ์โกรธ โมโหของตัวเองได้ เราต้องรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองก่อน การที่เขาชอบเหวี่ยง ชอบใส่อารมณ์ แปลว่าตัวเขาเองไม่สามารถที่จะรู้มันอารมณ์ของตัวเองได้เลย

 

เพราะฉะนั้น เราอาจจะต้องเป็นกระจกสะท้อนให้กับเขา

6.ไม่ตอบโต้ด้วยความหยาบคาย

ตอบกลับด้วยความสุภาพ ถ้าเราต้องคุยกับคนที่หยาบคาย ฉุนเฉียว เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่น่าคุยเอาซะเลย ก็เช่นเดียวกันการที่เราตอบโต้กลับด้วยความฉุนเฉียว ใช้คำที่ไม่สุภาพก็อาจจะทำให้สถานการณ์ตรงนั้นแย่ลงกว่าเดิม

 

การที่เราตอบโต้ด้วยความสุภาพ สงบ และใช้สติ ก็จะทำให้ตัวเขาเองได้ค่อยๆคิดตามและสงบตามไปด้วย 

7.มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความสามารถเฉพาะตัว

เพราะเรื่องการจัดการอารมณ์ของตัวเองเป็นเรื่องของความสามารถเฉพาะตัว การที่เขาเอาอารมณ์มาลงที่เราก็อาจจะหมายความได้ว่า เขามีความสามารถในการจัดการอารมณ์ที่ต่ำมาก ๆ

 

และเขาอาจจะไม่มีสัญญาณเตือนกับตัวเองว่าเขากำลังจะโมโหหรือโกรธ

 

ลองหาจังหวะดี ๆ บอกกับเขาว่าเวลาเขาโมโหเขาเป็นอย่างไร แต่เน้นย้ำคือต้องพูดในจังหวะที่เหมาะสมและแน่นอนว่าต้องสุภาพ

Related Posts