Gaslighting

ถูกปั่นให้เป็นคนผิด ผลกระทบจาก Gaslighting

เรื่องAdminAlljitblog

“ฉันไม่ได้พูดแบบนั้น คิดไปเองหรือเปล่า”

“เพราะเธอคิดเล็กคิดน้อย เราถึงทะเลาะกัน”

“เรื่องจะไม่เป็นแบบนี้ ถ้าเธอไม่…”

“ที่ฉันต้องพูดโกหก เพราะเธอนั่นแหละ”

 

เคยรู้สึกว่ามีใครคนหนึ่งทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกสับสนหรือเปล่า? ถูกปั่นให้เป็นคนผิด เมื่อ Gaslighting เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ 

 

1. Gaslighting คืออะไร

สารบัญ

ทำความรู้จักกับ “Gaslighing” การปั่นหัวให้รู้สึกผิด

Gaslighting คือ การปั่นหัวให้อีกฝ่ายในความสัมพันธ์สับสนกับการรับรู้และความเป็นจริง เพื่อให้สามารถควบคุมบงการอีกฝ่ายได้

 

เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว คนรัก เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือ หัวหน้าลูกน้อง ที่ใช้ความรุนแรงทางด้านจิตใจหรือการบงการทางจิตใจ 

 

จุดประสงค์ของการ Gaslighting คือ อยากควบคุม จึงทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่า เหนือกว่า มีอำนาจมากกว่า…

 

Gaslighing แตกต่างจากการควบคุมบงการทั่วไปอย่างไร?

Gaslighting จะแตกต่างจากการควบคุมบงการทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น การควบคุมบงการทั่วไป มีการโกหกเหมือนกัน ซึ่งจะมีเหตุผลบางอย่าง เช่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า เพื่อประจบประแจง เป็นต้น

 

แต่สำหรับ Gaslighter ที่เป็นจอมปั่นหัว การโกหกนั้นจะไม่ได้มีเหตุผลอะไร แต่เขาทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ตัวเองรู้สึกถึงอำนาจที่มากกว่าเพื่อที่จะควบคุมอีกฝ่าย

 

ภาพยนตร์ Gas Light ที่มาของคำว่า Gaslighting

คำว่า Gaslighting มาจากบทละครเรื่อง Gas Light โดยแพทริค แฮมิลตัน ถูกทำเป็นหนังในปี ค.ศ. 1944 ในหนังจะพูดถึงสามีที่มีนิสัยเจ้าเล่ห์ เขาอยากได้สมบัติของภรรยา จึงพยายามทำให้เธอเสียสติ

 

เพื่อจะได้ขโมยของมีค่าที่ครอบครัวของเธอได้ซ่อนไว้ สิ่งที่เขาทำคือการหรี่ไฟตะเกียงแก๊ซในบ้านทำให้มันกระพริบจนภรรยาสงสัยและถามสามีว่าตะเกียงมันมืดลงหรือเปล่า 

 

แต่สามีได้ปฏิเสธและบอกกับภรรยาว่าเธอคิดไปเอง สามีค่อย ๆ ทำแบบนั้นไปเรื่อย ๆ จนภรรยาเกิดความสับสนและเสียสติไปจริง ๆ 

 

“Gaslighter” จอมปั่นหัว คนร้ายในความสัมพันธ์

Gaslighting คือ “จอมปั่นหัว”  เขาจะรู้ว่าการสร้างความสับสนจะทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอลง เลยมีพฤติกรรมที่ชอบปฏิเสธว่าตัวเองไม่ได้พูดหรือทำบางอย่าง แม้จะมีหลักฐานยืนยัน

 

“Gaslighting Victim” เหยื่อในความสัมพันธ์

Gaslighting victim คือ ผู้ถูกกระทำ เป็นคนที่ถูกหลอก ถูกบงการ เหยื่อจะเป็นฝ่ายที่หลงเชื่อจะถูกหลอกจนเกิดความสับสนได้ ต้องมีความไว้ใจฝ่ายที่บงการในระดับหนึ่ง 

 

คนที่ถูก Gaslight จะมีอาการสงสัยในตัวเองหรือมีปัญหาในการตัดสินใจ  พอรู้สึกไม่มั่นใจในตนเองจะเริ่มคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด ไม่มีความสุข ทุกข์ทรมาน

 

 

 

 

2. รู้จักกับ 4 รูปแบบของการปั่นหัว (Gaslighting) 

Gaslighting ในความสัมพันธ์มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นวิธีบงการอย่างหนึ่ง โดยการทำให้อีกฝ่ายสับสนกับ ความเป็นจริง ความจำ หรือ การรับรู้ ของตัวเอง เช่น

โกหกหลอกหลวง “The Straight Up Lie”

เพื่อซ่อนการกระทำที่ผิดของตัวเอง เช่น โกหกไม่ให้รู้ความจริงว่า เขาไปไหนทำอะไรกับใคร 

‘ฉันไม่ได้พูดแบบนั้น คิดไปเองหรือเปล่า’ 

 

กล่าวหาโยนความผิด “Scapegoating”

ทำให้อีกฝ่ายกลายเป็นแพะรับบาป เช่น เพราะเธอคิดมาก พวกเราถึงต้องทะเลาะกัน

‘เพราะเธอคิดเล็กคิดน้อย เราถึงทะเลาะกัน’ 

 

บีบบีงคับขู่เข็ญ “Coercion”

มีหลายแบบ เช่น การให้ความรักความอบอุ่น เพื่อให้อีกฝ่ายยอมเชื่อ , การใช้ความรุนแรง บีบบังคับโดยตรง 

 

โน้มน้าวให้สับสนกับความจริง “Reality Manipulation”

ทำให้สับสนกับการรับรู้และความทรงจำของตัวเอง เช่น บอกว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เธอจำผิดแล้ว

 

 

 

3.คุณจะเจอ Gaslighting ในความสัมพันธ์แบบไหนบ้าง?

เมื่อคุณทำความเข้าใจในความหมายของ Gaslighting และรูปแบบของ Gaslighting แล้ว คุณคงกำลังเริ่มสงสัยว่าตอนนี้คุณกำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่คนรอบตัวไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน แฟน และแม้กระทั่งตัวคุณเอง กำลัง Gaslight คุณอยู่หรือเปล่า

จอมปั่นหัวที่มาในรูปแบบคนในครอบครัว

คุณถูก “บงการ” โดยครอบครัวอยู่หรือเปล่า?

ความรักของครอบครัวคือความรักที่บริสุทธิ์ไร้เงื่อนไขใด ๆ แต่หากสิ่งที่กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงคำที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับคุณ กลับกันคุณรู้สึกเหมือนครอบครัวกำลังสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ ในการที่คุณจะตัดสินใจ ไม่ว่าจะเรื่อง การเรียน การงาน รวมถึงการใช้ชีวิต 

จอมปั่นหัวที่มาในรูปแบบเพื่อนร่วมงาน

โดน “ปั่นหัว” ในที่ทำงาน ทำเท่าไหร่ก็ไม่ถูกใจเสียที

เคยรู้สึกว่างานถูกต้องแต่ยังดีไม่พอไหม? เสนองานไปเท่าไหร่ทั้งหัวหน้า เพื่อนร่วมงานก็มองว่าไม่ดีพอสักที  จนเกิดความรู้สึกว่าคุณยังดีไม่พอไม่เหมาะกับงานที่ทำอยู่ความมั่นใจที่มีเริ่มลดหายไปทุกที การโดน Gaslighting สามารถทำให้เกิดการ Burnout ในที่ทำงานได้เหมือนกัน

จอมปั่นหัวที่มาในรูปแบบเพื่อน

รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน เป็นเพราะตัวเองหรือเพื่อนกำลัง Gaslight ทำไมเวลาอยู่กับกลุ่มเพื่อนแล้วรู้สึกหวาดระแวง กลัวทำอะไรไม่ถูกใจเพื่อนตลอดเวลา เป็นเพราะคุณเองดีไม่พอ หรือคุณกำลังโดนพฤติกรรม ปั่นหัว จากเพื่อนของคุณ

จอมปั่นหัวที่มาในรูปแบบคนรัก

เมื่อเเฟนทำให้คุณรู้สึกเป็น “เหยื่อ” ในความสัมพันธ์ จับได้ว่าแฟนโกหก แต่โดนโบ้ยว่าเป็นเพราะคุณแฟนถึงโกหก, ไม่มีอะไรสักหน่อย อย่าคิดมากเลยทั้งๆ ที่รู้ความจริงอยู่แล้ว หากคุณกำลังโดนกระทำแบบนี้แปลว่าความสัมพันธ์ในรูปแบบแฟนกำลัง Gaslighting คุณอยู่

เมื่อเรากำลัง “Self-Gaslighting”

คือ การทำให้ตัวเองสับสน ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของการเก็บกดความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ทางลบ  เช่น มีปัญหาบางอย่างที่ทำให้เครียด แต่บอกตัวเองว่า ‘เพราะฉันอ่อนไหวเกินไป’ 

จนรู้สึกสับสนในความรู้สึกตัวเองต่อสิ่งที่ต้องเจอ จากที่เคยมั่นใจในตัวเองแต่ในวันนี้ไม่เหมือนเดิม มีความคิดว่าบางเรื่องที่กำลังเจอเป็นเพราะตัวของคุณเอง

 

 

4.สาเหตุที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์แบบ Gaslighting

จุดเริ่มต้นของการเป็น “จอมปั่นหัว”

  • เกิดจากการเลี้ยงดูจากคนในครอบครัว
  • เกิดจากกลุ่มคนที่มีแนวโน้มหลงตัวเอง (Nacissistic)
  • เกิดจากการกลัวสังคม (Antisocial Personality Disorder)
  • ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder) 

ทำไมบางคนถึงยอมตกเป็น “เหยื่อ” ในความสัมพันธ์

  • ยอมเป็นเหยื่อ เพราะขาดการมองเห็นคุณค่าในตัวเอง (Low Self-Esteem) 
  • การเป็นคนที่ชอบพึ่งพาคนอื่น (Codependent) ทำให้เรายอมเป็นเหยื่อ

 

 

 

5.ผลกระทบของ Gaslighting

ผลกระทบต่อเหยื่อ

ฝ่ายถูกกระทำมักจะเชื่อหรือยอมตาม แต่การปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองคิดหรือรู้สึก มีแต่จะทำให้สิ่งลบ ๆ ภายในจิตใจทำร้ายไปเรื่อย ๆ ยกตัวอย่าง เช่น เศร้า แล้วโดน Gaslighter บอกว่า ‘เศร้าทำไม ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรเลย’

 

อาจทำให้เราคิดว่า ‘เราผิดที่เศร้า งั้นเราต้องไม่เศร้า’ กลายเป็นว่า ปัญหา ความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ทางลบ ไม่ได้ถูกยอมรับและจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นโรคทางอารมณ์ได้  

  • ความวิตกกังวล Anxiety  เกิดการคำถามกับตัวเองเสมอว่า สิ่งที่ฉันทำลงไปมันถูกต้องไหมนะ? 
  • ภาวะซึมเศร้า Depression ถูกกดดัน ถูกควบคุม ถูกต่อว่าอยู่บ่อยครั้ง จนสูญเสียความเป็นตัวเอง จนความเศร้าเข้ามาแทนที่
  • ความสัมพันธ์ แยกตัวออกจากสังคม Social Isolation ก็ในเมื่อทำอะไรก็ผิด จะมีหน้าออกไปเจอผู้คนได้อย่างไร 
  • ขาดความมั่นใจในตนเอง Low self-esteem 
  • สงสัยในตนเอง Self Doubt  เวลาไหนที่ฉันเชื่อตัวเองได้บ้าง  ฉันเชื่อตัวเองได้หรือเปล่า   

เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ(Toxic Relationship)

Gaslighting ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำลายบรรยากาศระหว่างกัน นำไปสู่ความทุกข์ ความเจ็บปวดทางจิตใจ ซึ่งจะทำให้สุขภาพกายและจิตแย่ลง

  • Love Hate Relationship ทั้งรักทั้งเกลียด 
  • Insecurity in Relationship ความรักที่ไม่มั่นคงต่อใจ  

 

 

 

6.ความสัมพันธ์จะเป็นยังไงถ้า…

“จอมปั่นหัว” เจอกับ “เหยื่อ”

เมื่อคุณเป็นคนนอกเกมส์นี้ คงมองไม่ออกหรอก ว่าเหยื่อ ต้องพบเจออะไรจากจอมปั่นหัวบ้าง? คุณคิดว่าอย่างไร? 

 

“จอมปั่นหัว” เจอกับ “จอมปั่นหัว”

ทุกคนคงคิดว่า จอมปั่นหัว เจอกับ เหยื่อ, คนร้ายต้องเจอกับ เหยื่อเท่านั้น แต่ถ้าในวันหนึ่ง “จอมปั่นหัว” ต้องเจอกับ “จอมปั่นหัว” จิตนาการกันดีไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้น และ คุณคิดว่าจะมีผู้ชนะในเกมส์นี้กี่คน? 

 

 

 

7.เช็คด่วน.. คุณกำลังตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอยู่หรือเปล่า?

ความสัมพันธ์แบบ “Gaslighting”

  • เขาโยนความผิดตลอด ทำให้เรารู้สึกสับสนในตัวเอง
  • เขาพูดจาทำให้เรารู้สึกขาดความมั่นใจตัวเอง (ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ไม่สวยพอ)
  • เวลาทำอะไรลงไปก็รู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดไปหมด  

ความสัมพันธ์ที่ดี (Healthy Relationship)

  • รับฟังซึ่งกันและกัน
  • มีความเข้าใจและให้อภัย เมื่อบุคคลหนึ่งทำผิด
  • มีความเป็นตัวของตัวเอง
  • สนับสนุนกันไปในทางที่ดี
  • แสดงความขอบคุณซึ่งกันและกัน
  • มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
  • พยายามส่งเสริมกันและกัน

 

 

 

8.วิธีการรับมือเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ที่มี Gaslighting

วิธีแก้ไขหากคุณเองกำลังเป็น “จอมปั่นหัว”

1. เอาใจเขามาใส่ใจเรา

แต่ถ้าในมุมที่เป็น Gaslighter ซะเอง ถ้ารู้ตัวให้รีบหยุด ก่อนที่ความสัมพันธ์จะพังลงจริง ๆ เอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ  

2. สำรวจตัวเอง

การสำรวจตัวเอง ทุกการกระทำมีที่มา อย่างที่บอกไปว่าจอมปั่นหัว ส่วนใหญ่จะทำเพราะอยากควบคุมอีกฝ่าย นั่นเป็นเพราะในบริบทอื่น อาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ตัวเองไม่เก่งพอ

 

ที่จะควบคุมเรื่องอื่น ๆ หรือคนอื่น ๆ  ในชีวิตหรือเปล่า การสำรวจตัวเอง อาจทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับตัวเองมากขึ้น ได้เผชิญหน้าและจัดการกับสิ่งที่คั่งค้างอยู่ในจิตใจเราได้ 

 

วิธีรับมือหากเจอกับ “จอมปั่นหัว” ในความสัมพันธ์

1. การตั้งสติ

ตั้งสติและพยายามดูว่าตอนนี้ปัญหาของคุณและอีกฝ่ายคืออะไร อย่าเพิ่งเชื่อหรือไหลตามคำพูดของอีกฝ่าย 

 

2. เชื่อมั่นในตัวเอง 

การเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เพราะ Gaslighting จะทำให้รู้สึกผิด สับสน และ ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นหรือรู้สึกอยู่ ทำให้ความมั่นคงทางจิตใจลดลง

 

3. ทบทวนตนเองเพื่อหาจุดยืน

Gaslighting จะทำให้เราตั้งคำถามลบ ๆ ต่อตัวเอง การทบทวนตัวเอง เพื่อหาจุดยืน และเพิ่มความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึกจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

4. เว้นระยะห่างจากจอมปั่นหัว (Gaslighter)

การด่าทอหรือเกลียดชังกันนั้นไม่มีประโยชน์ ลองเว้นระยะห่าง เพื่อให้เวลาตัวเองได้แยกแยะระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกที่ Gaslighter สร้างขึ้นมา

 

 

 

9.คำศัพท์ทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ

  • Gaslighting คือ การปั่นหัวให้อีกฝ่ายในความสัมพันธ์สับสนกับการรับรู้และความเป็นจริง เพื่อให้สามารถควบคุมบงการอีกฝ่ายได้
  • Gaslighter คือ ผู้กระทำ เป็นจอมปั่นหัวให้อีกฝ่ายสับสน
  • Gaslighting victim คือ ผู้ถูกกระทำ เป็นคนที่ถูกหลอก ถูกบงการ 
  • The Straight Up Lie  คือ  โกหกหลอกลวง
  • Scapegoating คือ กล่าวหาโยนความผิด
  • Coercion คือ บีบบังคับขู่เข็ญ
  • Reality Manipulation คือ โน้มน้าวให้สับสนกับความเป็นจริง
  • Burnout คือ หมดไฟในการทำงาน
  • Self-Gaslighting คือ การทำให้ตัวเองสับสน เช่น การกดอารมณ์ทางลบ