PMS

หงุดหงิดแบบไม่รู้ตัวเพราะนิสัยหรือ PMS อาการก่อนมีประจำเดือน

เรื่องAdminAlljitblog

เคยรู้สึกถึงพลังงานบางอย่างในช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือเปล่ามีอารมณ์ที่อ่อนไหวง่าย เสียใจง่าย หรือหงุดหงิดง่าย เป็นช่วงเวลาที่หนักหน่วง ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่า  PMS 

PMS คืออะไร

Premenstrual Syndrome หรือเรียกย่อ ๆ ว่า PMS คืออาการก่อนมีประจำเดือน จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อาการจะเกิดก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1-2 สัปดาห์

 

จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ร่างกาย และพฤติกรรม เช่น ปวดเมื่อย ขี้เหวี่ยง ขี้วีน ขี้หงุดหงิดแบบไม่มีสาเหตุ

 

ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจจะบรรเทาลงเมื่อประจำเดือนมาหรือหมด ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและเเต่ละเดือน อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงแต่ก็มีผู้หญิงบางส่วนที่มีอาการรุนแรง

 

ลองสำรวจตัวเองเกี่ยวกับอาการ PMS

ด้านอารมณ์และจิตใจ

1. โกรธง่าย ฉุนเฉียว

2. วิตกกังวล กลัวคนสำคัญไม่รัก

3. ภาวะซึมเศร้า เช่น รู้สึกไร้ค่า เศร้า หดหู่ ร้องไห้ง่าย

4. หงุดหงิดง่าย

5. ความรู้สึกท่วมท้นทางอารมณ์

6. ไวต่อการปฏิเสธ

7. ถอนตัวออกจากสังคม (Social Withdrawal)

ด้านร่างกาย

1. ปวดหัว 

2. ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น

3. เจ็บเต้านม 

4. ท้องอืด ปวดท้อง

5. ง่วงนอน ต้องการนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia)

6. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ

7. มือเท้าบวม 

ด้านพฤติกรรม

1. เหนื่อยล้า

2. ขี้ลืม

3. ไม่ค่อยมีสมาธิ

 

ปวดท้องประจำเดือน ไม่ใช่ PMS

จากบทความของแพทย์  พญ.พิชิตา ประสงค์เวช  จาก มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ อาการปวดท้องประจำเดือน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะ PMS แต่ส่วนมากจะเป็นอาการของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

 

หากปวดไม่มากสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ อาจจะรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้

 

แต่ถ้ามีอาการปวดมากจนทนไม่ได้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและสาเหตุที่ชัดเจน

 

ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เดือนเว้นเดือน สามารถพบแพทย์ได้ เพราะอาจมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนอยู่

 

เช่น ฮอร์โมนน้ำนมผิดปกติ หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ รวมถึงความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นปัจจัยได้เช่นกัน 

 

นิสัยไม่ดี หรือเพราะ PMS 

การจะตัดสินว่านิสัยดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องยากที่จะตัดสิน หากให้เลือกตัดสินเพราะเป็นประจำเดือน อยากให้ลองมองแบบระยะยาวว่าปกติเขาเป็นคนอย่างไร ถ้าปกติไม่ได้เป็นแบบนี้เลยอาจจะเป็นไปได้ว่า

 

เพราะประจำเดือนทำให้เขาเป็นแบบนี้ ถ้าหากมองแบบระยะยาว ทั้งที่ผ่านมาและหลังจากที่หมดประจำเดือนก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ อาจเป็นนิสัยส่วนตัวของเขาได้

 

แต่ไม่ว่าเขาจะไม่น่ารักเพราะประจำเดือนหรือนิสัยส่วนตัว ควรบอกเขาตามตรงเพราะบางคนเผลอ Toxic ใส่คนอื่นแบบไม่รู้ตัว

 

หรืออีกแบบคือมีอาการแบบนี้เพราะเขาเป็นประจำเดือนก็บอกเขาได้ ว่ากำลังเป็นอะไรอยู่ เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้กับเขา เขาจะได้กลับมาดูแลตัวเองให้เหมาะสมและจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ 

 

มีการระบายอารมณ์แตกต่างกันได้

บางคน PMS เลือกที่จะอยู่คนเดียว หาทางจัดการด้วยตัวเอง หาทางออกเอง บางคน PMS ระบายอารมณ์ใส่คนอื่น ในส่วนนี้หลาย ๆ คนเลยมองว่า นิสัยไม่ดี

 

พยายามรู้ให้เท่าทันตัวเองว่าเรากำลังอยู่ในอารมณ์ไหน เพื่อไม่ให้กระทบต่อคนอื่น อย่างน้อยแคร์คนรอบข้างสักนิด เพราะ PMS ไม่ใช่เหตุผลที่เราสามารถระบายอารมณ์ออกมาใส่คนอื่นได้โดยที่ไม่ผิด

 

PMS เกิดจากอะไร

ณ ปัจจุบันนักวิจัยเห็นตรงกันว่ามาจากสาเหตุของชีววิทยา 

 

มากกว่ามาจากจิตวิทยา การวิจัยไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนว่า PMS เกิดจากอะไรและนักวิจัยได้เสนอว่ามีทฤษฎีที่แตกต่างกันสองทฤษฎี

 

1. การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรของฮอร์โมน

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า PMS เกิดจากการ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน

 

ฮอร์โมนเหล่านี้มีความผันผวนธรรมชาติ ตามรอบเดือนของเรา   ในระหว่างระยะเวลาการตกไข่

 

ฮอร์โมนจะถึงจุดสูงสุดและลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดการผันผวนของฮอร์โมน อาจนำไปสู่ความวิตกกังวล ความหงุดหงิด และการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อื่น ๆ

2. การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง

สารสื่อประสาท serotonin และ norepinephrine มีหน้าที่สำคัญหลายอย่างในร่างกาย รวมทั้งช่วยควบคุมอารมณ์ อารมณ์ และพฤติกรรม สารเคมีเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยใน อาการของ PMS

 

ถ้าระดับเซโรโทนินต่ำ อาจจะทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ความต้องการกินจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าระดับเซโรโทนินสูง อาจมีอาการหนาวสั่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ท้องเสียร่วมด้วย

 

การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนเป็นประจำ ก็มีส่วนทำให้เป็น PMS และการมีความสะสมความเครียด สภาพจิตใจและร่างกายก็มีส่วน

 

และคนที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน คือ ผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 30 อาจมีแนวโน้มที่จะมีอาการก่อนเป็นประจำเดือนมากกว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักปกติประมาณ 3 เท่า

 

PMS อันตรายหรือไม่

 

PMS จะไม่อันตราย ถ้าเราดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม แต่ว่าถ้ารุนแรงผิดปกติ อาจจะเป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่าเราอาจจะเป็น PMDD 

PMS และ PMDD ต่างกันอย่างไร

PMS มักจะมีอาการที่ไม่รุนแรง แต่จะมีบางกลุ่มที่มีอาการรุนแรง 

 

เรียกว่า PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) กลุ่มอาการอารมณ์ผิดปกติก่อนมีประจำเดือนแต่จะพ่วงกับโรคซึมเศร้าได้

 

คือจะมีอาการรุนแรง เช่น  หงุดหงิดมาก โมโหร้าย หรือซึมเศร้าอย่างมาก หรืออาจจะเป็นเพราะเคยเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจ

 

PMDD  (Premenstrual Dysphoric Disorder) หรือกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน ภาวะนี้จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างเห็นได้ชัด อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอาการทางร่างกาย

 

แต่จะทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น บางคนอารมณ์อ่อนไหว แปรปรวนง่าย ซึมเศร้าอย่างมาก สิ้นหวัง ไม่อยากมีชีวิต วิตกกังวลอย่างรุนแรง ร้องไห้บ่อย โมโหร้าย อารมณ์รุนแรง

 

อาการ PMDD เป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างน้อยพบเพียง 2-10% ของผู้หญิงที่มีประจำเดือนเท่านั้น 

 

สาเหตุของ PMDD คืออะไร

สาเหตุอาจจะมาจากเรื่องของฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงรอบเดือน กรรมพันธุ์ ความเครียด เหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต ความเครียด ความวิตกกังวลต่าง ๆ ซึ่งล้วนมีส่วนทำให้เกิดอาการเหล่านี้

 

อย่าพึ่งตัดสินว่าเรามีอาการเป็น PMDD ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์เท่านั้น แต่เบื้องต้นเราก็ต้องสังเกตุอาการเราอยู่เสมอหากกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

เลือกพบจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเพื่อรักษาอาการตามที่แพทย์เห็นสมควร

 

วิธีจัดการอาการ PMS 

จากบทความของ MAYOCLINIC  บอกไว้ว่า  PMS สามารถจัดการหรือลดอาการก่อนมีประจำเดือนได้โดยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เช่น การกิน การออกกำลังกาย และชีวิตประจำวัน 

1. ปรับเปลี่ยนการกิน ไดเอท

2. แทรกการออกกำลังกายเข้ามาในชีวิตประจำวัน

3. ลดความตึงเครียด

4. บันทึกอาการของเราหลังจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสัก 2-3 เดือน ลองจดบันทึกในทุกๆเดือนหลังจากที่เราได้ลองทำว่าดีขึ้นไหม  

5. ในกรณีที่จำเป็น ผู้หญิงที่ทรมานจากอาการไม่สบายช่วงก่อนมีประจำเดือนควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม

 

รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญ แม้เป็นเรื่องที่มองว่าค่อนข้างปกติ ถ้าเราจะมีอารมณ์ที่อ่อนไหว หวั่นไหวง่ายในช่วงเป็นประจำเดือน

 

แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องรู้ว่าที่เป็นแบบนี้คือเพราะอะไร แล้วพยายามไม่ปล่อยให้มีผลกระทบรุนแรงดีกว่า

 

ที่มา :

hellokhunmor.com

 

www.mayoclinic.org

 

sis-treatment/drc

 

healthline-com

 

tu.ac.th/thammasat-130764-med-expert-talk-relieve-premenstrual-syndrome