hikikomori

Hikikomori ชอบอยู่คนเดียวหรือโลกภายนอกไม่ได้น่าอยู่ ?

เรื่องAdminAlljitblog

Hikikomori ชอบอยู่คนเดียว ที่หมายถึงว่าชอบแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว ลองนึกภาพเรานั่งหันหลังให้ประตู แล้วพูดกับตัวเองว่า I spend every day in my room

 

 

Hikikomori

เราเก็บตัวเพราะชอบ หรือ กำลังเป็นโรคชอบเก็บตัว

ทำความรู้จักกับ Hikikomori เพื่อทำความเข้าใจคนที่เลือกใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว จะเห็นได้ว่าการแอบไปอยู่คนเดียวเงียบ ๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะสุดท้ายเเล้ว

 

เราสามารถที่จะออกมาใช้ชีวิตเผชิญกับโลกภายนอกได้เหมือนเดิม แต่ว่าบางคนไม่ได้กลับมาจากช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยว แต่กลับแสดงอาการถอนตัวอย่างรุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน

 

ทำให้เกิดความทุกข์ใจทั้งตัวเองและคนที่อยู่รอบข้าง ในญี่ปุ่น รูปแบบพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องปกติจนปัจจุบันเรียกว่า ‘ฮิคิโคโมริ’

 

‘ฮิคิโคโมริ’ เริ่มมาจากญี่ปุ่น มีอีกชื่อที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘ฮิคกี้’ โดยปรากฎการณ์ ฮิคิโคโมริ ต้องมีระยะเวลาการเป็น 6 เดือน แต่หลัง ๆ มานี้เริ่มมีรายงานเกี่ยวกับคนที่มีอาการใกล้เคียง จากประเทศอื่น ๆ

 

อย่างเกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ จุดที่น่าสนใจ คือ ประเทศที่พบเจออาการล้วนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาและการแข่งขันสูงด้านเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต การทำงาน

 

ปัญหาเกี่ยวกับการปลีกตัวออกจากสังคมอย่างรุนแรงในวัยรุ่นญี่ปุ่นได้รับความสนใจเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1990  เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นต้องเจอกับ “ยุคน้ำแข็ง” (ice age) ทางเศรษฐกิจ 

 

ทำให้เยาวชนจำนวนมากไม่สามารถทำตามเป้าหมายของตัวเองได้ หลายคนเลยเลือกที่ซ่อนตัวเพื่อปกปิดความอับอายที่พวกเขารู้สึก

 

คำว่า ฮิคิโคโมริ มาจาก ฮิกิ คือ ถอนตัว และโคโมริ คืออยู่ข้างใน บัญญัติขึ้นโดยศาสตราจารย์ทามากิ ไซโตะ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ไซโตะเลือกคำนี้เพื่ออธิบายคนหนุ่มสาวจำนวนมาก

 

ที่เขาเห็นว่าไม่เข้าเกณฑ์สำหรับการวินิจฉัยสุขภาพจิต แต่อยู่ในภาวะถอนตัวอย่างรุนแรง ฮิคิโคโมริยังเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศอื่น ๆ คำนี้ใช้กันทั่วโลกเพื่ออธิบายถึงใครก็ตามที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวแบบรุนแรง

 

อาการหลัก

  • แยกตัวอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน เก็บตัว ไม่ออกจากบ้าน บางคนอาจใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหน้าต่างสู่โลกภายนอกแต่มักจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

 

  • ตัดขาดจากความสัมพันธ์ทางสังคม ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ไม่เจอหน้าใคร

 

  • มีความทุกข์และความบกพร่องในการทำงานอย่างมาก เช่น การหลีกเลี่ยงงานที่อาจต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น 

 

สาเหตุ

จากความอับอายและบาดแผล

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการที่มีประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ที่ทำให้เกิดความอับอายและพ่ายแพ้มักเป็นตัวกระตุ้น  เช่น สอบตก ไม่ได้งานที่อยากทำ ตกงาน หรือกับช่วง covid-19

 

ที่หลายคน WFH ในช่วงนี้มีทำให้การออกมาพบเจอโลกภายนอกเป็นเรื่องยากไปเลย และการ WFH ทำให้ต้องเข้าสังคมโดยใช้อินเทอร์เน็ต ความกลัวการติดเชื้อ สูญเสียงาน

 

และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครเพิ่มความเสี่ยงในการถอนตัวออกจากสังคมและแยกตัวเองออกมา 

 

สภาพแวดล้อม

เนื่องจากปรากฎการณ์ฮิคิโคโมริมาจากประเทศญี่ปุ่นแต่ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ที่ญี่ปุ่นแต่ใครก็ได้ที่สามารถมีปรากฎการณ์ ฮิคิโคโมริ เกิดขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่มาจากความตึงเครียดสูง

 

มีการแข่งขันในด้านสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ การงาน การเรียน จริง ๆ มีหลายสาเหตุมากที่ทำให้เรากลายเป็นคนเก็บตัว สังคมขาดความเคารพกัน ไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เกิดความกดดันจากสภาพแวดล้อม

 

จากความสิ้นหวัง

ความรู้สึกสิ้นหวังและมองไม่เห็นโอกาสในอนาคต ทำให้รู้สึกว่าจะไม่สามารถทำในสิ่งที่อยากจะทำได้เลย รู้สึกตัวเองไร้ประโยชน์

 

ขาดพื้นที่ที่ปลอดภัยในทางด้านจิตใจ

เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งจะรู้สึกว่าอยากซ่อนตัวจากโลกภายนอก การที่เราหลบหรือถอนตัวออกมาในช่วงเวลาสั้น ๆ สามารถลดการตอบสนองความเครียด ลดความรู้สึกอ่อนล้าและปลอบประโลมใจ

 

ความโดดเดี่ยวสามารถช่วยพัฒนาช่วงเวลาสำคัญ ๆ ได้ เช่น การสำรวจตัวตนในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยสำหรับการตั้งคำถามว่าเราคือใคร ตัวตนอยู่ตรงไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ช่วงเวลาที่ได้อยู่คนเดียวอาจเป็นคำตอบให้ได้

 

ในหนึ่งวันต้องมีช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง สัก 15-20 นาที อย่างคนที่เป็น HSP (Highly Sensitive Person) จะไวต่อสิ่งกระตุ้นได้ง่าย การหาเวลาให้ตัวเองสำคัญมาก Key point คือ หา Down Time ให้ตัวเอง

 

เวลาส่วนตัว ที่เราจะได้อยู่กับสิ่งที่เราสบายใจ ไม่มีสิ่งเร้าเหล่านั้นมากระตุ้น ช่วง Down Time ตรงนี้ เราอาจจะคิดอะไรที่มันสร้างสรรค์ออกมาได้ และยังได้พักตัวเองอยากสิ่งกระตุ้นภายนอกเวลาที่เราเข้าสังคม เพราะสิ่งเหล่านั้นห้ามได้ยากมาก

 

ทำไมคนถึงมองว่าการทำอะไรคนเดียว แปลก?

การอยู่คนเดียวจะถูกมองว่าไม่มีเพื่อน ไม่มีใครคบ ไม่มีใครเล่นด้วย เราติดอยู่กับความคิดที่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เลยทึกทักไปว่างั้นเราต้องทำอันนู้นอันนี้เป็นกลุ่มสิ  นึกถึงรูปภาพหันหลัง การที่มันเป็นภาพที่คนหลายคนอยู่ด้วยกัน มันดีกว่าอยู่เดียว

 

เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม เรื่องค่านิยาม การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มจึงถูกมองว่าปกติ มากกว่าการอยู่คนเดียว พอเราเห็นคนกินข้าวคนเดียวเราจะเริ่มคิดว่าแบบทำไมเขามาคนเดียวนะ

 

เผลอตัดสินเขาไปตามสิ่งที่เราถูกล่อหลอมจากค่านิยมของสังคม แต่พอเราโตขึ้นเราก็จะเริ่มเข้าใจว่าไม่แปลกเลย การอยู่คนเดียวก็คือการมีความสุขในรูปแบบหนึ่งของการใช้ชีวิตเหมือนกัน

 

ชอบอยู่คนเดียวจริง ๆ หรือโลกภายนอกไม่ได้น่าอยู่

โลกภายนอกเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไม่อยากออกไปนอกบ้านเหมือนกัน สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออากาศ เสียง มลพิษต่าง ๆ เขาเลยเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่ที่เขาสบายใจ อยู่คนเดียวหาไรทำในห้อง

 

แต่เราก็ต้องลองรีเช็คตัวเองดี ๆ เหมือนกันว่าเป็นเพราะโลกภายนอกหรือเรากลัวสังคมภายนอก กลัวคนอื่นมาตัดสินเรา เราเลยเลือกอยู่คนเดียว

 

เมื่อก่อนชอบอยู่กับคนอื่นแต่ตอนนี้ชอบอยู่คนเดียว 

เกิดจากบุคลิกเปลี่ยน ช่วงวัยเปลี่ยน สิ่งเเวดล้อมเปลี่ยน ทำให้ชอบอยู่เดียว ยิ่งโตยิ่งเพื่อนน้อย หรือเจอกับเหตุการณ์สะเทือนใจ เห็นได้บ่อยจากคนรอบตัวเลยคือแต่ก่อนชอบอยู่กับเพื่อน

 

ชอบทำความรู้จักกับคนใหม่ ๆ แต่เหมือนพอเจออะไรในชีวิตมากขึ้น โตขึ้น นิ่งขึ้นเลยเลือกที่จะอยู่คนเดียวมากกว่า 

 

เก็บตัว = มีปัญหา?

ไม่เสมอไป บางคนที่ชอบเก็บตัว อยู่คนเดียวทางบวก เพราะเขาชอบที่จะเป็นแบบนั้น เพราะเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ คือ กลุ่มคน Introvert ที่รักสันโดษ ชอบอยู่คนเดียว โลกส่วนตัวสูง

 

ชอบที่อยู่กับความคิดของตัวเอง เพราะเขามีความสุขที่จะเป็นแบบนั้นและรู้สึกว่าเป็นการชาร์จพลังอย่างนึง คนเก็บตัว คนที่มีโลกส่วนตัวสูง เป็นบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง

 

เหมือนกับคนที่ชอบออกไปเสพบรรยากาศข้างนอก ชอบเที่ยว แต่เขาชอบที่จะอยู่ในห้อง หาสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขในพื้นที่ของเขา แต่ที่มองว่าเป็นปัญหาเพราะคนชอบไปโยงว่า คนเก็บตัว คนที่มีโลกส่วนตัวสูง คือคนที่มีแนวโน้มในการต่อต้านสังคม

 

ความสุขของการอยู่คนเดียว 

ใครหลาย ๆ คนคงรู้สึกว่าการไม่มีใครในชีวิตเลย มันคงรู้สึกเหงา หว่าเว้น่าดูเลย ในวันที่เราต้องอยู่คนเดียว อาจจะเป็นวันที่ต้องห่างจากครอบครัว ต้องเปลี่ยนสังคมการทำงาน

 

วันที่เราต้องอยู่ห่างเพื่อนที่เราสนิทและไว้ใจ ในวันนั้นคงเป็นวันที่เราต้องมาสร้างความสุขด้วยตัวของเราในวันที่เราไม่มีใครเหล่านั้นอยู่ด้วย… เพราะจริง ๆ การอยู่คนเดียวก็มีความสุขมากกว่าที่คิดนะ

  • โอกาสดี ๆ บางครั้งก็ต้องไปคนเดียว 
  • ได้ทำตามใจตัวเองในแบบที่เราอยากจะทำ  เพราะเวลาที่ไปกับคนอื่น เราอาจจะต้องตามใจเขาบ้างเพราะเราไปกันหลายคน เราไปคนเดียวก็เป็นแพลนของเราคนเดียว ไม่ต้องขึ้นอยู่กับใคร มันคือความสบายใจอย่างนึง ถ้าเรามีช่วงเวลาที่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองคนอื่น
  • สิ่งรอบตัวสวยงามกว่าที่คิด ถ้าเราไปคนเดียว เราจะได้มองไปรอบ ๆ ตัวในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม บางทีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะสร้างความสุขให้เราได้ เพราะบางทีการที่เราไม่ได้อยู่คนเดียว เราจะลืมมองสิ่งรอบ ๆ ตัวไปหมดเลย 
  • เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ละเอียดและรอบคอบกว่า ไอเดียจะดีถ้าได้อยู่คนเดียว
  • เราจะโฟกัสกับสิ่งรอบข้างได้ง่ายมากขึ้นด้วย 
  • ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ง่ายมากขึ้น สืบเนื่องจากข้อที่แล้วพอเราอยู่กับตัวเอง เก็บรายละเอียดของคนรอบข้าง ถ้าเราเห็นคนรอบข้างรู้สึกยังไง จะทำให้เราควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ง่ายขึ้น คุมสีหน้าได้ง่ายขึ้น
  • ไม่เปรียบเทียบชีวิตเรากับคนอื่นเท่าไหร่
  • มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ พอเราอยู่กับตัวเองมากขึ้นเราจะมีสมาธิจดจ่อได้ง่ายมากขึ้น ทั้งการดูหนัง อ่านหนังสือ 
  • ดูแลตัวเองได้มากขึ้น

 

ความทุกข์ของการอยู่คนเดียว

  • บางทีเวลาอยากทำอะไรการมีคนหารทำให้ประหยัดมากขึ้น
  • มีโมเม้นดี ๆ อยากแชร์ให้คนข้าง ๆ ฟังมากกว่าเขียนไดอารี่
  • มีสายตาแปลก ๆ เวลาทำอะไรคนเดียว
  • เหงา อยู่คนเดียวแบบเหงา ๆ (ความเหงาเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา)
  • ฟุ้งซ่าน คิดมาก นอนไม่หลับ
  • เสียความสัมพันธ์ในบางส่วน

 

การรักษา

การรักษามุ่งเน้นไปที่กิจกรรมทางกาย เพื่อสร้างความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

 

และใช้วิธีที่ค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้พวกเขากลับไปมีส่วนร่วมกับงานหรือการเรียนอีกครั้ง บางครั้งการบำบัดก็เกี่ยวข้องกับทั้งครอบครัว  

 

“หาวิธีเเสดงความสามารถและพรสวรรค์”

 

การฟื้นฟูจะเกี่ยวข้องกับการช่วยให้ชาวฮิคิโคโมริหาวิธีแสดงความสามารถและพรสวรรค์ในแบบที่สังคมยอมรับได้  เช่น ศิลปินชาวญี่ปุ่น Atsushi Watanabe

 

ใช้ศิลปะและการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยให้เขาหายจากอาการฮิคิโคโมริ จากที่เราได้พูดกันไปว่า ฮิคิโคโมริ ส่วนใหญ่จะพบในหมู่ของวัยรุ่น แต่ในวัยที่เกิน 40 อัพก็พบได้เหมือนกัน

 

วิธีที่จะดึงความรู้สึกด้านบวก คือต้องเสริมวิธีสร้างคุณค่า และเชื่อมั่นในความสามารถ การที่มีใครคนนึงเป็นปรากฎการณ์ฮิคิโคโมริไม่ว่าจะสาเหตุไหนก็ตาม อย่าคิดว่าเขาเป็นคนที่ไม่สู้กับสังคม

 

เขาเพียงแค่ขาดสิ่งที่ทำให้เขาอยากออกมาพบเจอโลกภายนอก เราควรให้กำลังใจ ทำให้เขารู้สึกถึงความสบายใจ เปิดใจฟัง และคุณค่าของคนไม่ใช่การที่ถูกตั้งไว้แบบเดิมว่าต้องเรียนจบ ต้องมีงานทำที่เงินเดือนสูง

 

อยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงคุณค่าของคน ๆ นึงในแบบใหม่ ที่ไม่ให้คุณค่านั้นไปทำร้ายใคร

 

ที่มา

understanding the people who choose to live in extreme isolation

สร้างความสุขด้วยตัวเอง