ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า

เรื่องAdminAlljitblog

ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่ “โลกซึมเศร้า”  ใครเคยได้ยินอะไรที่เป็น ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า บ้างไหม ? เช่น ซึมเศร้าคือคนอ่อนแอ ซึมเศร้าคือคนที่ชอบอยู่คนเดียว 

 

มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือเปล่า วันนี้เรามาร่วมพูดคุยกันในรายการ “โลกซึมเศร้า” กับหัวข้อ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า = บ้า ? 

คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า คนที่ไปหาจิตแพทย์ หรือเดินเข้าแผนกจิตเวช จะมีความผิกปกติ บ้า โรคจิต

 

นอกจากซึมเศร้า โรคอื่น ๆ ทางจิตเวชด้วยที่คนเข้าใจผิดเยอะเหมือนกันว่าถ้าเป็นเท่ากับบ้า ตามทฤษฎีแล้ว ไม่มีโรคหรือภาวะไหนทางจิตเวชที่ใช้คำเรียกว่า “บ้า”

 

จริง ๆ การใช้คำ ๆ นี้อาจจะกระทบกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ เราย้ำกันอยู่เสมอว่า “คนพูดไม่คิดอะไรแต่คนฟังจำไปทั้งชีวิต” มีอยู่จริง เราไม่มีทางรู้ว่าคำพูดนี้จะมีผลหรือสร้างบาดแผลในใจอะไรให้เขา 

 

โรคซึมเศร้า = อ่อนแอ ? 

บางคนอาจจะให้นิยาม “อ่อนแอ” ไปในทางลบ การยึดติดว่า “เพราะเป็นซึมเศร้าไง ถึงอ่อนแอ” หรือ “อ่อนแอ ถึงเป็นซึมเศร้า” อาจจะไม่ถูกเสมอไป เพราะ “อ่อนแอ” เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้

 

เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ว่าจะคนที่เป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ได้เป็น เราอ่อนแอได้ในช่วงที่เราเจอปัญหา เราอ่อนแอได้ในช่วงที่เราเจอกับเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ 

 

คุณวันเฉลิม นักจิตวิทยาการปรึกษา ได้บอกว่า ความรู้สึกอ่อนแอ เป็นเรื่องที่ดี  เพราะแปลว่าเรายังมีความรู้สึกอยู่ เรายังรับรู้ว่าได้ว่าตอนนี้รู้สึกยังไง และจะจัดการอย่างไร 

 

โรคซึมเศร้า = ขี้เกียจ  ? 

จากประสบการณ์ของผู้ป่วย เล่าว่า ความเข้าใจผิดนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้ว คนที่เป็นซึมเศร้า ไม่ใช่ไม่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ เพราะหมดเรี่ยวแรง

 

ในทางจิตวิทยาเบื้องต้น โรคซึมเศร้าจะทำให้หมดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ มีปัญหาการกินการนอนที่ผิดปกติ หมดเรี่ยวแรง สำหรับคนที่มีอาการมาก เขาอาจะหมดแรง แต่นั่นเป็นเพราะอาการและตัวโรค ไม่ใช่เพราะขี้เกียจ

 

โรคซึมเศร้า = เรียกร้องความสนใจ  ? 

เป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับคนที่เป็นซึมเศร้ามากเหมือนกัน ถ้าการขอความช่วยเหลือของเขา,การแสดงออกให้คนรอบข้างรู้ว่าเขาไม่ไหว เป็นการเรียกร้องความสนใจ

 

คนเรามีความสามารถในการเผชิญปัญหาไม่เหมือนกัน ที่เขาต้องการเรา เข้ามาปรึกษาเราบ่อย ๆ นั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเขาต้องการที่ระบาย ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าเรียกร้องความสนใจ

 

Introvert ชอบอยู่คนเดียว = โรคซึมเศร้า ? 

เป็นไปได้ที่คนเป็นโรคซึมเศร้าจะอยากอยู่คนเดียว  แต่การชอบอยู่คนเดียวหรือมีบุคลิกภาพ Introvert ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า 

 

ร้องไห้บ่อย ๆ = ซึมเศร้า?

ร้องไห้บ่อย ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งอาจเป็นภาวะของ  HSP (Highly Sensitive Person) กลุ่มคนที่อ่อนไหวง่าย จะร้องไห้ง่าย  และไวต่อสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแสงสีเสียง ไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกเท่านั้น

 

โรคซึมเศร้า หายได้โดยไม่ต้องหาหมอ หรือกินยา ?

ถ้ามองให้กว้างที่สุด บนโลกนี้มีคนเป็นหมื่นล้าน อาจจะมีคนที่สามารถหายได้จริง โดยไม่ต้องกินยา แต่ด้วยความที่โรคซึมเศร้า มีปัจจัยเรื่องสารเคมีในสมองที่ควบคุมไม่ได้อยู่ด้วย

 

การกินยาจึงสำคัญมากเพราะ จะช่วยปรับสารเคมีในสมอง และฮอร์โมนของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปให้สมดุล และทำงานได้ปกติ 

 

ฟังธรรมะก็หายแล้ว / ไม่คิดมากก็หายแล้ว / มีเงินก็หายแล้ว “เป็น โรคซึมเศร้า แค่เงินเข้าก็หายแล้ว” คิดอย่างไร

พระมหาไพวัลย์ กล่าวว่า “คนไทยมีมายาคติอย่างหนึ่ง คือเวลาเราเป็นอะไร เราไม่ค่อยอยากจะไปหาหมอ อย่าคิดแบบนี้นะครับ เราเป็นอะไรเราต้องยอมรับถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ปกติไม่โอเค

 

อันดับแรกต้องปรึกษาหมอ การไปพบจิตแพทย์การไปรับคำปรึกษาที่ต่างประเทศนี้เป็นเรื่องปกติมาก แต่คนไทยเพราะเวลาพูดถึงโรงพยาบาล ก็มักจะรู้สึกว่า เฮ้ย..ป่วยเป็นโน้นเป็นนี่เหรอ..

 

ไปพบจิตแพทย์ครับ ให้จิตแพทย์รักษา แล้วค่อยเอาธรรมะชุบชู มีหลายเคส คิดว่า ป่วยแล้วมาปฎิบัติธรรมจะหาย วัดเรามีแม่ชีกระโดดน้ำตาย มีพระที่เป็นลูกศิษย์ผมผูกคอตาย

 

คิดว่าป่วยแล้วมาปฎิบัติธรรมแล้วมันจะทำให้ดีขึ้น แต่พอมาเจอกฎระเบียบบางอย่างหรือเจอเพื่อนศาสนิกชนด้วยกันที่ร่าเริงแล้วเราไม่กล้าเข้าไปปรึกษา ปัญหาที่หนักที่สุดของความทุกข์

 

คือไม่ยอมปรึกษาคนอื่น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่ากัลยาณมิตรเป็นสิ่งสำคัญ มีปัญหาอะไรหาคนที่ไว้ใจได้แล้วปรึกษาครับ อย่าเก็บความทุกข์ไว้คนเดียว”

 

คำแนะนำดังกล่าวนับเป็นประโยชน์อย่างมาก จนเพจ The Doc Life เพจทางการแพทย์และสุขภาพของคุณหมอท่านหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ชื่นชมสองพระอาจารย์ ที่ให้ความรู้ในเรื่องอาการป่วยซึมเศร้าว่าโรคซึมเศร้า  

 

หลาย ๆ ครั้ง ไม่ใช่แค่ปัญหาจากภายนอก หรือเรื่องจิตใจอย่างเดียว มักเกิดจากปัญหาในเรื่องของสารสื่อประสาทในสมอง โดยมีปัจจัยภายนอกเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดความเบื่อหน่อย ท้อแท้ ไร้แรงบันดาลใจ

 

แต่ไม่มีใคร เอาชนะสารสื่อประสาทในสมองได้ ถึงแม้จะซึ้งในรสพระธรรมแค่ไหน  ถ้าสารสื่อประสาทมากหรือน้อยไป อารมณ์ก็จะมาเหนือเหตุผลของคุณเองโดยอัตโนมัติ

 

ธรรมะ คือ ความธรรมดา ความธรรมดา เป็นธรรมชาติของทุกสิ่งมีชีวิตอยู่ต่อไป รู้สึกตัวเองไร้ค่า

 

ในส่วน “แค่เงินเข้าก็หายแล้ว”  เงินทำให้ความลำบากในการใช้ชีวิตน้อยลงจริง แต่เราก็ไม่มีทางรู้ว่าการมีเงินเขาอาจจะมีปัญหาที่เขาจัดการไม่ได้เช่นกัน ความเครียด

 

ความกดดันต่าง ๆ ที่สังคมของเราทุกวันนี้ จึงมีหลายสาเหตุมากที่ทำให้เกิดความเครียดได้

 

‘เรื่องแค่นี้เองหรอ?’ ถูกตัดสิน ปัญหาที่เราเจอไม่น่าถึงกับทำให้เป็นโรคซึมเศร้า 

ทุกคนเติบโตมาต่างกัน มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจต่างกัน ทำให้เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราให้ความสำคัญกับเรื่องในชีวิตต่างกัน  จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ที่จะตัดสินใครว่า เรื่องแค่นี้ ไม่น่าถึงกับเป็นโรคซึมเศร้า

 

รู้สึกเศร้า ต้องปรึกษาหมอด้วยหรอ?

สำหรับหลาย ๆ คน การเล่าเรื่องที่ไม่สบายใจให้คนอื่นฟังเป็นเรื่องยาก เพราะ  กลัวถูกตัดสิน ฯลฯ หรือเขาอาจจะมองว่า ปัญหาและเรื่องราวของเขาเป็นความลับ การจะบอกความลับกับใครสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย

 

แต่จริง ๆ แล้ว จริยธรรมของนักจิตวิทยาและจิตแพทย์จะมีเรื่องการเก็บความลับให้อยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวการถูกตัดสินด้วย เพราะทุกคนในวิชาชีพต่างถูกเทรนด์มาให้รับฟังและทำความเข้าใจปัญหาของคน ๆ นั้นอยู่แล้ว

 

อยากฝากไว้จากใจคนเรียนจิตวิทยาว่า แค่ไม่สบายใจแล้วจัดการตัวเองไม่ได้ก็ปรึกษานักวิชาชีพได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติ เราเชื่อเสมอว่ากันไว้ดีกว่าแก้ ถ้าปล่อยไว้จนปัญหานั้นทำร้ายเรา

 

อาจจะเกิดเป็นโรคซึมเศร้าหรือภาวะทางจิตอื่น ๆ ได้