สำหรับคนวัยทำงานที่ต้องเจอกับความเครียดและความกดดันมากมาย ที่อาจจะมาจากการทำงานและสภาพแวดล้อม จนอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต มาร่วมกันทำความเข้าใจกับ Burnout Syndrome
Alljit ร่วมกับคุณกวินทิพย์ จันทนิยม นักจิตวิทยาการปรึกษาและตอนนี้กำลังทำงานในตำแหน่ง HR (Human Resource / Human Resource Management)
Burnout Syndrome คือ
Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นโรคที่เป็นผลจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อนและต้องทำในเวลาเร่งรีบ หากปล่อยไว้สะสมนานวันเข้าอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้
ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียด มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ มีความเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองงานที่กำลังอยู่ในเชิงลบ ขาดความสุข ไม่สนุกในเนื้องาน
หมดแรงจูงใจในการทำ ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่างหรือเป็นไปทางลบกับผู้ร่วมงาน
Burnout Syndrome กับ หมด Passion
การหมด Passion จะแตกต่างอาการหมดไฟหรือ Burnout ตรงที่อาการ Burnout จะเป็นความทุกข์ทรมานจากความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และจิตใจ ซึ่งทำให้เกิดการหมด Passion ได้
ขณะที่การหมด Passion บางครั้งไม่ได้ทำให้เกิดอาการ Burnout เป็นเพียงอารมณ์รู้สึกที่ว่าไม่ได้หลงใหล ไม่ได้ชอบ หรือไม่ได้สนใจในสิ่งนั้น ๆ อีกต่อไป
ทำไมถึงมี Burnout Syndrome เกิดขึ้น
บางคนก็เกิดจากการที่เจอสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความกดดันมาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ บางคนก็เกิดความเครียดสะสมต่อเนื่องจากเรื่องงาน บางคนก็ทำงานหนักจนเกินไป ทำงานหนักติดต่อกันนาน ๆ งานล้นมือ ไม่ได้มีเวลาไปพักผ่อนคลายเลย
หรือบางคนก็เจองานที่ยากมาก ๆ งานยากเกินไปทำให้รู้สึกท้อ บางคนก็ต้องทำงานที่เร่งด่วนอยู่ตลอด ด่วนทุกงาน จนบางทีต้องสละเวลาส่วนตัวของตัวเองมาทำงานด่วนนี้
ใครบ้างที่เสี่ยง Burnout Syndrome
ถ้าเป็นในส่วนของคนวัยทำงาน ก็จะเป็นบุคคลที่เจอสภาพแวดล้อมการทำงานที่กดดัน งานที่ทำมีความเครียดสูงต่อเนื่องจนเครียดสะสม ทำงานหนักมาก ๆ การทำงานที่ยากมากจนเกินไป การทำงานที่รีบเร่ง เร่งด่วนบ่อย ๆ
ภาวะ burnout นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่ในกลุ่มวัยทำงาน แต่ยังสามารถเกิดได้ทุกวัย ทุกเพศ เช่น นักเรียนนักศึกษาที่ต้องอยู่กับการเรียนออนไลน์ทุกวัน ใช้ชีวิตอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ ขาดความยืดหยุ่น ก็อาจเกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน
สัญญาณเตือน Burnout Syndrome
การสังเกตสัญญาณเตือนว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน แบ่งออกเป็น 3 ด้านช
1. ด้านอารมณ์
จะรู้สึกหดหู่ หงุดหงิดโมโหง่าย อารมณ์แปรปรวนง่าย ไม่พอใจในงานที่ทำ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่มีอารมณ์อยากที่จะไปทำงาน เบื่อหน่ายไปหมดทุกสิ่งอย่าง ไม่อยากทำอะไร มีความสุขในการใช้ชีวิตและการทำงานน้อยลง
2. ด้านความคิด
มองคนอื่นในแง่ลบในแง่ที่ไม่ดี มักชอบโทษคนอื่น มีความระแวง และมีทัศนคติที่ไม่ดีกับงานและเพื่อนร่วมงาน
3. ด้านพฤติกรรม
ผัดวันประกันพรุ่ง ขาดความกระตือรือร้น บริหารจัดการเวลาไม่ได้ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง burnout จะส่งผลต่อสภาพจิตใจ และสภาพร่างกาย ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยตลอดเวลาทำให้สุขภาพย่ำแย่
ผลกระทบจาก Burnout Syndrome
1.ด้านร่างกาย
จะมีความอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยร่างกายตามตัว
2.ด้านจิตใจ
จะรู้สึกหมดหวัง มีความท้อแท้ในการทำงาน ไม่มีกำลังใจที่จะทำงานต่อ นอนไม่หลับ
3.ด้านการทำงาน
ขาดงานบ่อย ลางานบ่อย ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ทำงานผิดพลาดได้ง่าย และสุดท้ายคือการลาออกจากงาน
วิธีจัดการภาวะหมดไฟ
1.ปรับทัศนคติในการทำงาน
ก่อนอื่นเราต้องปรับทัศนคติในการทำงาน ทำความเข้าใจในเนื้องาน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างานและองค์กรที่ทำงานด้วย เปิดใจให้คนรอบข้าง
อย่าลังเลที่จะปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้าง หากรู้สึกไม่ไหวหรือเหนื่อยเกินไป
2.กำหนดเวลาการทำงาน
กำหนดเวลาการทำงานให้เหมาะสมในแต่ละวัน ไม่เสียเวลาจัดการงานที่ทำไม่ ได้หรือติดขัดนานเกินไป จนส่งผลให้ทำงานไม่สำเร็จสักชิ้นเดียว
3.เปลี่ยนบรรยากาศ
ลองเปลี่ยนสถานที่ทำงานดูบ้าง โดยการทำงานแบบ hybrid คือ wfh บ้าง สลับกับการเข้าออฟฟิศบ้าง หรือการทำงานแบบ workation คือ work+vacation ทำงานไปด้วยเที่ยวไปด้วยก็ได้
4.หากิจกรรมทำ
หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำในยามว่าง เป็นกิจกรรมที่เราชอบทำ ทำแล้วมีความสุข จะช่วยผ่อนคลายได้
5.ใช้สิทธิ์ลาพักร้อน
อย่ากลัวที่จะใช้สิทธิ์ลาพักร้อน หากทำได้ให้ ลาพักร้อน เพื่อห่างไกลจากงานสักพัก
6.พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้เราได้มีพลังกายที่ดี
7.เข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าท้ายที่สุดมันหนักจริง ๆ การเข้ารับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาก็เป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะช่วยทำให้เราดีขึ้นจากภาวะที่เป็นอยู่
การขาด Work-Life Balance อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ถ้าเราปล่อยให้ตัวเองขาด balance ก็อาจจะทำให้เรา burnout โดยไม่รู้ตัว
ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามีสภาวะดังกล่าว ลองหมั่นสังเกตตัวเองบ่อย ๆ อาจจะหา Burnout Self-Test หรือแบบประเมินการหมดไฟในการทำงาน ทำเบื้องต้นก่อน
ในแอปพลิเคชั่น Alljit เองก็มีแบบประเมินเบื้องต้น เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ประเมินตัวเองเบื้องต้น และถ้าเรารู้สึกว่ามันหนักมากแล้ว การไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย
Post Views: 2,478