Posts
นิทรรศการ “Turn Your Scars into Stars” “แม้จะเจ็บปวดแต่คุณก็งดงาม” เป็นนิทรรศการที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้คนที่เจอกับประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่สวยงาม
และกลายเป็นบาดแผลที่เจ็บปวดผ่านผลงานศิลปะ นิทรรศการจัดในวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ The Palette Artspace
ทางทีมงาน Alljit ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พวกเราเลยอยากมาเเชร์ความประทับใจและเเรงบันดาลใจที่ได้จากงานนี้กัน
การเดินชมงานศิลปะ ทำไมถึงรู้สึกดีขึ้นได้ขนาดนี้นะ?
“ศิลปะบำบัด” อาจให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ การไปเดินชมงานศิลปะ เราไม่ได้ใช้เหตุผลและตรรกะ ในการอ่านทำความเข้าใจนัยยะของภาพ แต่เราใช้ “ความรู้สึก” ต่างหาก
ภาพนี้เราตีความออกมาเป็นแบบนี้เพราะเราทัชกับสิ่งนี้ ภาพนั้นเราตีความไปอีกแบบเพราะเคยผ่านประสบการณ์ประมาณนี้มาก่อน ความสนุกของการไปเดินชมงานศิลปะคงเป็นตรงนี้แหละ
และสิ่งที่ได้จากการไปชมงานในวันนั้นไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่เป็นแง่มุมและกำลังใจที่ได้กลับมา การที่รับรู้ว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว มีเพื่อน ๆ มากมายที่เคยประสบกับความเจ็บปวด
พวกเขาได้ก้าวผ่านมาได้ เหมือนเป็นกำลังใจเล็ก ๆ ได้เหมือนกัน
“ทำยังไงก็ได้ให้เรารู้สึกมีความสุขที่สุด”
ในวันนั้นได้พบกับ น้องธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือ น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก
เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนน่าจะรู้จัก หรือได้ยินชื่อน้องธันย์กันมาบ้าง เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว คงเคยได้ยินข่าวเด็กวัย 14 ปีเกิดอุบัติเหตุตกรถไฟฟ้าสิงคโปร์ จนทำให้สูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง
เธอผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างไรกัน ?
ในช่วงหนึ่งของนิทรรศการน้องธันย์ได้เล่าให้ฟังว่า เธอเริ่มจาก “การมองศัตรูให้เป็นเพื่อน” ความพิการที่เกิดขึ้นก็คือศัตรูที่เธอต้องพบเจอและต่อสู้ แต่พอสุดท้ายแล้วเธอทำให้ศัตรูกลายเป็นเพื่อนที่สนิทมาก ๆ
มันได้ทำให้เรารู้จักเพื่อนคนนี้ในทางที่ดีและได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายจากความเจ็บปวดในครั้งนั้น “ทำยังไงก็ได้ให้เรารู้สึกมีความสุขที่สุด” คนส่วนใหญ่ชอบมองว่าคนพิการจะต้องอยู่บ้านเฉย ๆ
นั่งวีลแชร์เฉย ๆ แต่การนั่งวีลแชร์ของเธอก็มีความสุขได้ มีความสุขกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และเราจะมองทุกอย่างในทางที่ดีขึ้น
หนึ่งสิ่งที่อยากจะเล่าให้ฟังก็คือ คุณพ่อของน้องธันย์น่ารักมาก พ่ออยู่ข้าง ๆ น้องตลอดเวลา ในขณะที่ก่อนจะสัมภาษณ์พ่อเองก็คอยประคองน้องธันย์ขึ้น-ลงเวที ถ่ายรูปเวลาน้องกำลังพูดคุยกับสื่อ
สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้เวลาที่คุณพ่อกำลังมองน้องก็คือ ภายในแมสนั้นกำลังมีรอยยิ้มของพ่อที่ยิ้มอยู่ตลอดเวลา ในทุกครั้งที่มองน้องธันย์ สิ่งนี้เป็นอีกสึ่งหนึ่งที่สวยงามและน่าประทับใจ
ถ่ายทอดความเจ็บปวดผ่านผลงานศิลปะ
ในวันนั้นมีการเปิดตัวผลงานศิลปินชื่อดัง 11 ท่าน คือ คิ้วต่ำ, Tum Ulit , Art of Hongtae,Banana Blah Blah,Manasawii ,puck ,โรแมนติกร้าย,meetmrtwo,Yugo และ Pearytopia
และมีช่วงเวลาที่สัมภาษณ์ถึงคอนเซ็ปและเเรงบันดาลใจจากผลงาน ศิลปินแต่ละต่างมีมุมมองในแง่ของความเจ็บปวดที่น่าสนใจมากๆ เช่น
1. Farewell “ลาก่อน รักเก่า Parting is such sweet sorrow”
เป็นผลงานของคุณ Art of Hongtae ที่เล่าเรื่องราวของการจบความสัมพันธ์ ผ่านภาพของการขึ้นและตกของพระอาทิตย์ การเลิกราเป็นประสบการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดสำหรับทุกคน
แต่คุณฮ่องเต้กลับนำเสนอในอีกมุมมองหนึ่งว่า ความเจ็บปวดนี้อาจเป็นอีกหนึ่งความเศร้าที่งดงาม ภาพที่ออกมาจะดูละมุนและดูเศร้าในเวลาเดียวกัน
ด้วยความที่องค์ประกอบภาพหลักของภาพมีเพียง 2 อย่างคือ ‘คนหัวก้อนเมฆ สัญลักษณ์แทนความเครียดและความเศร้า’ และ ‘ท้องฟ้าสีอ่อนหวาน’ ทำให้อารมณ์ของภาพดูเศร้า เหงา
โดดเดี่ยวแต่งดงามไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเข้ากับ concept เรื่องการจากลาในมุมของคุณฮ่องเต้ ใจความของประโยคน่าประทับใจประโยคหนึ่งที่คุณฮ่องเต้พูดถึงผลงานของตัวเอง คือ
“ถ้าเรามองเรื่องการจากลาเป็นเพียงเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่ง เหมือนการขึ้นและตกของพระอาทิตย์ เราคงมีความสุขง่ายขึ้น”
2.Someday This PAIN will be USEFUL
Someday This PAIN will be USEFUL ของคุณ ไตรภัค สุภวัฒนา นามปากกา PUCK ตอนที่เดินเข้าไปในงานรู้สึกว่าภาพนี้ดึงดูดใจมาก ๆ
ทั้งสีสันที่ฉูดฉาด รายละเอียดในภาพที่มีดีเทลเยอะแต่ลงตัวอย่างกลมกล่อม ในรูปภาพจะมีรูปประภาคารที่โดดเด่น
และมีหลายอย่าง ๆ ที่ห้อมล้อมประภาคารนั้นเอาไว้ ตรงกลางของภาพจะมีรูปผู้หญิงที่กำลังเดินเข้าประภาคาร ซึ่งที่รู้สึกถึงความหมายภาพนี้คือทุกแม้ว่าความสุขของเราจะอยู่บนยอดประภาคาร
หรืออยู่ที่ไหนสักแห่ง ในตอนนี้เราอาจกำลังจมอยู่ในความทุกข์แต่สิ่งที่เป็นทุกข์คงไม่ได้อยู่กับเราเสมอไป ทุกก้าวแห่งความเจ็บปวดพาไปยังความสุขที่ผ่านการเรียนรู้
ซึ่งคุณภัคได้บอกว่า “ หลายครั้งที่จมอยู่กับความทุกข์ ฉันลองค้นหาความสุขรอบๆ ตัวแต่ภาพแห่งความสุขนั้นพร่ามัวเหลือเกิน ใครสักคนเคยบอกไว้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตเรานั้นเต็มไปด้วยความทุกข์
ความสุขนั้นเป็นเพียงสายลมเย็นที่นานๆ จะพัดผ่านมาที หากเป็นเช่นนั้นแล้วความทุกข์ก็ไม่ต่างจากกองไฟร้อนที่ตั้งอยู่ข้างกายเรา ไอร้อนที่อยู่กับเราเสมอมาหรืออาจเพราะมีไอร้อนนี้
ทุกครั้งที่ลมเย็นพัดผ่าน ฉันจึงรู้สึกถึงคุณค่าของลมเย็นนั้นจริงๆ ”
3. Thank You “ขอบใจที่เจ็บ”
ชื่อศิลปิน : คิ้วต่ำ
“ความเจ็บปวด คงเป็นเหมือนช่วงเวลาเเรกตอนเลี้ยงแมวสักตัว เราอาจได้บาดแผลมากมาย แต่หากเราใช้เวลาเข้าใจ เรียนรู้ ยอมรับ และปรับตัวให้ได้ ความเจ็บปวดนั้น ก็จะเป็นความสัมพันธ์อันงดงาม”
การที่คุณคิ้วต่ำเปรียบเทียบความเจ็บปวดกับแมว ทำให้ค่อนข้างเห็นภาพชัดขึ้นว่า ทุกความเสียใจ ทุกความเจ็บปวดมันมีขั้นมีตอนของมัน วันแรกที่เราเจ็บ เราจะรับมือไม่ไหว ไม่รู้ต้องทำยังไง
แต่เราจะเรียนรู้ที่จะยอมรับเข้าใจ และอยู่ร่วมกับมันได้ เมื่อได้เรียนรู้ เราจะพบเจอกับความสวยงามบางอย่าง บาดแผลจะจางไป รอยยิ้มจะกลับมา
4. Equality Cake Planet
ในงานยังมีศิลปินนักเขียนนามปากกา โรแมนติกร้าย หรือ คุณ Win nimman เข้าร่วมในนิทรรศการนี้อีกด้วย ซึ่งคุณวินได้ห่างหายจากการวาดภาพไปค่อนข้างนานพอสมควร
และยังบอกอีกว่านิทรรศการนี้ทำให้คุณวินอยากกลับมาวาดภาพอีกครั้ง โดยผลงานในนิทรรศการมีชื่อภาพว่า Equality Cake Planet ซึ่งมีสีสันสดใส ความเป็นกวี ความรักในขนมหวานตามสไตล์โรแมนติกร้าย
“เค้กก้อนสีชมพู ถึงแม้ว่ามันจะสวยงาม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เคยพบกับความเจ็บปวด แค่มันเลือกจะเป็นชมพูแบบนั้นต่อไป อย่าให้โลกที่โหดร้ายมาเปลี่ยนความชมพูของเรา”
และมีบทกวีในเค้กเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘be who you are as you wish we are all equal on this sweet-lonely planet’ ซึ่งตีความหมายถึงความเท่าเทียม ความเป็น feminist
ซึ่งเชื่อในความเท่าเทียมของทุกคนและทุกเพศ ภาพเค้กที่โรยด้วยเกล็ดน้ำตาลแท่งหลากหลายสีได้แทนถึงความเท่าเทียมทางเพศ ลดความอคติ เค้กในภาพจะช่วยลดความเจ็บปวดให้กับทุก ๆ คน
และยังเป็นเค้กที่ทุกเพศทุกวัยสามารถเอนจอยได้อีกด้วย
อีกสิ่งที่อยากจะเล่าให้กับทุก ๆ คนได้ฟังคือ ตั้งแต่คุณวินเดินเข้างานมา มีน้อง ๆ แฟนคลับ หรือที่คุณวินเรียกว่า ‘แก๊งสายหวาน’ รอคุณวินตั้งแต่เดินเข้ามา มีการขอถ่ายรูปและชื่นชมผลงานโรแมนติกร้าย
บรรยากาศการที่แฟนคลับพูดคุยกับคุณวินอบอุ่นและเป็นกันเองมาก ในขณะที่คุณวินพูดอยู่บนเวลาทีนั้น ยังได้พูดถึงความเท่าเทียมซึ่งทำให้เราได้รู้สึกว่า
ความเท่าเทียมคือสิ่งสำคัญมากที่เราทุก ๆ คนควรตระหนักถึง
5.Another purpose of pain
ชื่อศิลปิน: Meetmrtwo
“Sometime,pain can become your cure.”
โดยคุณสองได้อธิบายถึงผลงานชิ้นนี้เอาไว้ว่า การที่ชีวิตเราผ่านอะไรมามาก ความเจ็บปวดต่าง ๆ ที่เราพบเจอได้สอนให้เราเรียนรู้เเทนที่จะจมอยู่กับความเจ็บปวด
โดยเปรียบความเจ็บปวดที่เราได้พบเป็นเหมือนสีที่ไหลออกมา แล้วเอาสีนั้นมาวาดเป็นจุดหมายของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เป็นการเปลี่ยนความเจ็บปวดของเราให้กลายเป็นจุดหมาย
เเรงบันดาลใจก็มาจาก ชื่อนิทรรศการ Turn Your Scars into Stars ที่บาดแผลทำให้เรามีเลือดไหลออกมา แต่เปลี่ยนจากเลือดตรงนั้นเป็นสีแทน
ครั้งแรกที่ได้ฟังคุณสองอธิบายถึงผลงานชิ้นนี้ เป็นสิ่งที่ประทับใจมาก ๆ เพราะบางครั้งความเจ็บปวดก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลานนับครั้งไม่ถ้วน ร้องไห้กับมันนับครั้งไม่ถ้วน
แต่สุดท้ายความเจ็บปวดที่เราเจอ ในบางครั้งก็ทำให้เราเติบโตขึ้นและกลายเป็นเป้าหมายที่ทำให้ชีวิตเราก้าวต่อไปข้างหน้า
6.Colorful Daggers
ชื่อศิลปิน : Tum Ulit
“Fill in the right gap to release yourself from pain”
ความรู้สึกแรกที่เห็นผลงานชิ้นนี้ คือ ถ้าอยากจะมีผลงานศิลปะสักชิ้นไว้ในห้องนอน ก็คงเป็นชิ้นนี้ ให้ความรู้สึกน่ารัก อบอุ่นและคงเพิ่ม mood ให้ห้องนอนเป็น Safe Zone ให้เราได้ดี
คุณตั้มเล่าว่าได้รับเเรงบันดาลใจจากการถูกทำร้ายด้วยคำพูดหรืออารมณ์ของคนอื่นซ้ำ ๆ เมื่อผ่านความเสียใจจนวันนึงเกิดเป็นการตกตะกอนได้ว่า
“เราควรตั้งตนให้อยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น” โดยใช้ “เกมเสียบถังโจรสลัด” มาเเทนหัวใจที่ถูกทิ่มเเทง แต่ถ้าเสียบได้ถูกช่อง เราก็จะกระเด็นออกจากความทุกข์นั้น:)
ทำให้นึกถึงตอนที่ทาง Alljit ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณตั้มในเรื่องของ การก้าวผ่านความเจ็บปวด และช่วงเวลาที่ยากที่สุด? คุณตั้มได้บอกว่า
“เมื่อเกิดความเจ็บปวดเราจะตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่ทำอย่างนั้น? อย่างนี้? ซึ่งเป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจเราที่สุด แต่อีกส่วนหนึ่งคือ คำถามว่าเมื่อไหร่เราจะกลับมาเป็นปกติ
การรอเวลาเพื่อกลับไปถึงจุดนั้นมันทรมาน เพราะเรารู้สึกว่าการจะกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้งต้องต่อสู้กับตัวเองเยอะมาก”
เพราะฉะนั้นภาพนี้เป็นสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมใจเหมือนกันว่าในวันนึงเราก็จะออกมาได้แหละ ถังโจรสลัดที่ทำให้เราถูกทิ่มแทงนับครั้งไม่ถ้วนใบนี้
เเละวันที่เราทะยานออกมาได้คงเป็นวันที่สดใสเหมือนผลงานของคุณตั้มชิ้นนี้:)
ยังมีผลงานของศิลปินอีกหลายท่านที่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาได้ลึกซึ้ง สร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงาน จนพวกเรายังแอบคุยกันว่า คงเอามาพูดใน Podcast ได้หลายอีพีเลย
Mini Gallery Turn Your Scars into Stars
ภายในงานจะมีผลงานของศิลปินทางบ้านที่ได้เข้าร่วมเป็น Mini Gallery บริเวณชั้นสาม ผลงานของศิลปินทางบ้านถูกประดับด้วยการแขวนเรียงกันให้ผู้เข้างานได้เข้ามาเยี่ยมชม ทุกรูปภาพที่ได้ศิลปินทางบ้าน
ได้ทำการวาดภาพเข้ามา มีเรื่องราวที่อยู่ในภาพเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจ การตีความได้อย่างลึกซึ้ง แต่การที่ได้ไปเดินชมก็สัมผัสได้ถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาพเหล่านั้น
นอกจากจะได้เข้าร่วมใน Mini Gallery แล้ว ทางงานก็มีรางวัลรูปภาพขวัญใจศิลปินทั้ง 11 ท่านหรือ “Artist’s Pick! ” ศิลปินแต่ละท่านจะให้รางวัล การที่ได้รับเข้าร่วมเป็นเรื่องที่น่ายิน
และการได้รางวัลจากศิลปินที่ชื่นชอบเหมือนเป็นแรงใจ ประสบการณ์ที่น่ายินดีและจุดประกายความฝันให้ยิ่งขึ้นไป
ในส่วนของชั้น 3 ที่นอกจากจะจัดแสดง Mini Gallery Turn Your Scars into Stars แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งไฮไลท์ คือ Art Market เอาใจสายช้อปงาน Hand made อย่างเรา ๆ
ร้านมากมายถึงเกือบ 20 ร้าน อาทิเช่น สติ๊กเกอร์ลายน่ารัก ๆ, กระเป๋าถักจากไหมพรม สมุดโน้ต กำไลข้อมือ ต่างหู เทียนหอม เป็นต้น เรียกว่าถ้าไม่คุมสติดี ๆ ได้มีกระเป๋าฉีกแน่ ๆ งานนี้
เปิดไพ่ฮีลใจและค้นหาคริสตัลประจำตัว
สิ่งนึงที่ทางทีมงานเสียดายมาก ๆ คือ อดเข้า Workshop ในงานวันที่ 5 เพราะเป็น Workshop ที่น่าสนใจมาก แต่อาจจะเป็นความโชคดีบนความน่าเสียดายที่เราได้มีโอกาสไปเปิดไพ่
และเลือกหินประจำตัวที่โต๊ะเล็ก ๆ ของคุณแอ้และคุณแคท ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์แทน
เปิดไพ่ฮีลใจ
จากคุณ แอ้ Memo Smile จะว่าไปก็คล้าย ๆ กับการดูดวงนั่นแหละ แต่สิ่งที่แตกต่างจากการดูดวงที่ผ่านมาของเราคือ คำพูดที่ว่า
“การดูดวงที่ดี คือ การดูแล้วเห็นเส้นทางของตัวเอง หรือช่วยให้การตันสินใจได้ง่ายขึ้น” ถ้าดูแล้วจิตตก กังวล อาจจะไม่ใช่การดูดวงที่ดีนัก เป็นคำพูดที่ทำให้รู้สึกว่า การดูดวงครั้งนี้พิเศษตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลย
แล้วก็พิเศษแบบนั้นจริง ๆ ช่วงเปิดไพ่ ก็พบว่า เส้นทางของเราอาจจะไม่ได้สวยงามตลอดทั้งเส้น แต่ขอให้เชื่อมั่น และลงมือทำ เพราะเธอมาถูกทางแล้ว… แต่ความมั่นใจเราก็ยังมาไม่สุดทางอยู่ดี
คุณเเอ้จับมือเรา พร้อมให้เปิดไพ่ใบสุดท้าย ที่บอกว่า “ KEEP YOUR HEART OPEN EVEN WHEN IT HURTS” และนั่นคือคำตอบของทุกอย่างที่ทำให้พลังความมั่นใจในตัวเราถูกเติม
ความประทับใจอีกอย่างในระหว่างการเปิดไพ่ คือ มีกล้องหลายตัว เข้ามาจับภาพ แต่คุณแอ้กังวลเพราะหน้าสด เราเลยอาสา ปัดแก้มให้ พร้อมยื่นกระจกให้ทาตาด้วย
มันคือความสัมพันธ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในชั่วพริบตา แต่มันทำให้ใจฟูจริง ๆ ปิดท้ายด้วยการ กอดให้กำลังใจ วินาทีนั้นเราตั้งใจหลับตา และตั้งใจรับพลังนั้นเข้ามา
จากไม่กี่นาทีที่คุย จากไม่กี่เสี้ยววินาทีที่สัมผัสกัน มันเป็นพลังบวกที่ส่งถึงกันจริง ๆ และคุ้มค่าที่ได้ไปร่วมงาน “Turn Yours Scars into Stars”
My Crystal Mandala
จาก “คุณแคทผู้เชี่ยวชาญทางด้านหินแร่” ในการค้นพบคริสตัลประจำตัวของคุณและสัมผัสพลังงานของผืนดิน
เพราะชีวิตต้องเจอกับเรื่องราวที่เจ็บปวด สิ่งที่ช่วยฮีลใจในวันยาก ๆ อาจจะเป็น ‘คริสตัล’ My Crystal Mandala เป็นเวิร์คช็อปที่จะพาทุกคนค้นหาหินประจำตัว
ซึ่งหลาย ๆ ครั้ง หินเหล่านี้อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ รวมถึงช่วยดึงดูดสิ่งที่ดีเข้ามา ตอนที่เข้าไปที่บูธ ได้รับการแนะนำดีมาก หินประจำตัวเลยเป็นสิ่งใหม่อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รู้จักจากนิทรรศการนี้
การที่เราได้พาตัวเองให้ถูกล้อมรอบไปด้วยผลงานศิลปะของคนที่เคยผ่านความเจ็บปวดเหมือนกัน เจอกับบาดแผลเหมือนกัน ทำให้เราได้ฮีลใจของตัวเอง
ได้รับกำลังใจจากคนที่เคยเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ดีเหมือนกันและได้มองตัวเองในมุมมองใหม่ว่า แม้จะเจ็บปวดมากแค่ไหน แต่เราก็ยังคงสวยงามเหมือนเคย…
“ขอบคุณที่ก้าวผ่านความเจ็บปวดในวันนั้น มาเป็นเธอในวันนี้” – จาก Alljit
ลองนั่งลงเงียบ ๆ กับตัวเอง แล้วลองถามใจดู ว่า…วันนี้เราได้ รักตัวเอง บ้างไหม?”
ทุกคนเคยได้ยินคำว่า “รักตัวเองไม่เจ็บเลยสักวัน” กันไหม
แล้วก็อีกประโยคนึงที่เราคุ้นเคยกันดี “ก่อนที่จะรักคนอื่น เราต้องรักตัวเองก่อน”
สองประโยคนี้ฟังดูเหมือนจะง่ายและเข้าใจได้… แต่เราลองค่อย ๆ คิดตามกันดูนะคะ ว่าจริง ๆ แล้ว…เรารักตัวเองเป็นแค่ไหนกันนะ?
การรักตัวเอง พูดง่าย แต่ทำยาก
“รักตัวเอง” พูดง่ายแต่บางวันยังรู้สึกเลยว่า…หรือบางวันก็รู้สึกว่าเรากำลังรักตัวเอง “แบบผิด ๆ” อยู่ก็มีนะ
เราทุกคนก็เป็นแค่มนุษย์ธรรมดา ๆ คนนึง อยากบอกทุกคนตรงนี้ว่า ไม่เป็นไรเลยนะ ถ้าคืนนี้ยังรู้สึกว่า…ยังรักตัวเองได้ไม่มากพอ
อยากบอกและปลอบใจทุกคนเหมือนกันว่าช่วงเวลาแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ อย่านอยด์หรือน้อยใจในช่วงเวลาที่เราไม่ได้รักตัวเอง หรืออ่อนไหวกับบางเรื่องเลย
ถ้าเราไม่รักตัวเอง แล้วจะไปรักคนอื่นได้จริงไหม?
“จำเป็นไหม ที่เราต้องรักตัวเองให้เป็นก่อน ถึงจะมีความสัมพันธ์กับคนอื่นได้?”
คำตอบในใจคือ ไม่จำเป็นก็ได้มั้ง ถ้ารอให้รักตัวเอง 100% เมื่อไหร่เราจะได้รักใครล่ะ?
แต่พอผ่านเรื่องราวมาหลายอย่าง กลับรู้สึกว่า…แค่มีพื้นฐานของการรักตัวเองไว้บ้าง ก็เพียงพอแล้ว
เพราะถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของตัวเองเลย แล้วเราไปรักใครสักคน… เราก็อาจจะเผลอยกให้เขาเป็นโลกทั้งใบของเรา
“ไม่มีเขา เราอยู่ไม่ได้”
“เขาคือทุกอย่างของเรา”
ฟังดูโรแมนติกใช่ไหม แต่มมันก็แอบเจ็บอยู่นะ เราลองเปลี่ยนมาเป็น…
“ไม่มีเขา เราก็อยู่ได้”
“เราเป็นโลกที่สมบูรณ์ของตัวเอง แล้วเขาแค่มาเพิ่มสีสันให้กับโลกของเรา” แบบนี้อาจจะยั่งยืนกว่า…
การรักตัวเอง = ความเมตตาต่อตนเอง
Self-compassion หรือ การเมตตาต่อตนเอง ประกอบด้วย 3 อย่างง่าย ๆ แต่ทรงพลัง
- ใจดีกับตัวเอง รู้ว่าเรารู้สึกอะไร และไม่ซ้ำเติมตัวเองเมื่อผิดพลาด
- เข้าใจว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว ทุกคนล้วนเคยเจอเรื่องแบบที่เรากำลังเผชิญ ไม่ใช่แค่เราคนเดียว
- การมีสติ รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่กดมันไว้ หรือหมกหมุ่นกับมันจนลืมตัว
ความรักที่รอให้คนอื่นมาเติมเต็ม = ความรักที่ไม่มีวันเต็ม
เวลาที่เรารัก…สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ค่อยได้เลยก็คือ “ความคาดหวัง”
“เขาต้องพูดแบบนี้นะ เราถึงจะรู้สึกดี”
“เขาต้องมาหาเราทุกวันหยุดสิ”
พอเขาไม่ทำ เรากลับหันไปโทษตัวเองว่า
“หรือเราไม่ดีพอ?”
มันกลายเป็นการเอาคุณค่าของตัวเอง ไปผูกกับการกระทำของอีกคน
จนลืมไปว่า… แม้เขาจะไม่ใช่คนเดิมแล้ว แต่ เราก็ยังเป็นเราอยู่ตรงนี้เสมอ
อย่าให้ใครคนเดียว มาเป็นเครื่องวัดคุณค่าของเรา เพราะเมื่อเขาจากไป เราอาจจะลืมว่าตัวเรามีค่าขนาดไหน
เราเป็นคนใจร้อนหรือเป็นคนใจเย็น กันแน่ เราเป็นคนใจร้อนหรือเป็นคนใจเย็นกันแน่ คนใจเย็น คนใจร้อนเป็นแบบไหน? การที่เป็นคนใจร้อนแปลว่าเป็นคนที่จัดการอารมณ์ไม่เก่งหรือเปล่า และการเป็นคนใจเย็นแปลว่าเป็นคนนิ่งเฉยกับปัญหาไหม
เราเป็นคนใจร้อนหรือเป็นคนใจเย็น ?
คนใจเย็น
คนใจเย็นในทางจิตวิทยา ก็คือ คนที่มีสติเมื่อเกิดปัญหาขึ้น เขาจะมีความสามารถในการสงบสติอารมณ์ที่กำลังพลุ่งพล่าน ณ ขณะนั้น
มีความชะลอรับมือและอดทนต่อการตอบสนองกับสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าตอนนั้นได้ดี หากสังเกตคำว่าใจเย็นในภาษาอังกฤษก็ไม่มีจำกัดความไว้ได้ในคำเดียว
โดยส่วนใหญ่จะตีความกว้าง ๆ แทน โดยจะเป็นส่วนผสมของคำว่า Calm, Cool และ Patient ก็คือ สงบ เยือกเย็น และอดทนนั่นเอง
คนใจร้อน
ความใจร้อน เป็นคำที่เราใช้เรียกคน ๆ นึงที่เขาแสดงอาการโมโห หงุดหงิด หุนหันหรือที่เราเรียกกันว่าอารมณ์ร้อน ซึ่งพื้นฐานของอารมณ์ร้อนก็คือ ‘ความโกรธ’
และเจ้าความโกรธถือว่าเป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์เหมือนกับ เศร้า มีความสุข ยินดี ซึ่งเจ้าความโกรธเป็นอารมณ์ที่ทำให้มนุษย์อยู่รอดมาได้ถึงปัจจุบัน
และความใจร้อนบางครั้งก็ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาด รีบ หรือทำให้เกิดความประมาทได้
ใจเย็น = เพิกเฉย,ไม่มีความรู้สึก
คำอธิบายจากคุณซาราห์ เอ. ชไนต์เคอร์ (Sarah A. Schnitker) รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ สหรัฐอเมริกา อธิบายเพิ่มด้วยว่า ‘ความใจเย็น’
ไม่ใช่คุณสมบัติที่อยู่ตรงข้ามกับ ‘ความใจร้อน’ เสมอไป สมมติถ้าเราทะเลาะกัน การใจเย็น คือ เราจะสงบสติอารมณ์ รับฟังกันและกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่หากเราด่ากันไปมา ไม่รับฟังกัน ก็อาจเรียกว่าใจร้อน
แต่ก็จะมีการทะเลาะในรูปแบบของการละเลย ทำหูทวนลม และไม่สนใจความต้องการของอีกฝ่ายด้วย ซึ่งนั่นถือว่าไม่ใช่การใจเย็นด้วยเหมือนกัน สรุป คือ สิ่งที่ตรงข้ามความใจเย็นก็จะมี ทั้งความใจร้อนและการเพิกเฉย
การกระทำของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ สูง
การที่เราจะอยู่ให้เย็น เป็นสกิลที่สามารถฝึกกันได้ ใครที่เย็นอยู่แล้วอยากฝึกก็ฝึกได้ และใครที่กำลังร้อนก็ฝึกได้เช่นกัน
เริ่มจากพฤติกรรมของคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ โดยคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ นอกจากเขาจะควบคุมจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีแล้ว เขายังมีพฤติกรรมเหล่านี้ด้วย
1. บ่งบอกความรู้สึกตัวเองได้ ถ้าอะไรไม่โอเคก็ปฏิเสธเป็น เพราะถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่านี่คือคนที่รู้จักตัวเองดี
2. ไม่ด่วนตัดสินตอนอารมณ์ไม่คงที่ รวมถึงการไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะคนเราอาจจะเจอเรื่องราวมาแตกต่างกัน คนที่มี EQ สูง มักจะเลือกสื่อสารด้วยเหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์นำพา
3. ไม่ยึดติดกับการเปลี่ยนแปลงหรือสิ่งลบ ๆ ที่มัวแต่จะบั่นทอนจิตใจ เช่น อะไรที่ควบคุมไม่ได้ก็ควรเลือกที่จะปล่อยไป หรือสามารถแยกตัวตนของตัวเองออกจากความผิดพลาดได้ ซึ่งก็จะทำให้สามารถให้อภัยตัวเองได้
4. รักษาสมดุลความคิด รู้ว่าเมื่อไรควรพัก ให้เวลากับตัวเอง ซึ่งข้อนี้จะทำให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้ดีและเร็วที่สุด
เสริมเกี่ยวกับขั้นตอนการรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ขอบคุณข้อมูลจาก The Matter ได้บอกไว้ว่า
อย่างแรกระบุสิ่งที่ทำให้เราร้อนใจ อะไรที่ทำให้เรารู้สึกร้อนใจ สาเหตุของที่เราร้อนใจคืออะไร ต่อไป ปรับวิธีคิดต่อเหตุการณ์นั้น
เขาบอกว่าให้เราลองเอาตัวเองออกจากเหตุการณ์นั้นแล้วลองเป็นคนอื่นที่มองมาแทน เช่น รถติดมากเราหงุดหงิดอารมณ์เสียที่จะไปไม่ทัน
แต่เราลองปรับและคิดว่าที่สาเหตุรถติดมันอาจจะมีอะไรรึป่าวอุบัติเหตุก่อนหน้านั้น หรือเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นไหม โดยที่เราไม่ต้องหงุดหงิดให้เสียอารมณ์ที่จะทำอะไรต่อไป
อย่างสุดท้าย นึกถึงเป้าหมายที่แท้จริง เหตุและผลที่ว่าถ้าเราใจร้อน ถ้าเราหงุดหงิด มันจะดีขึ้นจริงหรอ มันคุ้มค่าที่เราต้องเสียอารมณ์ของเราไหม ?
ที่มา :
10 การกระทำ ที่เหล่าผู้ที่มี “ความฉลาดทางอารมณ์” จะไม่ทำกันเด็ดขาด
เชื่อว่าทุกคนมีแผล เคยมีช่วงที่เสียใจ ส่งผลถึงปัจจุบัน อยากชวนกลับไปเยียวยาแผลในวันนั้นเยียวยาด้วยการเขียนจดหมาย 💌
ช่วงเวลาที่เจ็บปวด
ช่วงชีวิตที่เราผ่านพ้นมาจนถึงทุกวันนี้ อาจจะมีบางเหตุการณ์ บางช่วงเวลาที่มันทำร้ายเรา กัดกินเราอยู่ข้างในแม้จะผ่านมันมานานแค่ไหนก็ตาม
อยากชวนทุกคนหวนระลึกถึงตัวเองในช่วงเวลานั้น กลับไปทบทวนตัวเองว่าตอนนั้นเรารู้สึงยังไง เรากำลังเผชิญอะไรอยู่
อยากให้ทุกคนลองย้อนกลับไปหาตัวเองในช่วงเวลานั้น ลองนึกถึงตัวเองเองในวันที่เจ็บปวดที่สุด และลองคิดว่า… “เราอยากบอกอะไรเขาบ้าง”
Self-Compassion คืออะไร?
การฝึกมีเมตตาต่อตัวเอง (Self-compassion)
1.อยู่กับปัจจุบันขณะ เรารับรู้ว่าตัวเองรู้สึกยังไง เจ็บปวดแบบไหน
2.ยอมรับว่าเราไม่ได้เจ็บปวดลำพัง คนอื่นก็เคยเหมือนๆ กับเราในตอนนี้
3.ไม่โบยตีตัวเอง ไม่ตัดสิน เหมือนกับที่เราจะปฎิบัติกับเพื่อน
ถ้าใครยังนึกไม่ออกว่า ความเมตตาต่อตัวเอง คืออะไร ต้องทำแบบไหน? อยากให้ลองนึกถึงเวลาที่เรารักใครสักคน เราจะทำแบบนั้นกับตัวเอง
1.รับรู้ว่คนที่เรารักเจ็บปวด
2.รู้สึกร่วม (คล้ายๆ กับสิ่งที่เราเคยรู้สึก) เข้าใจ
3.ปฎิบัติกับคนที่เรารักด้วยความอ่อนโยน ปลอบโยน ใจเย็น ไม่ตัดสิน
ในบทความนี้อาจไม่ได้มีเนื้อหาเยอะ อยากให้ลองดูคลิปใน Youtube เพราะ ๆ มีเพื่อน ๆ ที่น่ารักแชร์เรื่องราวกับพวกเราด้วยนะ 💕
การคิดแทน
การเอาความคิดตนเป็นหลัก คาดเดาแทนคนอื่นในบางเรื่อง เช่น เขาจะรู้สึกอย่างไร หรือเขาต้องการอะไร
บางครั้งก็อาจทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้ไม่ร้อยเปอร์เซนต์ เพราะเราใช้มุมมองของตัวเองเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ
และส่วนใหญ่เรามักจะด่วนสรุปในความคิดเชิงลบซะมากกว่า คนนี้ต้องไม่ชอบเราแน่ ๆ เลย/ คนนั้นดูหยิ่ง ดูแรงจัง
แต่พอได้คุยแล้วกลับไม่มีพิษภัยอะไรเลยนี่นา/ เขาต้องไม่ชอบของขวัญที่เราเตรียมมาให้แน่ ๆ … ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นและถูกตีความด้วยมุมมองของเราเอง
และอาจส่งผลให้เราทำตัวไม่น่ารักด้วยคำพูดหรือการกระทำต่าง ๆ ที่สื่อออกไปโดยถูกความคิดแทนนั้นนำทาง
การคิดถึงใจคนอื่น คือ การพยายามทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ โดยไม่ได้ไปตัดสินหรือเปลี่ยนแปลงความคิดหรือความรู้สึกของเขา
เราแค่เข้าใจและใส่ใจในสิ่งที่เขาอาจรู้สึกหรือประสบอยู่เพียงเท่านั้น ซึ่งทำได้โดยสังเกตภาษากายและฟังความรู้สึกเขาอย่างตั้งใจ
ระมัดระวังการตัดสินหรือวิจารณ์ และให้เวลาเขาได้แสดงความคิดความรู้สึกออกมา อีกทั้ง เราสามารถจินตนาการว่าเราเป็นเขาได้
ด้วยการมองสถานการณ์จากมุมของคนนั้น ซึ่งมันจะช่วยให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าเขารู้สึกหรือคิดอย่างไรในสถานการณ์นั้น ๆ
โดยการทำแบบนี้จะเน้นที่การเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเขาอย่างแท้จริง เช่น เข้าใจว่าที่เพื่อนเงียบเป็นเพราะเสียใจเรื่องเกรดตกเลยให้เวลาส่วนตัวกับเพื่อนที่กำลังรู้สึกแย่
แต่ถ้าเราเห็นเพื่อนเงียบ ๆ เลยคิดว่าเพื่อนโกรธตัวเอง ก็เลยเลือกที่จะไม่คุยกับเพื่อน นี่คือ การคิดแทน
เพราะเราตัดสินเขาผ่านการคาดเดาโดยอิงจากประสบการณ์หรือตัดสินโดยใช้มุมมองของตัวเราเอง ซึ่งอาจทำให้เราไม่เข้าใจความรู้สึกจริง ๆ ของเขาได้
เหตุผลในการคิดแทน
สาเหตุที่ทำให้คนเราเกิดพฤติกรรมการคิดแทนคนอื่นก็มีได้มากมายไม่ว่าจะเป็นความต้องการ
- เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องคนอื่นมากเกินไป ด้วยความคาดหวังว่าเราจะช่วยเหลือเขาได้ ตามทฤษฎีการรับรู้ (Theory of Mind) ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ความตั้งใจ และความรู้สึก เช่น คิดแทนว่าเขาต้องการคำแนะนำหรือคำปลอบโยน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง แต่บางครั้งคนอื่นอาจไม่ได้ต้องการสิ่งนั้น
- หรือด้วยความรู้สึกใกล้ชิดและเป็นห่วง อยากให้เขารู้สึกดีขึ้น จึงทำลงไปโดยไม่ถามถึงความต้องการของเขา แม้ว่าจะมีเจตนาดีที่อยากเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น แต่เราก็ยังใช้ความคิดตัวเองคิดแทนมากกว่าการเลือกที่จะรับฟังหรือถามเขาโดยตรง
- อีกทั้ง การคิดแทนก็อาจเกิดจากความสะดวกในการตัดสินใจแทนคนอื่น รู้สึกว่าวิธีนี้ช่วยให้ทุกอย่างผ่านไปได้เร็วขึ้น จบไวขึ้น เหมือนกับทฤษฎีการตัดสินใจ (Decision-Making Theory) ว่าด้วยความที่เราไม่มั่นใจว่าอีกฝ่ายจะสามารถตัดสินใจหรือจัดการสถานการณ์ได้ดีเท่าที่เราคิด เราจึงจัดการด้วยตัวเองแทนการให้เขาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ
- ซึ่งมันก็อาจมาควบคู่กับความเข้าใจผิดได้ – ตามทฤษฎีของความโน้มเอียงทางจิตใจ (Cognitive Bias Theory) เราอาจคิดว่าเรารู้ดีที่สุดหรือคิดว่ารู้ว่าเขาต้องการอะไร จึงใช้ความเข้าใจที่มีอยู่ในตัวเอง หรือจากข้อมูล มุมมองที่เราคุ้นเคย คาดเดาความรู้สึกของผู้อื่น
- ตลอดจนคิดแทนเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง – หรือสถานการณ์ที่ไม่สบายใจ คิดแทนว่าเราควรทำอะไรเพื่อทำให้คนอื่นพอใจ เพื่อลดความเครียดในสถานการณ์นั้น หรือเพื่อต้องการรักษาความสัมพันธ์ ตามทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship Theory) ซึ่งอาจทำให้เราพลาดการเข้าใจจริง ๆ ว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวได้
มุมมองของคนที่ถูกคิดแทน
ถึงแม้ว่าการคิดแทนอาจมีเจตนาที่ดีในบางครั้ง แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ นอกจากเราจะไม่เข้าใจผู้อื่นแล้ว
ก็อาจทำให้คนที่เราไปคิดแทนรู้สึกไม่ได้รับความเคารพในความคิดเห็นหรือความรู้สึกของเขาอย่างแท้จริงด้วย
สำหรับคนที่ถูกคิดแทน…มุมมองและความรู้สึกจะขึ้นอยู่กับบริบทของสถานการณ์และลักษณะของความสัมพันธ์ที่มีอยู่
ทำให้บางครั้งก็สามารถทำความเข้าใจได้ว่า สิ่งที่คนใกล้ชิดเราทำลงไปนั้น เขาทำไปเพื่ออะไร หากเป็นความหวังดีที่เข้าใจได้
มันก็คงไม่เสียความรู้สึกเท่าไร อาจรู้สึกขอบคุณที่ช่วยคิดหรือทำการตัดสินใจแทนด้วยซ้ำ
เพราะการถูกคิดแทนสามารถช่วยลดภาระหรือความกดดันจากการต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญได้ในเวลานั้น
ซึ่งเหตุผลนี้คงทำให้ใครหลายคนที่มีความคิดแทนเกิดความคิดว่า ‘ก็นี่ไง เราทำเพื่อเขา เขาจะต้องขอบคุณเราแน่นอน’
บางครั้งด้วยภาระหน้าที่ทำให้เรายุ่งจนไม่มีเวลามาคิดตัดสินใจ หากมีใครทำหน้าที่ตัดสินใจแทนเราได้อย่างนี้ก็คงดี
แต่บางจังหวะหรือแม้กระทั่งบางวัน เราอาจลืมไปว่าความต้องการย่อมเปลี่ยนแปลงตามเวลาที่เปลี่ยนไป
เลยอาจมองข้ามความจำเป็นของการสื่อสาร เพราะเราไม่สามารถรู้ใจคนข้าง ๆ หรือคนอื่นได้ทุกเรื่องตลอดเวลา
ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงจะสนิทกันมากแค่ไหน แต่หากทำลงไปโดยไม่ถามความเห็นของเราก่อน
ก็เป็นธรรมดาที่บางครั้งจิตใจเราอาจเกิดความรู้สึกเปราะบาง และอ่อนไหวได้ทีละเล็กทีละน้อย
จากการถูกทำให้รู้สึกว่าเราไม่สามารถเป็นเจ้าของความคิดหรือการกระทำของตัวเองได้ และสิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ การเกิดความห่างเหินในความสัมพันธ์มากขึ้นตามมา
ดังนั้นทางที่ดี ควรถามความเห็นหรือความรู้สึกของคนที่จะต้องมีส่วนร่วมในเรื่องนั้นด้วยก่อนเสมอดีกว่า เพราะการสื่อสารสามารถมอบความรู้สึกว่าต่างฝ่ายต่างให้เกียรติกันและกัน
ปรับความคิด
จนถึงตอนนี้ การที่จะไม่คิดแทนคนอื่นเลย บางครั้งก็ทำได้ยาก เพราะมนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับการใช้สัญชาตญาณทั้งความคิดและการกระทำ
แต่ถ้าเรารู้ตัวว่าตอนนี้เรากำลังคิดแทนคนอื่นจากการคาดเดาของตัวเองอยู่ ให้ลองนับ 1 ถึง 3 แล้วหยุดคิด และไปหาอะไรอย่างอื่นทำแทนก่อนก็ได้ จากนั้นถ้าความสงสัยมันยังค้างคา
ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากคิดเอง เป็นเริ่มเอ่ยปากถามเขาดู ต่อจากนั้นเขาจะตอบความจริงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเขา บนโลกเรา มุมมองความคิดแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน
ไม่มีทางเหมือนกันไปหมด ขอให้เรากล้าหาญพอที่จะสื่อสารเพื่อความเข้าใจ แทนการดันทุรังพยายามหาคำตอบด้วยวิธีการของตัวเองซึ่งอาจได้คำตอบที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง
หรือไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์กับความสงสัยเหล่านั้น หากเขาต้องการแค่คนรับฟัง ก็นั่งรับฟังเขาอยู่ข้าง ๆ ด้วยใจจริง
หากเขาต้องการคำปลอบโยน ก็แค่มอบความอ่อนโยนนั้นให้กับเขา สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขาตอนนี้ อาจเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยที่คาดไม่ถึงสำหรับเรา
หรืออาจเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้ทั้งนั้น เชื่อว่าตลอดชีวิตที่เราได้เรียนรู้กันมา คงมีหลายช่วงเวลาที่เราต่างเป็นคนที่ทั้งคิดแทนคนอื่น
และตกที่นั่งเป็นคนที่ถูกคิดแทนสลับกันไป บางเหตุการณ์กว่าจะผ่านมันมาได้ ก็อาจสาหัสหรือบอบช้ำบ้างไม่น้อย
แต่ขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะผ่านมันมาได้และมันจะดีขึ้นทุกครั้ง ทุกฝ่ายต่างมีเหตุผลเป็นของตัวเองในความคิดและการกระทำ
แต่ถ้าเริ่มมีการตัดสินอีกฝ่ายเมื่อไร เมื่อนั้นก็ควรลองถามตัวเองดูว่า เรากำลังคิดแทนเขามากไปอยู่รึเปล่า เพราะถึงแม้การคิดแทนจะไม่ได้เป็นปัญหาร้ายแรง
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ และเราก็คงห้ามความคิดคนอื่นไม่ได้เช่นกัน
สุดท้ายนี้ คนเดียวที่เราสามารถคุมความคิดและการกระทำได้มากที่สุดก็คือ ตัวเราเอง ถ้าความคิดเชิงลบมาครอบงำเราเมื่อไร ขอให้เรารู้ตัวโดยไว
และอย่าต่อว่าตัวเองเมื่อเกิดข้อผิดพลาดหรือมีอะไรไม่ได้ดั่งใจขึ้นมา
Pebbling Effect คือการส่งต่อความรักแบบน่ารัก ในยุค 5 G ที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยทำให้คนรักกันมาบ้างแล้ว แต่วันนี้จะมารู้จักที่มาที่ไปของคำนี้กัน
Pebbling Effect คืออะไร
ที่มาของปรากฎการณ์อันแสนน่ารักนี้เริ่มมาจาก เจ้าเพนกวิน สายพันธุ์เจนทู ที่มีวิธีการจีบสาวที่น่ารัก โดยเพนกวินหนุ่มจะเลือกก้อนกรวด (Pebble) ที่สวยที่สุด
เพื่อนำไปมอบให้กับเพนกวินสาวสวย ถ้าสาวรับหินแล้วนำไปไว้ที่รัง นั่นหมายถึง การตอบรับที่จะสร้างครอบครัวไปด้วยกัน
ปรากฏการนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “Pebbling” คือ การแสดงความรักด้วยการกระทำเล็ก ๆ ที่เราอยากส่งต่อความรัก ความคิดถึงไม่ว่าจะเป็นการส่งมีม รูปภาพ สติกเกอร์ คลิปวิดีโอสั้น ๆ ให้กับคนที่เรารัก
นอกจากนี้ยังมีการเปรียบ Pebbling ว่าเหมือนกับการที่เราโยนก้อนหินเล็ก ๆ ลงในน้ำ ที่ก่อให้เกิดระลอกคลื่นที่แผ่ขยายออกไปได้กว้าง
เหมือนกัน กับการกระทำของเรา ที่การส่ง หรือแชร์จะดูเล็กน้อย แต่มันคือการแสดงออกที่น่ารักส่งต่อความสุข แต่ต้องบอกด้วยว่าคำนี้มีมานาน และถูกใช้มานานแล้วโดยมันไม่ได้เริ่มจากการส่งมีมบนโซเชียลเท่านั้น
Pebbling Effect Idea
1. แชร์เพลงให้กัน
2. ให้ของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ
3. เขียนโน้ตให้ด้วยมือ
4. การดูแลเล็ก ๆ โดยไม่ต้องถาม เช่น หยิบกระดาษทิชชู่ให้ตอนทานข้าว
5. ถ่ายรูปเวลาไปสถานที่ที่ชอบแล้วส่งให้กัน
พ่อแม่หลายคนก็พบว่าการ Pebbling นั้นช่วยให้พวกเขาสนิทสนมกับลูกมากขึ้น และทำให้ช่องว่างระหว่างวัยลดลงด้วยเช่นกัน
จากข้อมูล Do It for the Culture: The Case for Memes in Qualitative Research พบว่าการส่งมีมสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลขึ้นมาได้
โดยการส่งมีมระหว่างผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมนั้นเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการทำความรู้จักอีกฝ่าย มีส่วนช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ทำให้เชื่อใจกันและมีความกลมเกลียวกันง่ายขึ้น
และมุกตลกที่เฉพาะเจาะจงของมีมแต่ละมีมนั้น ยังทำให้สามารถคาดเดาลักษณะนิสัยของคู่สนทนาได้อีกด้วย
ที่มา :
Projection คืออะไร เพื่อน ๆ หลายคนคงจะมีบ้างที่รู้สึกไม่ชอบลักษณะนิสัยหรือการกระทำบางอย่างของคนอื่น แต่ในบางครั้ง สิ่งที่เราไม่ชอบในคนอื่น อาจจะมาจากการไม่ชอบตัวเองก็ได้
มาทำความรู้จักกับ Defence Mechanism หรือกลไกการป้องกันตัวแบบหนึ่งของมนุษย์เราที่เป็นคำตอบสำหรับประเด็นนี้คืออะไร
Defence Mechanism กลไกการป้องกันตัว
Defence Mechanism คือ กระบวนการที่จิตใจเราใช้เพื่อให้ ID EGO Superego ของเรายังสมดุลเนอะ ความต้องการของเรา การมองโลกตามความเป็นจริง
และการทำกรอบของสังคม บางครั้งเราทำทั้งหมดนั้นพร้อมกันไม่ได้ Defence Mechanism จึงมาเพื่อช่วยลดความตึงเครียดในใจเรา
Defence Mechanism เป็นได้ทั้งกระบวนการที่ช่วยให้เราไม่กลายเป็นบ้า (คุมสติเราไม่ให้พังจนใช้การไม่ได้) หรือไม่ก็ทำให้เราหลุดจากความเป็นจริงไปเลย
Defence Mechanism มีหลากหลายแบบ แต่เราจะกล่าวคือ Projection และ ขั้นกว่า คือ Projective Identification
Projection การฉายสะท้อน
การปฎิเสธข้อมูลที่รับไม่ได้เกี่ยวกับตัวเอง แล้วโยนให้คนอื่น หรือ การสะท้อนลักษณะอันไม่พึงประสงค์ของตนไปให้ผู้อื่น
เช่น เราโกรธเพื่อน แต่รู้สึกว่าการโกรธเพื่อนเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ควรโกรธ ไปๆมาๆ พอเพื่อนตอบแชทช้า เราเผลอคิดไปว่าเพื่อนนั้นแหละที่โกรธ
ภาวะนี้เป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้บ่อย ๆ และหลายครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัว เรียกว่ามันอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้น บางครั้งเราก็จึงไม่รู้ตัวว่า สิ่งที่เราไม่ชอบในตัวคนอื่น คือสิ่งที่เราไม่ชอบในตัวเอง
Projective Identification การยัดเยียดอัตลักษณ์
หากเปรียบเทียบ การฉายภาพสะท้อน คือการที่เรามีบางสิ่งในตัวเราที่ไม่ชอบ แล้วเราก็โยนมันเป็นของคนอื่น ๆ แต่ Projective identification นอกจากโยนสิ่งที่ไม่ชอบให้คนอื่นแล้ว
เรายังแสดงพฤติกรรมเพื่อกระตุ้นให้อีกฝ่ายเป็นในสิ่งที่เราโยนให้เขาด้วย เหมือนการเอาชุดไปสวมให้เขาแล้วทำให้เขาเล่นบทบาทอย่างที่เราไม่ชอบ เรากำลังสร้างให้เขาเป็นสิ่งที่เราไม่ชอบในตัวเอง
ตัวอย่างเช่น เราไม่ชอบที่ตัวเอง “ขี้โมโห” เราก็เลยโยนไปว่าเพื่อนเราต่างหากที่ขี้โมโห โดยเราอาจจะพูดว่า “แกอย่าโมโหสิ” “อย่าใช้อารมณ์นะ”
ทั้ง ๆ ที่คนปกติก็คือ อารมณ์เสียแต่เราไปเน้นว่า “แกขึ้โมโห” มุมมองของเพื่อนต่อตัวเองก็เปลี่ยนไป
กลไกป้องกันตนเองแบบ Projection เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
กลไกป้องกันตนเองแบบการฉายภาพสะท้อน มีความเชื่อมโยงกับการเรียนรู้เรื่องความ “ผิด/ถูก” โดยคนเราจะเริ่มใช้กลไกป้องกันตนเองในช่วงวัยเด็กตอนกลาง
ซึ่งเป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มมีพัฒนาการในเรื่องของความผิดชอบชั่วดีขึ้นมาแล้ว ถือว่าเป็นกลไกป้องกันตนเองแบบแรก ๆ ที่ถูกนำมาใช้
เพราะเป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจเรื่องของความดีความเลว แบบขาวกับดำ และเพื่อสร้างสมดุลของความดีและความไม่ดีในตัวเรา ปกป้องเราจากความเจ็บปวด คววามกลัว ความโหดร้าย
การรู้เท่าทันภาวะการโทษคนอื่น
ข้อขอบคุณข้อมูลจาก อาจารย์ ดร.พนิตา เสือวรรณศรี
การจะปรับให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการความคิดแบบนี้ คือ เราต้องถามตนเองว่าการที่เรามองคนอื่นว่าเขาเลว อันตราย น่ากลัว ความคิดนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน
หรือเรากำลังโยนความรู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวลที่เรามีในใจออกไปสู่คนอื่นอยู่รึเปล่า อะไรที่ทำให้เรารู้สึกวิตกกังวล ไม่ปลอดภัยเมื่อมีคนที่คิดเห็นต่างจากเรา เป็นแบบที่เราไม่ชอบ มันผิดตรงไหน
แล้วความรู้สึกนี้อยู่บนพื้นฐานความจริงแค่ไหน ในทางตรงกันข้าม คนที่เรามองว่าเป็นคนดีที่ไม่มีที่ติ เขาดีแบบนั้นจริง ๆ หรือไม่ ความคิดนี้อยู่บนเหตุผลและหลักฐานตามความเป็นจริงแค่ไหน
หรือเราแค่ทำให้คนนั้นหรือกลุ่มคนนั้นเป็นกลุ่มคนอุดมคติเพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัย ทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นคนดีที่เราก็อยู่ในกลุ่มนั้น
ที่มา :
Understanding Experiences of Projective Identification
ทำไมความต่างจึงนำไปสู่ความเกลียด
ชวนทุก ๆ คนมาทำของขวัญที่เป็น ‘โหลข้อความ’ ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกดี ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กระปุกเติมใจ 💖
ฟังดูน่าสนใจใช่ไหม? ถ้าน่าสนใจก็ไปลองทำกันเลย!
EP นี้มีที่มาจาก เพื่อนสนิทให้ของขวัญ ตอนให้เพื่อนได้บอกไว้ว่า ‘เวลาที่รู้สึกแย่อย่าลืมหยิบของขวัญชิ้นนี้มาเปิดอ่านนะ’ 🙂
🔹 DIY โหลข้อความ 💌 (How-To แบบง่ายๆ)
🛠️ อุปกรณ์ที่ต้องมี :
✅ โหล / ขวดแก้ว หรือจะใช้ กล่องสวยๆ ก็ได้
✅ กระดาษโน้ตเล็กๆ หรือ กระดาษสีสันสดใส
✅ ปากกา / สี / สติกเกอร์ / ของตกแต่งอื่นๆ(เพื่อเพิ่มความน่ารัก)
🎀พับเป็นม้วนจิ๋ว 🎀
✏️ วิธีทำ :
1️⃣เขียนข้อความบนกระดาษสี่เหลี่ยมผืนผ้า
2️⃣ม้วนให้เป็นหลอดเล็กๆ
3️⃣ผูกด้วยริบบิ้น เชือก หรือใช้สติกเกอร์ปิด
ถ้าไม่มีริบบิ้น เราจะแปะเทป แล้ววาดหัวใจ
🔹 ใช้สีริบบิ้นแตกต่างกัน เพื่อแยกหมวด เช่น กำลังใจ 💛 / คำขอบคุณ 💙 / คำอวยพร ❤️
Self Affirmation Theory
รู้ไหมว่า การให้กำลังใจตัวเองหรือคนอื่นผ่านข้อความแบบนี้ มันสอดคล้องกับทฤษฎีจิตวิทยาที่เรียกว่า Self-Affirmation Theory
Self-Affirmation Theory คืออะไร?
ทฤษฎีของ Claude Steele (1988) มนุษย์เราต้องการรักษาภาพลักษณ์ตัวเองให้ดีตลอดเวลา (ต้องเก่ง ต้องดี ต้องเป็นที่รัก)
แต่เมื่อเจอเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่า “เราไม่ดีพอ” มันจะสร้างความตึงเครียดในจิตใจ การเขียนข้อความยืนยันให้ตัวเองหรือให้คนอื่น
จะช่วยให้เรากลับมาโฟกัสสิ่งดีๆ และเสริมพลังบวกให้ตัวเอง การมี “โหลข้อความ” ที่เต็มไปด้วยคำพูดให้กำลังใจ
คือ การเตรียม self-affirmation ไว้ล่วงหน้า 💖 เมื่อรู้สึกแย่ เราแค่หยิบข้อความขึ้นมาอ่าน ก็สามารถช่วยลดความเครียดและเพิ่ม self-worth ได้
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
งานวิจัยของ Cascio et al. (2016) พบว่า การให้คำยืนยันกับตัวเองช่วย
ลดการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวกับความเครียด (ventral anterior cingulate cortex) และช่วยฝึกให้เรามองโลกในแง่ดีขึ้น
Results of a region of interest analysis demonstrated that participants who were affirmed showed increased activity in key regions of the brain’s self-processing and valuation systems when reflecting on future-oriented core values.
📢 มีงานวิจัยอีหลายชิ้นพบว่า คนที่เขียน gratitude notes หรือเขียน appreciation messages เป็นประจำ มีแนวโน้มที่จะสุขภาพจิตดีขึ้น!
The effect of a grateful outlook on psychological and physical well-being was examined. Results suggest that a conscious focus on blessings may have emotional and interpersonal benefits.
💡 “ดังนั้น! แค่มี ‘โหลข้อความ’ ที่เต็มไปด้วยคำดีๆ ก็สามารถช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นและรักตัวเองได้มากขึ้นจริงๆ!”
ภาษาความรัก (love language)
ทำไมของขวัญชิ้นนี้ถึงพิเศษ? 👩❤️👨 “ของขวัญแต่ละแบบเหมาะกับคนแต่ละประเภท ตามแนวคิด Love Language (ภาษาความรัก)”
📖 เป็นแนวคิดที่แบ่งคนออกเป็น 5 แบบ ในความสัมพันธ์ว่าเราแสดงออกหรือต้องการความรักแบบไหน
💖 กิจกรรมนี้เหมาะกับ…
✅ Words of Affirmation – คนที่ชอบฟังคำพูดดีๆ จะชอบมาก!
✅ Receiving Gifts – คนที่ชอบของขวัญจะรู้สึกว่าเราตั้งใจทำให้จริงๆ!
✅ Acts of Service – นี่คือของขวัญที่ใช้เวลาทำให้จากใจจริง!
อ้างอิง
“ถ้าไม่ใช่ความจริง ไม่เห็นต้องไปแคร์เลย” หรือ “เขาก็พูดถูกแล้ว จะไปโกรธทำไม”
ความอยากรู้อยากเห็น คือ พลังขับเคลื่อนข่าวลือ
ในช่วงชีวิตของเรา ข่าวลือเปรียบเสมือนสายลมที่พัดผ่าน อาจเย็นสบาย หรือบางครั้งก็หนาวเยือกจนหัวใจสะท้าน
อาจจะเป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง หรืออยู่ในขอบเขตของความจริงเพียงครึ่งเดียวก็ตาม แต่บางครั้งก็ส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ตามมาได้
ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือในแง่ใดก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าข่าวลือ เราอาจพิจารณาได้ว่า ข่าวลือนั้นเป็นสิ่งที่ทั้งมีมูลหรืออาจไม่มีก็ได้
รู้เพียงแต่ผู้เป็นเจ้าของเรื่อง คงไม่ทันได้อนุญาตให้ถูกพูดถึงในทางใดทางหนึ่ง ทำให้การพูดถึงอย่างลับหลังหรือต่อหน้าก็ดีนั้น
คล้ายกับการถูกล้ำเส้นในความรู้สึก ถึงแม้จะพูดความจริงหรือความเท็จในเชิงชื่นชมก็ตาม ก็อาจล้วนสร้างความรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยว่ามีเหตุผลอะไรถึงได้พูดถึงเรา
แท้จริงแล้ว ข่าวลือก็ถือเป็นหนึ่งในผลผลิตของความอยากรู้อยากเห็นนั่นเอง
มันเกิดจากมุมมองที่ไม่สมบูรณ์ของผู้คน หรือการตีความที่ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงทั้งหมด ซึ่งบางครั้งมันก็อาจสะท้อนอะไรบางอย่างในตัวเรา
แต่หลายครั้งมันก็แค่เป็นเรื่องเติมแต่งที่ขาดความหมาย แต่ถึงอย่างนั้น ความโกรธหรือความไม่สบายใจมันก็ยังคงอยู่
และจะมีวินาทีหนึ่งที่เราดันเกิดคำถามกับตัวเองว่า “แล้วจะไปโกรธทำไม?”
และวินาทีนี้นี่เอง ที่สมองกับหัวใจเริ่มแข่งขันกันทำงาน
ในมุมแรก
“ถ้าข่าวลือนั้นเป็นความจริง เราไม่ควรโกรธสิ เพราะเขาก็พูดถูกแล้ว จะไปโกรธเขาทำไม”
จากนั้นมุมที่สองก็ส่งเสียงขึ้นมาเบา ๆ ว่า “เพราะเรารับความจริงไม่ได้ไง เราถึงได้โกรธ”
ทันใดนั้น มุมที่สามก็ลุกขึ้นมาตบบ่าทั้งสองมุมแรกพร้อมพูดว่า
“พวกเธอจะโกรธคนที่พูดถึงข่าวลือที่เป็นจริงก็ได้นะ แต่สิ่งที่สมควรโกรธที่สุด คือ ข่าวลือที่ไม่เป็นความจริงต่างหาก เพราะมันทำให้เราเกิดความเสียหายได้ทั้งด้านชื่อเสียงและความรู้สึกไง”
“ไม่นะ” เสียงแว่วจากมุมที่สี่ที่นั่งฟังเพื่อน ๆ โต้เถียงกันอย่างเงียบ ๆ ได้แทรกขึ้นมาทันทีหลังมุมที่สามพูดจบ มุมที่สี่หลับตาลงและพูดด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ต่อว่า “ก็ถ้ามันไม่ใช่ความจริง ก็ไม่เห็นต้องโกรธเลย”
สุดท้ายแล้ว จะเป็นความจริงหรือไม่ เราก็มักถูกห้ามไม่ให้รู้สึกโกรธหรือไม่ควรไม่พอใจอยู่ดี…
เราควรโกรธความจริงหรือความไม่จริง
การที่เราจะโกรธหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเจตนาของผู้พูด ไปจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเรา หรือสภาพอารมณ์และอคติเราที่มี ณ ตอนนั้น
ถ้าเรื่องที่เขาพูดเป็นความจริง เราอาจต้องพิจารณาว่าเรื่องนั้นเป็นประเด็นที่ควรปรับปรุงตัวเองไหม
หากเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราพัฒนาตัวเอง การโกรธก็อาจไม่จำเป็น แต่ถ้าเขาพูดความจริงในลักษณะที่ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือทำร้ายจิตใจเรา การโกรธก็อาจเกิดขึ้นได้ และเป็นเรื่องธรรมชาติ
ถ้าเรื่องที่เขาพูดไม่เป็นความจริง และพูดโดยไม่มีเจตนาร้าย เช่น เข้าใจผิดหรือไม่รู้จริง การโกรธอาจไม่ช่วยอะไร
หากเราสะดวกก็ควรชี้แจงให้เขาเข้าใจ แต่ถ้าเขาตั้งใจพูดโกหกเพื่อทำลายชื่อเสียงหรือทำร้ายเรา การโกรธหรือแสดงออกเพื่อปกป้องตัวเองก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผล
หรือไม่งั้น ง่าย ๆ เลย ก่อนที่เราจะให้อารมณ์ความรู้สึกโกรธมาครอบงำจิตใจ
ลองถามตัวเองก่อนว่า การโกรธจะช่วยแก้ปัญหาไหม และเราจะสื่อสารหรือจัดการเรื่องนี้ให้เกิดผลที่ดีขึ้นได้ยังไง
เพราะสุดท้ายแล้ว การควบคุมอารมณ์และใช้เหตุผล จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นในสถานการณ์ที่ยากลำบากซึ่งจะเป็นผลดีต่อตัวเราเอง
ไม่ใช่ว่าห้ามโกรธ เราสามารถเกิดความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ ได้ เพียงแค่เมื่อเกิดความรู้สึกขึ้นแล้ว เราต้องยอมรับอย่างซื่อสัตย์และจัดการความรู้สึกนั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม
รับมืออย่างผู้ชนะ
เหนือสิ่งอื่นใด เราต่างรู้ดีว่าการรับรู้สิ่งต่าง ๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ทั้งหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ได้ก็ตาม หัวใจสำคัญของการรับมือ คือ ความคิดความเข้าใจ
เราจะปล่อยวางเพื่อรักษาความสุขได้โดยการแยกแยะสิ่งที่ควรใส่ใจ เชื่อมั่นในความจริงของเรา ถ้าข่าวลือไม่ใช่ตัวตนของเรา
หรือไม่ได้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ก็ปล่อยให้มันผ่านไป อย่าเอาพลังงานของเราไปเสียกับสิ่งที่ไม่สำคัญ
เพราะการที่เราเลือกให้ค่ากับข่าวลือมากเกินไป นั่นคือ เรากำลังปล่อยให้เสียงของคนอื่นมามีอำนาจเหนือความคิดความรู้สึกเรา
ดังนั้นการเลือกปล่อยวางไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการให้คุณค่าแก่ตัวเอง และเราจะพบว่า โลกภายนอกไม่สามารถทำลายความสุขในใจเราได้
เมื่อเราไม่ปล่อยให้ข่าวลือมากำหนดอารมณ์ของเรา ถึงแม้เราจะควบคุมความคิดคนอื่นไม่ได้เป็นเรื่องปกติ
ขอแค่อย่างน้อยเราควบคุมตัวเองได้และสามารถโอบกอดความสงบ ความเป็นตัวเราได้อย่างแข็งแรงก็พอ
พร้อมกับทำความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ว่า ทุกคนล้วนมีความคิดเห็น ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นก็ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงเสมอไป
ข่าวลือคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติของสังคม ถ้าเรารู้ว่าตัวเองเป็นใครและยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริง
เราจะไม่รู้สึกสะท้านต่อคำพูดของคนอื่น การโกรธหรือพยายามแก้ไขข่าวลือจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเสมอไป เพราะสุดท้าย เวลาจะเป็นตัวช่วยปรากฏความจริงได้เสมอ
“ไม่กล้าไปพบนักจิตวิทยา” ด้วยสังคมที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น การไปพบผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายคนสนใจ แต่พอตัดสินใจจะไปจริง ๆ กลายเป็นว่า กลัว ไม่กล้า
สาเหตุที่ทำให้เกิด ‘ความกลัวการพบผู้เชี่ยวชาญ’ คืออะไร ? จะรับมืออย่างไร ?
สาเหตุของความกลัว “ไม่กล้าไปพบนักจิตวิทยา”
1. ประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ดี
หลาย ๆ คนอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการพบปะกับคนแปลกหน้าหรือ ผู้เชี่ยวชาญ เช่น การถูกตัดสิน หรือการไม่รู้สึกว่าได้รับความเข้าใจจากคนที่เราพบ อาจจะเกิดขึ้น
จากการที่เราเคยเจอกับคนที่ไม่พอใจหรือทำให้เรารู้สึกไม่ดีในอดีต ดังนั้นเมื่อถึงเวลาต้องพบกับผู้เชี่ยวชาญใหม่ ๆ เราจึงเกิดความกลัวหรือความวิตกกังวลที่จะเผชิญหน้า
2. ความรู้สึกกลัวการถูกตัดสิน
บางคนอาจจะมีความกลัวที่จะเปิดเผยตัวตนของตนเองหรือปัญหาส่วนตัวให้กับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือไม่ยอมรับ
ความกลัวนี้มักจะมาจากความไม่มั่นใจในตัวเอง หรือเคยมีประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ดีจากการถูกตัดสินจากคนอื่น เช่น การรู้สึกว่าปัญหาของเราดูไม่น่าสนใจหรือไม่สำคัญต่อผู้อื่น
3. การมองไม่เห็นคุณค่าในการพบผู้เชี่ยวชาญ
บางคนอาจจะคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจจะไม่เข้าใจว่าการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยได้จริง ๆ
การมองไม่เห็นถึงประโยชน์ของการพบผู้เชี่ยวชาญอาจทำให้คนเราตัดสินใจที่จะหลีกเลี่ยงการไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา
4. ความวิตกกังวลในเรื่องของความไม่รู้
บางคนอาจจะไม่กล้าไปพบผู้เชี่ยวชาญเพราะกลัวไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างหรือเกิดอะไรขึ้นระหว่างการพบเจอกับผู้เชี่ยวชาญ
ความไม่รู้เกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ อาจทำให้เรารู้สึกไม่มั่นใจหรือกลัวว่าจะต้องเจอกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
5. ความกลัวการไม่ยอมรับจากสังคม
ในบางกรณี คนบางกลุ่มอาจจะไม่กล้าไปพบผู้เชี่ยวชาญเพราะกลัวการถูกมองว่า “บ้า” หรือ “ไม่ปกติ” โดยเฉพาะในสังคมที่ยังมีการตีตราหรือมีทัศนคติที่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับการปรึกษา
ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจ การที่คนรอบข้างไม่เข้าใจ หรือมองว่าการไปหาจิตแพทย์เป็นสิ่งที่ไม่ปกติ อาจทำให้บางคนไม่กล้าไปพบผู้เชี่ยวชาญ
6. การหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่ไม่สบายใจ
บางคนอาจจะรู้สึกว่าการไปหาผู้เชี่ยวชาญนั้นจะทำให้เราต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ไม่สบายใจ หรือเปิดเผยตัวเองในเรื่องที่อาจทำให้เราเจ็บปวด อาจจะรู้สึกว่า
“ไม่อยากเจาะลึกเรื่องราวในอดีต” หรือ “ไม่อยากเปิดเผยสิ่งที่เจ็บปวด” การที่เรากลัวความรู้สึกเหล่านี้อาจทำให้เราตัดสินใจที่จะไม่ไปพบผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการจัดการ “ไม่กล้าไปพบนักจิตวิทยา”
เมื่อเรามองเห็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่กล้าไปพบผู้เชี่ยวชาญ เราสามารถเริ่มจัดการกับความกลัวและความวิตกกังวลเหล่านั้นได้ โดยการทำความเข้าใจตัวเองและการเตรียมตัวก่อนที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญ
1. ทำความเข้าใจกับความกลัวของตัวเอง
การทำความเข้าใจกับสาเหตุที่ทำให้เรากลัวจะช่วยให้เราเตรียมตัวรับมือกับความรู้สึกนั้นได้ การรู้ว่าความกลัวของเรามาจากประสบการณ์ที่ไม่ดีหรือ
การกลัวการถูกตัดสินจะช่วยให้เราผ่อนคลายมากขึ้น เพราะเราจะรู้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้เรากลัวจริง ๆ
2. หาคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์
การพูดคุยกับคนที่เคยไปพบผู้เชี่ยวชาญแล้วอาจช่วยให้เรารู้สึกมั่นใจขึ้น พวกเขาอาจจะแบ่งปันประสบการณ์หรือให้คำแนะนำในการเตรียมตัวสำหรับการไปพบผู้เชี่ยวชาญ
3. ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน
ก่อนที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญ ควรตั้งเป้าหมายว่าเราต้องการอะไรจากการไปพบ เช่น การเข้าใจตัวเองมากขึ้น การหาทางออกจากปัญหาที่กำลังเผชิญ
หรือการได้รับคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาชีวิตเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้เรามีแรงจูงใจในการตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
4. เริ่มจากการปรึกษาผ่านทางออนไลน์
หากกลัวที่จะไปพบผู้เชี่ยวชาญตัวต่อตัว อาจเริ่มต้นจากการปรึกษาผ่านทางออนไลน์หรือโทรศัพท์ เพื่อให้เราค่อย ๆ ปรับตัวและคุ้นเคยกับการพบผู้เชี่ยวชาญ
5. เปิดใจและมองในแง่บวก
การเปิดใจและมองการพบผู้เชี่ยวชาญเป็นโอกาสในการเติบโตและพัฒนาตัวเองจะช่วยให้เราลดความกลัวและความกังวลลงได้
อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของการไปพบผู้เชี่ยวชาญคือการได้รับการช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหรือการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง
การไม่กล้าไปพบผู้เชี่ยวชาญอาจจะเกิดจากความกลัว ความวิตกกังวล หรือประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ดี แต่การจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้
และการทำความเข้าใจตัวเองจะช่วยให้เราก้าวข้ามความกลัวนั้นไปได้ และสามารถเลือกที่จะได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นและหาทางออกจากปัญหาชีวิตได้
เข้าใจเรื่อง ความตาย เพศ และ มาตรฐานความงามของสังคม ผ่าน หนังสือนิทาน จากสำนักพิมพ์ Bookscape
ความตายของเจ้าหนอนผีเสื้อ
หลังจากที่เราสูญเสียใครสักคนไปเราจะมีหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้น ช็อค โกรธ ขอให้อีกฝ่ายฟื้นขึ้นมา เศร้า ยอมรับ แล้วจึงใช้ชีวิตต่อไปได้
ทั้ง 5 ความรู้สึกนี้เรียกว่า 5 ระยะ การก้าวผ่านความสูญเสีย ซึ่งเมื่อเราสูญเสียใครไป 5 ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้น
มันอาจจะไม่เรียงแต่อาจจะวนแบบสลับกัน แต่สุดท้ายเราก็จะเหมือนเพื่อน ๆ ของหนอนผีเสื้อ
เมื่อเวลาผ่านพ้นไปความเจ็บปวดจะค่อย ๆ ลดลง ถึงมันจะไม่มีวันหาย แต่ความรู้สึกนั้นสักวันนึงก็จะเปลี่ยนไป
เงือกน้อยจูเลียน
เงือกน้อยจูเลียนใช้วิธีการเล่าเรื่องเปรียบเปรย Drag ในเรื่องว่าเป็นแก๊งนางเงือก อาจจะดูธรรมดาแต่แฝงด้วยความหมาย
นอกจากนั้นแล้วหนังสือนิทานเล่มนี้ ชวนให้เราโอบรับความหลากหลาย ความชอบ และสิ่งที่เราเป็น และอยากจะเป็น
คุณแม่มดสวยปิ๊ง !!
แม่มด กับยักษ์ ที่รักกัน จีบกัน สองสิ่งที่แตกต่างแต่รักกันได้ หนังสือเล่มนี้สอนให้เราได้เรียนรู้ที่จะต้องฟังเสียงของตัวเองก่อนเสียงของคนอื่น
และ 2 ประเด็นหลักของนิทานเรื่องนี้ คือ 1. เรื่องของความงามในบิวตี้แสตนด์ดาร์ดที่สังคมตั้งไว้
2. Self- Esteem หรือการมองเห็นคุณค่าในตัวเองการรับรู้ว่าตนเองมีคุณค่าจากการมองตนเอง โดยรวมการเห็นคุณค่าในตนเอง
สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างความมั่นคงให้เรา แล้วเราจะไม่หวั่นไหว ต่อสังคมที่บอกว่า ความสวยต้องเป็นแบบไหน
อุปาทานหมู่ คืออะไร เพราะอะไรคนบางกลุ่มถึงเกิดแสดงอาการบางอย่างเหมือน ๆ คล้ายกับจะติดต่อกันได้ และทำไมมนุษย์ไม่กล้าแตกแถว Learn & Share อีพีนี้
ขอชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ “อุปทานหมู่” ที่ว่ากันว่า เป็นโรคติดต่อทางจิตวิทยา
อุปาทานหมู่ คืออะไร
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งมีความค่อนเกี่ยวกับจิตสังคม คือ มักจะเกิดขึ้นกับบุคคลตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ในกรณีที่กลุ่มบุคคลนั้นมีความคิด ความเชื่อว่าตนเผชิญปัญหาเดียวกันจึงแสดงอาการออกมาแบบเดียวกัน
ซึ่งถ้าทำการตรวจทางการแพทย์ ก็จะไม่พบสิ่งผิดปกติทางร่างกายที่อธิบายอาการต่าง ๆ เหล่านี้ได้ สาเหตุอาจเกิดจากความเครียดหรือ ความกดดันทางใจ
ยกตัวอย่าง ในยุคกลาง เป็นยุคที่มีความตึงเครียดทางศาสนาสูง เรื่องความเชื่อทางสาสนามีอิทธิพลต่อคนมาก บวกกับช่วงนั้นโรคระบาดและความคลาดแคลนทางอาหารก็สูง
คนเครียดกันมาเป็นเวลานาน และแล้วก็มีหมู่บ้านหนึ่งที่อยู่ ๆ ก็เป็นโรคหยุดเต้นไม่ได้ จะเต้นอยู่อย่างนั้นจนเป็นลม แล้วก็ติดต่อกัน (คำอธิบายนึงก็คือในหมู่บ้านนี้นับถือ St. Vitus ที่เชื่อกันในหมู่บ้านว่าสั่งให้คนเต้นได้)
อุปาทานหมู่ โรคติดต่อทางจิตวิทยา ?
หากอิงตามคู่มือการแพทย์อย่าง DSM-5 ไรเงี่ยก็ยังไม่ใช่โรค เป็น Conversion Cisorder = เป็นภาวะที่อารมณ์ส่งผลต่อร่างกายโดยที่ไม่มีสาเหตุทางกายภาพ
เป็นอาการทางจิตที่ทำให้ร่างกายแสดงออกเหมือนมีปัญหาจริง ๆ ทั้งที่ร่างกายไม่มีอะไรผิดปกติ
จากข้อมูล British historian and Fortean researcher Mike Dash ศึกษาพบว่ามีองค์ประกอบ 6 ข้อที่บ่งชี้ว่าเกิดกรณี อุปาทานหมู่ขึ้น
1. มีปัจจัยเหนี่ยวนำ เช่น ความเชื่อในท้องถิ่น
2. การแพร่กระจายของข้อมูล ความเชื่อ
3. ขาดความเชื่อถือในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดการรับและการแปลข้อมูลที่ผิด
4. ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นที่แต่ละภูมิภาคนับถือ
5. ถูกกระตุ้นจาก 1 คนเป็น 2 คน และเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
6. การระบาดของอาการอย่างผิดปกติ จนต้องมีหน่วยงานเข้าไปดูแล เพราะอุปทานหมู่จะเกิดเมื่อคนหนึ่งเจ็บป่วยหรือมีภาวะเครียด
ซึ่งคนอื่นก็จะแสดงอาการคล้าย ๆ กันออกมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัว
อุปาทานหมู่ ไม่ใช่โรคติดต่อทางจิตวิทยา ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นอาการที่เกิดจากความคิด ความเชื่อ “แพร่ระบาดทางความคิด”
ซึ่งวิธีรักษาก็คือ แค่นำคนเหนี่ยวนำหรือตัวกระตุ้น ออกจากกลุ่มจนกว่าอาการจะปกติถึงจะนำกลับเข้าสังคมได้ ถ้าภาษาทางจิตวิทยา คือ
การทำจิตบำบัดนั่นเองค่ะ เพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงและแก้ได้อย่างตรงจุด อาการก็จะดีขึ้นไว
ทำไมมนุษย์ไม่กล้าแตกแถว
ทฤษฎี Peer pressure หรือ ความกดดันทางสังคม
โซโลมอน แอช เคยทำการทดลองเกี่ยวกับการให้หน้าม้าหลาย ๆ คนตอบคำถามผิดติดต่อกันเพื่อดูว่าผู้ร่วมทดลองจะตอบผิดด้วยมั้ย
ปรากฏว่า เกินครึ่งตอบผิดตามหน้าม้าถึงจะเห็นอยู่แล้วว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไรแต่ก็เลือกที่จะตอบผิดตาม แต่อีกห้องที่ไม่มีหน้าม้า กลับตอบถูกตามสิ่งที่ตัวเองเห็นปกติ
แอชจึงสรุปว่าความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของมนุษย์ มากกว่าหลักฐานที่เป็นรูปธรรม
หลังการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองเขาก็บอกว่า กลัวจะแปลกแยกถ้าตอบต่างจากคนอื่น ถึงแม้จะไม่ได้เชื่อหน้าม้าแต่ก็ยอมผิดตาม
ยิ่งถ้าจำนวนคนที่เชื่อมั่นในสิ่งหนึ่งมากเท่าไร เราที่อยู่ในสังคมนั้นก็จะเชื่อตาม เพียงแต่ไม่ได้มีอาการทางกายอะไรที่แสดงออกมาชัดเจนเหมือนอุปาทานหมู่
ที่มา :
(Mass hysteria) คืออะไร? – นิตยสารสาระวิทย์ โดย สวทช.
โซโลมอน แอสช์ : ทำไมมนุษย์จึงไม่กล้าแตกแถว แม้เดินบนเส้นทางที่ผิด
ความยากของนักจิตวิทยา หนึ่งคำถามสำคัญของสายอาชีพเกี่ยวกับสุขภาพจิต คือ การทำงานเป็นนักจิตวิทยามีความยากอย่างไร ? ต้องพบเจอเรื่องราวแบบไหน ?
หาคำตอบได้จาก Alljit x คุณวันเฉลิม คงคาหลวง นักจิตวิทยาการปรึกษา
ความยากของนักจิตวิทยา สำคัญที่สุดไม่ใช่แค่การจัดการกับเคสของคนอื่น แต่คือการจัดการกับตัวเอง
และต้องสามารถแยกแยะความรู้สึกของเราออกจากความรู้สึกของผู้ที่เรากำลังช่วยเหลือ
เพื่อที่จะทำงานได้เต็มที่ในทุก ๆ วินาที การฝึกฝนและ การทำงานกับตัวเองอย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญในการประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ โดยการมี 3 ตัวตนในการทำงาน
1.ตัวตนที่รับฟังเคส
2.ตัวตนที่รับรู้ความรู้สึกของตัวเอง
3. ตัวตนที่วิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดูแลทั้งตัวเองและเคสได้อย่างสมดุล
ความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างเต็มที่ในทุก ๆ เคสแต่ถ้าเราเข้าใจและรับรู้คุณค่าในความเหนื่อยนั้น พร้อมกับการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
ความเหนื่อยและความยากที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้เราหมดแรง แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่ช่วยให้เราเติบโตและมีความสุขในอาชีพนี้
แม้จะเหนื่อยและเครียดจากการทำงาน แต่ก็มีความสุข จากการได้เห็นคนที่เราช่วยเหลือเติบโตและเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับความรู้สึกของตัวเองได้
นี่คือลักษณะของความสำเร็จ ที่ไม่วัดจากผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่วัดจากการเติบโตทางอารมณ์และ จิตใจของผู้เข้ารับคำปรึกษา
ความยากในการทำงานด้านจิตวิทยา คือ การเข้าใจความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น และการเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้เต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด
สิ่งที่สำคัญในการทำงานในอาชีพนี้คือการมี Awareness ในทุกช่วงเวลาที่ทำงาน เราต้องสามารถแยกแยะระหว่างความรู้สึกของตัวเองและของคนที่เราทำงานด้วย
ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเผชิญหน้ากับความยากของแต่ละเคสได้โดยไม่ให้ความรู้สึกส่วนตัวมารบกวน นอกจากนี้ การฝึกฝนและเรียนรู้จากประสบการณ์จริงจะทำให้สามารถพัฒนาตัวเอง