มูฟออนเป็นวงกลม คำที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ แล้วทำไมบางคนยังไม่สามารถก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ที่เจ็บปวดได้สักที? หรือเรากำลังตกอยู่ใน ” Trauma Bonding ” อยู่กันนะ?
Trauma Bonding ความผูกพันอันเจ็บปวด
ทำไมเราถึงไม่มูฟออนจากคนที่ทำให้เราเจ็บได้สักที?
หลายคนพบเจอกับความรักหรือความสัมพันธ์ที่เจ็บปวด มีแต่การทำร้ายกัน ถึงแม้จะรู้แต่เราก็ยังไม่ไปไหน เป็นเพราะอะไร?
มีเหตุผลหลายอย่างที่บอกได้ว่า เพราะอะไรเราถึงมูฟออนจากคนที่ทำให้เราเจ็บปวด ความสัมพันธ์แย่ ๆ ที่กระทบชีวิตไม่ได้
1. ความรัก
ทัศนคติของคนเรามี 3 องค์ประกอบ คือ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม หลายครั้ง 3 องค์ประกอบอาจจะขัดแย้งกัน เช่น ถ้าเราตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ Toxic
ความคิดของเราอาจเป็นลบ เราอาจจะคิดว่าแฟนไม่ดีสำหรับเรา แต่ความรู้สึกของเราอาจจะยังดีอยู่ เราอาจรักคู่ของเราต่อไป ไม่ออกมาจากเขา ถึงแม้ว่าเราจะรู้ดี
หรือด้วยวามรักที่มีเราอาจจะหาข้อเเก้ตัวให้เขา ว่าเขามีข้อดีอย่างอื่น เวลาอื่นเขาก็โอเคดีนะ พอเรารักใคร ฮอร์โมนในร่างกายจะหลั่งและทำงานเป็นระบบระเบียบ
สมองคนที่มีความรักจะเหมือนสมองคนที่เสพยา คนมีแฟนตัดความสัมพันธ์เปรียบเหมือนคนติดยาเลิกยา ซึ่งจะทำให้เกิดความทรมาน ทำให้หลายคนเลือกที่จะอยู่
2. กลัวการเปลี่ยนแปลง
เพราะมีหลายอย่างต้องได้รับผลกระทบ การที่คนคนนึงอยู่ในความสัมพันธ์นั้นนาน ๆ อาจจะมีความกลัวการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หลังจากนั้นจะเป็นยังไง จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม
หลายคนคิดว่า ถ้าสูญเสียตอนนี้คงพัง คงยอมรับการสูญเสียใครสักคนไปไม่ได้แน่ ๆ เลยเลือกที่จะอยู่ต่อ ถ้าอธิบายให้เห็นภาพ เราเดาได้ไงว่าถ้าอยู่กับคนนี้เราจะเจอความทุกข์แบบไหนบ้าง
แต่ถ้าจบความสัมพันธ์ เราไม่รู้ว่าเราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง ความเศร้า ความเหงา หรือว่าคนใหม่จะแย่กว่านี้หรือเปล่า เพราะงั้นคนเรามักกลัวความไม่รู้ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ
3. มีความหวังลึกๆ ว่าจะได้รับการปลอบโยนจากคนๆ เดียวกันที่ทำร้าย
แต่มันเป็นการรอที่ไม่มีจุดหมาย เพราะเราไม่รู้ว่าเราต้องรอไปจนถึงเมื่อไหร่ ในทางจิตวิทยาการเรียนรู้ แบบนี้เป็นการเรียนรู้แบบหนึ่งเหมือนกัน เราที่เรารอโดยที่เราไม่รู้ว่าจะได้ตอนไหน
จริง ๆ แล้วมันจะทำให้เราเกิดพฤติกรรมการรอได้มากกว่าเรารู้อีกนะว่าจะเกิดขึ้นแบบไหน มันก็เป็นกลไกหนึ่งของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ แล้วเคยสังเกตไหม? ว่าเวลาเราเสียใจกับใครสักคนนึง
เพื่อนเราปลอบแทบตาย เรายังรู้สึกว่ามันไม่สุด ยังไม่หาย แต่ถ้าคน ๆ นั้นมาขอโืษหรือมากอดโอ๋เรา หลาย ๆ ครั้งมันหาย เพราะลึก ๆ แล้วเราอยากได้รับสิ่งนั้นจากคนนั้นที่ทำกับเรา
4. พอใจกับความสัมพันธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ
หลาย ๆ คนมี Low Self-esteem คิดว่าตัวเองคู่ควรกับความสัมพันธ์ที่ไม่ดี เข้าใจว่าการข่มเหงคือการแสดงออกถึงความรัก เพราะตอนเด็กอาจจะเคยถูกข่มเหงมาก่อน
คนที่มี Low self-esteem จะออกมาจากความสัมพันธ์ไม่ได้ เหตุผลมีได้หลายแบบมาก เช่น เราไม่เชื่อว่าเราสมควรได้รับสิ่งดี ๆ เราหลุดจากคนนี้ไปเราคงหาใหม่ไม่ได้
ทำให้หลายคนยอมอยู่ในความสัมพันธ์แย่ ๆ คำพูดหนึ่งจากภาพยนตร์บอกว่า you get the love you think you deserve เราจะได้รับความรักที่เราคิดว่าเราสมควรได้รับ
5. ผลประโยชน์และความจำเป็น
อันนี้พบเจอได้บ่อย ในคนที่เริ่มสร้างครอบครัว สร้างธุรกิจ หรือว่ามีเรื่องการเงินหรือลูกมาเกี่ยวข้อง ทำให้แบ่งกันได้ยาก หาจุดที่ลงตัวไม่ได้ หลาย ๆ ปัญหาในคู่รักที่แต่งงานแล้ว
คำหนึ่งที่ได้ยินบ่อย ๆ อยู่เสมอคือ ‘อยู่เพื่อลูก’ ทั้งที่ลูกอาจจะไม่ได้โอเคเลยก็เป็นไปได้ พอพูดถึงความสัมพันธ์ Toxic มันเลยอาจจะไม่ได้ดีเสมอไปที่พยายามจะรั้งกันไว้อย่างนั้น
6. ภาวะทางจิตใจที่มีปัญหา
สำหรับคนที่มีภาวะทางจิตใจบางอย่าง เช่น โรคซึมเศร้า การต้องเจอกับความสูญเสียครั้งใหญ่ อย่างการจบความสัมพันธ์จะเป็นเรื่องยากมาก
7. กลัวการสูญเสีย
แม้ว่าเราจะต้องการหรือไม่ต้องการสิ่งนั้น พอเชื่อมโยงกับเรื่องการอดทนกับความสัมพันธ์ Toxic แล้ว เท่ากับว่า ถึงเราจะรู้ว่าตัวเองไม่อยากได้ความสัมพันธ์แบบนี้
เราไม่ชอบคนที่ทำร้ายเรา นอกใจเรา แต่เรายอมอยู่ เพราะเราแค่กลัวการสูญเสีย เท่านั้นเลย ซึ่งเหตุผลนี้ใช้อธิบายอาการหวงก้างได้ด้วย หมาหวงก้าง ตรงตัวคือ
เราหวงในสิ่งที่เราเองไม่ได้ต้องการด้วยซ้ำ แต่เราแค่ไม่อยากเสียไป ทั้งที่เราไม่ได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของสิ่งนั้นตั้งนานแล้ว อันนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์อีกอย่างหนึ่ง
8. กลัวความโดดเดี่ยว
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จากหนังสือ เหตุเกิดจากความเหงา บอกว่า ‘ทุกสิ่งมีชีวิตมีความเหงา’ ถ้าเรานิยามว่าความเหงาคือความรู้สึกโดดเดี่ยวที่ผลักดันให้ไปหาพวก
เขาบอกว่าขนาดแบคทีเรียยังต้องหาอีกตัวมาจับกันเลย มนุษย์เราเหมือนกัน ต้องหาสังคมหาพวกอยู่ตลอด เพราะความเหงาถูกฝังอยู่ในตัวทุกคน เพื่อให้เราไปหากลุ่ม
เราจะได้อยู่รอด การกลัวความเหงาและโดดเดี่ยวเป็นอีกเหตุผลหนึ่งได้เหมือนกันที่จะทำให้เรายอมอยู่ในความสัมพันธ์ เพราะเราคิดว่า “ยังไงการมีคนข้าง ๆ ก็ดีกว่าไม่มี”
Trauma Bonding ความผูกพันอันเจ็บปวด คืออะไร?
ความผูกพันอันเจ็บปวดเป็นความผูกพันที่สร้างขึ้นโดยความบอบช้ำทางร่างกายหรืออารมณ์ซ้ำๆ แต่ก็มีช่วงเวลาที่ดีเป็นระยะ พูดง่ายๆ คือ ในความสัมพันธ์แบบ Trauma Bonding
จะมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นมากมายและบางครั้งก็มีเรื่องที่ดีเกิดขึ้นสลับวนเวียนไป ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบของ Toxic Relationship คนที่ตกอยู่ในความสัมพันธ์นี้ จะผูกพันกับ Abuser
จากที่หาข้อมูลมา หลาย ๆ แหล่ง เขียนไว้แนวเดียวกันเลย จุดหลักคือการที่เรายอมตกอยู่ในความสัมพันธ์แย่ ๆ เพราะรู้สึกรักและผูกพันกับคนที่ทำร้ายเรา และที่สำคัญเลยก็คือ
Trauma bonding เชื่อมโยงกับ Stockholm Syndrome เป็นกลไกป้องกันตัวเอง เวลาถูกกักขังหรือถูกทำร้าย คนเราจะพัฒนาความรู้สึกดีต่อคนที่กักขังหรือทำร้ายเรา มีหลายแบบ
Stockholm Syndrome มีที่มาจากคดีที่ผู้หญิงคนหนึ่งพัฒนาความรู้สึกผูกพันต่ออาชญากร ถึงขนาดที่ถอนหมั้นกับชายคนใหม่ เพราะซื่อสัตย์ต่ออาชญากรคนนั้นที่ถูกจับเข้าคุก
สมองบอกอย่างหนึ่ง แต่หัวใจบอกอีกอย่างหนึ่ง มีจริงไหม?
ด้วยความที่ Trauma bonding มาพร้อมกับ Toxic Relationship เคยไหมที่เรายอมอยู่ในความสัมพันธ์ Toxic ทั้งที่รู้ว่าการอยู่ต่อไป มีแต่จะส่งผลเสีย เช่น บางคนโดนแฟนทำร้าย
นอกใจ ซ้ำไปซ้ำมา แต่ยังเลือกที่จะอยู่ หลายคนอาจจะเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า ‘สมองบอกอย่าง หัวใจบอกอย่าง’ หลายคนเลือกทางที่หัวใจบอก เพราะรักเลยไม่ไปจากเขา
โพสต์จากเพจหมอตุ๊ดค่ะ ผู้เขียนบอกว่า สำหรับเขา ไม่มีหรอก ‘สมองบอกอย่าง หัวใจบอกอีกอย่าง’ มีแต่ ‘ความจริงบอกอย่าง จินตนาการบอกอีกอย่าง’ เช่น จินตนาการบอกว่า
‘สักวัน เราจะเป็นคนเดียวของเขา’ แต่ความจริงบอกว่า ‘ตอนนี้เขาไม่ได้มีเราคนเดียว’ เพราะงั้นไม่มีเสียงจากสมองหรือหัวใจหรอก มีแค่การใช้จินตนาการกลบความจริงเท่านั้นเอง
อีกอย่าง หลาย ๆ คนมักมองว่า เรามีทางเลือก นี่ไง มีสมองทางหนึ่งกับหัวใจทางหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้ว หลาย ๆ ปัญหามีทางเดียวคือ ‘ทางของความจริง’ มันเป็นอย่างที่มันเป็นแบบนี้
เราเลือกได้แค่ว่า เราจะตัดสินใจทำอะไรต่อจากนั้น อย่างเคสที่ยกตัวอย่างมา ความจริงคือเขานอกใจ งั้นเราเลือกที่จะเก็บเวลาและความรักที่มีค่าไปพยายามกับคนอื่นดีกว่าไหม?
คิดว่าเป็นโพสต์ที่อธิบายให้เห็นภาพของ Trauma bonding ได้ดีเลย ว่าทำไมเราถึงยังอยู่ บางครั้งลองถามตัวเองดู ว่าเราอยู่ได้เพราะจินตนาการ อยู่ได้เพราะการหลอกตัวเองไหม?
รีเช็ค Trauma Bonding เราอยู่ในความผูกพันอันเจ็บปวดหรือเปล่า?
จาก Website Well and Good และ Mindbodygreen
1. ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว
2. รู้สึกสนิทกันมากทั้งๆ ที่รู้จักกันไม่นาน
3. คุณยอมเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่สำหรับความสัมพันธ์ที่พึ่งเกิดขึ้น
4. คุณทุ่มเทเวลาและความพยายามให้กับความสัมพันธ์ที่โรแมนติกโดยแลกกับความสัมพันธ์อื่นๆ
5. คุณรู้สึกกลัวอย่างมากที่จะออกจากความสัมพันธ์
6. คุณรู้สึกว่าเขาเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการของคุณได้
7. มองข้ามด้านแย่ ๆ ในความสัมพันธ์
8. เข้าข้างคู่รัก ถึงจะรู้อยู่แก่ใจว่าเขามีพฤติกรรมที่ไม่ดี
9. หลีกเลี่ยงการเปิดใจหรือพูดสิ่งที่อยู่ในใจ
10. พยายามซื่อสัตย์และภักดีกับคู่รัก ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดอันตราย
7 Stages of Trauma Bonding
1. รักหอมหวาน (Love Bombing)
Love Bombing เกี่ยวข้องกับการสาดความรักใส่กันในช่วงเเรกผ่านการยกย่องและหลงใหลอีกฝ่ายมากเกินไป เพื่อให้อีกฝ่ายในความสัมพันธ์ลดความระมัดระวังและไว้วางใจ
2. ความไว้ใจและการพึ่งพา (Trust and Dependency)
เขาจะสร้างอาจจะสร้างความไว้ใจและการพึ่งพาของเรา โดยการยอมทุ่มเททำทุกสิ่งทุกอย่างให้ จนเกิดความรู้สึกไว้ใจและผูกติด
3. การตำหนิ (Criticism)
เมื่อได้รับความไว้วางใจแล้ว เขาจะเริ่มตำหนิพฤติกรรมหรือนิสัยของเรา คำวิจารณ์ของเขาอาจเริ่มทันทีหลังจาก Love Bombing
4. บงการและโยนความผิด (Manipulation and Gaslighting)
Gaslighting เป็นรูปแบบของการล่วงละเมิดทางจิตใจฃ ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อตั้งคำถามถึงความเป็นจริงและการรับรู้ของพวกเขา Gaslighter จะไม่รับผิดชอบต่อความผิดของตัวเอง
5. ยอมจำนน (Resignation & Giving Up)
เมื่อต้องรับมือกับความบอบช้ำทางจิตใจ เราจะเริ่มยอมแพ้ในบางจุดเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ยอมคิดหรือทำทุกอย่างแบบที่เขาต้องการ
6. สูญเสียตัวตน (Loss of Self)
ในระยะนี้จะเกี่ยวกับการสูญเสียตัวตน เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาจเกิดความบอบช้ำทางจิตใจและหลุดจากโลกที่เราเคยรู้จัก สูญเสียเอกลักษณ์และขอบเขตส่วนตัว
7. เสพติด (Addiction to the Cycle)
ในช่วงเวลาแห่งนี้เขาจะขอโทษและเริ่ม Love Bombing อีกครั้ง หรือกลับกัน เขาอาจจะแสดงออกว่าไม่ใส่ใจ ไม่รัก ไม่คุย ไม่สน เพื่อกดดันให้เราขอโทษ
Trauma Bonding ความผูกพันแบบนี้ ส่งผลยังไง?
1. กลืนกินตัวตน
2. ยากที่จะปฎิเสธและเดินออกมาจากความสัมพันธ์
3. ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล
4. ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทั้งทางใจและร่างกาย
เมื่ออยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ รับมืออย่างไรดี?
1. ขอความช่วยเหลือ
– เพื่อนและครอบครัว : คนที่เราไว้ใจคือคนของเรา เราจะมีแรงสนับสนุนที่แข็งแกร่ง
– Support Group : บางคนได้รับประโยชน์จากคนที่ประสบอะไรเหมือน ๆ กัน
– ผู้เชี่ยวชาญ : การเปิดใจกับคนที่เป็นมืออาชีพสำหรับบางคน จะง่ายกว่าและช่วยได้จริง
2. ทบทวนตัวเอง
– ต้องดูก่อนว่า เราต้องการอะไร? เราอยากได้ความสัมพันธ์แบบไหน?
– พอสำรวจตัวเองดีแล้ว ลองตัดสินใจว่าเราควรจะจบความสัมพันธ์นี้ไหม? มีสองทางคือ ไม่ปรับกันก็เลิกกัน
– แล้วเราจะทำยังไงต่อไป? ถ้าเลือก ‘ปรับกัน’ คงต้องหาวิธีสื่อสาร หาตรงกลาง หรือถ้าเลือก ‘เลิกกัน’ เราจะจบความสัมพันธ์นี้ให้ได้ ต้องทำยังไง?
ถ้าตอนนี้มีปัญหา จะมีวันหนึ่งที่ทุกอย่างดีขึ้นหรือผ่านไปแน่นอน อย่ายอมแพ้นะ 🙂
ที่มา :
Stockholm Symdrome
The 7 Stages of Trauma Bonding
6 Reasons Why We Stay in Bad Relationship
How to Tell if You are in a Trauma Bonding Relationship- And What To Do About It
What is a Trauma Bonding? 5 Signs & How to End the Abusive Relationship Dynamic
Post Views: 3,106