Victim Blaming การต่อว่า การตัดสิน การกล่าวโทษเหยื่อ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมเพราะอะไร มาหาคำตอบกับรายการพูดคุย Alljit x คุณวันเฉลิม คงคาหลวง นักจิตวิทยา
Victim Blaming คืออะไร ?
การที่สังคม หรือใครบางคน โยนความผิดไปให้กับผู้ที่ถูกกระทำ แทนที่จะมองว่าใครเป็น “ผู้กระทำผิด” จริง ๆ เป็นการอธิบายหรือสรุปเหตุการณ์ว่า
“เพราะเหยื่อทำแบบนั้นจึงสมควรถูกกระทำ” ซึ่งเป็นการซ้ำเติมจิตใจของผู้ที่กำลังบอบช้ำ ตัวอย่างเช่น :
– “ก็แต่งตัวโป๊ขนาดนั้น ไม่แปลกหรอกที่จะโดนล่วงละเมิด”
– “ก็ยังทนอยู่กับสามีที่ชอบทำร้ายตัวเอง จะโทษใครได้”
– “ไม่พูด ไม่โวยวาย ก็สมควรโดนแล้วแหละ”
ในมุมของคุณนักจิตวิทยา การพูดแบบนี้ไม่ใช่การเตือน ไม่ใช่การวิเคราะห์ แต่คือ การกล่าวโทษ อย่างชัดเจน เพราะมันอิงอยู่บนความคิดว่า”เหยื่อมีส่วนทำให้เรื่องร้ายเกิดขึ้น” ซึ่งไม่เป็นธรรม และทำร้ายจิตใจอย่างลึกซึ้ง
มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
แนวคิดของ การกล่าวโทษเหยื่อ มักเกิดจากระบบความเชื่อที่ฝังรากลึก เช่น ความเชื่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่า ถ้าที่คุณโดนกระทำรุนแรง แสดงว่าคุณต้องมีพฤติกรรมหรือบุคลิกบางอย่างที่ทำให้สมควรโดน แนวคิดนี้อันตราย เพราะ
– มัน ลดความรับผิดชอบของผู้กระทำผิด
– และ สร้างแรงกดดันต่อผู้ถูกกระทำ ให้รู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ
เส้นบาง ๆ ระหว่าง “การวิเคราะห์” กับ “การกล่าวโทษเหยื่อ”
– การวิเคราะห์เหตุปัจจัย เช่น การเข้าใจว่าเหยื่ออาจเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เปราะบาง หรืออยู่ในความสัมพันธ์ที่มีอำนาจไม่เท่ากัน
– การ กล่าวโทษเหยื่อ เช่น การพูดว่า “ก็ทนอยู่เองนี่นา ก็สมควรแล้ว” การวิเคราะห์ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ แต่การกล่าวโทษเหยื่อเป็นการตัดสินและซ้ำเติม
ทำไม Victim Blaming ถึงไม่ควรเกิดขึ้น ?
1. บั่นทอนจิตใจของเหยื่อ
– เหยื่อจำนวนมากมีความรู้สึกผิดต่อตัวเองอยู่แล้ว
– การถูกกล่าวโทษซ้ำจากคนอื่น ยิ่งทำให้เขาไม่กล้าเปิดเผย หรือขอความช่วยเหลือ
2. ทำให้เหยื่อโทษตัวเอง
– เสียงจากสังคมกลายเป็น “เสียงในใจ” ที่ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าตัวเอง “สมควรโดน”
– นำไปสู่การสูญเสียความมั่นใจและความรู้สึกมีคุณค่า
3. ส่งผลต่อสุขภาพจิต
เหยื่อที่ถูกต่อว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเข้าสู่ภาวะ:
– Low Self-Confidence
– Low Self-Esteem
– Depression
– และในบางรายอาจพัฒนาเป็น Major Depressive Disorder
สิ่งสำคัญที่สุดคือ สังคมควรเรียนรู้ที่จะ รับฟังและเข้าใจ ไม่ใช่ “ด่วนตัดสิน” ว่าใครผิดใครถูก เพียงจากภาพที่เห็นหรือประโยคที่ได้ยิน
เราไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินว่าใครสมควรเจออะไร
แต่เรามี “หน้าที่” ที่จะทำความเข้าใจ และทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น
บทความอื่น ๆ ที่ Alljit Blog
Post Views: 11