ความเครียด กับ ความเครียดในวัยรุ่น ถ้ามองผิวเผินอาจจะคิดว่า ความเครียด เหมือนกันแต่แท้จริงแล้วแตกต่างกัน ด้วยช่วงวัยของวันผู้ใหญ่อาจจะควบคุมและจัดการแก้ปัญหาเรื่องความเครียดได้มากกว่าวัยรุ่น
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ
ความเครียดที่แตกต่างกันด้วยช่วงวัย และทำความเข้าใจกับความเครียดของวัยรุ่นเพื่อการอยู่ร่วมกันของวัยผู้ใหญ่กับวัยรุ่น
ความเครียดในวัยรุ่น เกิดจากอะไรได้บ้าง?
ความเครียด เกิดจากความกลัว กลัวผิดหวัง กลัวไม่ประสบความสำเร็จ กลัวสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิต โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่ย้ายบ้าน เปลี่ยนโรงเรียน ปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่
การเปลี่ยนผ่านของช่วงอายุทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้
ความเครียดในวัยรุ่น เป็นอย่างไร?
1. การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ในเด็กบางคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องแปลก ทำไมเพื่อน ๆ ยังไม่เห็นเปลี่ยนแปลงเหมือนเรา จนไม่รู้ว่าจะต้องวางตัวอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างตนเอง ในบางคนจะรู้สึกเครียดกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
2. ความรัก ในเด็กบางคนไม่รู้ว่าอะไรคือการแสดงออกที่เหมาะสม จะต้องวางตัวอย่างไรกับเพศตรงข้าม หรือรับมืออย่างไรกับอารมณ์ทางเพศของตัวเอง จนเกิดเป็นความเครียดและวิตกกังวลขึ้น
3. ต้องการการยอมรับจากสังคม อยากมีเพื่อนเยอะ ๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม เมื่อไหร่ที่เพื่อนไม่สนใจจะเริ่มเครียดทันที ความเครียดของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนมีการรับรู้และแปลความกับเรื่องที่เกิดขึ้นต่างกัน ในบางคนเครียดเรื่องเรียน บางคนเครียดเรื่องความรัก
ความเครียดในวัยรุ่นส่งผลกระทบอย่างไรเป็นอย่างไร?
1. การเข้าสังคม เด็กวัยรุ่นจะเริ่มสร้างสังคมของตัวเอง เขาจะใช้เวลาอยู่กับเพื่อน ในโรงเรียนมากถึง70 % ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวเพียง 30% ซึ่งถ้าหากเขาเกิดความเครียด จะเกิดความลำบากในการอยู่กับเพื่อนเด็กบางคนจะเครียดจนรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน หรือในบางคนก็ไปกระทบต่อผลการเรียน
2. ภาวะอารมณ์ เมื่อเกิดความเครียดจะนำไปสู่ความรู้สึกต่าง ๆ เช่น เสียใจ โกรธ เศร้า เบื่อ โมโห หรือความกลัว
3. การจัดการปัญหาที่เข้ามา เมื่อไหร่ก็ตามที่วัยรุ่นเครียด มักหาทางออกความเครียดในลักษณะที่ผิด โดยการไปอยู่กับเพื่อนเยอะ ๆ หรือแสดงออกด้วยความก้าวร้าว หันไปดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด
วิธีแก้ไขความเครียด
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าเราอยู่ในความเครียด สังเกตว่าเราคิดวนไปมากับเรื่องอะไรอยู่หรือไม่ จากนั้นหาสาเหตุว่าเครียดเพราะอะไร เช่น แฟนบอกเลิก,เพื่อนพูดไม่ดีด้วยหรือการเรียนตก
จากนั้นก็ต้องจัดการกับความเครียดนั้นตามสถานการณ์ที่เราต้องการให้เป็น
เพื่อนไม่ยอมรับทำยังไงดี?
ก่อนอื่นต้องมองหาก่อนว่าจำเป็นไหมที่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกคน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะไม่สนใจเรา แต่เราอาจกำลังโฟกัสไปกับคนที่ไม่สนใจเราอย่างเดียว
จริง ๆ แล้วเราสามารถมองหาเพื่อนจากที่อื่นได้ นอกจากเพื่อนในห้องเรียน ลองมองหาทางเลือกอื่น ๆ ดูมากกว่าจดจ่อกับเพื่อนแค่กลุ่มเดียว
สื่อสารกับผู้ใหญ่อย่างไรดีว่าเรากำลังเครียด?
1. ทำความเข้าใจความรู้สึกตัวเองก่อน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา เราเครียดเรื่องอะไร มีอาการอะไรเกิดขึ้นบ้าง เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจตัวเอง เราจะสามารถอธิบายกับครอบครัวได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
2. เลือกบุคคลที่จะเข้าไปพูดด้วย โดยเลือกจากบุคลิค ความไว้ใจ หรือการตอบสนองต่อเรื่องที่เกิดขึ้น หากไม่สามารถคุยกับคนในครอบครัวได้ ลองมองหาไปที่บุคคลอื่นได้ เช่น เพื่อน อาจารย์ เป็นต้น
3. บอกเล่าถึงสิ่งที่เราต้องการแก้ไข เช่น การพาไปพบนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพราะในบางปัญหา พ่อแม่อาจไม่สามารถแก้ไขให้เราได้
วัยรุ่นอกหัก บอกผู้ใหญ่ยังไงไม่ให้ท่านมองว่าไร้สาระ?
เราสามารถบอกถึงอารมณฺ์และความรู้สึกของเราได้ โดยสะท้อนให้เขาเห็นว่าเรื่องนี้มีผลต่อความรู้สึกเราอย่างไร เราเจ็บอย่างไร เรากำลังคิดอะไรอยู่ หากท่านไม่เข้าใจ
เราต้องยอมรับและอาจหลีกเลี่ยงการไปปรึกษาเขาอีก
ครอบครัวกดดันเรื่องเรียนทำอย่างไรดี?
เราสามารถชี้เเจ้งกับเขาได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เช่น ตอนนี้กำลังพยายามอ่านหนังสือสอบอยู่นะ พยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหาอยู่เพราะอยากให้เกรดออกมาดี
บอกกับเขาให้ชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามคาดหวังของเขา
Post Views: 5,064