เคยได้ยินประโยค พ่อแม่ รักฉันหรือรังแกฉัน ไหม? เราทุกคนถูกเลี้ยงดูกันคนละรูปแบบ แต่ละครอบครัวจะมีวิธีในการเลี้ยงลูกที่ต่างกันไป
บางคนก็ถูกเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่,ตามใจทุ่มเทหรือแม้แต่เลี้ยงดูโดยใช้ความรุนแรง
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ ไม่ว่าจะถูกเลี้ยงดูในรูปแบบไหน สามารถส่งผลต่อเราในอนาคตได้หรือไม่?
พ่อแม่ มีวิธีเลี้ยงดูลูกด้วยวิธีไหนบ้าง?
หากพูดในเชิงทฤษฎีนั้นมีหลากหลาย ซึ่งการเลี้ยงดูไม่ใช่เพียงการดูแลเอาใส่ใจ แต่คือการตอบสนองต่อความต้องการของคนที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะในวัยเด็กลูกไม่สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้
วิธีการเลี้ยงดูของแต่ละบ้านจะแตกต่างกันออกไป แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์เรียนรู้ได้โดยการมองเห็น เลียนแบบ ทำความเข้าใจ และสำคัญมากกว่านั้น
คือ เรื่องของความสัมพันธ์ในช่วงวัยเด็กของเรา ที่สามารถปรับตัวต่อการอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้
การเลี้ยงดูของ พ่อแม่
รูปแบบที่ 1
เมื่อลูกร้องไห้ ไม่ว่าจะเกิดจากความหิว เจ็บปวด หรือความต้องการบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งเป็นไปตามสัญชาติญาณเด็กจะเรียนรู้ว่า ถ้าเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้น เขาจะร้องไห้เพื่อให้ได้รับการตอบสนองจากผู้ปกครอง
รูปแบบนี้เด็กที่โตขึ้นในอนาคตจะค่อนข้างมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในตัวเอง เช่น อารมณ์ทางมั่นคง มั่นใจในตัวเอง นำไปสู่ความเชื่อใจคนอื่น
เพราะในวัยเด็กถูกเลี้ยงดูมาและถูกเติมเต็มอย่างเต็มที่ เลยมีความรู้สึกว่าคนอื่นก็ไว้ใจได้ เหมือนที่เขาเคยถูกเลี้ยงดูมา
การเลี้ยงดูของพ่อแม่
รูปแบบที่ 2
เลี้ยงดูแบบไม่ได้รับการเติมเต็ม เด็กจะโตขึ้นโดยเป็นคนที่อ่อนไหว เมื่อมีบางอย่างเกิดขึ้นจะรู้สึกไม่แน่ใจ ลังเลว่าดีไหม
โดยส่วนมากเด็กที่ถูกเลี้ยงดูในรูปแบบนี้ โดยพื้นฐานมักจะชอบโทษตัวเอง
เช่น หากฉันเรียนเก่งกว่านี้คงดี หากเรียนเก่งกว่านี้คงเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเกิดจากถูกปูพื้นฐานในการเลี้ยงดูรูปแบบไม่สม่ำเสมอ ต้องการบางสิ่งแล้วไม่ได้ หรือได้บ้างนาน ๆ ครั้ง
หรือถูกเปลี่ยนผู้เลี้ยงดูบ่อย ๆ จะรู้สึกว่าไม่มีคนที่เขาสามารถยึดติดได้ เมื่อโตขึ้นจะรู้สึกว่าไม่สามารถคาดการณ์กับคนรอบ ๆ ข้างไปด้วย
การเลี้ยงดูของพ่อแม่
รูปแบบที่ 3
คือ ถูกเพิกเฉยในความต้องการวัยเด็ก พ่อแม่ไม่ได้สนใจใส่ใจ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ และปล่อยอยู่กับพี่เลี้ยง เด็กเหล่านี้จะโตมาแล้วจะรู้สึกว่าต้องดูแลตัวเอง รับผิดชอบสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
เพราะคนเลี้ยงดูให้เขารับผิดชอบความรู้สึกตัวเองอยู่เสมอ เด็กกลุ่มนี้จะโตขึ้นในรูปแบบ ขี้กลัว กลัวการมีความสัมพันธ์ในเชิงลึก สร้างสัมพันธ์แบบผิวเผิน
ไม่ค่อยไว้ใจใคร คนสนิทด้วยจะน้อยมาก แต่หากสนิทแล้วจะสนิทเลย และไม่สามารถเอาอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองไปผูกติดกับใครได้ รู้สึกว่าทำอะไรด้วยตัวเองสบายใจที่สุด
การเลี้ยงดูของพ่อแม่
รูปแบบที่ 4
คือ โตมาด้วยการถูกทำร้ายไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ เด็กกลุ่มนี้จะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยรู้สึกไม่สามารถเชื่อใจใครได้เลย โตขึ้นมาจะมีโรคต่าง ๆ ตามมา
เพราะการทำงานของสารสื่อประสาทจะค่อนข้างแตกต่างกับคนที่ถูกเลี้ยงดูในรูปแบบอื่น
เมื่อมีสัญญาณบางอย่างที่เคยฝังใจเกิดขึ้นกับเขา เขาจะรู้สึกไม่ปลอดภัยทันที จนเกิดเป็นความหวาดระแวง หรือบางคนเลือกที่จะแสดงพฤติกรรมเดียวกันกับที่เขาเคยเจอมาในวัยเด็กกับคนอื่น เพราะคิดว่าต้องเอาคืน
เด็กที่โตมาก้าวร้าวเพราะอะไร?
เด็กบางคนโตมาในรูปแบบก้าวร้าว ต่อต้าน การควบคุมตัวเองไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่ผิด เพราะประสบการณ์สอนเขามาแบบนั้น เกิดการเลียนแบบจากการที่ถูกเลี้ยงดูมา
เด็กส่วนมากที่โตมาในรูปแบบที่ถูกทำร้าย มักมองโลกในแง่ลบ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อตัวเองไปด้วย มองว่าตัวเองไม่ดี ไม่เก่ง ไม่คู่ควรต่อการเกิดมา
สำหรับเด็กบางคนที่โตมาในครอบครัวที่มีพี่น้อง อาจเกิดเป็นความรู้สึกอิจฉากันได้ หากพ่อแม่เลี้ยงดูคนละรูปแบบ อาจรู้สึกว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า
จนทำให้เขาแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมา เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว
การเลี้ยงดูเป็นสิ่งสำคัญเพราะสัมพันธ์กับตัวเราในอนาคต เรามักได้ยินคำว่า นิสัยเหมือนพ่อ นิสัยเหมือนแม่ ซึ่งคำเหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนได้ว่าล้วนมาจากการเลี้ยงดูทั้งสิ้น
จึงเป็นสาเหตุที่เราต้องให้ความสำคัญกับการเลี้ยงดูมาก ๆ
เพราะนิสัยบางอย่างหรือบุคลิกบางอย่างกลายมาเป็นเราในอนาคต บางทีพันธุกรรมนั้นไม่สามารถบ่งบอกนิสัยเท่าการเลี้ยงดูในวัยเด็ก
Post Views: 3,243