เวลาที่มีใครมาทำไม่ดีกับเรา สร้างความไม่ยุติธรรมกับเรา จนเราเก็บมาเป็นความคิด ความโกรธ เจ้าคิดเจ้าแค้น คน ๆ นั้น เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อใจ จนเข้ามากระทบกลไกจิตใจ ทำให้เราพยายามตอบสนองความคิดเหล่านั้นด้วย “การแก้แค้น”
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ วิธีเลิกนิสัย เจ้าคิดเจ้าแค้น โดยนักจิตวิทยา
ความรู้สึก เจ้าคิดเจ้าแค้น ทำให้เรามีความสุขไหม?
ลองถามว่าเรามีความสุขหรือเปล่า ที่รู้สึกเจ้าคิดแจ้าแค้นอยู่ตลอดเวลา การปล่อยให้กลไกของเราทำงานด้านลบมากจนเกินไป จะเกิดความกระวนกระวายจนเราไม่มีความสุข จนอยากเอาคืนคน ๆ นั้น อยากทำให้เขาเจ็บปวดเหมือนกับที่เราเจ็บ
สะสมความรู้สึกนั้นไว้ในใจเรามาก ๆ จนเราไม่มีทักษะในการจัดการอารมณ์ และไม่สามารถจัดการเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกคับข้องใจได้ การเป็นคนนิสัยเจ้าคิดเจ้าแค้น เป็นการทำร้ายตัวเองอยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่เราจมอยู่กับความโกรธ
แต่เขาคนนั้นไปไกลมากแล้ว โดยไม่หันกลับมามองเราแม้แต่นิด ทำให้ตัวเราลืมว่าเราจำเป็นต้องไปคิดถึงเขาจนเราต้องมาจมอยู่กับความคิดแบบนี้ต่อไปอยู่หรือเปล่า?
การฝึกจิตใจของเราเพื่อลดความ เจ้าคิดเจ้าแค้นลง
1. ทำความเข้าใจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา
ลองปลดปล่อยความรู้สึกนั้นออกไป ถ้าไม่อยากเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น เริ่มจากการทำความเข้าใจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เช่น ความรู้สึกโกรธ อยากให้เราทำความเข้าใจกับตรงนั้น คนเราอาจเกิดมาเจอความไม่พึงพอใจได้เสมอ
สังเกตอาการทางกาย มองดูร่างกายของเราว่าตอนนี้ดูเป็นอย่างไรบ้าง เบื้องหลังความคิดของเราคือความโกรธหรือความคิดที่รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ตามมาด้วยอาการทางกายบางอย่างหรือไม่ เช่น หน้าแดง มือสั่น ใจสั่น
สัญญาณเตือนเหล่านี้คือเรากำลังมีอาการเจ้าคิดเจ้าแค้น เอาการกระทำของเขามาเป็นอารมณ์ ถ้าเห็นสัญญาณเตือนต้องเริ่มทำความเข้าใจเพื่อพาตัวเองออกมา ค่อย ๆ หากิจกรรมผ่อนคลายที่เหมาะสม
เพื่อทำให้ข้างในของเราสงบและเย็นลงได้ อารมณ์และความรู้สึกเป็นเรื่องยากที่จะจับต้องให้เท่าทันอารมณ์ร่างกายของตัวเองได้มากพอ
2. ลองเขียนสาเหตุของความเเค้น
อยากให้ลองเขียนออกมาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไร เราเจออะไรมาบ้าง ที่ทำให้เราไม่พึงพอใจ รู้สึกว่าเป็นความไม่ยุติธรรมสำหรับเรา เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเราจำเป็นที่จะต้องเก็บมาเจ้าคิดเจ้าแค้นแบบนี้หรือไม่
เริ่มจากจับอารมณ์ เขียนระบาย จะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
เริ่มผ่อนคลายระบายออกมาอย่างสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนกับคนใกล้ชิด ออกกำลังกาย ทำงานศิลปะ อะไรก็ตามที่ทำให้เราผ่อนคลายจากเรื่องวุ่นวาย เปลี่ยนถ่ายความรู้สึกของเราไปยังกิจกรรม ช่วยลดความคับข้องใจความเจ้าคิดเจ้าแค้นนั้นลงได้
หรือจะลองไประบายที่เครื่องเล่น เพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายหลั่งสารเอ็นโดฟินช่วยให้เราเกิดความรู้สึกผ่อนคลายจากความรู้สึกนั้นลงได้
3. ฝึกการให้อภัย
ถ้าเราเริ่มตระหนักได้ว่าเราโกรธแค้น เราก็ให้อภัยเขาอีกครั้ง ทำความเข้าใจอีกครั้ง การให้อภัยอาจไม่ใช่การปล่อยผ่านปัญหาไป แต่ตัวเราเองสามารถปล่อยวางได้และมีวุฒิภาวะมากกว่าอีกคน
ถ้าเกิดซ้ำอีก ก็ให้ทำความเข้าใจเขาอีก ว่าเขาก็เป็นของเขาแบบนี้แหละ ไม่ว่าเราจะพยายามเจ้าคิดเจ้าแค้นเขามากแค่ไหน เขาก็เป็นของเขาแบบนั้น ตัวเราต้องมองผ่าน มองข้ามพฤติกรรมเหล่านั้นไป
ให้เหมือนว่าเป็นขยะ ด้วยการอโหสิกรรมพฤติกรรมของเขา ปล่อยวาง ปล่อยผ่าน ไม่ต้องเอามาปรุงแต่ง ไม่ต้องเอามาเก็บไว้ในใจตลอดเวลา จะช่วยทำให้เรารู้สึกเบาสบาย
การที่ตัวเราไม่พาตัวเองจมอยู่แต่ตรงนั้น จะช่วยทำให้เราสามารถไปต่อได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับเรื่องที่ทำให้เสียสุขภาพจิต
ทุกคนมีกลไกเป็นของตัวเองในการรับมือหรือจัดการปัญหาทางอารมณ์ที่แตกต่างกัน การที่เราไม่เจ้าคิดเจ้าแค้น ก็เป็นกลไกที่เราป้องกันตัวเองในรูปแบบหนึ่ง ที่เราปกป้องความรู้สึกตัวเอง จะช่วยทำให้เราอภัยให้เขาได้ง่ายขึ้น
ในความไม่ยุติธรรมเหล่านั้น ความเจ้าคิดเจ้าแค้นจะค่อย ๆ รู้สึกเบาบางลงได้
บางทีเขาอาจจะไม่ได้มาสนใจเราแล้ว แล้วทำไมตัวเราต้องไปสนใจเขาด้วย ถึงแม้ว่าการฝึกแบบนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีใครมากระทำไม่ดีกับเรา
แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยน่าให้อภัย แต่ถ้าความเจ้าแค้นนั้นมากระทบความรู้สึกของเรา ทำให้เราเกิความรู้สึกอึดอัดใจและใช้อารมณ์ในการจัดการปัญหา เราต้องพยายามฝึกทีละขั้นตามข้างต้นที่ได้อธิบายไป
การถูกล่อหลอมโดยสังคมของคนทำนิสัยไม่น่ารักต่อเรา
การที่เขาทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารักกับเรา อาจเกิดจากประสบการณ์ของเขา การเลี้ยงดูและถูกหล่อหลอมกลายมาเป็นพฤติกรรมที่เราไม่ชอบ เราอาจจะลองมองหาวิธีการยุติความคิดนั้นให้ได้โดยเร็ว
การที่เรามีความคิดอยากแก้แค้นไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรดีขึ้นได้เลย ยิ่งเราเอาใจไปผูกติดกับความไม่น่าพึงพอใจ ก็มีแต่จะยิ่งทวีคูณความคับข้องใจให้กับตัวเอง
การให้อภัยใครสักคนหนึ่ง อาจไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจะทำไม่ได้ในครั้งแรก เพราะทุกอย่างต้องผ่านการฝึกฝนและใช้ระยะเวลาเพื่อเพิ่มพูนทักษะ
เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกการให้อภัยตัวเองทีละเล็กทีละน้อยแล้วค่อย ๆ แผ่ความรู้สึกดี ๆ แผ่การให้อภัยไปที่คนอื่น สิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งที่จะลดความขับข้องใจของเราลงได้
Post Views: 7,015