หากเรามีนิสัย หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย หรือคนรอบข้างเคยมีนิสัยเหล่านี้ นั่นคืออารมณ์อย่างหนึ่งที่ทุกคนเป็นกันได้ สามารถส่งผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้างได้
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก พูดคุยในทุกประเด็นในเรื่องสุขภาพใจ หากมีนิสัยหงุดหงิดง่าย โกรธง่ายแบบนี้ จะจัดการหรือรับมืออย่างไรดี?
คนเรามักรู้สึก โกรธง่าย หงุดหงิดง่ายเพราะอะไร?
ความโกรธหรือหงุดหงิด เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีสิ่งมากระตุ้น เพียงต้องรู้เท่าทันและรู้สาเหตุว่าเรากำลังโกรธอะไร โกรธในรูปแบบไหน ความโกรธเกิดได้ทั้งจากภายในและภายนอก
เช่น สาเหตุภายนอกที่อากาศร้อน,เสียงดัง,ผู้คนแออัด สาเหตุที่มาจากภายใน ความรู้สึกเป็นห่วง หึงหวง กังวล ที่นำไปสู่อารมณ์โกรธ
คนเราสามารถ โกรธง่าย โดยไม่มีสาเหตุได้ไหม?
ในเชิงจิตวิทยาเชื่อว่าอารมณ์โกรธมักมีที่มาที่ไปเสมอ สำหรับผู้หญิงอาจชัดเจนขึ้น ในช่วงมีประจำเดือนจากฮอร์โมนที่แปรปรวนจึงรู้สึกโกรธ หงุดหงิดง่าย
ซึ่งอาจไม่สามารถหาข้อสรุปได้โดยตรง ว่าอารมณ์โกรธในผู้หญิงหรือผู้ชายมีมากกว่ากัน แต่ทั่วไปผู้ชายมักมีอารมณ์ที่รุนแรงได้มากกว่าเพศหญิง ด้วยความที่พละกำลังที่มากกว่าอยู่แล้ว
อารมณ์โกรธเป็นพลังลบใช่หรือไม่?
มองเป็นด้านลบได้ เพราะความรู้สึกโกรธที่เกิดขึ้นคงเป็นด้านที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก อาจทำลายบางสิ่งบางอย่างที่สร้างมาได้เพียงไม่กี่นาที อยากให้มองว่าอารมณ์ต่าง ๆ มีหน้าที่ของตัวเองมากกว่า
อย่างอารมณ์โกรธเองก็มีหน้าที่อาจทำให้เราหลีกเลี่ยงอันตรายบางอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ บางทีอารมณ์โกรธก็เป็นตัวจัดการปัญหาบางอย่างในครั้งถัดไปได้ดีขึ้น เพียงแค่ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง
รู้เท่าทันอารมณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงและจัดการได้อย่างเหมาะสมเพราะจริง ๆ แล้ว อารมณ์โกรธมักเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ยิ่งวัยเด็กมักแสดงอารมณ์ได้ชัดเจนยิ่งกว่า
สังเกตุอารมณ์โกรธของแต่ละคนยังไง?
แบ่งเป็น 3 ลักษณะ
1. แสดงออกอย่างไม่ตรงไปตรงมา ไม่ยอมรับความโกรธที่เกิดขึ้น แต่แสดงออกผ่านสีหน้า
2. แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา แสดงออกทางอารมณ์อย่างชัดเจน
3. แสดงออกรูปแบบที่ทำร้ายตัวเอง
ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเรามีโอกาสที่จะแสดงความโกรธได้ทุกลักษณะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
วิธีควบคุมความโกรธ
1. จับสัญญานเตือนของตัวเองให้ได้ สังเกตุจากอาการทางกายของตัวเอง การหายใจสั้นลง รวมถึงคำพูดที่เป็นสัญญาณเตือนรูปแบบหนึ่ง ว่าอารมณ์โกรธกำลังเข้าครอบงำเรา
2. ยอมรับความโกรธที่เกิดขึ้น ช่วยให้ความโกรธลดลง
3. หายใจเข้าออกลึก ๆ
4. เบี่ยงเบนความรู้สึกตัวเอง โดยนึกถึงเรื่องใดก็ได้ที่ทำให้รู้สึกดีมากขึ้น เพื่อไม่ให้อารมณ์โกรธรุนแรง
5. หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นในการทำให้เกิดอารมณ์โกรธ
6. ทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในขณะที่เราใจเย็นลงแล้ว ว่าเรารู้สึกอย่างไรกับความโกรธที่เกิดขึ้นและคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปไหม เพื่อให้ครั้งถัดไปเราควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดีมากยิ่งขึ้น
ความโกรธเป็นธรรมชาติของชีวิตที่เกิดขึ้นได้เสมอ เกิดขึ้นได้กับทุกคนส่วนจะส่งผลกระทบอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่ามีวิธีจัดการอารมณ์ที่เกิดขึ้นรูปแบบไหน
ยิ่งรู้เท่าทันอารมณ์และควบคุมได้ก็จะลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน
Post Views: 4,631