เครียดถ้าต้องเจอแรงกดดัน เลี่ยงการเผชิญหน้ากับเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า จนทำให้ไม่อยากที่จะไปทำงาน.. เราแค่ขี้เกียจหรือเป็น ” โรคกลัวการทำงาน ” อยู่หรือเปล่า ?
ขี้เกียจไปทำงาน หรือเป็น โรคกลัวการทำงาน
โรคกลัวการทำงาน คืออะไร?
ในทางจิตวิทยา โรคกลัวการทำงาน หรือ Ergophobia ไม่ถือเป็นโรคโรคหนึ่ง แต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรคกลัวหรือ Phobia คำนี้มาจาก “ergon” หมายถึงงาน และ “phobos” หมายถึงความกลัว
โรคกลัวการทำงานหรือ Ergophobia บุคคลจะกลัวการทำงาน กังวลเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงาน จนกระทบกับชีวิตประจำวัน
Phobia คือ ความกลัวต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งต้องมีลักษณะสำคัญ คือ
1. Persistent ต่อเนื่องสม่ำเสมอ กลัวตลอด ไม่ว่าจะเจอสิ่งเดิมหรือสิ่งคล้ายเดิม
2. Irrational ไม่มีเหตุผล ความกลัวที่เกิดขึ้นอาจไม่มีที่มาที่แน่นอน รู้แค่ว่ากลัวสิ่งนี้
ขี้เกียจ กับ โรคกลัวการทำงาน แตกต่างกันอย่างไร?
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Psych mechanics กล่าวว่า ขี้เกียจ คือ การที่เราไม่อยากใช้พลังงานทำบางสิ่งบางอย่าง เมื่อเรารับรู้ว่าสิ่งนั้นยากหรือสิ่งนั้นจะทำให้เหนื่อยกายเหนื่อยใจ
แต่ถ้าหากเป็น โรคกลัวการทำงาน ไม่ได้เกี่ยวข้องว่า มีหรือไม่มีพลังงาน อยากทำหรือไม่อยากทำ แต่จะทำงานไม่ได้ ไม่ไปทำงาน เพราะกลัวและกังวลอย่างหนักเกี่ยวกับการทำงาน
คนที่เป็น โรคกลัวการทำงาน เขากลัวอะไร?
ความกลัวเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น กลัวว่าจะทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่สำเร็จ กลัวในการที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม กลัวที่จะต้องเข้าสังคมในที่ทำงาน กลัวถูกตำหนิ ได้รับมอบหมายงานใหญ่
แต่กลัวการเข้าสังคมในทำงานจะแยกจากการเป็นโรคกลัวการเข้าสังคมเพราะถ้าเป็นโรคกลัวการทำงาน จะกลัวแค่บุคคลที่อยู่ในบริบทการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เจ้านาย หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน
แต่โรคกลัวการเข้าสังคมจะกลัวในทุก ๆ คน ทุก ๆ สถานการณ์ ตั้งแต่เรื่องทั่วไปอย่าง สั่งอาหาร คุยโทรศัพท์ ไปจนถึง การเข้ากลุ่ม การไปงานสังสรรค์
โรคกลัวการทำงาน ต่างจากความกังวลในการทำงานทั่วไปอย่างไร?
1. ระดับความกลัวจะแตกต่างกัน ถ้าเป็นโรคกลัวการทำงานจะกลัวและกังวลมากจนอาจมีอาการทางร่างกาย
2. มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงที่จะสมัครงาน เต็มใจที่จะอยู่ในสถานะว่างงานเพราะกลัวและกังวล
3. สำหรับคนที่มีงานทำ จะกลัวสถานการณ์ทั่วไปในการทำงาน แม้จะทำได้ดี
โรคกลัวการทำงาน เกิดขึ้นได้อย่างไร?
หลายคนอาจคิดว่า การกลัวการทำงาน คือ ความขี้เกียจ แต่สาเหตุของการกลัวการทำงานไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ
1. มีประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต เช่น เคยทำให้ตัวเองขายหน้าต่อหน้าคนอื่น อาจจะเป็นเจ้านายหรือทั้งออฟฟิศ
2. มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดี เช่น เจ้านายชอบพูดจาหรือมีการกระทำที่ทำร้ายจิตใจพนักงาน
3. เกิดจากการเรียนรู้ การเรียนรู้อาจทำให้เกิดความกลัวได้เหมือนกัน ถ้าเคยทำอะไรไปแล้วได้ผลทางลบ เช่น พยายามเข้าหาเพื่อนร่วมงานแต่ไม่มีใครคุยด้วย
4. เกิดจากความเจ็บปวดในวัยเด็ก เกิดเหตุกระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ถูกบังคับให้ทำงานแต่เด็ก ถูกทารุณ หรือดุด่าในการทำงาน
5. กลัวการเข้าสังคม มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคกลัวการทำงานเช่นกัน
รีเช็คตัวเอง นี่เราเป็น โรคกลัวการทำงาน หรือเปล่า?
1. อาการทางกาย
เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง ปากแห้ง หายใจไม่ทัน แพนิค หรืออาจหันไปใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ เพื่อต่อต้านความกลัว
2. อาการทางใจ
มีความรู้สึกอยากหนีหรือหลบซ่อน มีความคิดและความรู้สึกทางลบเมื่อไปทำงาน หรือแม้กระทั่งมีการคิดถึงความตาย
ผลกระทบ มีอะไรบ้าง?
1. กระทบต่อการทำงาน
ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานได้ดี กลัวการประเมินการทำงาน รวมถึงหยุดงานบ่อย เปลี่ยนงานบ่อย ว่างงานนาน
2. กระทบต่อชีวิตประจำวัน
ไม่มีความสุข ไม่มีไฟในการใช้ชีวิต ที่สำคัญคือ ลำบากเรื่องเงิน ไม่มีงานทำ ใช้ชีวิตลำบากขึ้น
จัดการเบื้องต้นอย่างไรดี?
จากเว็บไซต์ thriveglobal
1. ให้รางวัล
– ที่ทำงานอาจจะต้องให้รางวัลพนักงานเพื่อสร้างแรงจูงใจและความรู้สึกทางบวกต่อที่ทำงาน เช่น การชมเชย การปรบมือ หรือแม้กระทั่งการให้ประกาศนียบัตรเป็นพนักงานดีเด่น เป็นต้น
– ปรับใช้เองอาจจะลองให้รางวัลตัวเอง อาจเป็นการให้ตัวเองพักผ่อน หรืออาจเป็นคำพูดดี ๆ ลองบอกตัวเองบ้างว่า เก่งแล้วที่ก้าวผ่านความกลัวและทำงานชิ้นนี้จนสำเร็จได้
2. ลองฝึกฝน
– ที่ทำงานอาจสนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่
– ปรับใช้เองอาจจะลองพาตัวเองไปเรียนรู้สิ่งใหม่ที่จะนำมาปรับใช้กับงานได้ เพื่อทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ นำไปสู่การมีกำลังใจและความสุขในการทำงานมากขึ้น
3. work-life balance
ดูแล work-life balance ให้ดี รักษาสมดุลของชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน
4. ใช้สมาธิและสติเข้ามาช่วย
เพราะการทำสมาธิ เช่น โยคะ การนั่งสมาธิ สามารถช่วยให้จิตใจสงบลง สามารถจดจ่อกับการทำงานได้ดีขึ้น
การรักษา เป็นยังไง?
1. Cognitive Behavioral Therapy (CBT)
เน้นปรับความคิดที่เป็นปัญหา ความคิดที่ทำให้เกิดความกลัว นำไปสู่การปรับพฤติกรรมในการตอบสนองต่อสิ่งที่กลัว
2. Exposure Therapy
จุดเด่นการบำบัดแบบนี้คือการให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว เพื่อฝึกปรับตัวกับสิ่งนั้น แล้วสอนเทคนิคการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจตัวเองให้ เพื่อเปลี่ยนการตอบสนอง
3. Medication
การใช้ยา แต่ยาจะไม่ได้มารักษาโรคแบบตรง ๆ แต่จะเป็นยาช่วยลดความกลัวความกังวล เพื่อส่งเสริมการบำบัด
ที่มา :
Definition of Ergophobia
What is Laziness, and Why are People Lazy?
7 Ways to Deal With Ergophobia (Work Fear) in Employees
Post Views: 2,891