ความเงียบทำลายความสัมพันธ์

อย่าใช้ความเงียบทำร้ายกัน ความเงียบทำลายความสัมพันธ์ Silent Treatment

เรื่องAdminAlljitblog

เวลาทะเลาะกันทำไมถึงชอบเงียบ? เงียบแล้วจะดีขึ้น หรือ ความเงียบทำลายความสัมพันธ์ Silent Treatment

 

การที่เงียบจะเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ Toxic ได้ไหม . . . Alljit Podcast

 

 

 

ถ้าพูดถึงความเงียบ จะมีคำที่บอกว่า “Silence is golden.” อย่างของไทยก็มีสุภาษิตที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” คือ พูดไปไม่มีประโยชน์ นิ่งเสียดีกว่า

 

แต่เมื่อเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ความเงียบไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป การใช้ความเงียบคุยกันก็เหมือนคลื่นใต้น้ำนั่นแหละ และวันนึงความเงียบอาจจะกลับมาเป็นอาวุธทิ่มเเทงกัน

ความเงียบทำลายความสัมพันธ์ ได้จริงไหม?

ความเงียบทำร้ายความสัมพันธ์ได้ เพราะ Silent treatment เป็น Emotional manipulation รูปแบบหนึ่ง จากงานวิจัยพบว่า ฝ่ายที่ถูกเมินเฉย จะมี Self-esteem ที่ต่ำลง

 

อาจถึงขั้นไม่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่าหรือความหมายอะไรอีกต่อไป ทำให้ถึงแม้ว่า จุดประสงค์เบื้องหลังอาจจะเป็นแค่ ‘การหลีกเลี่ยงการทะเลาะ’ แต่กลับทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงกว่าเดิม

 

และเวลาที่เราเงียบไม่ได้หมายความว่าปัญหามันจบ เราอาจจะไม่ได้เครียดหรือทุกข์ใจกับเรื่องนั้นเเล้วเพราะเวลาพัดผ่านไป แต่ปัญหาที่เราคับข้องใจมันจะยังอยู่

 

จนวันนึงที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน ความรู้สึกเราจะพรั่งพรูออกมา แต่มันอาจจะสายไปที่จะพูดความรู้สึกก็ได้

Toxic behavior in relationship 

ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษที่สามารถทำร้ายและทำลายความสัมพันธ์ของคู่รัก หรือ ความสัมพันธ์ในแบบเพื่อน ครอบครัวได้

Gaslighting

เป็นการปั่นหัว พยายามทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสับสนในตัวเองและตั้งคำถามกับความเป็นจริง

Love bombing

เป็นการสาดความรักใส่อีกฝ่าย ดูแลประคมประหงมอย่างดีในช่วงแรก เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าขาดตัวเองไม่ได้ แลกกับการได้ควบคุมบงการ

Guilt tripping

เป็นการพูดเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด โทษตัวเอง

One-up someone

ทำบางอย่างหรือทำตัวเองให้ดีกว่า เพราะทนเห็นอีกฝ่ายหนึ่งดีกว่าไม่ได้

Silent treatment 

การเงียบ การเมิน เพื่อให้รู้ว่าโกรธหรือไม่พอใจ

Silent treatment’ เงียบ ที่ไม่ใช่ การขอเวลาพักให้อารมณ์เย็นลง

นี่เรากำลังใช้ Silent treatment  ในความสัมพันธ์อยู่รึเปล่า?

 

เงียบ = งอน

จะมี 2 คำที่นึกออกในวัฒนธรรมเอเชีย คือ ‘เกรงใจ’ กับคำว่า ‘งอน’  ที่ไม่มีคำแปลในภาษาอังกฤษตรงตัว ไม่มีคำไหนที่อธิบายคำว่า ‘งอน’ ได้ใกล้เคียงเท่า Silent treatment

 

เพราะ Silent treatment เป็นการเงียบ เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ว่าตัวเองกำลังโกรธและไม่พอใจ ยิ่งไปกว่านั้น บางคนเมินเหมือนอีกฝ่ายไม่มีตัวตนอยู่ตรงนี้เลยด้วย

 

เงียบ = เป็น แค่ไม่บอก

เคยไหม? เวลาแฟนถามว่า เป็นอะไร? มีเรื่องอะไรไม่โอเคหรือเปล่า? แล้วสิ่งที่เราตอบคือ ‘ไม่ได้เป็นอะไร’ ‘ไม่มีอะไรหรอก’ แล้วเงียบ แผ่มวลให้อีกฝ่ายอึดอัดใจ

 

ตรงกับคำอธิบายหนึ่งของ Silent treatment คือ ปฏิเสธที่จะสื่อสารทางคำพูดกับอีกฝ่าย ซึ่งเป็นการแสดงออกแบบ Passive aggressive ใน Toxic relationship

 

อ้างอิงจาก Hall-Flavin พฤติกรรมแบบ Passive aggressive เป็นการแสดงออกอารมณ์ทางลบอ้อม ๆ นั่นคือ การกระทำและสิ่งที่พูดจะไปคนละทาง การงอนนี่แหละเป็นตัวอย่างที่ดี เงียบ เมิน สร้างบรรยากาศตึง ๆ หน่วง ๆ แต่บอกว่า ‘ไม่ได้เป็นอะไร’

 

เงียบ = เพิกเฉย

ก็ฉันไม่ผิด ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ยิ่งคุยยิ่งทะเลาะ

 

เพราะอะไรเราถึงเลือกที่จะเงียบ?

ความคาดหวังที่ไม่ยึดติดกับความเป็นจริง

การคาดหวังว่า ‘เขาจะต้องรู้ว่าเราเป็นอะไร’  เป็นความคาดหวังที่ไม่ยึดติดกับความเป็นจริงอย่างหนึ่ง ขอแชร์จากรายการ Open  relationship

 

อาจารย์ชลิดาภรณ์บอกว่า ‘มนุษย์ประดิษฐ์ภาษาเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ก็ใช้สิ’ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเรื่องที่หลาย ๆ คู่หลงลืมไป

 

หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

เพราะรู้ว่าเปิดปากจะต้องทะเลาะกันแน่ ๆ ยิ่งถ้าเหนื่อยจากงาน เหนื่อยจากภาระในชีวิต แล้วเจอปัญหาความสัมพันธ์อีก คงจะไม่มีพลังงานเหลือไปพูดคุยปรับความเข้าใจ  หลายคนจึงเลือกที่จะเงียบ

 

การไม่เข้าใจความรู้สึกตัวเองดีพอ

ในการใช้ชีวิต หลายคนไม่มีเวลามานั่งสำรวจตัวเองหรอก ทำให้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีความคิด ความรู้สึก และอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ณ ตอนนั้นบ้าง การจะแสดงออกไปให้อีกฝ่ายรู้เลยเป็นไปไม่ได้

 

การลงโทษอีกฝ่าย

ข้อนี้ค่อนข้างร้ายแรง อ้างอิงจาก Medical news today บางคนใช้ความเงียบเพื่อลงโทษอีกฝ่าย หรือ ใช้ความเงียบเพื่อควบคุมบงการอีกฝ่าย

 

ซึ่งถือว่าเป็น Emotional abuse หรือ การล่วงละเมิดทางอารมณ์รูปแบบหนึ่ง

 

เมินเฉย

การเลือกที่จะเงียบในลักษณะนี้ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึก “ไร้ตัวตน” เหมือนไม่ได้อยู่ในสายตา และเหมือนถูกทิ้งให้อยู่กับความคิดมากของตัวเองไม่จบสิ้น

 

เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าเราคิดอะไร รู้สึกยังไง อีกฝ่ายจะกระวนกระวายใจและกังวลในความสัมพันธ์ เหมือน “ปล่อยเบลอ” เขาไปดื้อ ๆ

 

ต้องการเอาชนะ

บางคนใช้ความเงียบ “กดดัน” เพื่อให้ยอมขอโทษ ตามใจ ง้อหรือยอมพูดก่อน  เหมือนเป็นการปั่นหัวอีกฝ่ายและบางครั้งเป็นการโยนความผิดให้อีกฝ่าย

 

เงียบเพื่อทบทวน

เงียบเพื่อทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้น บางทีถ้าในความสัมพันธ์ที่ใกล้กันแล้วมีแต่ทะเลาะ ที่ว่างก็เป็นคำตอบในความสัมพันธ์เช่นกัน

 

เงียบเพราะพื้นฐานการเลี้ยงดู

การเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นสภาพแวดล้อมแรกที่เด็กต้องเจอ ถ้าเราเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ล่อลอมให้เราไม่กล้าพูด

 

พูดไปแล้วถูกดุอาจทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าพูดเวลามีอะไรเกิดขึ้น

 

ไม่อยากเงียบแล้ว สื่อสารแบบไหนให้ดีต่อใจ?

ฝึกสำรวจและรู้ทันความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ตัวเอง : เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปลี่ยนจากการเงียบเป็นการแสดงออกสิ่งที่ติดค้างอยู่ข้างในได้ ถ้ายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า สิ่งนั้นคืออะไร มีหน้าตาเป็นแบบไหน

 

ตัดคำพูดเชิงลบออก : หากพร้อมแล้วที่จะพูดออกไป การตัดคำพูดประชดประชันเหน็บแนมออกไปให้เหลือแต่ความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง

 

จะช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้มากกว่า เพราะหลายครั้งการพูดตามอารมณ์ ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น นำมาซึ่งการตอบโต้ที่ไม่เกิดประโยชน์

 

อย่าคิดว่า การต้องพูดในสิ่งที่เราไม่สบายใจ เป็นการหาเรื่องทะเลาะ : เข้าใจได้ว่าบางคนอาจจะเลือกที่จะเงียบเพราะคิดว่าถ้าพูดออกไปต้องทะเลาะกันใหญ่โตเเน่เลย

 

และคิดว่าเรื่องที่ตัวเองคิดและรู้สึกเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริงๆแล้วๆม่ควรมองแบบนั้นเพราะการที่เราเป็นแฟนกัน เราก็ควรที่จะเเชร์กันได้ ถ้ามีใครคนใดคนนึงต้องเก็บความรู้สึกเอาไว้ จะเรียกว่าเป็นความรักที่ดีได้อย่างไร

 

ขอเวลานอก ถ้าไม่พร้อม : ถ้าต้องการถอยออกมาเพื่อคิด ทบทวน สงบสติอารมณ์ ก็มาตกลงกันว่าเราต่างคนต่างต้องการเวลาเพื่อกลับไปทบทวนและคิดกับตัวเองนะ ตกลงด้วยว่าต้องการเวลานานแค่ไหน

 

ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่นี่

ที่มา

Why the ‘Guilt Trip’ Comes Naturally (but Can Be Problematic)

Why people use the silent treatment

What is passive-aggressive behavior? What are some of the signs?

บทบาทของ ‘ความเงียบ’ ในความสัมพันธ์