์Nostalgia

โหยหาอดีต Nostalgia นึกถึงแต่ความทรงจำที่ผ่านมา

เรื่องAdminAlljitblog

ความรู้สึก โหยหาอดีต อยู่ดี ๆ ก็นึกถึงเหตุการณ์เก่า ๆ ที่ทำให้เราทั้งอบอุ่นใจ ดีใจ เสียใจ  ปกติไหม?

 

เพราะอะไรเราจึงโหยหายอดีต ? ยิ่งเติบโตความสุขยิ่งน้อยลงโหยหาอดีตมากขึ้นจริงหรือเปล่า?

 

ที่มาของ คำว่า โหยหาอดีต Nostalgia 

“คิดถึง” เป็นความรู้สึกที่รู้จักกันดีในชีวิตมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความผูกพันระหว่างกันและเป็นสัตว์สังคม อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ความคิดถึง” อย่างจริงจัง

 

จนกระทั่งในช่วงคริสศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับความคิดถึง แต่ศึกษาในเชิงผลเสียที่เกิดขึ้นกับความคิดถึง โดยในทางจิตวิทยาคลีนิกเราเรียกความคิดถึงว่า “Nostalgia” มีรากศัพท์จากภาษากรีซ

 

โดยเกิดจากการผสมคำคือคำว่า “nosto” แปลว่า “Homecoming” หรือการกลับบ้าน กับความว่า “algos” แปลว่า “pain” หรือความเจ็บปวด

 

โดยศัพท์นี้เกิดขึ้นจากนักเรียนแพทย์ที่ใช้เรียกอาการวิตกกังวลและความกลัวของทหารชาวสวิสที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อมาเผยแพร่ศาสนา หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นอาการ “homesick”

 

แต่เป็นระดับที่รุนแรงจนถึงว่าเป็นความผิดปกติทางจิตใจ มีอาการที่ส่งผลทางกายด้วย คือหนาวสั่น เป็นไข้ ในช่วงแรก ๆ ของการศึกษาความถึงนั้น นักวิจัยแทบทุกคนเน้นศึกษาเกี่ยวกับการรักษาทางคลินิก

 

และผลเสียที่เกิดจากอารมณ์ความคิดถึง โดยผลกระทบเนื่องจากความคิดถึงได้แก่ การนอนไม่หลับ (insomnia), ความวิตกกังวล (anxiety), ความผิดหวัง (depression)และนักวิจัยหลายท่านถือว่า “nostalgia” เป็นอาการของโรคประเภทหนึ่ง (symptom)

 

โดยแรกเริ่ม Nostalgia ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคที่เกิดกับชาวสวิสเท่านั้น แพทย์บางส่วนได้ให้ความเห็นว่า เสียงกระดิ่งที่ดังต่อเนื่องของวัวบนเทือกเขาแอลป์ ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่แก้วหูและสมอง ทำให้เหล่าผู้บัญชาการสั่งห้ามไม่ให้ทหารร้องเพลงพื้นเมืองสวิส

 

เพราะความกลัวว่าจะนำไปสู่การหนีทหารหรือฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเกิดการย้ายถิ่นฐานมากขึ้นในคนทั่วโลก nostalgia ได้ถูกค้นพบในคนหลายๆกลุ่ม ปรากฎว่าใครก็ตามที่พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนมาเป็นระยะเวลานานมีความเสี่ยงที่จะมีอาการ nostalgia

 

ต่อมาในช่วงปลายคริสศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันจึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับ “nostalgia” หรือความคิดถึงในเชิงบวกและเชิงโรแมนติกมากขึ้น โดยนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้คำนิยามคำว่า “nostalgia”

 

เพิ่มเติมโดยหมายถึงการรำลึกหรือนึกถึงสิ่งต่างๆในอดีตซึ่งในปัจจุบันไม่มีสิ่งนั้นอยู่แล้ว จากงานวิจัยหลายงานวิจัยพบว่าในขณะที่เกิดความคิดถึงสิ่งต่างๆในอดีตนั้น มนุษย์เรามันจะนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีต และส่งผลให้เกิดรู้สึกถึงความอบอุ่น มีความคิดเชิงบวกเวลาเราเกิดอาการคิดถึง

 

จนต่อมาพบว่า Nostalgia เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับทุกคน อีกทั้งยังส่งผลดีต่อจิตใจอีกด้วย ในปัจจุบันจึงมีการใช้คำนี้สื่อถึงความรู้สึกอบอุ่นในหัวใจเมื่อนึกถึง สถานที่ ผู้คน หรือเหตุการณ์บางสิ่งบางอย่างที่เคยประสบพบเจอในอดีต

 

มีการศึกษาวิจัยพบว่าการกระตุ้นให้เกิด Nostalgia ในคนเรา สามารถทำให้เสริมความมั่นใจในตัวเองได้ การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สร้างความเมตตาต่อคนอื่น

 

เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นสาเหตุของสภาวะ mental distress (ความผิดปกติทางจิตใจ) Nostalgia สามารถใช้เป็นวิธีในการฟื้นฟูเพื่อรับมือกับปัญหาได้ด้วย เช่น เมื่อเราเจอสภาวะอารมณ์ในเชิงลบ การคิดถึงอดีตที่งดงามสำหรับเราทำให้เราคลายเครียดได้ Nostalgia ช่วยย้ำเตือนว่าชีวิตของเรามีความหมายและมีคุณค่า

 

นักจิตวิทยา Clay Routledge กล่าวถึงในงานวิจัย Nostalgia: Content, Triggers, Functions ไว้ว่า ภาวะความรู้สึก Nostalgia สามารถทำให้เกิดความรู้สึกทางบวก ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ในสังคม ส่งเสริมให้มองเห็นถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตในแง่ดี มากกว่าจมอยู่กับความรู้สึกแย่ที่เจอมา

 

เพราะบางครั้งการนำความทรงจำเก่า ๆ ให้หวนกลับมาอีกครั้ง อาจสามารถช่วยเป็นยาสมานแผลให้ลืมความเจ็บปวดของความเป็นผู้ใหญ่ที่พบเจอในชีวิตประจำวันไปได้

 

 

ความคิดถึงอดีต แล้วทำหน้าที่อะไร 

 

งานวิจัยส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันรวมถึงงานวิจัยของ  Krystine Batcho, ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ LeMoyne College  ให้เหตุผลว่าความคิดถึงทำหน้าที่หลายอย่าง สิ่งที่เชื่อมโยงพวกตัวเราทั้งหมดเข้าด้วยกัน คือ ความคิดถึงเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ที่รวมเราเป็นเราในตอนนี้ 

 

1. ความคิดถึงช่วยรวมความรู้สึกของเราว่าเราอยากเป็นใครในอนาคต เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราอาจไม่ได้คิดไว้  แต่ความคิดถึงจึงกระตุ้นให้เราจดจำอดีตในชีวิตของเรา จะช่วยรวมเรา ณ ปัจจุบัน เข้ากับตัวตนที่แท้จริงของเราในอดีต และเตือนเราว่าเราเป็นใคร  และนั่นทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นใครในอนาคต 

 

2. เรารวมสิ่งที่เราความสุข และความทุกข์เข้าด้วยกันได้  ในขณะที่คิดถึงอดีตเป็นอารมณ์ที่หวานอมขมกลืน มันช่างหวานเพราะเรากำลังจดจำช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต  แต่ความขมขื่นมาจากความรู้สึกที่เรารู้แน่ชัดว่าเราไม่สามารถเอามันกลับคืนมาได้จริง ๆ พวกมันจากไปตลอดกาล 

 

เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้อย่างสมบูรณ์ จึงช่วยให้เราจัดการกับความขัดแย้งในจิตใจ ความปรารถนาในสิ่งที่ไม่สามารถเป็นได้ และทำให้เราได้กลับมาทบทวนความรู้สึกของตัวเอง และยอบรับความจริงได้ และสามารถรวบรวมความสุขและความทุกข์เข้าด้วยกันได้ 

 

3. ความคิดถึงทำหน้าที่ทำหน้าที่ทางจิตวิทยาที่สำคัญเชื่อมโยงเรากับคนอื่น ๆ ในตอนเริ่มต้น เมื่อเรายังเด็กมาก ความคิดถึง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราผูกพันกับคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนของเรา เมื่อเราดำเนินชีวิตไป มันสามารถขยายไปสู่คนที่เราโต้ตอบด้วย คุณครู แฟน แม้กระทั่งคนที่เราแค่คุยผ่าน ๆ นี่เป็นปรากฏการณ์ความเชื่อมโยงทางสังคม และความคิดถึงในความรู้สึกนั้น เป็นอารมณ์ที่ดีในการเข้าสังคม

 

ผลวิจัยอันหนึงมากของ  Dr. Routledge  ความคิดถึงทำหน้าที่สำคัญในการดำรงชีวิต  “มันทำให้นึกถึงประสบการณ์อันน่าจดจำซึ่งทำให้เรามั่นใจว่าเราเป็นคนที่มีคุณค่าและมีชีวิตที่มีความหมาย งานวิจัยบางชิ้นของเราแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีความคิดถึงเป็นประจำ จะรับมือกับความกังวลเรื่องความตายได้ดีกว่า” 

 

ทำไมกลิ่นทำให้เราโหยหาอดีต 

เป็นเรื่องปกติที่กลิ่นจะพาความทรงจำกลับมาได้ เพราะสมองในส่วน “ฮิปโปแคมปัส” (Hippocampus) ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำระยะยาวให้กับมนุษย์หรือที่เรียกกันว่าความทรงจำนั่นเอง

 

และสมองส่วนฮิปโปแคมปัสนี้เองไม่เพียงแต่ในการเก็บความทรงจำต่าง ๆ แต่ยังใช้ในการรับกลิ่น ดังนั้นเวลาได้กลิ่นหอม ๆ หรือกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สมองก็จะคอยบันทึกและเก็บไว้ในความทรงจำ

 

 

เสียงที่คุ้นเคยถึงทำให้เราโหยหาอดีต

(APA) ดร.แบตโช ได้กล่าวไว้ว่าดนตรีเป็นอารมณ์ที่ทำให้คนโหยหาอดีต การที่เรากลับไปฟังเพลงเก่า ๆ หรือเพลงประกอบโฆษณาตามทีวีสมัยเราเด็ก ๆ ก็สามารถทำให้เกิด Nostalgia ได้

 

เพลงบางเพลงก็ได้บันทึกเรื่องราวของเราไว้ในขณะที่เราฟังตอนนั้น ในปี 1999 มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเสียงเพลงมีพลังในการสร้างความทรงจำให้คนฟัง และช่วยกระตุ้นความทรงจำทั่ว ๆ

 

ไปในวัยเด็ก วัยรุ่น เคยแบบฟังเพลงบางเพลงแล้วเหตุการณ์ในตอนนั้นก็มาเป็นฉาก ๆ เลยเหมือนกัน

 

 

วัย coming of age ทำให้เราเจ็บปวด เราจึงโหยหายอดีต

การโหยหาความรู้สึกวัยเยาว์ การโหยหาความรู้สึกวัยเยาว์เป็นการโหยหาความรู้สึกนึกคิดหรือประสบการณ์วัยเด็กขณะทบทวน เรื่องต่าง ๆ ส่งผลต่อการเลือกตัดสินใจในปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ก็มีการนำภาพในอดีตที่มีความสุข ความประทับใจ ในอดีตมาปลอบประโลมจิตใจให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคในการดำเนินชีวิตยุคปัจจุบัน

 

Coming of age การข้ามผ่านวัย น่าจะเป็นช่วงที่เลยอายุ 19 มาแล้วจนถึง 30 กว่า ๆ เป็นวัยที่ค้นหาตัวเอง และต้องมีสิ่งที่รับผิดชอบมากมาย ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ มีเรื่องที่ต้องคิดเยอะมากขึ้น

 

ทำให้เราโหยหาอดีตในวัยเรียน วัยเด็ก วัยที่เรารู้สึกสนุก บางทีสังคมก็ peer pressure เราแบบไม่รู้ตัว ทำให้เราหลงทาง บางทีเราหลงลืมความสุข เพราะมีแรงกดดันจากสังคมรอบข้างที่เร่งให้เราประสบความสำเร็

 

สิ่งที่สำคัญเลย พยายามรู้ให้เท่าทันตัวเองเสมอว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกยังไง คุยกับตัวเอง self talk บ่อย ๆ เพราะความรู้สึกของเราสำคัญมาก ๆ  

 

 

เทศกาล เป็น Nostalgia ของใครหลายๆ คน?

ดร.แบตโช กล่าวว่า ผู้คนรู้มีความรู้สึกคิดถึงมากขึ้นในช่วงเทศกาลเพราะความทรงจำมากมายถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ช่วงที่ครอบครัวและเพื่อนฝูงจะรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองและสานสัมพันธ์

 

ถ้าอย่างประเทศไทย ช่วงสงกรานต์ก็รวมตัวกันเพื่อทำบุญ และไปเที่ยว ทำอาหารทานกัน ทำให้หวนคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ  และญาติ ๆ  เมื่อมาถึงวันหยุดอีกครั้ง มันจึงเตือนเราถึงช่วงเวลาพิเศษ

 

และช่วยให้เราติดตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และสิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมในชีวิตของเรา สำหรับหลาย ๆ คน วันหยุดจะนำความทรงจำของช่วงเวลาที่เรียบอบอุ่นกลับคืนมา พร้อมกับความรู้สึกปลอดภัยในวัยเด็ก

 

เทศกาลยังเตือนเราถึงคนที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราและกิจกรรมที่เราทำด้วยกัน เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมคนที่อยู่ไกลบ้านมักจะรู้สึกคิดถึงความหลังในช่วงวันหยุด และทำไมคนจำนวนมากจึงเดินทางเพื่อกลับไปช่วงเทศกาลเพื่ออยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง 

 

อย่างตอนเราวัยเด็ก เราจะได้เจอญาติผู้ใหญ่ เพื่อน ๆ ในวัยเรา ได้เล่น ได้จับของขวัญมีความทรงจำดี ๆ ด้วยกัน พอเราโตขึ้นมาหน่อยได้อยู่ไกลบ้านเราก็รอคอยเทศกาลเพื่อจะได้กลับมาเจอคนที่เราคิดถึง

 

ทำให้เทศกาลเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เราจะได้ใช้เวลากับคนที่เรารัก มีความทรงจำที่อบอุ่นกับใครหลาย ๆ คน เคยได้ยินเพลงช่วงใกล้วันปีใหม่ ห้างก็จะเปิดเพลง All I want for Christmas is You ของมาราย แครี่ก็ทำให้เรานึกถึงตอนเพื่อนๆ ร้องในห้องเรียนเราก็จะแอบอมยิ้มตลอดเวลาที่ได้ฟังเลย

 

 

ยิ่งเติบโตความสุขยิ่งน้อยลงจริงไหม?

พอได้ทำการพูดคุยถึงประเด็นเรื่อง ความสุข เคยมีเหตุการณ์ที่เพื่อน ๆ ในทีมของเราถามกันว่า ถ้าให้เลือกหนึ่งอย่างที่เราทำบ่อย ๆ ที่เป็นชีวิตปกติประจำวันที่เราสามารถตอบได้

 

คนในทีมก็มีตอบว่า กิน,ดูคลิปตลก,นอน,กินข้าวแล้วดูอะไรที่ชอบ,อยู่กับคนแฟน จากที่ฟังและได้พูดคุยกันมันเป็นสิ่งเล็กน้อย เหมือนในวัยเด็กเลย แต่ที่เรารู้สึกว่าความสุขมันลดลง เพราะว่าเรามีเรื่องให้รับผิดชอบมากขึ้น คิดมากขึ้น

 

มันเลยไม่ได้สนุกเหมือนตอนเด็ก ๆ แล้วเท่านั้นเองความสุขไม่ได้น้อยลง แต่สิ่งที่ต้องโฟกัส ความรับผิดชอบต้องมีมากขึ้นในทุก ๆ ด้าน ทำให้เวลาของความสุขของเรา แบ่งไปกับหน้าที่อย่างอื่นของชีวิต 

 

ยิ่งโตขึ้นยิ่งโหยหาอดีตมากขึ้นจริงไหม 

ดร.แบตโช กล่าวว่า จากความสอดคล้อง ช่วงเวลาที่คนเราจะมีความคิดโหยหาอดีตมากที่สุดนั่นคือ ช่วงเวลา 20-25 ปี นั่นเป็นเพราะช่วงเวลานี้ เกิดการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่านของชีวิต เป็นช่วงเวลาสำคัญของ สภาพจิตใจ การพัฒนา ไปเป็นบุคคลที่ตัวเองต้องการจะเป็น 

 

การโหยหาอดีตเป็นเรื่องที่ดี Nostalgia ค่อนข้างที่จะเป็นเชิงบวกเวลาที่เราโหยหาอดีต มันทำให้เรามีแรงใจฮึดสู้กับอนาคตมากขึ้น แต่อย่าให้ความโหยหายึดติดกับอดีตจนลืมการใช้ชีวิตในปัจจุบันของเราเช่นกัน เพราะอดีตบางทีก็เป็น ‘กับดัก’ ที่ทำให้เราไม่ก้าวไปพร้อม ๆ กับโลกที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนไปเร็วแบบทุกวันนี้