ความรัก ความฝัน ครอบครัว สิ่งที่ชอบ เพื่อนฝูง หน้าที่การงาน หรืออยู่เพื่อใช้ชีวิต พอจะเป็นเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่ ? หรือจริง ๆ แล้วคนเรามี ” เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ” ที่มากกว่านั้น
เพราะอะไรคนเราถึงต้องมี เหตุผลของการมีชีวิตอยู่
เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ในทางจิตวิทยา คืออะไร?
คิดว่าตอบได้หลายแง่มุมและหลายทฤษฎี มีอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครนำเสนอ คือ เรื่องความสัมพันธ์ พอเราพูดถึงเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ จะดูเป็นเชิงปรัชญา ดูเป็นคำถามกว้าง ๆ เหมือนถามใครสักคนว่า
จักรวาลนี้จะสิ้นสุดที่ตรงไหน? หรือ โลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? แต่บางที คำตอบอาจจะเรียบง่ายกว่านั้น ถ้าเราไปเจออะไรบางอย่างที่รู้สึกว่า สิ่งนั้นแตะใจเราได้ ทัชใจเราได้ เพราะงั้นถ้าลองพูดในมุมกลับ
พูดถึงคนที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ พูดถึงคนที่ไม่มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่คือคนที่มีความเจ็บปวดทางจิตใจสูง เป็นคนที่เผชิญอยู่กับความอ้างว้างและโดดเดี่ยว ซึ่งคนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่แล้ว 50 % เป็นอย่างน้อย
จะมีปัญหาด้านความสัมพันธ์หมดเลย แล้วความสัมพันธ์แรกเริ่มที่เขาจะมีปัญหาคือ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวอย่างพ่อแม่ ถ้าลองสะท้อนกลับไป การที่เราจะเจอความหมายที่จะมีชีวิตอยู่ของเรา
ความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ในคำตอบของคำถามนี้ บางคนอาจจะบอกว่า ไม่อยากอยู่เลย แต่เขาไม่เข้าใจว่า เพราะอะไรถึงไม่อยากตาย พอคุยกันไปสักพักเลยได้ข้อสรุปว่า จริง ๆ คุณอยากอยู่แหละ
แต่คุณแค่ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปเพื่ออะไร ใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข เขาเลยถามว่า แล้วต้องทำอย่างไร ถึงจะรู้ว่าควรจะใช้ชีวิตเพื่ออะไร บางทีถ้าอยากใช้ชีวิตอยู่เพื่อใครสักคน นั่นอาจจะเป็นเหตุผลของคุณ
คำพูดนี้ ทำให้เขาค้นพบว่า ชีวิตเขาสามารถมีคุณค่าและมีความหมายได้ เมื่อเขาค้นพบคุณค่าในความสัมพันธ์ ซึ่งถ้าไล่มาตั้งแต่วัยเด็ก เราไม่ได้เกิดมาพร้อมศักยภาพที่จะหาคำตอบนี้ ถ้ามองจากมุมปรัชญา
คนที่จะหาคำตอบได้ ต้องเป็นคนที่มีศักยภาพสูงมาก อย่างอริสโตเติล ไอน์สไตล์ หรือซิกมัน ฟรอยด์ พวกเขาอาจจะไม่ได้มาจากครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่คนกลุ่มนี้เป็นคนที่พิเศษกว่าในแง่ของศักยภาพ
แต่ถ้ามองกลับมาที่ชีวิตทั่วไป ที่ไม่ได้มีพรสวรรค์ แต่จริง ๆ ต่อให้มีพรสวรรค์ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ‘พื้นฐานของจิตใจ’ เช่น Basic task หรือการมี Attachment relationship ที่ดีซึ่งสร้างมาจากพ่อแม่
พอเป็นแบบนี้ โครงสร้างภายในจะไม่แหว่งไม่เว้า พออะไรเข้ามาจะกลายเป็นการต่อยอด ทำให้รู้ว่าสิ่งนี้คือความสุขของคุณ สิ่งนี้คือคุณค่า แล้วคุณจะใช้ชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ แต่สำหรับคนที่มีอะไรขาดหาย
ต่อให้มีอะไรเติมเข้ามา จะเติมไม่ตรงจุด ทำให้ไม่สามารถซึมซับคุณค่าของสิ่งที่เข้ามาได้ เพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองขาดหายอะไรไป จนเกิดเป็นคำถามว่า คุณค่าหรือความหมายของการมีชีวิตคืออะไร
แต่ถ้าย้อนกลับไปจุดเดิม บางคนอาจจะตอบได้ง่าย ๆ เลยแค่ว่า กลับบ้านมาเจอพ่อแม่พอแล้ว เพราะมีความสัมพันธ์ มีสิ่งที่ยึดโยงกันและกันอยู่ เลยอยากนำเสนอว่า คำตอบนี้ตอบได้หลายอย่าง
แต่อยากแชร์ในด้านความสัมพันธ์ ว่าถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดีและหลากหลาย จะสะท้อนคุณค่าบางอย่างให้ชีวิตได้ รวมถึงทำให้ค้นพบความหมายในการมีชีวิตอยู่และสร้างพื้นฐานใหม่ให้แน่น
ต่างจากตอนแรกที่เคยว่าง ๆ โหวง ๆ คุณจะได้ใช้พื้นฐานไปรับและแสวงหาสิ่งที่จะทำให้รู้สึกว่า นี่คือความหมายที่คุณจะมีลมหายใจและใช้ชีวิตต่อไปบนโลกใบนี้ได้
เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ ขึ้นอยู่กับอะไรได้บ้าง?
ในหัวข้อที่แล้วได้พูดถึงโครงสร้างที่สำคัญ จากมุมมองส่วนตัวคิดว่าความสัมพันธ์สำคัญประมาณ 50% เลย ทีนี้ขึ้นอยู่กับว่า พอมีพื้นฐานที่ดี เราต่อยอดอย่างไร? เราได้ทำในสิ่งที่ชอบไหม?
เราได้ทำในสิ่งที่ประสบความสำเร็จไหม? เพราะถ้ามีพื้นฐานที่ดี แต่ขาดการกระทำที่ต่อยอด จะทำให้พื้นฐานแน่นแต่จุดยอดแหว่งเว้า โปร่ง พร่องอะไรบางอย่าง พอมีพื้นฐานที่ดี สิ่งสำคัญที่ตามมา
ไม่ใช่การปล่อยให้ตัวเองอยู่เฉย ๆ หรือ รอฟังคำพูดคนอื่น แต่เราต้องรู้ว่า ควรคิดดีทำดี ต้องทำในสิ่งที่ไม่เดือดร้อนคนอื่น ไม่เดือดร้อนตัวเอง ไม่เดือดร้อนสังคม สิ่งที่ทำต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างนี้
แล้วดูว่าเราทำแล้ว เราชอบสิ่งนี้ไหม เราทำแล้วเราได้อะไรกลับมา ได้ความสำเร็จกลับมาไหม? เรารู้สึกอย่างไรกับความสำเร็จไหม? ถ้าคำตอบมีแต่ ‘Yes’ สิ่งนั้นคงใช่และเป็นคำตอบสำหรับเรา
พอเจอคำตอบที่ใช่ ยิ่งเราทำสิ่งนั้นได้ดี เราทำสิ่งนั้นประสบความสำเร็จ สิ่งเหล่านั้นจะยิ่งเติมเต็มตัวเรา ทำให้เราเจอความหมายในการมีชีวิตอยู่ ถ้าใช้ชีวิตด้วย Self-esteem ที่ดี สิ่งนี้จะต่อยอด
และส่งคุณไปถึงจุดที่เรียกว่า Self-actualization หรือ การที่เห็นว่า นี่คือชีวิตฉัน ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ฉันพร้อมที่จะทำสิ่งนี้ ซึ่งมันจะเป็นอะไรก็ได้ แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
Self-esteem ที่หายไป อยากดึงกลับมา ทำอย่างไรดี?
การที่ Self-esteem โดนดึงให้หายเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าคนเราไม่มีทางยืนอยู่ในจุด ๆ เดียวได้ตลอดเวลา ไม่มีทางที่จะทะยานขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะเราไม่ได้ Perfect เพราะงั้นอย่าไปตื่นตระหนก
เวลาที่ Self-esteem ถูกดึงให้ตกลงมา แต่เราต้องรู้ว่า สิ่งนี้ตกไปเพราะอะไร? ตกไปแค่เพราะการตั้งคำถามรึเปล่า? หรือตกไปเพราะว่าฝีมือเราตกจริง? หรือตกไปเพราะเราทำไม่ดีจริง? พอรู้จุดนี้
เราจะรู้ว่าควรแก้ไขยังไง จัดการยังไง อันนี้คือการ work กับตัวเอง แต่ถ้าตกไปเพราะคำพูดของคนอื่น อันนี้จะเจอบ่อยมาก คนอื่นต่อว่า คนอื่นไม่ยอมรับ เราจะต้องเห็นภาพให้ชัดว่า พอคนอื่นต่อว่าเรา
เรา Self-esteem ตก เราไปคาดหวังอะไรกับคนอื่นมากเกินไปไหม? แล้วย้อนกลับมาดูว่า สิ่งที่เราทำนั้นดีพอแล้วหรือยัง? ถ้าดีพอแล้ว Self-esteem จะค่อย ๆ กลับมาได้ แต่ถ้าดีไม่พอ เราจะต้องยอมรับ
ความผิดพลาด แล้วเปลี่ยนคำตำหนิหรือคำต่อว่า ต่อให้รุนแรงแค่ไหน เราสกัดสภาวะอารมณ์ สกัดความรุนแรงออก เก็บไว้แค่คำวิพากษ์วิจารณ์พอ แล้วนำมาพัฒนาปรับปรุง แล้วทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้น
สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับธรรมชาติ ดีได้ก็แย่ได้ ไม่มีใครอยู่จุด ๆ เดียวได้ตลอดเวลา พออยู่แบบนี้ ชีวิตจะไปต่อได้ง่าย เราลองทำสิ่งต่าง ๆ ได้แต่ต้องลองอย่างมีสติ อยากให้มองว่า ถ้าสิ่งนี้ร่วงลงไปได้
สิ่งนี้จะกลับขึ้นมาได้เหมือนกัน แต่ถ้าทะยานขึ้นอย่างเดียว อันนี้น่ากลัว เพราะผิดธรรมชาติ ผิดวิสัย อะไรที่เคยแย่ย่อมกลับมาดีได้และอะไรที่เคยดีจะกลับมาแย่ได้เหมือนกัน
ไม่รู้ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่ จริง ๆ ตอบตัวเองไม่ได้ รับมืออย่างไรดี?
ขอแบ่งเป็น 2 พาร์ท คือ พาร์ทที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน กับ พาร์ทที่ต่อยอด เพราะงั้น ถ้าคุณปรับโครงสร้างพื้นฐานได้ดีจะต่อยอดได้ หรือ ถ้าต่อยอดไปแต่โครงสร้างพื้นฐานไม่แน่น สุดท้ายแล้วจะพังลงมาอยู่ดี
อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ Existential issues ที่พูดถึงประเด็นของการมีอยู่ของการมีชีวิตของเรา กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความรู้สึกบางอย่างที่พร่องและโหวงอยู่ข้างใน ธรรมชาติของคนที่เผชิญหน้า Existential issues
คือ พยายามแค่ไหนก็ไม่เจอคำตอบ นี่คืออัตลักษณ์ของคนที่เผชิญหน้าอยู่กับสิ่งนี้ เพราะงั้น ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณพยายามอย่างดีแล้ว แต่ยังไม่เจอคำตอบ อันนี้คงต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญ แต่ถ้าพื้นฐานคุณดี ถึงอาจจะ
ไม่ได้ดีพร้อม 100% แต่แค่หาจุดต่อยอดไม่ได้ หรือ ต่อยอดมาประมาณหนึ่งแต่ยังไม่ใช่ อันนี้ยังพอจัดการได้ด้วยตัวเอง เลยต้องลองมองย้อนกลับมามองดูว่า คุณเคยได้รับคำชื่นชมจากใครบ้างไหม?
คุณอยากได้รับการยอมรับจากใครไหม? หา point นี้ให้เจอก่อน หรือ คุณเจอสิ่งที่ใช่หรือยัง? ถ้ายังไม่เจอ ต้องเปิดใจลอง แต่ลองแบบมียุทธศาสตร์ อย่าลองแบบซี้ซั่ว มั่ว ๆ นึกอยากจะลองอะไรก็ลอง
ลองทบทวนตัวเองก่อนว่าชอบอะไร? โอกาสมีมากน้อยแค่ไหน? แล้วค่อยลองดู แน่นอนว่าไม่มีทางเจอคำตอบทันทีทันใด แต่จะเห็นได้ว่า วิธีการนี้จะทำให้ตั้งหลักได้ เข้าใจได้ ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปได้
ปัญหาเยอะจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ รับมืออย่างไรดี?
ต้องแยก แม้บางทีเราจะเจอคำตอบที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ แต่การรับมือสิ่งที่รบกวนในชีวิตจะเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งอันนี้จะมีความซับซ้อน เหมือนเรารู้ว่าเราจะต้องวิ่งแข่ง แต่เรากล้ามเนื้อฉีก หัวไหล่อักเสบ
ต้องทำกายภาพ ปวดหลัง เราจะต้องไปจัดการเรื่องพวกนั้นก่อน แต่ในชีวิตจริง ไม่สามารถจะเรียงลำดับได้เป๊ะ ๆ แปลว่า เราจะต้องสิ่งที่เกิดขึ้นตามสมควร ต้องอยู่กับสิ่งที่ใช่กับเราไปด้วย อันนี้เป็น Concept
ถ้าใครอยากขึ้นทางด่วน คงต้องพบนักวิชาชีพ เพราะจะเป็นทางที่เร็วที่สุด แล้วค่อย ๆ จัดการไป ตอบตรง ๆ อาจจะตอบยาก เพราะแต่ละคนเจอปัญหาที่แตกต่างกัน แต่อยากให้แยกก่อนว่า ถึงคุณจะเจอ
ความหมายที่ทำให้อยากมีชีวิต ไม่ได้แปลว่าจะ hold ทุกอย่างของชีวิตได้ จะโอบอุ้มทุกอย่างในชีวิตได้ ทุกคนจะต้องมีปัญหาที่ต้องเผชิญและรุมเร้าเข้ามาอยู่ดี เพราะงั้น ปัญหาต้องจัดการตามสมควร
แค่รู้ว่าผ่านอะไรมา รู้ว่ายืนอยู่ตรงไหน อยากเดินไปทางไหน ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว 🙂
Post Views: 5,632