กตัญญู

การให้เงินพ่อแม่เท่ากับ กตัญญู หรือไม่ กตัญญูที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร ?

เรื่องAdminAlljitblog

จากที่ใน Social Media มีประเด็นที่ทำให้สังคมตั้งคำถามกับคำว่า ” กตัญญู ” วันนี้ Alljit Podcast กับรายการ Learn & Share จึงอยากชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า การให้เงินพ่อแม่เท่ากับกตัญญูหรือไม่?

 

ค่านิยมของคำว่า กตัญญู มีอะไรบ้าง? 

“มีลูกไวให้ทันใช้”

หมายถึง มีลูกเพื่อไว้ดูแลตนเองตอนอายุมาก ในมุมของพ่อแม่ เมื่อถึงวัยนั้นคงไม่สามารถดูแลตนเองและทำงานหาเงินเลี้ยงชีพได้ ความคาดหวังจึงไปตกอยู่ที่ลูก 

 

แต่ในความเป็นจริง ลูกมีชีวิตของตนเองเช่นเดียวกัน บางครั้งการตอบแทนอาจไม่ได้มีแค่ “การให้เงิน” แต่เป็นการแสดงความรักความห่วงใยและตอบแทนตามกำลัง

 

เงื่อนไขของแต่ละครอบครัว อาจทำให้ความคาดหวังแตกต่างกันไป บางครอบครัวคาดหวังเพียงให้ลูกดูแลตนเองได้ ในขณะที่บางครอบครัวคาดหวังให้ลูกเป็นที่พึ่ง

 

“จะผิดจะถูก เขาก็คือพ่อแม่”

จริง ๆ แล้ว พ่อแม่และลูกต่างเป็นมนุษย์ที่มีผิดมีถูก การแนะนำหรือตักเตือน จึงเป็นสิทธิ์ของทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เหมาะสม เช่น การด่าทอ การทำร้าย เมื่อรู้ว่าทำผิด การขอโทษจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ 

 

การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูก ไม่ได้หมายความว่าลูกจะต้องเป็นฝ่ายยอมหรือเกรงใจพ่อแม่อย่างเดียว คำขอโทษเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดหรือทำเกินไป สามารถช่วยรักษาความสัมพันธ์และช่วยประคับประจองจิตใจกัน

 

 

ค่านิยมของคำว่า กตัญญู ส่งผลอย่างไรต่อเรา?

1. ผลกระทบต่อลูก

“รู้สึกขาดจากการไม่ได้รับการยอมรับ”

หากอยู่ในกลุ่มสังคมที่ถูกกดดันว่าต้องให้เงินพ่อแม่ ถ้าทำไม่ได้จะไม่ได้รับการยอมรับ ในทางจิตวิทยา มนุษย์ต่างต้องการความรัก การไม่ได้รับการยอมรับจึงเหมือนการที่ความต้องการพื้นฐานไม่ได้ถูกเติมเต็ม

 

“รู้สึกเครียดจากการถูกกดดัน”

บางครอบครัวกดดันทางคำพูดหรือทางการกระทำ เช่น การบังคับให้เลี้ยงดู ต้องส่งเงิน ต้องดูแล สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกเครียด รวมไปถึงการโทษตัวเองเมื่อไม่สามารถทำตามความคาดหวังนั้นได้

 

2. ผลกระทบต่อพ่อแม่

ในบางครอบครัวที่ฝากชีวิตบั้นปลายไว้ที่ลูก ไม่มีแผนสำรอง เมื่อลูกไม่สามารถทำตามความคาดหวังนั้นได้ ทุกอย่างอาจพังทลายลง เมื่อไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ปัญหาอื่น ๆ จะตามมา

 

 

นิยามของคำว่า กตัญญู

“ให้เงิน เท่ากับ กตัญญู”

ด้วยความที่ภาระหน้าที่ รวมไปถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน จำนวนเงินจึงไม่สามารถวัดความมากน้อยของคำว่า กตัญญู ได้

 

คำว่า กตัญญู สามารถนิยามได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การที่ลูกไม่ปล่อยให้พ่อแม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวหรือรู้สึกถูกทอดทิ้ง การไม่ทำให้พ่อแม่รู้สึกเสียใจหรือวุ่นวายใจ หรือการมอบความรักความอบอุ่น 

 

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละครอบครัว จะตัดสินว่าแบบไหนถูกหรือผิดไม่ได้ การสื่อสารความต้องการของกันและกันจึงสำคัญ ว่าพ่อแม่ต้องการอะไร ลูกสามารถให้ได้หรือไม่ 

 

 

” คำว่ากตัญญ อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องสอน แต่เป็นการทำให้ลูกรู้สึกด้วยตัวเองว่าจะกตัญญูต่อพ่อแม่ในรูปแบบไหน “