‘เพราะรักจึงหวังดี’ วลีสั้น ๆ ที่ถูกใช้เพื่อแสดงความจริงใจ
เพราะอะไร ความคาดหวังถึงมักเกิดกับคนใกล้ชิด
ความคาดหวัง แท้จริงแล้วมันก็คือ ความต้องการรูปแบบหนึ่ง ความอยากได้อยากมี ซึ่งถ้าถามว่าเรามีความต้องการได้ไหม
เจ้าความคาดหวังก็คือหนึ่งในความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ เพียงแต่บางสถานการณ์มันกลับเป็นความรู้สึกที่ไม่ค่อยน่ารักเท่าไร
และอย่างที่เรารู้กัน ถ้ายิ่งมีความคาดหวังเยอะ มันก็สามารถทำร้ายจิตใจเราได้ง่ายขึ้น
ถ้าลองสังเกตดู หลายคนก็จะเห็นว่าเรามักคาดหวังกับคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา ใกล้ชิดเรา ผูกพันกันกับเรา
ไม่ว่าจะครอบครัว คนรัก เพื่อน พี่น้องที่สนิท และก็จะขยายวงโคจรของความสัมพันธ์ที่กว้างออกไป
ซึ่งความใกล้ชิดทางความสัมพันธ์ที่ยิ่งห่าง ความคาดหวังมันก็จะน้อยลงแปรผกผันกับระยะห่างที่เพิ่มมากขึ้น
คาดหวังไม่ได้แปลว่าหวังดี แต่แปลว่าเรารัก ‘แต่’ ตัวเอง ?
ประโยคที่ว่า ‘เราชอบแบบไหนให้ทำแบบนั้นกับคนอื่น แต่อย่าคาดหวังว่าคนอื่นจะรู้ใจตัวเองไปซะหมด’ เพราะคนเราเติบโตมาต่างความคิด ความเชื่อกัน
คำว่าดีสำหรับเรา อาจไม่ได้ดีสำหรับทุกคน ถ้าเมื่อไรที่ความคาดหวังของเราทำให้เขารู้สึกอึดอัด … มันคือสัญญาณที่เราต้องกลับมาทบทวนตัวเองดี ๆ
สิ่งที่เราคาดหวังจากคนอื่นนั้น เป็นไปได้ไหมที่เขาจะทำให้เราได้ หรือเป็นไปได้ไหมที่เราจะทำให้ตัวเอง เริ่มแก้ไขที่ตัวเราเอง
คำว่าคาดหวัง ไม่ได้แปลว่าหวังดีเสมอไป การหวังดี มันคือการหวังดีด้วยความรัก ไม่ใช่เพื่อหวังควบคุมชีวิตอีกฝ่าย
ยิ่งถ้าเราขอร้องแกมบังคับให้ทำ นั่นถือเป็นพฤติกรรมของการเรียกร้อง ไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่หวังดี
… ความหวังดี จะเป็นการพยายามเข้าใจและยอมรับตัวตนของอีกฝ่าย และผลของความหวังดี คือ การทำให้อีกฝ่ายเติบโตไปพร้อมกัน
เมื่อเรามอบความหวังดีให้แล้ว เขาจะทำหรือไม่ ก็ไม่ได้มีผลอะไรกับจิตใจเรา ต่างจากความคาดหวังที่เรามีความอยากให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการสูง
ถ้าเขาไม่ทำ เราจะกลับมาผิดหวังเจ็บปวดกับตัวเอง…
เหมือนที่ในหนังสือ The Awakened Heart (ฮาร์ท) ของ Dr. Gerald May ได้บอกไว้ว่า
ความคาดหวัง (expectation) อาจจะมีนัยเชิงลบและไม่ค่อยดีต่อสุขภาพเท่าความหวัง (hope)
ความคาดหวังเป็นเรื่องของการยึดติด ในความคาดหวังมักมีความผิดหวังแฝงอยู่ในตัวเอง และเมื่อความคาดหวังไม่เป็นอย่างที่คาด
ผลที่เกิดขึ้น ก็คือความไม่พอใจและความไม่สบายใจอย่างที่เราเป็น
การจะอยู่ในความสัมพันธ์ไม่ว่าจะความสัมพันธ์ใดก็ตาม ความหวังดีเปรียบเสมือนดาบสองคมเสมอ
เราควรหวังดีให้ถูกเรื่อง ถูกคน และถูกเวลาในระดับที่พอดี ถ้าเราหวังดีแต่อีกฝ่ายไม่ต้องการ
ความหวังดีที่เรามีแม้จะเป็นการทำเพื่อตัวเขาจริง ๆ มันก็จะกลับกลายเป็นเพียงความรำคาญที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นกำแพงในความสัมพันธ์
ซึ่งความจริงแล้ว การที่คนเราจะอยู่ด้วยกัน ถึงเราจะตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเราจะไม่คาดหวังในตัวคน ๆ นี้
แต่สุดท้ายแล้ว แม้เราก็ทำเต็มที่แล้วที่จะไม่คาดหวัง แต่อย่าลืมว่า ความหวังดีหรือความปรารถนาดีที่จริงใจของเรา
มันสามารถเกิดขึ้นแทนได้เพราะความรักที่เรามี และขอให้จงมีต่อไป ไม่ว่าจะปรารถนาดีต่อตนเองหรือคนอื่นก็ตาม
เพราะอย่างน้อยหากเราเปลี่ยนความคาดหวังเป็นความหวังดี อาจฟังดูเข้าท่าและน้อมรับได้ง่ายกว่าความคาดหวัง
หากเขาเพิกเฉยต่อความหวังดีนั้น เราก็จะสามารถรักตัวเองต่อไปได้โดยไม่รู้สึกว่าเราผิดหวังเท่าไรนัก
เพราะฉะนั้น ก่อนเราจะบอกความหวังดีหรือความคาดหวังของเราไป เราต้องหยุดคิดไตร่ตรองดี ๆ ว่า
ถ้าเขาทำให้เราไม่ได้ เราจะโอเคไม่เป็นอะไรหรือเราจะไม่พอใจรึเปล่า แล้วเรารักตัวเองมากพอที่จะทำใจยอมรับได้ไหม
เพื่อที่เราจะแยกออกได้ว่าสิ่งนี้คือหวังดีหรือความคาดหวังที่มีต่อตัวเขา ที่สำคัญ อย่าเอาความผิดหวังที่ไม่ได้ดั่งใจมาทำให้เรากลายเป็นคนไม่น่ารัก
ลดความคาดหวังไปพร้อมกับการรักตัวเอง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่เราจะขับเคลื่อนตัวเองไปข้างหน้าได้ นั่นก็คือ การปรับความคิดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การกระทำ
คงเคยได้ยินประโยคนี้บ่อย ๆ คำที่บอกว่า ‘ไม่คาดหวัง ไม่ผิดหวัง’ หรือ ‘ลดความคาดหวังลงสิ จะได้ไม่เจ็บมาก’
การลดความคาดหวังมันเป็นยังไง ฟังดูพูดง่ายแต่การลงมือทำนี่สิ มันต้องทำยังไง…
อาจเพราะความคาดหวังมันเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดของจิตใจ ทำให้เราอาจจะมองไม่ออกว่าแล้วเราควรลดมาถึงระดับไหนกัน
ไม่ใช่ว่าเราต้องห้ามมีความคาดหวังเลยในชีวิตเลย เราถึงจะมีความสุข ความคาดหวังก็ถือเป็นสิ่งที่นำพาเราให้ไปสู่ความสำเร็จในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
ความคาดหวังของเราก็อาจจะไม่ได้รับการตอบสนองที่เติมเต็มจนเราอาจน้อยใจ หงุดหงิด หรือไม่พอใจ…การที่เราจะเปลี่ยนใครสักคนหนึ่ง
สิ่งหนึ่งที่เราต้องกลับมาทำความเข้าใจก่อน นั่นคือ เราเปลี่ยนใครไม่ได้ และยิ่งถ้าเขาเป็นคนแบบนั้นมาตั้งแต่ทีแรกและเรารู้อยู่แล้ว
แต่เป็นเราเองที่คาดหวังในตัวเขาเพิ่มมากขึ้น แม้จะเป็นการคาดหวังเพื่อให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้นไม่ใช่แค่เพราะความพอใจของเรา
เขาก็อาจจะตอบสนองให้เราไม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบอย่างที่เราตั้งเป้าไว้อยู่ดี เรื่องความเท่ากันของความคาดหวังในความสัมพันธ์
รู้สึกเราและพอดีในความรู้สึกเขา หาเวลามาพูดคุยกันเรื่อย ๆ บางทีการลดความคาดหวังลงมา
อาจจะเป็นเพียงแค่การสนุกไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางมากขึ้นพร้อมประคองสมดุลให้มันอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ระดับที่เรารู้สึกพอดี พอใจ ระดับที่เรารู้ตัวว่าหากเกิดความผิดหวังขึ้นมา มันก็อาจจะเจ็บนิดหน่อยเป็นธรรมดา แต่เราจะไม่เป็นไรก็เท่านั้นเอง
สื่อสารความคาดหวังอย่างลดแรงกระแทก
เราจะสื่อสารความต้องการของเรายังไงไม่ให้กระทบความรู้สึกอีกฝ่ายมากไป อาจจะอยู่ที่คำพูดตอนที่สื่อสารออกไป
เราควรระวัง หลีกเลี่ยงการใช้คำที่สื่อถึงการบังคับให้ทำ เช่น “เราต้องการให้เธอลงสตอรี่ไอจีถึงเราบ้าง”
ลองเปลี่ยนเป็น “เรารู้สึกดีเวลาที่เธอลงสตอรี่เกี่ยวกับเรา เรารู้สึกสำคัญสำหรับเธอ”
หรือวิธีที่คุณยุนแดฮยอน ได้แนะนำไว้ในหนังสือ คือ ใช้ประโยคคำถามปลายเปิดแทนประโยคบอกเล่า
เช่น เปลี่ยนจาก “กลับบ้านดึกจัง (ซึ่งเป็นประโยคบอกเล่า) หรือ ไหนบอกจะกลับเร็ว ทำงานเกินเวลาอีกแล้วใช่มั้ย”
เป็นคำถามปลายปิด ให้ลองเปลี่ยนเป็น “ช่วงนี้งานเป็นไงบ้าง เห็นว่ากลับบ้านดึกบ่อย ๆ”
คำถามปลายเปิดจะช่วยให้คนที่ฟังเปิดใจพูดคุยได้มากกว่าการตอบแค่ใช่/ไม่ใช่ และช่วยลดความกดดันได้
เพราะเรามุ่งถามความเห็นของอีกฝ่ายด้วยกัน ทำให้เขาจะต่อต้านน้อยลง
และอาจนำไปสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งเขาก็จะยอมรับทำตามได้ง่ายขึ้นเพราะเป็นทางออกที่ตัดสินใจร่วมกัน
เพราะการสื่อสารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ต้องใช้เวลาในการอดทนรอคอย
และตระหนักไว้ว่า ถึงจะเป็นคำพูดที่ดีหรือถูกต้องแค่ไหน แต่ถ้าคนที่ฟังรู้สึกกดดันมากไป
เกิดความรู้สึกว่าเขากำลังถูกคาดหวังให้ทำอะไรบางอย่างอยู่ เขาอาจจะตีความเป็นความรู้สึกเชิงลบและต่อต้านตามสัญชาตญาณได้
ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังคาดหวังอยู่นั้น เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงยาก เราก็อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวเพื่ออยู่กับสิ่งนั้นให้ได้
แต่หากเป็นสิ่งที่เราคาดหวังได้ เปลี่ยนแปลงได้ เราก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือในวันนึงที่เราอาจจะผิดหวังกับสิ่งนั้นขึ้นมาด้วยเช่นกัน
เวลาทำความเข้าใจไปไม่มีอะไรสามารถได้ดั่งใจเราไปหมดทุกอย่าง ขนาดคาดหวังให้ตัวเองได้ดั่งใจตัวเอง บางทียังทำได้ยากเลย
เราก็มีชีวิตของเรา เขาก็มีชีวิตของเขา แต่ละเรื่องก็มีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ บางทีเราแค่ยอมรับมัน ไม่ต้องไปถามหาเหตุผลก็ได้
ทุก ๆ ความสัมพันธ์ล้วนต้องการระยะห่าง การมีพื้นที่ของตัวเอง เลิกผูกความสุขเราไว้กับคนอื่น เพื่อใจเราเองที่จะเบาขึ้น สบายขึ้น
แล้วเราจะเห็นว่าเราเสียเวลาทุกข์ใจเรื่องคนอื่นไปแล้วกี่เรื่อง ขณะเดียวกัน ถ้ามันจะเกิดอารมณ์เชิงลบก็ให้มันเกิดขึ้น
อย่าต่อต้านหรือปฏิเสธเลย ขอแค่เราได้ฝึกทำความเข้าใจอาการตัวเอง และรู้ว่าต้องจัดการตัวเองยังไง
บางทีการรับฟังเสียงหัวใจตัวเอง ก็คือ การให้ตัวเองกลับคืนเหมือนกัน หรือบางครั้งพอไม่คาดหวัง เราก็อาจจะเจอความสุขที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้เจอก็ได้
Post Views: 192