Posts
ความเหงา ไม่ได้แย่อย่างที่คิด ถ้าอยู่คนเดียวไม่ได้เป็นคนขี้เหงาไหม ผิดไหมที่อยู่ ๆก็เหงาขึ้นมา จริง ๆ แล้วความเหงาเกิดจากอะไร บางครั้งอยู่กับเพื่อนเยอะ ๆ แต่เหงาขึ้นมาได้ จะทำยังไงไม่ให้เหงาดี
บทความนี้ Alljit ร่วมกับ คุณรัชดาภรณ์ ศรีวิลัย นักจิตวิทยาคลินิก
ความเหงา คืออะไร
อารมณ์และความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นในมนุษย์ ในความรู้สึกเหงาอาจมีความรู้สึกอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว
ความเหงา มาในรูปแบบไหนบ้าง
1.อยู่กับตัวเองแล้วเหงา
2.อยู่กับสังคมแล้วเหงา
ตัวอย่างสาเหตุของ ความเหงา
- คิดถึงบางสิ่งบางอย่าง
- ความรู้สึกต้องพึ่งพาคนอื่น
- ไม่มั่นใจในตัวเอง
อยู่กับเพื่อนมากมาย ทำไมยังรู้สึกเหงา ?
ความรู้สึกยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของที่ ตรงนั้น ยังไม่ถูกยอมรับ จึงเกิดเป็นความรู้สึกเหงาขึ้น
มีแฟนแล้วรู้สึกเหงา ?
- แฟนตอบสนองเราไม่มากพอตามที่เราต้องการ
- เขาไม่สามารถสร้าง Emotional Support ให้เราได้มากเพียงพอจึงเกิดเป็นความเหงาขึ้น
ข้อดีของ ความเหงา ตามมุมมองของนักจิตวิทยา
1.เวลาที่เราเหงา หมายถึง เราได้อยู่กับตัวเอง
เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ในช่วงเวลาเหงา เช่น อยากจะนอนบนเตียงฟังเพลงที่เราชอบ ออกไปนั่งที่ร้านกาแฟที่เราอยากไป เวลาเราอยู่คนเดียวก็มีความสุขกลับมาในรูปแบบของการอยู่กับตัวเอง
2.เวลาที่เราเหงา คือ ช่วงเวลาที่สงบ
เราสามารถกลับอยู่กับตัวเองโดยไม่ต้องวิ่งตามใคร ไม่ต้องคิดถึงใคร อาจจะเหงาบ้างแต่ได้ใช้ชีวิตกับตัวเอง สำคัญที่สุดคือ เราได้ทำความรู้จักตัวเองในช่วงเวลานี้
ข้อเสียของ ความเหงา ตามมุมมองของนักจิตวิทยา
ความเหงาไม่ได้เป็นอารมณ์แรกที่เกิดขึ้น แต่เป็นอารมณ์ที่ตามมาหลังจากที่เรารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความรู้สึกไม่มีที่พึ่งพิง จึงก่อเกิดความโดดเดี่ยว ความเศร้า
และก่อเกิดเป็นความเหงาขึ้นมา ข้อเสียจึงขึ้นอยู่กับว่าความเหงานั้นเกิดขึ้นในรูปแบบไหน
เช่น รู้สึกอยู่คนเดียวไม่ได้ อาจทำให้ เราต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ตลอดเวลา และเห็นคุณค่าของตัวเองลดลงจนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
การอยู่คนเดียวไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนขี้เหงา ?
การอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนขี้เหงาเพราะต่างคนต่างมีสาเหตุที่แตกต่างกัน เช่น บางคนที่ชอบอยู่กับเพื่อนเพราะสนุก
บางคนมีประสบการณ์กับการอยู่คนเดียวในด้านที่ไม่ดี เช่น อันตรายบางอย่าง
คำจำกัดความของคนขี้เหงา
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทุกคนมีความเหงา เวลาที่เราพูดว่าคนนี้ ”ขี้เหงา” ก็ต้องสังเกตว่าคนนี้เป็นคนอย่างไร ถึงจะให้นิยาม “ขี้เหงา” ของเขา
เช่น การที่เขาอยู่คนเดียวไม่ได้เลย ต้องออกไปอยู่กับเพื่อนตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่าเขาขี้เหงา แต่เขาแค่ต้องการเติมเต็มความรู้สึกบางอย่าง
ความเหงาทำให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้ไหม ?
ในความเหงาอาจมีความรู็สึกบางอย่างซ่อนอยู่ เช่น ความเศร้า และเมื่อไหร่ที่เราเศร้ามาก ๆ และจัดการอารมณ์ได้ไม่ได้จึงนำไปสู่ความคิดว่า ตัวเองดีไม่พอ
จนความเหงาก่อตัวเพิ่มขึ้นก็อาจมีภาวะอื่น ๆ ทางอารมณ์ ไม่ใช่แค่ซึมเศร้าตามมาด้วย
Introvert เหงาไหม ?
ทุกคนมีโอกาสเหงา ได้เหมือน ๆ กัน แค่คนที่มีบุคลิกภาพ introvert มีความสุขกับความเงียบ กับเพื่อนแค่ไม่กี่คน ไม่ได้แปลว่าเหงา หรือไม่เหงา
Extrovert เหงากว่าปกติไหม ?
Extrovert ไม่ได้แปลว่าเขาเหงากว่าคนอื่น แต่หมายถึง การใช้ชีวิตกับเพื่อน การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั่นเป็นความสุขของเขา และเขารู้สึกดีที่ได้ใช้ชีวิตแบบนี้
จำเป็นต้องค้นหาสาเหตุความเหงา เพื่อแก้ไขและจะไม่ต้องเหงาอีกต่อไป
สุดท้ายแล้วความเหงาจะยังคงอยู่ เพราะความเหงาเป็นอารมณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์
แต่ การเข้าใจกับความเหงาที่เกิดขึ้นกับตัวเองก็เป็นสิ่งที่ดี ทำได้โดยการกลับมาคุยกับตัวเองเมื่อไหร่ที่พบเจอความเหงา แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุของความเหงานั้น และจัดการกับสาเหตุ
“หากเกิดความเหงาขึ้น เอาช่วงเวลาของความเหงา ไปใช้ชีวิตของตัวเอง ทำอะไรก็ได้ที่เกิดความสุขขึ้นกับตัวเอง”
ถ้ามีคนมาเล่าเรื่องที่ไม่สบายใจให้เราฟัง เราควรทำยังไงดี? ควรนั่งฟังเฉย ๆ หรือ ตอบโต้กับเขา แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาให้เขา เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราเป็นผู้ฟังที่ดีหรือยัง? แบบไหนที่เรียกว่า ” ผู้ฟังที่ดี ”
ฟังอย่างไรให้เป็นการ รับฟัง ด้วยใจ?
รู้จัก Active Listening
เป็น “การฟัง” ที่ไม่ใช่แค่ “การได้ยิน” จาก APA ให้ข้อมูลว่า Active Listening เป็นเทคนิคในการบำบัดทางจิตวิทยา เป็นการที่ผู้ฟังตั้งใจรับฟัง ตั้งคำถามที่จำเป็น เพื่อทำความเข้าใจสารและอารมณ์ของอีกฝ่าย
องค์ประกอบของ ผู้ฟังที่ดี
นอกจากนี้ อิตาเลี่ยนไทยกรุ๊ป กล่าวด้วยว่า การฟังแบบ Active Listening คือ การฟังโดยทำความเข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการนำเสนอออกมาจริง ๆ ประกอบไปด้วยหลัก 3A
1. Attitude (ทัศนคติ)
การยอมเปิดใจรับฟังโดยปราศจากอคติ เพราะจะทำให้สามารถรับฟังเรื่องราวทั้งหมดจนจบได้อย่างเข้าใจจริงๆ
2. Attention (ความสนใจ)
ตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายพูด รอฟังเหตุผลและเรื่องราวทั้งหมดของอีกฝ่ายให้จบ ก่อนนำมาคิดและประมวลผลตาม
3. Adjustment (การปรับตัว)
หลังจากรับฟัง ควรปรับอารมณ์และความคิดให้เหมาะสม แล้วเลือกวิธีการตอบกลับที่ผ่านการไตร่ตรองมาดีแล้ว
การเป็น ผู้ฟังที่ดี สำคัญอย่างไร?
1. สำคัญต่อสุขภาพจิต
ถ้าต่างคนต่างรับฟังกัน ไม่ว่าจะมีช่วงเวลาที่แย่แค่ไหน คงผ่านไปได้ง่ายขึ้น เพราะทุกคนต่างต้องการ social support กันทั้งนั้น ในวันที่เจอปัญหา
2. สำคัญต่อการทำงาน
หากในองค์กรบริษัทรับฟังกันแบบ Active Listening จะทำให้ได้ความคิดสร้างสรรค์และความคิดเห็นใหม่ ๆ จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันและกัน
3. สำคัญต่อความสัมพันธ์
ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน แฟน พวกเขาอาจมีอะไรอยากระบาย หากรับฟังกัน จะทำให้ความสัมพันธ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น
อยากเป็น ผู้ฟังที่ดี ต้องทำอย่างไร?
1. Eye contact ให้พอเหมาะ
สำหรับบางคน การไม่มองตา อาจทำให้รู้สึกเหมือนไม่ได้ฟังอยู่ แต่สำหรับบางคน การมองตา อาจทำให้รู้สึกอึดอัดหรือเกร็งได้ ควรสังเกตปฏิกิริยาของอีกฝ่าย
2. ตั้งคำถามให้อีกฝ่ายได้ระบาย
การตั้งคำถามเปิด ให้โอกาสอีกฝ่ายได้พูดและได้ระบายอย่างเต็มที่ จะช่วยให้ความอึดอัดใจน้อยลง เช่น รู้สึกยังไง คิดยังไงกับเรื่องนี้ วางแผนจะทำอะไรต่อไป
3. คำพูดและการแสดงออกควรไปในทางเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นสีหน้า ท่าทาง แววตา ควรเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพราะถ้าอีกฝ่ายบอกว่า รับฟังอยู่นะ แต่เล่นโทรศัพท์หรือพูดแทรก อาจทำให้เสียความรู้สึกได้
4. ใช้ใจฟัง เข้าใจแบบ empathy หลีกเลี่ยง sympathy
empathy คือเข้าใจในมุมเขา แต่ sympathy คือเข้าใจในมุมเขา แบบที่รู้สึกตามไปด้วย เขาดิ่งเราดิ่งด้วย จากที่จะหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน กลายเป็นเศร้าไปหมด
5. มีปฏิกิริยาที่แสดงให้เห็นว่าเรากำลังรับฟังเขาอยู่ มี feedback
แสดงให้เห็นว่ากำลังฟัง ด้วยการพยักหน้าเป็นระยะ ยิ้มให้ หรือแสดงอารมณ์ที่เป็นไปในทางที่เล่า รวมถึงอย่าลืมให้ feedback อย่างการทวน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน
คนรอบข้างที่มีอาจไม่ใช่ ผู้ฟังที่ดี ทำอย่างไร?
การเลือกคนที่ไว้ใจได้สำคัญ แต่ถ้าไม่มีเลยจริง ๆ อาจต้องพึ่งนักจิตวิทยาหรืออาสาสมัครรับฟัง การจัดการด้วยตัวเองทั้งหมดอาจยากสำหรับหลาย ๆ คน ไม่จำเป็นต้องปิดกั้น
เช่น ถ้าเรามีเพื่อนในกลุ่ม 5 คน ทั้ง 5 คนนั้นอาจจะไม่ใช่คนที่สามารถรับฟังเราได้ทุกเรื่อง ลองพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกัน แล้วสังเกตว่าใครเหมาะกับการที่จะปรึกษาเรื่องไหน
และสุดท้ายการรอเวลาสำคัญไม่แพ้กัน คือ ให้เวลาตัวเอง รอให้เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นแผลสำหรับเราแล้ว เราใจเย็นลงแล้ว เรามีทางออกแล้ว ค่อย ๆ เล่าให้คนอื่นฟังทีหลังได้
ถ้าไม่มี ผู้ฟังที่ดี รับฟัง ทำอย่างไร?
ในแง่ที่ว่าไม่มีความพร้อมไปหานักจิตวิทยา อาสาสมัครรับฟังคู่สายเต็ม แต่เราไม่ไหวแล้ว ณ เวลานั้น อาจลองอยู่กับตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองได้ระบายความรู้สึกออกมา
ไม่ว่าจะเป็นการร้องไห้ เขียนระบาย หรือพูดระบายคนเดียว บางคนที่เศร้ามาก จะปล่อยให้ตัวเองร้องไห้ ร้องจนไม่มีอะไรให้ร้องจะหยุดได้เอง และที่สำคัญคือ ” เวลา “
เวลาจะช่วยเยียวยาทุกสิ่ง อาจช่วยเหลือตัวเองได้ระหว่างรอเวลา ด้วยการหาอะไรทำไม่ให้มีเวลาว่างมาเศร้าเสียใจ พยายามหากิจกรรมที่ชอบทำ จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
ถ้ารู้สึกว่า คนอื่นไม่เข้าใจเรา รับมืออย่างไร?
บางครั้ง อย่าปล่อยให้คนใจร้าย ทำให้เราไม่ให้โอกาสคนอื่น คนรอบข้างที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะไม่ใช่ไปด้วย จะมีสักคนที่รับฟังอย่างเข้าใจ
และการที่จะลบอคติว่า ไม่มีใครเข้าใจเราเลย ค่อนข้างยาก บางทีอาจจะลองหยุดตามหาคนนั้น แต่ระบายทางอื่นแทน เช่น โลกส่วนตัว โซเชียลมีเดียแล้วตั้งเป็น Private
นักจิตวิทยา มีหน้าที่ ให้คำปรึกษา จริงไหม?
ไม่ถูกต้องไปซะทั้งหมด เพราะแก่นสำคัญไม่ใช่การให่คำปรึกษา แต่เป็น ” การรับฟัง ” การอยู่เคียงข้าง การเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ
เป็นคนที่ทำหน้าที่สะท้อนให้เขาเข้าใจตัวเองและตัดสินใจได้ว่าควรจัดการกับชีวิตตัวเองอย่างไร ไม่ได้มีหน้าที่คิดทางออกให้ ถึงแม้ว่าผู้รับการปรึกษาจะต้องการแบบนั้น
เพราะเงื่อนไขในชีวิตของทั้งสองฝ่ายไม่เหมือนกัน จะให้ผู้ให้คำปรึกษาชี้ทาง บอกให้ทำแบบนี้สิ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะอาจจะทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ
นอกจากนักจิตวิทยา บางคนจะหันหน้าไปหาคนแปลกหน้า เช่น เพื่อนในโลกออนไลน์ กลุ่มใน Facebook ที่มีการรับฟังและให้กำลังใจและกัน อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีได้
ที่สำคัญกว่าการหาคนมาอยู่เคียงข้าง คือ การเป็นเพื่อนที่ดีให้กับตัวเอง 😊🤍
ที่มา :
เคล็ดลับงานพุ่ง รักรุ่ง ในช่วงล็อคดาวน์
Active listening ทักษะการฟังที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้คนในทีม
เป็นคนอ่อนไหว ” ดาวน์ง่าย ” จิตตกง่าย ดิ่งง่าย แบบไม่มีสาเหตุ ผิดปกติไหม? จะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญ?
เป็นคนอ่อนไหว ดาวน์ง่าย จิตตกง่าย ดิ่งง่าย ทำอย่างไรดี?
ดาวน์ง่าย จิตตกง่าย ดิ่งง่าย ผิดปกติไหม?
ดาวน์ง่าย จิตตกง่าย ดิ่งง่าย คำนี้อาจจะไม่ได้อยู่ในศัพท์ทางการแพทย์ แต่เป็นคำที่ใครหลายคนเอามาใช้เวลาเกิดภาวะอารมณ์บางอย่าง ซึ่งคำเหล่านี้มักจะอยู่ในกลุ่มความรู้สึกแย่หรือเป็นอารมณ์ลบ
ถามว่าผิดปกติไหม คิดว่าเกิดขึ้นได้ เวลาที่ไปเจอเรื่องหรือสภาวะบางอย่างที่กระทบกระเทือนจิตใจ บางทีอาจจะวูบลงไปได้ เหมือนจมลงไปในหุบเหว ถ้าสมมติว่าเราดาวน์ จิตตก ดิ่ง
แล้วเราดึงตัวเองขึ้นมาได้ อาจจะเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่พบเจอได้ แต่ถ้าเป็นจนคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างกับตัวเอง หรือ ดาวน์ จิตตก ดิ่ง มาก ๆ จะเริ่มกลัวการเข้าสังคม พอกลัวการเข้าสังคม
เราจะเริ่มเก็บตัว ไม่อยากออกไปไหน ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากพูดกับใคร หรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิต การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น จะแย่ลงไปด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเราควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้
ถ้าเป็นแบบนั้น คงต้องหาตัวช่วย ว่าเกิดอะไรขึ้น อีกสิ่งที่ต้องมองคือเรื่องของอาการที่เกิดขึ้น ความรู้สึกที่เกิดขึ้น อยู่กับเรานานไหม นานไหม ไม่พออาจจะต้องดูต่อด้วยว่ารุนแรงไหม
รุนแรงในที่นี้คือ บางคนเวลาดาวน์มาก ๆ จิตตกมาก ๆ ดิ่งมาก ๆ เขาจะมีการทำร้ายตัวเอง บางคนจะเริ่มไม่อยากไปโรงเรียน ไปทำงาน ร้องไห้ง่ายขึ้น ถ้าเริ่มรุนแรง คงเป็นสัญญาณว่าต้องหาตัวช่วย
ดาวน์ง่าย จิตตกง่าย ดิ่งง่าย โดยไม่รู้สาเหตุ รับมืออย่างไร?
จริง ๆ ถ้าจะบอกว่า ไม่รู้ตัว อาจจะแปลว่า เขาไม่ทันกับความคิดของตัวเอง หรือ ไม่ทันกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะจริง ๆ แล้ว อารมณ์ดาวน์ จิตตก ดิ่ง หรืออารมณ์อื่น ๆ
ที่เกิดขึ้นกับตัวเราจะ “มีที่มาที่ไปเสมอ” แม้กระทั่งพฤติกรรมของเรา เวลาเราทำอะไรลงไป มักจะมีที่มาที่ไปเสมอ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อยู่ ๆ วันนี้อยากช็อปปิ้งจังเลย เราอาจจะไม่ทันความคิด
หรือความรู้สึกตัวเอง ว่าตอนนี้เครียด พอเครียดเราเลยแค่อยากจะไปทำอะไรที่ผ่อนคลาย แต่ตอนที่ไป เราคงไม่ได้กลับมาคิด ว่าก่อนหน้านี้ทำงานเครียดจังเลย หัวหน้าขี้บ่นจังเลย
เพื่อนร่วมงานทำไมชอบพูดจาไม่ดีใส่เราจังเลย มันเครียดอยู่ข้างใน แต่เราไม่ได้จับกับความเครียดตัวเองได้ เรารู้แค่ว่าร่างกายต้องการผ่อนคลาย ต้องการพักผ่อน เราเลยเอาตัวเองไปช็อปปิ้ง
ซึ่งมันจะคล้ายกันกับ ดาวน์ จิตตก ดิ่ง สิ่งเหล่านี้จะที่มาที่ไป โดยส่วนมากแล้วจะเป็นเรื่องของความคิด เพราะว่าความคิดบางทีเข้ามาอย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ เบาบางลงไป บางทีเข้ามาเร็วมาก
จนกระทบความรู้สึกเรา เราก็ดาวน์ได้ จิตตกได้ ดิ่งได้ ถ้าถามว่า จะไม่มีที่มาที่ไปเลย หลายคนอาจจะขัดแย้ง หรือรู้สึกว่าอยากโต้เถียงกับประเด็นนี้ แต่จริง ๆ อยากบอกว่า คงมีความคิดบางอย่างแว้บเข้ามา
ถ้าจะลองสังเกตตัวเองกลับไป บางทีนั่งเขียนงานอยู่ บางทีเราแว้บบางเรื่องเข้ามา เร็วมากแล้วสักพักเราแย่ลงไปเลย
จะรู้ทันความดาวน์ จิตตก ดิ่งของตัวเองได้อย่างไร?
จริง ๆ จิตวิทยาไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เราเพียงแค่ไม่เคยกลับมาทบทวนกับสิ่งนี้ แน่นอนว่า ในการเรียนจิตแพทย์หรือการเรียนของนักจิตวิทยาแต่ละท่าน จะต้องทบทวนตัวเองได้
ไม่งั้นคงทำความเข้าใจเคสที่อยู่ตรงหน้าไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เห็นภาพตัวเองชัดขึ้น เวลาเกิดอะไรขึ้น อยากให้ลองบันทึก คล้าย ๆ ไดอารี่ ถ้าวันหนึ่งเรากลับมาอ่านอีกที เราจะเห็นภาพตัวเอง
ว่าวันนั้นเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นไง เราเลยคิดแบบนี้ รู้สึกแบบนี้ แต่ธรรมชาติของคนไทยจะแยกความคิดและความรู้สึกไม่ได้ เพราะว่าตัวเราเองถูกสอนมาให้คิด
แต่ไม่ได้ถูกสอนมาเพื่อทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง ทีนี้เวลาที่เราจะต้องทำความเข้าใจหรือจะต้องค่อย ๆ กลับมาดูตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เราอาจจะแค่กลับมานี่แหละว่า
วันนี้เราทำอะไรไปบ้าง เรารู้สึกอะไรกับตัวเองบ้าง แล้วเราแสดงออกแบบไหน ส่วนคนที่ดาวน์ จิตตก ดิ่ง แล้วรู้สึกว่า สิ่งนี้มาแบบไม่มีที่มาที่ไป อยากชวนมองด้วย 4 คำถามง่าย ๆ คือ
1.เราทำอะไรอยู่
2. เราอยู่กับใคร
3. เราอยู่ที่ไหน
4. ความรู้สึกเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่
พอเราได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง เราจะเริ่มเห็นว่า จริง ๆ ณ โมเมนต์นั้นมีอะไรวิ่งเข้ามา เพียงแต่สิ่งนั้นไปเร็วมาก หรืออาจจะแว้บจากการที่เรานั่งทำงานอยู่ พอเรานั่งทำงาน
บางทีเราก็จะเริ่มคิดว่า งานนี้ยากจัง แล้ววูบลงไปเลย แต่จริง ๆ เป็นความคิดแค่ว่า ยากจังเลย แต่ในขณะเดียวกันเรายังทำงานนั้นอยู่ ทำให้อาจจะวูบลงไปได้ ถ้าเราลองกลับมาด้วย 4 คำถาม
เราจะเห็นภาพว่า เวลาความคิดนี้เข้ามา เราดิ่ง เราดาวน์ เราจะเห็นตัวเองชัดขึ้น จะไม่ใช่แค่ว่าเราเข้าใจตัวเองแล้วจะทำอะไรไม่ได้ เมื่อไหร่ที่เรารู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ว่าสิ่งเหล่านี้กระทบเรานะ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกแย่ ทำให้เรารู้สึกดิ่ง ดาวน์ เราจะรู้ได้ว่าเราจะจัดการอย่างไรดีเพื่อไม่ให้มีอารมณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก บางคนใช้วิธีเบี่ยงเบนตัวเอง บางคนใช้วิธีหยุดอยู่กับความคิด
แล้วนำกลับมาทำความเข้าใจว่า คิดแล้วเกิดประโยชน์อะไร มีประโยชน์ไหมที่จะต้องคิดแบบนี้แล้วทำให้ตัวเองดิ่ง ดาวน์ แต่ละคนคงจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปในการจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง
เพียงแต่เราต้องมาเริ่มต้นตรงนี้เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองก่อนว่า มันคงมีบางอย่าง มันคงมีที่มาที่ไปที่ทำให้มีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้น
เวลากลางคืนทำให้ ดาวน์ง่าย จริงไหม ?
เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้ เราอยู่ที่ไหน ตอนนั้นเราทำอะไร เกิดขึ้นได้ยังไงบ้าง เราต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ถ้าพูดถึงเวลากลางคืน มันมีกลไกในร่างกายบางอย่างที่ sensitive กับกลางคืน
สารสื่อประสาทบางตัวจะทำงานได้เฉพาะกลางคืน ทำให้อาจจะมีบางอย่างกระทบกับภาวะอารมณ์ได้ด้วย นอกจากกลางคืนจะทำให้สงบลง มากกว่านั้นคือกลางคืนเราอยู่คนเดียว มันเงียบ มันมืด
มันดูได้กลับมาอยู่กับตัวเองจริง ๆ ได้เข้ามาทำความเข้าใจตัวเองจริง ๆ ช่วงเวลาแบบนั้นแหละ ความคิดจะวิ่งเข้ามาเยอะมาก ทีนี้พอวิ่งมาเยอะ แล้วเราไม่รู้จะดีลกับตัวเองยังไง มันเลยดาวน์ จิตตก ดิ่ง
เหมือนสภาพอากาศ ถ้าในต่างประเทศจะมีผลอย่างรุนแรงมาก เพราะอากาศเย็นมาก ๆ จะทำให้ฟ้ามืดเร็ว สอดคล้องกันไปอีกว่า หนาวด้วย มืดด้วย อยู่กับตัวเองด้วย อยู่คนเดียวด้วย
ความรู้สึกบางอย่างเลยวิ่งเข้ามาอย่างรวดเร็วได้เหมือนกัน มันคงมีผลต่อกันและกันอยู่แล้ว มากไปกว่านั้นคือเราไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคน มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมมาก ๆ
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราขาดฟังก์ชันนั้นไป อย่างเวิร์คฟรอมโฮมนาน ๆ เพื่อนก็ไม่ได้เจอ ไปห้างก็แทบจะทำไม่ได้ ขับรถไปข้างนอกก็ไม่รู้จะไปตรงไหน เพราะทุกอย่างดูรัดกุมไปหมด
เราจะเริ่มคิดมากตรงนั้น จะเริ่มจิตตกไป เราจะทำอะไรได้บ้าง อยู่กับตัวเองไม่พอ ไม่มีกิจกรรมให้ทำ แถมมากไปกว่านั้นคือเราไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเลย
คน sensitive จะดาวน์ง่ายกว่าคนอื่นไหม?
อาจจะแยกยาก เพราะคนที่ sensitive เขาอาจจะไวต่อความรู้สึกมากกว่าคนอื่น ไม่ใช่แค่ไวต่อเสียง ต่อสี ต่อแสง หรืออะไรก็ตาม แต่คนเหล่านี้ พื้นฐานของเขาคือคนที่อ่อนไหวง่าย
ไวต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไวต่อสายตาของคนอื่น ไวต่อการรับรู้ของคนอื่น แน่นอนว่าเวลาที่มันไวมาก ๆ มันเลยกระทบไวมาก ๆ บางคนเลยดิ่งเร็ว แต่บางคนกระทบแล้วกลับมา
รู้สึกบางอย่างกับตัวเอง มันเป็นเรื่องของกลไกทางร่างกายของเขาด้วย รวมไปถึงเป็นพื้นฐานบุคลิกของตัวเขาเองด้วยที่เป็นแบบนั้น คนเหล่านี้อาจจะพ่วงไปด้วยคนที่แคร์คนอื่นเยอะ ๆ
คิดเยอะ ๆ กังวลกับสิ่งที่คนอื่นทำต่อตัวเองมาก ๆ มากไปกว่านั้นคือคิดถึงตัวเองน้อย เลยทำให้ความรู้สึกเหล่านั้นดูไวไปหมดเลย เพราะเรามัวแต่ไปคิดว่าคนอื่นจะคิดกับเรายังไง
ไปมองว่าคนอื่นจะพูดถึงเรายังไง หรือคิดว่าเราน่าจะเป็นคนยังไง มันจะทำให้เขาไวกว่าคนอื่นอยู่แล้ว แคร์คนอื่นเยอะ ๆ เราจะจัดการยังไงได้บ้าง บางทีต้องกลับมาว่าเราทำไปเพราะว่าอะไร
เบื้องหลังของคนที่ทำเพื่อคนอื่นไม่ได้แปลว่าเขาใจดีเสมอไป การที่เราหยิบยื่นสิ่งดี ๆ ให้คนอื่นเสมอ ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือเสมอไป ต้องมาดูพฤติกรรมที่เขาแคร์คนอื่นมาก ๆ
มันมีอะไรอยู่ข้างหลัง เช่น การที่เราพูดดี ๆ กับคนอื่น เราจะคาดหวังให้คนอื่นพูดดี ๆ กลับมา มันคงมีอะไรข้างหลังตรงนั้น หรือกับบางคน อาจจะชอบช่วยเหลือคนอื่น ไปให้อาหารน้องหมาน้องแมว
แน่นอนว่าเขาดูเป็นคนใจดี แต่ในเบื้องลึกลงไปจากนั้น อาจจะกลายเป็นว่าเขาคงรู้สึกดีกับตัวเอง มันคงมีอะไรอยู่ข้างหลังตรงนั้นด้วย มันไม่แย่เลยที่เราจะแคร์คนอื่น หรือเราจะเห็นสิ่งรอบ ๆ ตัวมากกว่าตัวเอง
แต่ถ้ามันมีมากเกินไป จนเราไม่สามารถเติมเต็มตัวเองได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถมีจุดยืนจนทำให้เราขาดความมั่นใจในตัวเอง อาจจะต้องกลับมาที่ตัวเองก่อนว่าเราต้องการอะไร เราถึงทำแบบนั้น
เราให้คนอื่นขนาดนั้น แล้วเราโอเคหรือยัง เราชอบตัวเองไหมที่เป็นแบบนั้น ถ้าไม่ แล้วเราทำอะไรกับตัวเองได้บ้าง การที่เราจะแคร์คนอื่นได้อย่างเต็มใจ เราต้องแคร์ตัวเองได้ด้วย ถ้าเราแคร์คนอื่นมาก ๆ
แล้วเราก็คาดหวังให้คนอื่นแคร์เราด้วย มันอาจจะไม่ใช่ทางในการแคร์คนอื่นแล้วมันดีกับตัวเราเอง
ดาวน์ง่าย นำไปสู่ภาวะทางจิตเวชได้ไหม ?
จริง ๆ มันคงเป็นสาเหตุหนี่งที่เกิดขึ้นได้ อย่างที่บอกไปว่า เวลาเราดาวน์มาก ๆ จิตตกมาก ๆ ดิ่งมาก ๆ เราจะไม่อยากเจอคน เก็บตัว ไม่อยากออกไปข้างนอก ไม่อยากทำกิจกรรม
เพราะเราก็งง ๆ กับตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วสักพักหนึ่งเราจะเริ่มแบบ.. เกิดอะไรขึ้นกับเรา เราก็จะเริ่มรู้สึกแย่กับตัวเอง รู้สึกแย่กับคนอื่น รู้สึกแย่ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว
มันอาจจะนำไปสู่ภาวะหรือโรคทางอารมณ์บางอย่างได้ หรือกับบางคนอยู่กับอาการดิ่ง ดาวน์ ของตัวเองมาก ๆ แล้วก็คิดอยู่อย่างนั้น คิดวนไปวนมา จนกลายเป็นกลัวการเข้าสังคม
กลายเป็นไม่สามารถเผชิญหน้ากับสังคมได้ หรือบางคนแย่ลงไปหน่อย คิดจนไม่สามารถหยุดคิดได้ อาจจะหลุดออกไปจากโลกความเป็นจริง เริ่มจินตนาการมากขึ้น
เริ่มมีลักษณะการคิดที่ไม่อยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มันเกิดขึ้นได้หมดเลย อยู่ที่ว่าสิ่งเหล่านั้นรุนแรงกับเขาขนาดไหน เข้าไปแล้วกระทบกับเขามากน้อยแค่ไหน
จะดีกว่าถ้าเราเริ่มรู้และสังเกตตัวเองว่าเริ่มเกิดขึ้นแล้วนะ ไม่ต้องรอให้กระทบหรือยัง รุนแรงไหม มาบ่อยแค่ไหน แค่เราเริ่มรู้ว่า เราเคยมีอารมณ์แบบนี้เกิดขึ้น อาจจะลองหาตัวช่วยดูก็ได้
มันคงทำให้เรามั่นใจมากขึ้นว่ามันเป็นภาวะปกติหรือไม่ที่เกิดขึ้นกับเรา ณ ตอนนี้ สำหรับคุณผู้ฟังหลายคนที่เพิ่งเริ่มสังเกตตัวเอง เราเริ่มรู้สึกว่าก้ำกึ่งกับตัวเองจังเลย หรือรู้สึกสงสัยในตัวเอง
ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ปกติหรือเรากำลังเกิดเป็นภาวะของโรคอะไรทางจิตเวชหรือเปล่า แนะนำว่าลองแค่ปรึกษาก่อน หรือว่าลองหาข้อมูลเพิ่มเติม แอปพลิเคชั่นเองก็ตาม หรือสายด่วนสุขภาพจิต
หรือตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ได้ มากไปกว่านั้น การที่เราแค่เริ่มมีอาการ แปลว่าเรากำลังกลับมาสนใจในตัวเอง ดังนั้นการไปเจอผู้เชี่ยวชาญ การไปพบจิตแพทย์
อาจจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยทำให้เราเข้าใจตัวเอง ไม่คิดไปเองว่าตัวเราเองกำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วเราจะได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องรอให้อาการที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นอย่างรุนแรง
แล้วค่อยไปเข้าสู่กระบวนการรักษา ไม่ผิดเลยถ้าเราจะเลือกเข้าคลินิกสุขภาพจิต หรือไปพบกับจิตแพทย์ เพราะโดยทั่วไปในสังคมปัจจุบัน เขายอมรับได้มากขึ้น มีคนที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้มากขึ้น
“ I’m not belong here” เคยไหมที่รู้สึก ไร้ค่า เป็นความรู้สึกที่รู้สึกที่ไรก็น้อยเนื้อต่ำใจทุกที หรือที่นี่อาจจะไม่ใช่ที่ของเรา..
Belonging ความเป็นส่วนหนึ่ง
Belonging ในทางจิตวิทยา คือ ความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน สังคมการทำงาน, สังคม วัฒนธรรมแบบกลุ่ม มาตรฐานของสังคม หรือแม้แต่ สถานที่
เราล้วนเติบโตขึ้นมา โดยเชื่อ ว่าการจะมีความสุขได้ เราต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและ ครอบครัว
อะไรบ้างที่ทำให้เรารู้ไร้ค่า ถ้าที่ตรงนั้นไม่ใช่ที่ของเรา
- ความเหงา
- ความไม่ยุติธรรม ทุกสถานการณ์ทั้งในที่ทำงานและกับบุคคล ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราต้องมาเจออะไรแบบนี้
- ความอึดอัด ส่งผลให้ไม่สบายกายไม่สบายใจ
- low selfesteem เพราะอยู่ผิดที่ โดนคนรอบข้างมองข้ามทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง
- imposter syndrom เป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ ความเครียด และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหลายด้าน ทั้งการทำงาน การทำสิ่งที่ตัวเองรัก และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
- โรคซึมเศร้า
เหตุใดเราจึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยทฤษฎีของ Maslow การอยากเป็นที่ยอมรับ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์ถูกสร้างมาพร้อมความต้องการพื้นฐานอยากเป็นที่ยอมรับของคนอื่น ๆ เมื่อเรายังไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งตามที่ต้องการเป็นเวลานานจนเรารู้สึกว่าไร้ค่า
จะส่งผลกระทบรุนแรงและเลวร้ายต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของเราได้เหมือนกัน อ้างอิงจาก ทฤษฎีของมาส โลว
- ความต้องการด้านความมั่นคง ปลอดภัย (Safety and Security Needs) เช่น ที่อยู่อาศัย สถานที่ที่เรารู้สึกว่าเราอยู่แล้วเป็นเซฟโซน
- ความต้องการด้านความรัก หรือการเป็นเจ้าของ (Love/Sense of Belongings) อันนี้คือตรงตัวเลยค่ะเป็นกับในทุกความสัมพันธ์เลยไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว เพื่อน หรือแฟน
- ความต้องการด้านความเคารพ (Esteem Needs) หากว่าเราอยู่ผิดที่แล้วเรารู้สึกว่าที่ตรงนั้นไม่มีใครให้เกียนติเราเลย ไม่เคารพเราเลยก็จะทำให้เรามี self esteem ที่ต่ำลงไปด้วย
ข้อดีของความรู้สึก ไร้ค่า และ “Not belong here”
ถ้าผ่านมาได้จะทำให้เรารู้สึก ไม่กลัว ทั้งการโดนรังแกทางร่างกาย จิตใจ หรือคนที่ทำให้เรารู้สึกใจร้ายจนเรารู้สึกไม่ belong สำหรับที่ไหนบนโลกเลย แต่อย่าลืมว่าเรามีบ้านของเราอยู่คือร่างกายและจิตใจของเรา
และจากบทความหนึ่งน่าสนใจ เขียนโดย Anna LeMind, BA ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าบรรณาธิการที่ Learning Mind ชื่อบทความว่า Do You Feel Like You Don’t Belong Here?
4 Reasons Why It May Be a Good Thing
- Deep thinker การคิดลึกซึ้ง นั้นจะทำให้เรารู้ว่า อะไรสำคัญจริง ๆ ในชีวิต
- เข้าอกเข้าใจ เป็บบุคคลที่ และพอเราเจอเรื่องที่เรารู้สึก มันก็สามารถกระตุ้นความรู้สึกของการแยกตัวเรา
- Old souls หรือ แปลเป็นไทยก็แบบจิตวิญญาณเก่าแก่ที่อยู่ในตัวเรา often feel like they don’t belong here, especially when growing up การหลงใหลในสิ่งที่ไม่เป็นที่นิยมของสังคมอาจทำ ให้คนอื่นไม่เข้าใจความแตกต่าง แต่คนที่เป็น old soul นั้นมีความคิด ความชอบ แตกต่างจากคนอื่น
กอบกู้ความรู้สึกที่ ไร้ค่า อย่างไรดี?
- Social Support
- ชื่นชมตัวเองแม้เรื่องเล็กน้อย
- ยอมรับคำชม อย่าหลงลืมคำชมที่เคยได้รับมา และเมื่อได้รับคำติชมที่เป็นไปในทางลบ ให้เรารับไว้เพราะเขาอาจจะหวังดีกับเราจริง ๆ
- จดบันทึกความรู้สึกตัวเองในแต่ละวัน วันไหนที่รู้สึกแย่ ๆ ให้กลับมาอ่านว่าเออบางวันเราก็ผ่านเรื่องราวยาก ๆ มาได้นี่นา
- อย่ากดดันตัวเองจากความผิดพลาด นำความผิดพลาดไปเป็นบทเรียน
- เมื่อเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่อย่าฝืน
- ทำกิจกรรมเพื่อเติมเต็มความรู้สึกไร้ค่า เช่น บริจาคเสื้อผ้าให้คนที่ลำบาก ,เก็บขยะ
- วิธีหนึ่งที่จะเพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งคือการมองหาความคล้ายคลึงกันกับคนอื่นแทนที่จะเน้นที่ความแตกต่าง
- พบผู้เชี่ยวชาญ
“เมื่อรู้สึกไม่มีที่ไหนเป็นที่สำหรับเราเลย อย่าลืมว่าเรามีบ้านของเรา คือร่างกายและจิตใจ”
ที่มา:
Do You Feel Like You Don’t Belong Here? 4 Reasons Why It May Be a Good Thing
” วิกฤตวัยกลางคน ” หรือ Midlife Crisis เป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรถ้าตกอยู่ในภาวะ Midlife Crisis?
วิกฤตวัยกลางคน มาพร้อมกับความกังวล จริงไหม?
วิกฤตวัยกลางคน คืออะไร?
วิกฤตวัยกลางคน หรือ Midlife Crisis เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและความวุ่นวายทางอารมณ์ จะเกิดขึ้นกับช่วงอายุประมาณ 40 ถึง 60 ปี
บางคนเกิดขึ้นกับช่วงอายุ 35 ปี โดยจะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีการตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความตาย
เริ่มมีการตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำสำเร็จ ว่าสิ่งนั้นยังเติมเต็มความรู้สึกและยังมีความหมายอยู่ไหม คำถามเหล่านี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกระทันหัน
ทั้งในด้านอาชีพ ความสัมพันธ์ หรืองานอดิเรก รวมถึงอาจจะมีพฤติกรรมที่หุนหันพลันแล่นมากขึ้น เช่น การใช้จ่ายที่เสี่ยง และ ความกังวลถึงสุขภาพ
มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงวัยกลางคน?
มีหลายการค้นพบเกี่ยวกับชีววิทยาของความสุข เช่น U-curve ซึ่ง U-curve เป็นสิ่งที่ใช้วัดความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม มีการศึกษาในแถบยุโรปที่มีกลุ่มตัวอย่างจาก 27 ประเทศ
พบว่า คนที่ใช้ยาต้านเศร้าหรือ Antidepressants มีจำนวนเยอะมากในวัยกลางคน หลักฐานในเชิงสถิติต่าง ๆ อาจจะกำลังบอกเราว่า เป็นไปได้นะ ที่วัยกลางคนจะมีความสุขกับชีวิต
เพราะมีครอบครัวแล้ว ทำงานมาหลายปีแล้ว ไม่ต้องปรับตัวกับอะไรมากแล้ว แต่สำหรับหลาย ๆ คน การมีความสุขกับชีวิตในวัยนี้ กลับเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าตอนอายุน้อยกว่านี้
วิกฤตวัยกลางคน เกิดจากอะไร?
“ความกังวล”
1. ความตาย
2. สุขภาพ วัยทอง
3. การตัดสินใจที่ผ่านมา
4. ชีวิตด้านต่าง ๆ ในอนาคต
5. บทบาทและความสำคัญที่ลดลง
“ความสับสน”
1. ชีวิตตัวเองที่ผ่านมาและชีวิตหลังจากนี้
2. การไม่รู้ความสุขและความต้องการของตัวเอง
“โดนความจริงของชีวิตเล่นงาน”
อาจเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในช่วงนี้ เช่น ตกงาน หย่าร้าง สุขภาพล้มเหลว การลาจาก
“ความรู้สึกว่าใกล้จะหมดเวลาแล้ว”
ถึงจะไม่พอใจกับชีวิต แต่ไม่มีเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีโอกาสแล้ว
วิกฤตวัยกลางคน นำไปสู่ภาวะอะไรได้บ้าง?
1. Midlife Burnout
คือ ความเครียดเรี้อรังที่ก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและจิตใจ รู้สึกไม่ดีกับงานและความสัมพันธ์
2. Dead Inside
เป็นภาวะที่รู้สึกว่างเปล่า อย่างที่หลาย ๆ คนชอบเรียกกันว่า เหมือนข้างในตายไปหมดแล้ว
3. Depression
ภาวะซึมเศร้า จะรู้สึกเศร้ารุนแรงและอาจนำไปสู่ความคิดฆ่าตัวตายได้
สัญญาณและอาการ
1. ไม่พอใจในชีวิต
2. ผิดหวังกับชีวิต
3. กังวลกับสุขภาพ
4. เป็นทุกข์กับความเปลี่ยนแปลง
5. รู้สึกสับสนกับเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตตัวเอง
6. รู้สึกว่าขาดอิสระ เพราะมีข้อจำกัดต่าง ๆ
7. รู้สึกไร้ค่า ทำบางสิ่งไม่ได้เหมือนที่เคย
8. โหยหาอดีตและช่วงเวลาที่มีความสุข
ถ้าตกอยู่ในภาวะ วิกฤตวัยกลางคน รับมืออย่างไร?
1.ให้คิดว่า Midlife Crisis ก็มีด้านบวก
ผลการศึกษาในปี 2016 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Behavioral Development พบว่าข้อดีของวิกฤตวัยกลางคนคือความอยากรู้อยากเห็นที่เพิ่มขึ้น
เกี่ยวกับตนเองและโลกรอบตัว ทำให้เกิดการเปิดกว้างต่อแนวคิดใหม่ๆ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและการแก้ปัญหาที่ดี ความอยากรู้นั้นจะทำให้มีความก้าวหน้า
2. ดูแลตัวเอง
ดูว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าต้องการการพักก็พัก
3. หาอะไรที่มีความสุขทำ
เพราะการทำในสิ่งที่ชอบจะทำให้มีความสุข และอาจจะได้สังคมใหม่ ๆ ด้วย
4. กลับมาใช้ชีวิตเพราะอายุเป็นเพียงตัวเลข
แนวคิดนี้อาจช่วยสร้างพลังบวกและแรงบันดาลใจได้ ไม่ผิดที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ
5. ยืดหยุ่น
สภาพสังคมในไทยอาจไม่ได้เปิดโอกาสให้คนสูงวัยมากนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำสิ่งที่อยากทำไม่ได้ ขอให้ลองก่อน อาจจะค้นพบศักยภาพในตัวเอง
6. หาเวลาที่เป็นของตัวเอง
“Me” time หรือเวลาที่เป็นของตัวเองสำคัญมาก ลองหาเวลาที่เป็นของเรา ดูแลตัวเอง เพราะหลาย ๆ คนให้เวลากับครอบครัว กับงาน จนหลงลืมตัวเองไป
ถ้าคนใกล้ตัวตกอยู่ใน วิกฤตวัยกลางคน ทำอย่างไรได้บ้าง?
1. เป็น Social Support ให้เขา ดูแลและตอบสนองเขาในสิ่งที่จำเป็น
2. เป็นผู้รับฟังที่ดี อาจจะถามถึงความสุขของเขาหรือกิจกรรมที่ชอบของเขา ไม่ให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว
3. อาจจะไม่ต้องคิดหาคำพูดดี ๆ เสมอไป ลองถามเขาว่า มีอะไรไม่สบายใจรึเปล่า? อาจทำให้เขารู้สึกดีที่มีใครสักคนห่วงใยเขา
ทุกช่วงของชีวิตไม่ว่าจะเป็น 10 20 30 หรือ 40 ล้วนเป็นการก้าวเข้าสู่ขอบเขตใหม่ ๆ เสมอ เราทุกคนต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งนึงที่ช่วยได้ คือการทำความเข้าใจตัวเอง
เข้าใจว่าเราต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และที่สำคัญเลยคือ ฟังเสียงตัวเองให้มากๆ ถ้าไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ คงติดค้างในใจไปตลอด โอกาสของเราไม่ได้คงอยู่ตลอดไป 🙂
ที่มา:
The Real Roots of Midlife Crisis
What are the Signs of a Midlife Crisis?
Midlife Crisis: Signs and Treatments
If You Have a Midlife Burnout, Do These 4 Things – Quickly
Midlife Crisis ปัญหาหนักใจของวัยกลางคน เบื่องาน หมดไฟ หมด Passion ในการทำงาน
เคยไหมที่มี ความรู้สึก ทางลบ มีความรู้สึกที่ยอมรับได้ยากว่าเกิดขึ้นกับตัวเอง การทำความเข้าใจและเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมาจะดีกว่าไหมนะ?
เมื่อเราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์เชิงลบ อาจจะมีมุมมองว่า เป็นอารมณ์ที่ไม่ดีหรือแย่ แต่จริง ๆ แล้วที่ใช้คำว่า อารมณ์เชิงลบ ไม่ได้เพราะ “ไม่ดี”
แต่เป็นเพราะมันอยู่ในขอบเขตของการปฏิเสธมากกกว่าเมื่อเทียบกับอารมณ์เชิงบวก เพราะอารมณ์เชิงลบ (Negative Feelings) เป็นความรู้สึกที่ทำให้เราเศร้า เสียใจ ไม่ชอบตัวเองและคนอื่น ๆ ลดความมั่นใจ
ความนับถือตนเองและความพึงพอใจในชีวิต ความรู้สึกเชิงลบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ แต่ก็สามารถบั่นทอนตัวเราได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราปล่อยให้มันส่งผลต่อตัวเองนานแค่ไหนและวิธีที่แสดงออกเป็นอย่างไร
ทำไมอารมณ์เชิงลบถึงเป็นเรื่องธรรมชาติ
ในปี 2003 Gross & John ได้สร้าง the modal model of emotion ขึ้น โดยอ้างอิงพื้นฐานจากกระบวนการทางอารมณ์ Model นี้ระบุว่า กระบวนการทางอารมณ์ มีทั้งหมด 4 ขั้นคือ
Situation >> attention >> appraisal >> response
ในขั้นแรกเมื่อคนคนนึงเจอกับสถานการณ์ (situation) ที่ดึงดูดความสนใจ (attention) คนนั้นจะตีความ (appraisal) กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
จากนั้นการตีความนั้นจะส่งผลให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์(response)
เช่น ถ้ามีรถคันนึงมาปาดหน้ารถเรา เราจะก็ให้ความสนใจเหตุการณ์นี้ แล้วจะเกิดการตีความกับการกระทำของคนขับ เช่น เขาอาจจะรีบ ไม่ตั้งใจหรือเขานิสัยไม่ดี ขับรถแย่ ส่งผลให้เรารู้สึก 1) เสียใจ 2) เฉยๆ 3) โกรธ โมโห
แสดงให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของอารมณ์มันจะเป็นไปตามลำดับขั้น มีเหตุมีผลของมัน อารมณ์ทุกอารมณ์ไม่ว่าลบหรือบวก ล้วนเป็นสถานะและสัญญาณที่ช่วยให้เราใส่ใจกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์เหล่านั้น
สิ่งนี้สามารถกระตุ้นให้เราสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้มากขึ้น
คนเรามักปฏิเสธ ความรู้สึก เชิงลบเพราะอะไร
1. เพราะการเลี้ยงดูและปลูกฝัง
2. เพราะความคิดที่ว่าต้องคิดบวก
3. เพราะความรู้สึกลบไม่ถูกยอมรับ
4. เพราะคิดว่ามันเป็นปัญหา
ความรู้สึก ที่ทุกคนมักจะหันหน้าหนี
1. อิจฉา
อิจฉาคืออะไร?
อิจฉา ภาษาไทยมีคำเดียว แต่ภาษาอังกฤษเขามีสองคำ คือ Jealous กับ Envy ซึ่ง Jealous คือ ความกลัวที่คนอื่นจะพรากบางสิ่งบางอย่างไปจากเรา Envy คือ ต้องการสิ่งที่คนอื่นมี
ทั้งสองอย่างเป็นเรื่องของความไม่มั่นคงในจิตใจ รู้สึกว่าตัวเองอาจจะขาดหรือยังมีไม่พอ
วิธีการจัดการความรู้สึก “อิจฉา”
- ปรับความคิด
การที่เขามีชีวิตดี ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราแย่ ไม่เกี่ยวกัน ยิ่งถ้าเป็นเพื่อน เราอยากเห็นเขามีความสุข ประสบความสำเร็จ ยิ่งควรยินดีแทนที่จะอิจฉา
- ไม่มีใครที่น่าอิจฉา
ทุกคนต่างมีปัญหาเป็นของตัวเอง สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ทั้งหมดในชีวิตเขา ต้องมีด้านที่เครียด กดดัน เศร้า ไม่จำเป็นต้องอิจฉา เป็นการเข้าใจความจริงจากการมองให้กว้างและรอบด้าน
2. แปลกแยก
แปลกแยกคืออะไร?
ความรู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ในพื้นที่เดียวกัน อาจจะเป็นในโรงเรียน ในที่ทำงาน หรืออื่นๆ มีหลายด้าน เช่น
1. มีลักษณะภายนอกที่แตกต่างจากคนอื่น อาจเป็นเพราะเชื้อชาติ เพราะโรค
2. มีนิสัย บุคลิกภาพ หรือการแสดงออกที่แตกต่างจากคนอื่น
3. มีความสนใจที่แตกต่างจากคนอื่น
4. มีความเชื่อที่แตกต่างจากคนอื่น
วิธีการจัดการความรู้สึก “แปลกแยก”
1. ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น
2. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล
3. หากลุ่มหรือสังคมที่เข้ากับเรา
4. ปรับตัว ปรับมุมมอง
3. น้อยใจ
น้อยใจคืออะไร?
ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า feel hurt , feel neglected by ความน้อยใจเป็นความรู้สึกเจ็บปวดจากการถูกละเลย
วิธีการจัดการความรู้สึก “น้อยใจ”
1. สื่อสาร
แต่ละคนมีความต้องการความสนใจในปริมาณที่แตกต่างกัน การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ด้วยน้ำเสียงที่ไม่ชวนทะเลาะ จะช่วยให้เขาเข้าใจเรา ช่วยให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะช่วยลดความน้อยใจได้
2. ยอมรับความจริงว่าไม่มีใครสนใจเราได้ตลอดเวลา
เพราะทุกคนต่างมีภาระหน้าที่ มีความรับผิดชอบ การเรียนรู้ที่จะรอและเข้าใจความจริงสำคัญ
3.ประเมินก่อนว่าความคิดที่มาพร้อมกับความน้อยใจสมเหตุสมผลไหม
ถ้ามันเกิดขึ้นเพราะเรางี่เง่า อาจจะต้องกลับมาจัดการตัวเอง อย่าพึ่งโยนความรู้สึกเราให้คนอื่นรับผิดชอบ เเต่ถ้าเราประเมินแล้วว่า มันจริง อาจจะต้องลองสื่อสารออกไปบ้าง
4. ไร้ค่า (Worthless)
ความรู้สึกไร้ค่าคืออะไร?
ข้อมูลจาก Healthdirect บอกไว้ว่า ความรู้สึกไร้ค่า คือ การที่เราไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง มักจะมาพร้อมกับ ความรู้สึกหมดหวัง ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสำคัญ ความรู้สึกผิดที่เราไม่มีอะไรจะมอบให้กับสังคมและโลกใบนี้
วิธีการจัดการความรู้สึก “ไร้ค่า”
1. เพิ่ม self-esteem
คุณค่าในตัวเองเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เราจะต้องหาทางรับรู้และมองเห็นมัน มีหลายวิธีเลยเช่น การลิสต์ข้อดีตัวเอง , อยู่กับคนที่เห็นคุณค่าเรา
2. ชื่นชมตัวเอง
บางครั้งเรามองเห็นแต่ก็เฉยๆ ไม่ได้มองว่าตรงนั้นยิ่งใหญ่ก็อาจจะทำให้เรามองข้ามสิ่งดีๆ ไป
3. นึกถึงคนที่เห็นคุณค่าในตัวเรา
ถ้าวันไหนเรารู้สึกว่าเราไร้ค่า ลองคิดดูดี ๆ ว่ามีใครบ้างไหมที่เขาเห็นคุณค่าในตัวเรา รักเรา เป็นห่วงเรา ถ้ามีนั้นก็หมายความว่าเราไม่ได้ไร้ค่าเลย
5. ไม่มีตัวตน
ไม่มีตัวตนคืออะไร?
ความรู้สึกไม่มีตัวตน คือ การรู้สึกว่าตัวเองเป็น nobody ไม่มีตัวตน ไม่ได้พิเศษ ไม่ได้เป็นใคร การรู้สึกว่าไม่มีใครสนใจ แม้ว่าจะมีเราอยู่ ณ ตรงนั้น เช่น อยู่ในกลุ่มเพื่อน ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครคุยด้วย
อีกแบบหนึ่งคือ เราอาจจะมีความไม่มั่นใจในตัวเอง จนไม่กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง ไม่เป็นตัวเองกับคนอื่นไม่เท่าไหร่ แต่ไม่เป็นตัวเองแม้กระทั่งตอนอยู่คนเดียวอาจจะทำให้เรารู้สึกได้ว่า
แล้วเราเป็นอะไรบนโลกนี้? ตัวตนของเราคืออะไร มันมีอยู่จริงไหม?
วิธีจัดการความรู้สึก “ไม่มีตัวตน”
1. ถามตัวเองว่าเราอยู่ถูกที่ไหม?
2. สำรวจตัวเองว่าเป็นตัวของตัวเองอยู่หรือเปล่า?
6. เสียใจ
เสียใจคืออะไร?
ความรู้สึกเศร้าเป็นผลพวงมาจากความรู้สึกอื่น ๆ ด้วย เช่น พอรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน อาจจะทำให้รู้สึกเสียใจได้
อีกอย่างคือเสียใจเป็นวิธีหนึ่งของการระบายอารมณ์ เพราะเวลาเสียใจ ร่างกายจะผลิตน้ำตา ซึ่งมีสารเคมีถูกปลดปล่อยออกมา ซึ่งพอสารเคมีเหล่านั้นออกไป เราจะรู้สึกดีขึ้น สบายขึ้น
วิธีการจัดการความรู้สึก “เสียใจ”
“อนุญาตให้ตัวเองได้เศร้า”
ถึงเราจะไม่ได้แสดงออกเป็นรูปธรรมแบบการร้องไห้ แต่เชื่อว่าเวลาที่เราเศร้าแล้วอยู่กับคนอื่น ๆ เขาก็รับรู้ได้ ช่วงเวลานั้นเราจะได้เจอกับ social support ที่แท้จริง
หรือถ้าเราอยู่กับตัวเอง ในตอนที่เศร้า ลองสำรวจตัวเอง ถามตัวเองว่า เราต้องการอะไร อาจจะเป็นการคุยกับใครสักคนไหม? หรือเราอาจจะแค่ต้องการเวลาให้กับตัวเอง
7. โกรธ เกลียด
โกรธ เกลียด คืออะไร?
จากหนังสือเรื่อง โกรธขนาดนั้น ลองพูดแบบฉันสิ ในทวิตเตอร์ที่มีคนถ่ายเอามาแชร์ เขาบอกว่า โกรธคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อบางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เป็นการยึดติดกับความคิดของตัวเอง
ส่วนความรู้สึกเกลียดก็คือความรู้สึกไม่ชอบต่อบางสิ่งหรือบางคนอย่างรุนแรง
วิธีการจัดการความรู้สึก “โกรธ เกลียด”
1. ยอมรับความรู้สึกโกรธ เกลียด
2. ควบคุมตัวเองไม่ให้ทำอะไรรุนแรง
3. ทำความเข้าใจว่าเราโกรธหรือเกลียดเพราะอะไร
ข้อดีของ ความรู้สึก เชิงลบ
1. ทำให้มีการตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้น
2. ทำให้รู้ว่าบางอย่างในตัวเราต้องได้รับการเยียวยา
3. ทำให้รู้ว่าอะไรสำคัญ
4. หลีกเลี่ยงบุคคลหรือสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ไม่ดี
5. ได้ลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อจัดการอารมณ์
ถ้าเราไม่ยอมรับและจัดการ ความรู้สึก เชิงลบจะส่งผลอย่างไร
1. ทำให้เกิดเกลียวอารมณ์เชิงลบ (downward spiral)
เกลียวอารมณ์เชิงลบ คือ สถานการณ์ที่ชุดของความคิด อารมณ์ และการกระทำเชิงลบดึงกลับเข้ามาในตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ
เกลียวอารมณ์เชิงลบมักจะถูกกระตุ้นโดยการ Skip บทสรุปให้แย่ที่สุด เช่น โทรไปแล้วเพื่อนไม่รับ เราก็สรุปแล้วว่าเขาไม่ชอบเราแน่ การที่มีวิธีรับมือกับอารมณ์เชิงลบแบบไม่เหมาะสมก็อาจเป็นอันตรายได้
เช่น โมโหแล้วอาละวาดรุนแรง
2. Toxic Positivity
Toxic Positivity คือ การที่คนคนนึงพยายามระงับอารมณ์หรือความคิดในแง่ลบเอาไว้ ภายใต้ความคิดบวก อาการคือรู้สึกผิดที่เศร้า เสียใจ ผิดหวัง หนีปัญหา ซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงไว้หลังคำพูดที่รู้สึกดี
ยอมอดทนหรือเอาชนะความเจ็บปวด จริงๆ แล้วการยอมรับอารมณ์ทางลบทำให้เราเห็นปัญหามากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าเราจะจัดการกับตัวเองอย่างไร
3. ถ้าเราไม่ยอมรับในตัวเอง = ไม่เข้าใจตัวเองและคนอื่น
วิธีการจัดการ ความรู้สึก เชิงลบ
1. รับรู้
การตระหนักรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นขั้นตอนแรกในการจัดการกับความรู้สึกอย่างมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ ลองทำความรู้จักหน่อยว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกอะไร
และติดป้ายกำกับมันเอาไว้ “อิฉจา เศร้า เกลียด” การยอมรับว่าเจ็บปวดหรือเศร้าเป็นประตูไปสู่ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ
2. ยอมรับ
สูดหายใจเข้าและปล่อยให้ตัวเองได้สัมผัสความรู้สึกอย่างเต็มที่ ลองใช้เวลาสักแป๊บนึงกับตัวเอง เพื่อนั่งเงียบ ๆ และสังเกตอารมณ์โดยไม่ต้องทำอะไรกับมัน
นี่ไม่ใช่การยอม แต่เป็นการที่ค่อย ๆ ให้ตัวเราเข้าใจในกระแสน้ำของชีวิตที่ว่า “สิ่งนี้ก็จะผ่านไปเช่นกัน” เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ที่เราเคยผ่านมาได้
3. เรียนรู้
เราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์โดยการทำให้จิตใจสงบถามตัวเองว่า เกิดอะไรขึ้น? ข้อความที่ซ่อนอยู่ภายในความรู้สึกนี้คืออะไร?
4. ท้าทายความคิดที่บิดเบือน
อารมณ์และความคิดของเราเชื่อมโยงกัน อารมณ์ของเรามักติดตามการรับรู้และความคิดของเรา ถ้าเรามีการรับรู้หรือสร้างข้อสรุป ความรู้สึกจะตามมา
ถึงแม้ว่าความรู้สึกเชิงลบจะเป็นเรื่องปกติ แต่คนเรามักขยายความรู้สึกด้วยวิธีที่เราคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้เรื่องมันใหญ่เกินกว่าที่เป็น ลองท้าทายความคิดที่บิดเบือนความจริงนั้น
เช่น เพื่อนสนิทเราไปกินข้าวกับเพื่อนอีกคน เราอาจจะมีความคิดเกิดขึ้นว่า “เขาดูสนุกและเห็นได้ชัดว่าเขาชอบคนนี้มากกว่าฉัน” แน่นอนว่าความคิดนี้ส่งผลให้เรารู้สึกกังวล โกรธ หรืออิจฉา
ลองท้าทายความคิดของเราด้วยการทำให้ความคิดมีเหตุผลมากขึ้น
วิธีนี้นิยมใช้ในการบำบัดทางจิตวิทยา เพราะหลาย ๆ ครั้ง คนที่มีปัญหามักจะปักใจเชื่อบางสิ่้งบางอย่างโดยที่ไม่มีเหตุผลรองรับหรือไม่ยึดกับความจริง ลองท้าทายด้วยการถามตัวเองก็ได้
ว่าอะไรทำให้มันดูเหมือนว่าจะเป็นอย่างงั้น? อะไรเป็นตัววัดว่า เขาชอบอีกคนมากกว่าฉันแน่ ๆ เขาได้พูดออกมาแล้วหรอ? เขาได้แสดงออกถึงท่าทีที่ไม่อยากให้เราอยู่ตรงนั้นหรอ? มันคืออะไร?
ซึ่งกระบวนการเวิร์คกับตัวเองพวกนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจตัวเองมากขึ้น
5. ตัดสินใจว่าจะทำอะไร
บางครั้งก็ไม่มีอะไรต้องทำมากมาย แค่อยู่กับความรู้สึกและปล่อยให้มันไหลไปเรื่อยๆ แต่ในบางครั้งเราอาจต้องทำอะไรบางอย่าง เช่น จากสถานการณ์ที่ยกขึ้นมา ลองพูดคุยกับเพื่อนคนนั้นอย่างเปิดเผยมากขึ้น
ครั้งหน้าเขาอาจจะพาเราไปทำความรู้จักเพื่อนอีกคนด้วยเพื่อไม่ให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว
พยายามโอบกอดทุกความรู้สึกที่เรามี แม้กระทั่งอารมณ์ที่ดูเหมือนว่าจะอ่อนแอหรือน่าละอายใจ เพราะมันเป็นเพียงการตำหนิของคนอื่น ความรู้สึกเหล่านี้ทำให้เราได้สัมผัสกับชีวิตอย่างเต็มที่
“ความรู้สึกเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์”
ที่มา:
หนึ่งในความปรารถนาของมนุษย์ คือ การค้นหาความหมายของสิ่งที่ไม่รู้ แล้วถ้าสิ่งที่เราไม่รู้ คือ “ ความหมายชีวิต ” ล่ะ? แท้จริงแล้วความหมายชีวิตคืออะไร?
ไม่รู้ ความหมายชีวิต จะมีความสุขได้ไหม?
ความหมายชีวิต คืออะไร?
ความหมายชีวิตเป็นเรื่องของปัจเจก แต่ละคนจะให้นิยามแตกต่างกันไป สำหรับบางคนอาจจะเป็นการเลี้ยงลูก บางคนอาจจะเป็นการทำบุญช่วยเหลือคนยากไร้
บางคนอาจจะอยากเป็นศิลปินชื่อดังหรืออยากใช้ชีวิตนอกกรอบ แต่สุดท้ายแล้ว ความหมายชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละวัย ตามการเรียนรู้ การรับรู้ และความสุข
ความหมายชีวิต จำเป็นไหมที่จะต้องรู้?
แล้วแต่บุคคล อาจจะตอบได้ว่า ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น สำหรับบางคนอาจจะจำเป็น เพราะความหมายชีวิตเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างบันดาลใจ สร้างพลังงาน และสร้างความรู้สึกทางบวกได้
แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่จำเป็นเลย เพราะเอาจริง ๆ การที่ไม่รู้ความหมายชีวิต ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เราไม่ได้ใช้ความหมายชีวิตหายใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ ในชีวิตอาจจะสำคัญกว่า
ไม่รู้ ความหมายชีวิตตัวเอง ไม่มีคุณค่า จริงไหม?
ถ้ามองจากการใช้ชีวิตจริง เราไม่รู้ความหมายชีวิตตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำประโยชน์ให้ใครไม่ได้ หรือไม่ต้องถึงขั้นนั้น แค่เรามีชีวิตอยู่ อาจเป็นเรื่องที่มีคุณค่าสำหรับใครหลายคน
ไม่รู้ความหมายชีวิตตัวเองไม่ได้ทำให้คนที่รักเรารักเราน้อยลง ไม่รู้ความหมายชีวิตตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าบางคนรู้สึกทุกข์ มีมุมมองทางลบต่อตัวเอง สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือน
ความหมายชีวิต เพราะอะไรหลายคนถึงมองหา?
1. ค่านิยม
หลายสื่อนำเสนอว่า ถ้าเรารู้ว่าเราเกิดมาเพื่อทำอะไร ชีวิตเราถึงจะมีคุณค่า
2. สังคมและคนรอบข้าง
ถ้าเรารู้ความหมายชีวิต ถึงจะได้รับการยอมรับและได้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม
3. ความรู้สึกว่างเปล่าในจิตใจ
ความว่างเปล่าที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ต้องการอะไร ทำให้มองหาคำตอบ
อิคิไก ปรัชญาของเหตุผลในการมีชีวิตอยู่
มีหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์เคน โมหงิ ชื่อว่า The Little Book of Ikigai : The secret Japanese way to live a happy and long life
กฎความสุข 4 ข้อ
1. ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่
2. เป้าหมายชีวิตไม่ได้จบสิ้นลงเมื่อไปถึงเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง
3. การสร้างสมดุลจากองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ สิ่งที่รัก สิ่งที่โลกต้องการ สิ่งที่สร้างคุณค่า และสิ่งที่ถนัด
4. ทุกอย่างอยู่ในตัวของมันเอง มีความพิเศษ มีเหตุผล เป็นอะไรที่ปัจเจก คนนั้นสามารถตอบได้คนเดียว
รูปแบบขององค์ประกอบ
ทำในสิ่งที่เรารัก + ทำในสิ่งที่เราถนัด = ความหลงใหล (Passion)
ทำในสิ่งที่เรารัก + ทำในสิ่งที่โลกกำลังต้องการ = หน้าที่ (Mission)
ทำในสิ่งที่เราถนัด + ทำในสิ่งที่สร้างคุณค่าให้ตัวเอง = อาชีพ (Profession)
ทำในสิ่งที่โลกกำลังต้องการ + ทำในสิ่งที่สร้างคุณค่าให้ตัวเอง = งาน (Vocation)
Logotherapy การบำบัดความทุกข์จากการไม่รู้ความหมายชีวิต
ที่มา
วิคเตอร์ แฟรงเคิล เป็นผู้พัฒนาทฤษฎีการบำบัดทางจิตวิทยาที่เรียกว่า logotherapy นี้ขึ้นมา เขาเคยถูกขังในค่ายกักกันนาซีแล้วรอดชีวิต ซึ่งการที่เขาต้องอยู่ในสภาวะนั้น ต้องเจอกับความโหดร้าย
ต้องเจอกับการทำร้ายทารุณกรรม แต่เขาเลือกที่จะดูแลและปลอบโยนนักโทษในนั้นไม่ให้ฆ่าตัวตาย เขาค้นพบว่า คนที่ไม่ทิ้งเป้าหมายและความหมายชีวิตตัวเอง มีโอกาสที่จะมีชีวิตต่อไปมากกว่า
ความเชื่อ
วิคเตอร์เชื่อว่า แรงจูงใจในการใช้ชีวิตมาจากความต้องการที่จะค้นหาความหมายชีวิต ชีวิตของทุกคนมีความหมายได้เสมอ แม้จะอยู่ในสภาวะที่เลวร้าย
ภายนอกพรากทุกอย่างจากเราไปได้ ยกเว้นอิสรภาพในการเลือกว่าเราจะมีทัศนคติแบบไหนต่อสถานการณ์ เปลี่ยนภายนอกไม่ได้ ต้องเปลี่ยนภายใน
จุดประสงค์
Logotherapy สร้างขึ้นเพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถใช้จิตวิญญาณเอาชนะความทุกข์ยากในชีวิตได้ มี 3 ขั้นตอน
1. Dereflection ให้เปลี่ยนจากโฟกัสตัวเองเป็นโฟกัสคนอื่น เพื่อไม่ให้ใช้เวลาไปกับการวิตกกังวล
2. Paradoxical intention ให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวที่สุด เพื่อบำบัดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ
3. Socratic Dialogue ให้สำรวจตัวเอง โดยการสังเกตและตีความสิ่งที่ตัวเองพูด ว่ามีรูปแบบอย่างไร
แนวคิด
ให้ความสำคัญกับ 3 สิ่ง จากเว็บไซต์ Victor Frankl Institute
1. Freedom of will = การมีอิสระในการตัดสินใจ การสร้างจุดยืนของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหน
2. Will to meaning = ทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายได้ การค้นหาเป้าหมายชีวิตจะเป็นแรงจูงใจในการใช้ชีวิต
3. Meaning of life = ความหมายชีวิตเป็นความจริงที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละคน มีแค่ตัวเองที่ให้คำตอบได้
รับมืออย่างไรถ้าไม่รู้ ความหมายชีวิต
1. ลดความคาดหวังต่อความหมายชีวิต
2. เปิดใจให้กับความหลากหลายของความหมายชีวิต
3. หาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งที่มีคุณค่ามากพอให้ใช้ชีวิตเพื่อสิ่งนั้น
4. ตั้งเป้าหมายชีวิต เพื่อเบี่ยงเบนตัวเองออกมาจากความรู้สึกแย่
5. ระบายความรู้สึกออกไปกับคนที่ไว้ใจได้ จะช่วยลดความอึดอัด
ความหมายชีวิต จะค้นหาอย่างไร?
1. สังเกตชีวิตประจำวัน
ค้นหาไปหาเรื่อย ๆ จากการใช้ชีวิตในทุก ๆ วัน ระหว่างทางเราอาจจะได้ทำอะไรบางอย่างหรือได้เจอใครสักคนที่มีคุณค่ามากพอให้นิยามสิ่งนั้นเป็นความหมายชีวิตของเรา
2. ให้เวลาตัวเองได้ค้นหา
แทนจากเพจ Psyche.tourlife บอกว่า ใน 1 วันมนุษย์ไม่ค่อยมีเวลาให้ตัวเอง ลองหาเวลาและตั้งคำถามกับตัวเองดู เช่น ชอบอะไรไม่ชอบอะไร อาจเป็นบันไดไปสู่คำตอบได้
ความหมายชีวิตอาจไม่ได้มาจากการ ‘ค้นหา’ แต่มาจากการ ‘สร้างขึ้นมา’ ก็ได้ 🙂
ที่มา :
เศร้าจนรู้สึกไม่อยากจะทำอะไร รู้สึกเหนื่อย หรือยากมาก ๆ ที่จะใช้ชีวิตเหมือนเดิม หรือบางทีเราก็อาจจะงง ๆ ว่า ทำไมเริ่มเป็นคนพลังงานน้อย เพราะป่วยเป็น ซึมเศร้า หรือเปล่า
ทำไม ซึมเศร้า ถึงทำให้เราพลังงานน้อย
อาการซึมเศร้ามักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง เช่น โดปามีน นอร์เอปิเนฟริน และเซโรโทนิน “สารสื่อประสาทเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมระดับพลังงาน การนอนหลับ ความอยากอาหาร แรงจูงใจ และ ความสุข”
เมื่อสารในเคมีสมองเราทำงานไม่ปกติก็จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเราด้วย จากคนที่เคยเป็นคนที่ร่าเริงแอคทีฟ ก็ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้เหมือนเดิมจากที่เคยสามารถออกไปเดินเล่น ไปเที่ยวได้ก็ไม่สามารถทำได้ ทำไปแปปเดียวก็เหนื่อย ไม่อยากทำต่อ รู้สึกไม่สนุกเท่าเดิม
ความแตกต่างระหว่างภาวะ ซึมเศร้า และความเหนื่อยล้า?
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คนที่มีความเหนื่อยล้าเฉย ๆ ต้องการทำสิ่งต่าง ๆ แต่ขาดพลังงานในการทำ ในขณะที่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าขาดแรงจูงใจในการจะทำ และที่สำคัญคือ ระยะเวลา หากเราเหนื่อยนอนก็จะดีขึ้นและสามารถออกไปทำกิจกรรมได้เช่นเดิม
ภาวะเหนื่อยจาก ซึมเศร้า
เมื่อมีอาการซึมเศร้า ระดับพลังงานของตัวเราก็จะลดน้อยลง และอาการหลายอย่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในตอนที่เป็นซึมเศร้าก็จะปรากฎขึ้น เช่น ความเศร้า ความเหงา อาการเหล่านั้นเหมือนการใช้พลังงานเหมือนกัน
ซึ่งอาจจะทำให้ความเหนื่อยล้าที่มีอยู่แล้วกลายเป็นความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีกความเหนื่อยล้าเป็นคำที่ใช้อธิบายการขาดพลังงานหรือความรู้สึกเหนื่อยล้า มันต่างจากการรู้สึกง่วงหรือง่วงนอน เมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า จะมีอาการเซื่องซึม ซึมเศร้า และไม่มีเรี่ยวแรง
พลังงานน้อยจนรู้สึกง่วงบ่อย ๆ เพราะซึมเศร้า?
อาการซึมเศร้าส่งผลเสียต่อการนอนหลับ ทำให้หลับยากหรือหลับไม่สนิท หรือตื่นเช้าเกินไป ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคได้กล่าวไว้ว่าคนเราควรนอนวันละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป
แต่ไม่ใช่การอดนอนที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าเท่านั้น การนอนเกินเวลาเวลาตื่นมาก็ทำให้เกิดความเหนื่อยล้า และเซื่อมซึมเหมือนกัน อาจทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ความผิดปกติของการนอนหลับประเภทนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ใหญ่ที่สุดของความเหนื่อยล้าในผู้ที่มีอาการซึมเศร้า
จากพลังงานเยอะ เปลี่ยนเป็นพลังงานน้อย
ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเราเองไม่มีคุณค่า รู้สึกว่าทำไมตัวเองต้องขี้เกียจ ทำไมการอยากจะลุกออกไปทำอะไร บางอย่างมันยากจัง มันฝืนจัง ซึ่งรู้สึกไม่ชอบตัวเองมาก ๆ
และมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง จะทำอะไรก็เหนื่อยไปหมดแล้วอีกอย่างคือพอเราไม่มีแรงอยากจะทำอะไร เรารู้สึกเป็นภาระกับคนรอบตัวไปด้วย
ผลกระทบที่แตกต่างของคนที่ พลังงานน้อยเพราะซึมเศร้า
คนที่พลังงานน้อยเฉย ๆ ไม่ได้เกิดจากซึมเศร้า คงไม่ได้รับผลกระทบแบบนี้แน่ ๆ เพราะอย่างที่เราเข้าใจกันคนพลังงานน้อยคือคนที่สามารถทำทุกอย่างได้อย่างปกติ แต่อาจจะทำได้ไม่หลาย ๆ อย่างใน 1 วัน หรือใน 1 ช่วงเวลา แต่คนที่เป็นซึมเศร้าแล้วพลังงานน้อย จะส่งผลดังนี้
ข้อมูลจาก ดร.เอมี่ แคทเธอรีน ริกก์ อาจารย์และผู้เชียวชาญด้าน จิตเวชศาสตร์
- ทางกายภาพ : กิจวัตรประจำวัน เช่น กิน อาบน้ำ แต่งตัว และอื่น ๆ อาจกลายเป็นเรื่องยาก “ร่างกายสามารถรู้สึกอึน ๆ ช้า เนื่องจากภาวะซึมเศร้า” Ricke กล่าว
- ทางด้านสติปัญญา : การโฟกัสยากขึ้น สมาธิมีน้อย และการประมวลผลข้อมูลได้ยาก” ซึ่งแน่นอนว่า การอดนอนอาจส่งผลกระทบเช่นเดียวกัน
- ทางอารมณ์ : “ความเหนื่อยล้าทำให้ยากขึ้นในการกำจัดความคิดและความรู้สึกที่สับสนอยู่แล้ว
อยากเพิ่มพลังตัวเองในขณะที่เป็นซึมเศร้าสามารถทำได้ไหม
1. ทำความเข้าใจ
อย่างแรกเลยเราอาจจะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเรากำลังเป็นซึมเศร้า ที่รู้สึกไม่เหมือนเดิม ขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นเพราะสารเคมีในสมองนะ ต้องทำความเข้าใจกับตรงนี้ก่อน และไม่ต้องฝืนและกดดันตัวเองให้กลับมาแอคทีฟ ให้กลับมาแพชชั่นในการใช้ชีวิตเลย
2. ค่อย ๆ ใช้เวลา
ให้เวลากับความรู้สึกทุก ๆ อย่างต้องใช้เวลาจริง ๆ ไม่ใช่พอเราเข้าใจแล้วอีกวันเราจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราค่อย ๆ ให้เวลาเปลี่ยนเรา ให้เวลาในการรักษา สักวันเราจะต้องกลับมาเป็นคนที่มีแพชชั่นแน่ ๆ
3. ออกกำลังกาย
ถ้าเรามีพลังกาย พลังใจก็ตามมาค่ะ อาจจะไม่ต้องโหมคาดิโอ หรือเวทอะไรให้เหงื่อท่วมตัว อาจจะลองกิจกรรมเล็ก ๆ ให้ได้อออกกำลัง พอเราออกกำลังกายมันทำให้เรามีแรงมากขึ้น การออกกำลังกายช่วยทำให้เราแอคทีฟ
4. กินอาหารที่ดีกับร่างกาย
อาหารปรุงแต่งต่าง ๆ มีวิจัยอ้างอิงว่า อาหารเหล่านั้นเพิ่มความเสี่ยงภาวะซึมเศร้ามากขึ้น
นอกจากนี้มีรายงานที่ระบุว่าในคนไข้กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ถ้ากินอาหารที่หลากหลาย ลดอาหารที่มีน้ำตาลสูงและอาหารที่เป็น Processed Food แต่หันมากินอาหารสุขภาพ (Healthy Food) ก็จะพบว่ามีอาการดีขึ้น อีกทั้งร่างกายยังตอบรับกับการรักษาดีขึ้นกว่าคนที่กินอาหารขยะ (Junk Food)
อาหารที่มีน้ำตาลสูง น้ำตาลจะไปรบกวนระบบสารสื่อประสาท ถ้าติดน้ำตาลแล้วไม่ได้กินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เราก็จะมีภาวะของการซึมเศร้า หรือภาวะหงุดหงิดเมื่อเราไม่ได้กินน้ำตาลตามช่วงเวลาที่เราอยากกิน เมื่อสารสื่อประสาทเปลี่ยนไป ทำให้ฮอร์โมนแห่งความสุขลดลง เรียกภาวะนี้ว่าภาวการณ์ติดหวาน
แม้จะใช้ความหวานทดแทนก็ยังพบว่าในกลุ่มคนไข้ที่ใช้สารให้ความหวานทดแทนไม่ได้ช่วยให้การติดหวานลดลง ก็จะกระทบในเรื่องความไม่สมดุลของสารอาหารที่ได้รับ ซึ่งมีผลต่อภาวะซึมเศร้าอยู่ดี
อ้างอิง
อาหารที่เหมาะสมสำหรับคนเป็นซึมเศร้า
Why depression makes you tired and how to deal with fatigue
สมองเรามักจะ ” คิดลบ ” ไม่ใช่เพียงคิดลบกับคนอื่นแต่คิดลบกับตัวเองด้วย เป็นไปได้ไหมถ้าอยากเลิกคิดลบ? แล้วการคิดลบมีข้อดีไหม?
คุณกำลังเป็นมนุษย์คิดลบอยู่หรือเปล่า?
คิดลบ คืออะไร?
คิดลบเป็นสับเซ็ตของการมองโลกในแง่ร้าย เวลามีเรื่องเข้ามา เราจะคิดว่าสิ่งนั้นจะส่งผลในเชิงลบ “ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้น ฉันจะต้องแย่มาก ๆ” คิดลบเลยเป็นเหมือนการประเมินไปก่อนว่าสิ่งนั้นจะต้องแย่
แต่อาจจะเกิดขึ้นกับเรื่องในอดีตได้ด้วย บางทีเรื่องผ่านไปนานแล้ว แต่พอมีอะไรมากระทบเรา แล้วเราไม่ได้มองสิ่งนั้นตามความเป็นจริง แล้วคิดไปในทางที่แย่ก่อน อันนี้เรียกว่าคิดลบได้เหมือนกัน
คิดลบ แตกต่างจากมองโลกในแง่ร้ายอย่างไร?
คิดลบเป็น Thinking เป็นชุดความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น เหตุการณ์นั้น แต่มองโลกในแง่ร้ายเป็น Attitude เป็นทัศนคติที่ว่าว่าสิ่งต่าง ๆ จะผิดพลาด
ความปรารถนาหรือเป้าหมายของผู้คนมักจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเอาไว้ กลุ่มคนที่มองโลกในแง่ร้ายจะคาดหวังว่าสิ่งเลวร้ายจะเกิดขึ้นกับตัวเองและคนอื่น
รวมไปถึงผู้ที่สงสัยลังเลเกี่ยวกับผลลัพธ์ในเชิงบวกด้วย เช่น “มันจะดีหรือเปล่านะ” ดังนั้น ถ้าถามว่าแตกต่างกันอย่างไร คิดลบจะเป็นแค่ชุดความคิดหนึ่งที่บั่นทอนเรา
ในขณะที่การมองโลกในแง่ร้ายจะทำให้เราและคนรอบข้างระมัดระวังตัวเองมากขึ้น แต่อาจจะหมายถึงการมองว่าทุกอย่างแย่ไปหมดได้เหมือนกัน มีทั้งข้อดีข้อเสีย
ข้อดีและข้อเสียของ คิดลบ มีอะไรบ้าง?
ในส่วนของข้อดี อย่างที่บอกไปว่า คนที่สงสัยลังเลว่าสิ่งนั้นจะดีไหม? ถือว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย เพราะในความเป็นจริงควรมองให้ตรงกับเหตุการณ์ วิเคราะห์และคาดการณ์แทนการสงสัยลังเล
กลุ่มคนที่สงสัยลังเล อาจทำให้เขาได้เห็นถึงปัจจัยบางอย่างที่น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงลบ แล้วไปแก้ไข ผลลัพธ์ที่ตามมาเลยจะเป็นเชิงบวกแทน แบบนี้จะทำให้ได้รับผลประโยชน์จากการคิดลบ
แต่ในส่วนของข้อเสีย อาจเกิดความวิตกกังวล ความกระวนกระวายใจ ชีวิตขาดความสุข ขาดสีสัน ทำให้เรามองข้ามสิ่งดี ๆ ไป หรือพัฒนาไปถึงการเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคแพนิคได้ด้วย
คิดลบ มีสาเหตุมาจากอะไร?
จากที่สังเกตในสังคมไทย ส่วนใหญ่มาจาก
1. ค่านิยม
ในโซเชียลมีเดีย เวลามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นที่ยังไม่มีข้อสรุป แต่มีกลิ่นอายของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง คนจะพุ่งไปที่การตัดสิน ต้องเป็นแบบนี้แน่ ๆ ยิ่งถ้าเป็นกลิ่นอายแย่ ๆ จะเกิดความคิดเชิงลบ
คิดแล้วว่าอันนี้แย่แน่ ซึ่งสิ่งนี้แหละ จะทำให้ความคิดลบพัฒนาไปไกลกว่าเดิม เพราะเราไปคิดถึงคนอื่น ไม่ได้คิดถึงคนอื่น แล้วสุดท้ายจะพัฒนากลายเป็นการมองโลกในแง่ร้ายต่อไป
2. สิ่งแวดล้อม
อันนี้จะรวมไปถึงทั้งสถานที่เรียน สถานที่ทำงาน ครูบาอาจารย์ บางทีดารามีส่วนเหมือนกันนะ เพราะดาราเปรียบเสมือนบุคคลสาธารณะ บุคคลตัวอย่าง ถ้าเกิดมีตัวอย่างแบบนี้
คนจะทำเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ ในยุคนี้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปแล้ว จึงเป็นต้นแบบในการสื่อสาร การพูด การแสดงความคิดเห็น ทุกอย่างจะส่งผลถึงกันหมด จะสร้างความคิดลบ
หรือการมองโลกในแง่ร้ายให้เกิดขึ้นได้ โดยใช้คำว่า ก็ผมคิดของผมแบบนี้ คุณคิดของคุณอย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้วการการรับผิดชอบสิ่งที่พูดในที่สาธารณะเป็นเรื่องสำคัญมาก
3. การเลี้ยงดู
มีงานวิจัยที่นำมาอ้างอิงได้ ผลพบว่าการเลี้ยงดูสามารถทำให้เกิดการคิดลบหรือการมองโลกในแง่ร้ายได้ จากสภาพแวดล้อมที่ไม่สามารถให้ความปลอดภัยแก่เด็กได้
และบางอย่างที่มีการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงกลายเป็นบาดแผลทางใจฝังรากรึกลงไปในจิตใจของเด็ก นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นิสัยคิดลบเกิดขึ้นได้
สิ่งนี้จะพ่วงมาด้วยภาวะวิตกกังวลได้อีกด้วย พอเติบโตมาในพื้นที่ที่มีความวิตกกังวลมีความร้ายแรง สิ่งแรกที่เด็กจะทำคือโทษพ่อแม่ ไม่โทษตัวเอง ซึ่งการโทษตัวเอง
เป็นสับเซ็ตของการคิดลบและเป็นสับเซ็ตของการมองโลกในแง่ร้ายอีกที และถ้าโทษตัวเองบ่อย ๆ จะติดเป็นนิสัย มีอะไรจะโทษตัวเอง ทั้งที่ไม่ผิด แล้วจะพัฒนาไปไกล
คิดลบ จนทำร้ายตัวเอง ทำอย่างไร?
พบนักจิตวิทยาอันดับแรก เพราะถ้ากระทบตัวเองและกระทบคนรอบข้าง เราอาจจะมีอาการหรือโรคทางจิตเวชเข้ามาเกี่ยวข้องโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ ถ้าเราไม่ตรวจไม่คุยเราก็ไม่รู้
แล้วถ้าปัญหามาขนาดนั้น แปลว่าคุณจัดการตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้ความช่วยเหลือ ไปหาใครก็ได้ อยากจะสร้างค่านิยมใหม่ ๆ ทัศนคติใหม่ ๆ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ
คุณต้องรู้ว่าลิมิตอยู่ตรงไหน อย่างก่อนหน้านี้ที่คุยกัน ถ้าคุณอยากหาคุณหาได้เลย ไม่ต้องรอจุดหนักจุดเบา แต่ถ้าคิดลบจนตัวเองแย่ รบกวนคนรอบข้างแล้ว พบนักวิชาชีพดีกว่า
เพราะถ้าเกิดแนะนำอะไรไป คุณมีทัศนคติเชิงลบอยู่แล้ว ไม่รู้คุณจะเปิดรับหรือเปล่า หรือต่อให้เปิดรับ คุณทำได้ดีไหม อาจจะตอบไม่ได้ แล้วก็รับผิดชอบชีวิตคุณไม่ได้
แต่ถ้าคุณไปพบนักวิชาชีพซึ่งเป็นใครก็ได้ เขานั่งอยู่กับคุณ ได้คุย ได้สัมผัส ได้รู้อะไรที่ลึกกว่า เจอตัวเป็น ๆ เขาจะคุยกับคุณได้ลึกซึ้งกว่า ปัญหาของคุณอาจจะมีอะไรที่มากกว่าการคิดลบ
ลองหาใครก็ได้ที่สบายใจ ใกล้ตัว ราคาถูก หรือจะจ่ายแพงก็ได้ ถ้ารู้สึกชอบคนนี้เป็นพิเศษ การพบนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่แปลก มันเหมือนกับคุณเป็นหวัดแล้วไปหาหมอ
อยากจะเชิญชวนคุณผู้ฟังที่ติดตาม Alljit หรือใครก็ตามที่มาดู ว่าเราอยากสร้างค่านิยมใหม่ ๆ ว่า สุดท้ายแล้วมันไปหาได้ มันเป็นเรื่องง่าย มันเป็นเรื่องปกติมาก
วิธีการจัดการเบื้องต้น
ถ้าตั้งเลยว่าจะทำให้ คิดลบ ไปเป็น คิดบวก ในมุมมองคิดว่าผิดตั้งแต่แรก เราไม่ควรรีบเปลี่ยนอะไรทันทีทันใด เราควรดูก่อนว่า ตอนเราคิดลบ ตัวเราเป็นยังไง ตัวเราได้รับผลกระทบอะไรมา
ลองนิ่ง ๆ กับตัวเองในตอนนั้นดู ลองทำความรู้จักตัวเองในตอนนั้นดู พอเรารู้จักตัวเอง เราจะเริ่มรู้แล้วว่าเราจะทำอะไร ก่อนที่เราจะเปลี่ยนจากกราฟเชิงลบเป็นกราฟเชิงบวก เราต้องค่อย ๆ ไต่
และอยู่ตรงกลางให้เป็น แล้วในสเกลของมนุษย์ Normal ไม่ใช่ Normal line ไม่ได้เป็นเส้น แต่เป็น Normal range เป็นระยะตรงกลาง ถ้าอธิบายง่าย ๆ สมมติว่าเป็นกราฟ มีเส้นตรงกลาง
ภาวะปกติของคนอาจจะเป็น 0 ถึง 10 และ 0 ถึง -10 แปลว่าคนเราขึ้น ๆ ลง ๆ ได้ มันอาจจะมีบางช่วงที่ขึ้นสุดลงสุด แต่จะไม่ถี่ ส่วนสำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะต่ำกว่า -10
คนที่มีความสุขมากจนเกินไป อาจจะป่วยเป็นอีกโรคหนึ่ง เช่น อาการ Mania ของโรคไบโพลาร์ จะทะลุ 10 ไปแล้ว ดังนั้นกราฟต้องค่อย ๆ ขึ้น ตอนนี้อาจจะ -8 แล้ว
อยากจะกระโดดขึ้นมา ให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ สังเกตว่าตัวเองเป็นอย่างไร บางทีเราร้อนรนกับความทุกข์จนเราตั้งสติไม่ได้ พอเราตั้งสติได้ อย่างที่บอก ตัวช่วยมีเยอะแยะ
หรือว่าง ๆ สามารถอัพเดทตัวเองได้ อาจจะฟังพอดแคสต์ Alljit หรือช่องอื่น ๆ ก็ได้ นักวิชาชีพที่ชำนาญพูดกันเยอะมาก ๆ ดังนั้นทำให้เป็นเรื่องปกติของชีวิต ป้องกันไว้ดีกว่าแก้
แต่ในวันที่คุณแย่ คุณต้องใจเย็น ๆ ตั้งสติ อย่าเพิ่งใจร้อน ค่อย ๆ เรียบเรียงว่าปัญหาคืออะไร แล้วดูว่าจะจัดการกับมันอย่างไรดี เพราะถ้าเกิดคุณอยู่ในลิมิตที่คุณยังไหวอยู่
คุณจะรู้ว่าคุณไปต่อได้ แต่ถ้าเกินลิมิตที่ไม่ไหวแล้ว ไม่ต้องพยายามแล้ว ต้องพบนักวิชาชีพ เพราะจังหวะนั้นจะมีความซับซ้อนอยู่ข้างล่างที่ตัวเราไม่สามารถแก้ไขได้
แต่ไม่ค่อยอยากให้วิธีตรง ๆ เพราะแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน บางคนก็อินกับธรรมมะ บางคนก็อินกับกีฬา บางคนก็อินกับหนังสือ บางคนก็อินกับกาแฟ
บางคนจะใจเย็นที่สุดเวลาอยู่กับกาแฟ ทำให้เขาอยู่กับอาการแพนิคได้ดีขึ้น หายจากแพนิคได้ มันจะต้องมีช่วงเวลาที่ได้อยู่นิ่ง ๆ สักช่วงหนึ่ง เพื่อสังเกตตัวเอง
ขอให้นิ่ง ๆ ก่อน ใจเย็น ๆ บางทีช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุด ไม่ใช่การดีขึ้นในช่วงเวลาที่แย่ แต่เป็นการนิ่งให้ได้ รู้จักตัวเองให้เป็น ในช่วงเวลาที่เราแย่และกระสับกระส่ายที่สุด
อย่าลืมนะคะ นิ่งให้ได้ รู้จักตัวเองให้เป็น คิดลบจะน้อยลง คิดบวกจะมากขึ้นเอง 🙂
ความสุขในรูปแบบของ ” คนโสด ” และ ” คนมีคู่ ” แตกต่างกันอย่างไร? เราจะรับมือกับความรู้สึกอย่างไรในวันที่ไม่มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่?
ความสุขของคนโสดและคนมีคู่
ว่าด้วยเรื่อง คนโสด และ คนมีคู่
งานวิจัยใหม่จาก Pew Research Center ในปี 2019 พบว่า ราว 38% ของพลเมืองชาวอเมริกันวัย 25-54 ปี เป็นคนที่ยังไม่แต่งงานหรือไม่มีแฟน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
จากรายงานการสำรวจก่อนหน้านี้ในปี 1990 อัตราส่วนจะอยู่ที่ 29% เท่านั้น เพราะอะไรคนถึงเลือกที่จะโสดมากขึ้น? จริงไหม… ที่การมีคู่มักมาพร้อมความทุกข์กายทุกข์ใจ?
คนโสด หรือ คนมีคู่ มีความสุขมากกว่า?
1. คนมีคู่มีความสุขกว่า
มีการศึกษาพบว่า การมีความรักส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย เพราะมีฮอร์โมนหลายชนิดทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในแต่ละขั้นของความรัก
แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ได้แก่ ข่วงแรกพบ ช่วงสานสัมพันธ์ ช่วงผูกพัน ช่วงตักเติมความสุข และช่วงเรียนรู้อยู่ด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลต่อมนุษย์แตกต่างกันไป ดังนี้
– ช่วงแรกพบ : ฮอร์โมนอะดรีนาลีน ทำให้ใจเต้นเร็ว หน้าแดง ทำให้เวลาอยู่ใกล้คนที่ชอบแล้วเลือดสูบฉีด
– ช่วงสานสัมพันธ์ : ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและเอสโตรเจน ทำให้เกิดตัณหาราคะ ความต้องการทางเพศ
– ช่วงผูกพัน : ฮอร์โมนออกซิโตซิน เกิดจากการสัมผัสและการมีเซ็กส์ ทำให้รู้สึกว่าผูกพัน เข้าใจกันมากขึ้น
– ช่วงตักเติมความสุข : ฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน คล้ายมอร์ฟีน ช่วยลดอาการปวดเมื่อย กระตุ้นความรู้สึกทางบวก
– ช่วงเรียนรู้อยู่ด้วยกัน : ฮอร์โมนเซโรโทนิน ทำให้รู้สึกอยากที่จะเป็นคนสำคัญ มีมากไปอาจทำให้วิตกกังวล
2. คนโสดมีความสุขกว่า
Paul Dolan ศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมของมนุษย์จาก London School of Economics ค้นพบว่า คนโสดมีความสุขในการใช้ชีวิตและมีอายุที่ยืนยาวกว่า
แต่ถึงแม้ว่า Paul Dolan จะสรุปผลออกมาว่าคนโสดมีความสุขกว่า แต่ยังค้นพบด้วยว่า แรงกดดันทางสังคมต่าง ๆ ยังมีผลกระทบต่อจิตใจของคนโสดอยู่บ้าง
ข้อดีของ คนโสด
จากเว็บไซต์ Insider กล่าวไว้ว่า
1. การโสดทำให้มีเวลาคิดทบทวนเรื่องของตัวเอง
2. การโสดทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะมีเวลาในการดูแลตัวเอง
3. คนโสดจะรักษาความสัมพันธ์ของเพื่อนและครอบครัวได้ดีกว่า
4. คนโสดจะมีสภาพคล่องทางการเงิน แต่ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ด้วย
5. คนโสดจะสามารถทุ่มเทและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. คนโสดจะรู้สึกมีความมั่นใจมากขึ้น จากการพึ่งพาตัวเองระหว่างใช้ชีวิต
7. คนโสดจะมีความเครียดที่น้อยลง เพราะไม่ต้องกังวลกับคนอื่น คล่องตัว
ข้อดีของ คนมีคู่
1. เห็นแก่ตัวน้อยลง เพราะการอยู่ในความสัมพันธ์จะทำให้นึกถึงคนอื่นมากขึ้น
2. มีความสุขมากขึ้น เพราะมีคนคอยรับฟังความไม่สบายใจ ความวุ่นวาย ในชีวิต
3.ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น ได้เห็นว่าเราปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไร? มีนิสัยอย่างไร?
4. ได้ดูแลตัวเองมากขึ้น หากได้รับการสนับสนุนจากแฟนที่ดี ทำให้มีแรงผลักดันที่จะทำ
5. มีเพื่อนคู่คิด หลาย ๆ ครั้งการตัดสินใจที่ดีอาจเกิดจากการได้แลกเปลี่ยนกับใครสักคน
จัดการตัวอย่างไร เมื่อไม่มีความสุขกับสิ่งที่เป็นอยู่?
– สำหรับคนโสดที่ไม่มีความสุข
1. ยอมรับว่าการต้องการความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด
2. หาคู่ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ใช้เวลาคัดกรองให้ดี
3. ต้องตอบตัวเองได้ว่าจะหาอีกคนมาเพราะอะไร?
4. ต้องรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง ก่อนที่จะคาดหวังให้คนอื่นเห็นคุณค่าของเรา
5. แต่ถ้าไม่ได้อยากมีแฟน ต้องยึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง ฝึกอยู่คนเดียวให้ได้
– สำหรับคนมีแฟนที่ไม่มีความสุข
1. มีต้องมีให้ดีกว่าอยู่คนเดียว ถ้ารู้สึกว่าความสัมพันธ์ไม่ใช่อะไรที่ทำให้มีความสุขแล้ว การจากกันไม่ใช่เรื่องผิด
2. ถ้าคิดว่าไปต่อได้ อาจจะต้องมีการเปิดใจเพื่อปรับความเข้าใจกันและกัน เคารพในสิ่งที่อีกฝ่ายเป็นให้มากขึ้น
รู้ได้อย่างไรว่าเราเหมาะที่จะเป็น คนโสด หรือ คนมีคู่?
1. สำรวจตัวเอง ว่าความต้องการในตอนนี้คืออะไร?
2. สำรวจข้อดี ข้อเสีย ของทั้งสองแบบ แล้วชั่งน้ำหนักดูว่า เราโอเคกับแบบไหน?
3. ให้เวลาตัวเอง ไม่กดดันตัวเอง และอย่าลืมที่จะยึดมั่นในจุดยืนของเราให้มาก ๆ
จะโสดหรือมีคู่ก็มีความสุขได้ อยู่ที่ว่าเราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่มากน้อยแค่ไหน 🙂
ที่มา :
Lazy Sunday จะโสดหรือว่ามีแฟนดี?
วิจัยเผย! คนโสดมีความสุขกว่าคนมีคู่
7 science-backed reasons why you’re better off being single
9 Surprising Health Benefits of Being in a Good Relationship
10 Reasons Why Being in a Relationship Makes Your Life Better and Healhtier
” Move on ไม่ได้ ” เพราะเขาไม่ปล่อยหรือเราไม่ไป? จริง ๆ แล้ว การที่เรา Move On ไม่ได้ เป็นเพราะเขาหรือเพราะตัวเราเอง? ถ้าหาก Move On ไม่ได้เราจะรับมืออย่างไรดี?
Move on ไม่ได้ เป็นเพราะเราหรือเพราะเขา?
เขาไม่ปล่อยหรือเราไม่ไป?
ในเรื่องความรัก คิดว่าเป็นคำถามที่ดีสำหรับเอาไว้ถามตัวเอง เพราะหลาย ๆ ครั้ง การมูฟออนไม่ได้ ไม่ใช่เพราะเขา แต่เป็นเพราะเราที่ยังคงหลอกตัวเองอยู่
แต่จริง ๆ แล้ว ถึงเขาไม่ปล่อย เราก็ไปได้ เพียงแต่อาจจะยากขึ้นหน่อย อย่าลืมว่าการตัดสินใจเป็นของเรา เรามีสิทธิ์เท่ากับเขาในการเลือกว่าจะอยู่หรือไป
ไปข้างหน้า 1 ก้าว ถอยหลัง 3 ก้าว?
1 step forward 3 steps back จริง ๆ ประโยคนี้เป็นชื่อเพลงของ Olivia Rodrigo แต่จาก Cambridge Dictionary จะใช้ 1 step forward 2 steps back เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการ Move on
เราเดินไปข้างหน้าแต่มีสถานการณ์บางอย่างมาทำให้เราถอยหลังไปมากกว่าจากจุดที่อยู่ตอนแรก เช่น บางคนเลิกกับแฟน แต่พอเห็นของที่แฟนเคยซื้อให้ ความคิดถึง เลยหวนกลับมาอีก
ตรงข้ามกับการ Move on ได้ ที่หมายถึง การทำใจยอมรับสิ่งนั้นได้แล้ว พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ลังเลแล้ว หรือ ในเรื่องความรัก Move on คือการตัดใจจากแฟนเก่าได้แล้วนั่นเอง
Move on ไม่ได้ มีรูปแบบไหนบ้าง?
1. ความรัก
เราชอบเขาเขาไม่ชอบเรา เลิกทั้งที่ยังรัก
2. ความผิดหวัง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องการใช้ชีวิต ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ
3. คำพูดและสายตาคนอื่น
แคร์คนรอบข้างมากเกินไป โดนต่อว่า ผ่านไปหลายวันยังนึกถึง
Move on ไม่ได้ ส่งผลเสียอย่างไร?
1. สร้างความรู้สึกและอารมณ์ทางลบ
เช่น การเอาอดีตมาตอกย้ำตัวเอง
2. พัฒนาไปเป็นความผิดปกติทางอารมณ์
เช่น ซึมเศร้า ไบโพลาร์ วิตกกังวล
3. ขาด self-esteem และ self-confidence
เช่น โทษตัวเอง เพราะเราไม่มีคุณค่าพอ เขาเลยบอกเลิก ทำให้เราไม่มีความมั่นใจที่จะเริ่มต้นใหม่
Move on ไม่ได้ เพราะอะไร?
Move on จากความรักไม่ได้ :
เหตุผลเกี่ยวกับจิตใจ
1. การไม่ยอมรับความจริง หลอกตัวเอง
2. การที่อีกฝ่ายไม่ยอมปล่อย
3. ความคุ้นเคยกับสิ่งเดิม ๆ
4. ความติดค้างภายในใจ
5. ความกลัวการสูญเสีย
เหตุผลเกี่ยวกับกายภาพ
1. สมองตอบสนองต่อการเลิกราเหมือนเวลาบาดเจ็บทางกาย
2. สมองยังจดจำว่าเรายังมีแฟนอยู่เหมือนเดิม
3. สายสัมพันธ์ทางสังคมยึดเราและเขาไว้
4. ความทรงจำทางอารมณ์ขังเราไว้
5. กลัวการถูกปฏิเสธ ไม่กล้าเริ่มต้น
6. ยิ่งคาดหวังและลงทุนมากยิ่งยาก
7. เพราะใช้เวลาทำใจยังไม่นานพอ
Move on จากคำพูดและสายตาคนอื่นไม่ได้ :
1. เกิดปรากฏการณ์ Imaginary audience รู้สึกว่าคนอื่นสนใจเราอยู่ตลอด
2. แคร์คำพูดและสายตาของคนอื่นมากจนเกินไป โดยลืมไปว่าทุกคนต่างสนใจแต่ตัวเอง
5 Stages of Grief คืออะไร?
Elisabeth Kubler Ross ได้แบ่งระยะของความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้นกับคนที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก สิ่งที่รัก หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง เป็น 5 ขั้นด้วยกัน
ขั้นที่ 1 : การปฏิเสธ (Denial)
มีหลากหลายความรู้สึกเกิดขึ้น รู้สึกสับสน รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ยังคงไม่ยอมรับเพราะตกใจถึงขีดสุดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่สามารถทำใจได้
ขั้นที่ 2 : ความโกรธ (Anger)
จะมีความรู้สึกโกรธ แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าปลดปล่อยออกไปโดยไม่ปิดกั้นไว้ จะช่วยให้ได้ระบายความเจ็บปวดออกไป ความรู้สึกเบาลง
ขั้นที่ 3 : การต่อรอง (Bargaining)
จะมีความรู้สึกว่า อยากจะยอมทุกอย่างเพื่อให้ความสัมพันธ์กลับมาเป็นดังเดิม มีแต่คำว่า “ถ้าเพียงเเต่…” อยู่เสมอ อยากย้อนเวลากลับไปได้
ขั้นที่ 4 : เศร้า (Depression)
จะมีความรู้สึกว่า ความทุกข์นี้จะอยู่ไปตลอดกาล รวมถึงจะสูญเสียการควบคุมทั้งอารมณ์และร่างกายของตนเอง ไม่สามารถควบคุมความเศร้าได้
ขั้นที่ 5 : ยอมรับ (Acceptance)
เป็นระยะที่ยอมรับได้แล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริง จะไม่มีความโกรธและความเศร้าเหมือนที่ผ่านมา มีการหันมาดูแลตัวเองและสนใจความต้องการตัวเองมากขึ้น
Move on ไม่ได้ รับมืออย่างไรดี?
การให้เวลาตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกเรื่อง… การจะก้าวผ่านความรู้สึกแย่ ๆ ไปได้ต้องใช้เวลาทั้งนั้น
Move on จากแฟนเก่า :
1. ยอมรับความจริง
อยู่กับตัวเอง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
2. ทำสิ่งที่ดีต่อตัวเอง
ทำในสิ่งที่มีความรัก ทำสิ่งใหม่ ๆ
3. เลิกส่องโซเชียลมีเดีย
เพราะถ้าแอบดูชีวิตเขา ยิ่งตัดใจยาก
4. เชื่อมั่นในตัวเองให้มากขึ้น
กลับมารักและดูแลตัวเอง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่
5. เริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ แฟนที่ดีคือแฟนใหม่
ทำได้ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะเป็นการดึงตัวเองเข้าไปในความสัมพันธ์แย่ ๆ เสียใจมากกว่าเดิม
Move on จากคำพูดและสายตาคนอื่น :
1. เข้าใจตัวเอง
ว่าปรากฏการณ์ Imaginary audience เป็นเรื่องปกติ
2. เข้าใจความจริง
ว่าไม่มีใครสนใจเราขนาดนั้น เรายังสนใจแต่ตัวเองเลย
3. คัดเลือกคนในชีวิต
บางคนตั้งใจที่จะพูดไม่ดีกับเรา จะได้รู้ว่าใครรักและแคร์เรา ใครที่ไม่หวังดี อาจจะต้องปล่อยเขาไป
4. ทุกคนต่างทำผิดพลาด
จุดโฟกัสไม่ใช่ เราผิดพลาดอีกแล้ว เพราะบางทีมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เข้ามากระทบ ลองเปลี่ยนไปคิดว่าแล้วจะทำยังไงต่อดี? ดีกว่า
จะรู้ได้อย่างไรว่าเรา Move On ได้แล้ว?
โดยทั่วไปมนุษย์จะใช้เวลาในการรักษาใจจากความผิดหวังเฉลี่ยอยู่ที่ 3 เดือน แต่ถ้าถูกกระตุ้นจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้นึกถึงความทรงจำแล้วยังเศร้ามาก ๆ แปลว่า ยัง Move on เป็นวงกลมอยู่
แต่ถ้ามั่นใจว่า Move on ได้แล้ว เมื่อโดนสิ่งเร้ากระตุ้นให้สังเกตตัวเองว่า ยังเสียใจเท่าเดิมไหม ถ้าใช่ ไม่ต้องคาดหวังว่าจะต้องกลับไปรู้สึกดีเหมือนเดิมหรือไม่รู้สึกอะไรแล้ว แค่ว่าเราดีขึ้นก็พอ
Move on ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่ากดดันและตอกย้ำตัวเอง 🙂
ที่มา :
7 Reasons Why You Can’t Let Go of a Past Relationship
7 Ways It May Be Physically Hard To Move On After A Breakup, According to Experts
ความรู้สึก โหยหาอดีต อยู่ดี ๆ ก็นึกถึงเหตุการณ์เก่า ๆ ที่ทำให้เราทั้งอบอุ่นใจ ดีใจ เสียใจ ปกติไหม?
เพราะอะไรเราจึงโหยหายอดีต ? ยิ่งเติบโตความสุขยิ่งน้อยลงโหยหาอดีตมากขึ้นจริงหรือเปล่า?
ที่มาของ คำว่า โหยหาอดีต Nostalgia
“คิดถึง” เป็นความรู้สึกที่รู้จักกันดีในชีวิตมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความผูกพันระหว่างกันและเป็นสัตว์สังคม อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ความคิดถึง” อย่างจริงจัง
จนกระทั่งในช่วงคริสศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับความคิดถึง แต่ศึกษาในเชิงผลเสียที่เกิดขึ้นกับความคิดถึง โดยในทางจิตวิทยาคลีนิกเราเรียกความคิดถึงว่า “Nostalgia” มีรากศัพท์จากภาษากรีซ
โดยเกิดจากการผสมคำคือคำว่า “nosto” แปลว่า “Homecoming” หรือการกลับบ้าน กับความว่า “algos” แปลว่า “pain” หรือความเจ็บปวด
โดยศัพท์นี้เกิดขึ้นจากนักเรียนแพทย์ที่ใช้เรียกอาการวิตกกังวลและความกลัวของทหารชาวสวิสที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อมาเผยแพร่ศาสนา หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นอาการ “homesick”
แต่เป็นระดับที่รุนแรงจนถึงว่าเป็นความผิดปกติทางจิตใจ มีอาการที่ส่งผลทางกายด้วย คือหนาวสั่น เป็นไข้ ในช่วงแรก ๆ ของการศึกษาความถึงนั้น นักวิจัยแทบทุกคนเน้นศึกษาเกี่ยวกับการรักษาทางคลินิก
และผลเสียที่เกิดจากอารมณ์ความคิดถึง โดยผลกระทบเนื่องจากความคิดถึงได้แก่ การนอนไม่หลับ (insomnia), ความวิตกกังวล (anxiety), ความผิดหวัง (depression)และนักวิจัยหลายท่านถือว่า “nostalgia” เป็นอาการของโรคประเภทหนึ่ง (symptom)
โดยแรกเริ่ม Nostalgia ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโรคที่เกิดกับชาวสวิสเท่านั้น แพทย์บางส่วนได้ให้ความเห็นว่า เสียงกระดิ่งที่ดังต่อเนื่องของวัวบนเทือกเขาแอลป์ ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่แก้วหูและสมอง ทำให้เหล่าผู้บัญชาการสั่งห้ามไม่ให้ทหารร้องเพลงพื้นเมืองสวิส
เพราะความกลัวว่าจะนำไปสู่การหนีทหารหรือฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเกิดการย้ายถิ่นฐานมากขึ้นในคนทั่วโลก nostalgia ได้ถูกค้นพบในคนหลายๆกลุ่ม ปรากฎว่าใครก็ตามที่พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนมาเป็นระยะเวลานานมีความเสี่ยงที่จะมีอาการ nostalgia
ต่อมาในช่วงปลายคริสศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบันจึงเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับ “nostalgia” หรือความคิดถึงในเชิงบวกและเชิงโรแมนติกมากขึ้น โดยนักจิตวิทยาหลายท่านได้ให้คำนิยามคำว่า “nostalgia”
เพิ่มเติมโดยหมายถึงการรำลึกหรือนึกถึงสิ่งต่างๆในอดีตซึ่งในปัจจุบันไม่มีสิ่งนั้นอยู่แล้ว จากงานวิจัยหลายงานวิจัยพบว่าในขณะที่เกิดความคิดถึงสิ่งต่างๆในอดีตนั้น มนุษย์เรามันจะนึกถึงช่วงเวลาที่มีความสุขในอดีต และส่งผลให้เกิดรู้สึกถึงความอบอุ่น มีความคิดเชิงบวกเวลาเราเกิดอาการคิดถึง
จนต่อมาพบว่า Nostalgia เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปกับทุกคน อีกทั้งยังส่งผลดีต่อจิตใจอีกด้วย ในปัจจุบันจึงมีการใช้คำนี้สื่อถึงความรู้สึกอบอุ่นในหัวใจเมื่อนึกถึง สถานที่ ผู้คน หรือเหตุการณ์บางสิ่งบางอย่างที่เคยประสบพบเจอในอดีต
มีการศึกษาวิจัยพบว่าการกระตุ้นให้เกิด Nostalgia ในคนเรา สามารถทำให้เสริมความมั่นใจในตัวเองได้ การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม สร้างความเมตตาต่อคนอื่น
เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นสาเหตุของสภาวะ mental distress (ความผิดปกติทางจิตใจ) Nostalgia สามารถใช้เป็นวิธีในการฟื้นฟูเพื่อรับมือกับปัญหาได้ด้วย เช่น เมื่อเราเจอสภาวะอารมณ์ในเชิงลบ การคิดถึงอดีตที่งดงามสำหรับเราทำให้เราคลายเครียดได้ Nostalgia ช่วยย้ำเตือนว่าชีวิตของเรามีความหมายและมีคุณค่า
นักจิตวิทยา Clay Routledge กล่าวถึงในงานวิจัย Nostalgia: Content, Triggers, Functions ไว้ว่า ภาวะความรู้สึก Nostalgia สามารถทำให้เกิดความรู้สึกทางบวก ทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ ในสังคม ส่งเสริมให้มองเห็นถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตในแง่ดี มากกว่าจมอยู่กับความรู้สึกแย่ที่เจอมา
เพราะบางครั้งการนำความทรงจำเก่า ๆ ให้หวนกลับมาอีกครั้ง อาจสามารถช่วยเป็นยาสมานแผลให้ลืมความเจ็บปวดของความเป็นผู้ใหญ่ที่พบเจอในชีวิตประจำวันไปได้
ความคิดถึงอดีต แล้วทำหน้าที่อะไร
งานวิจัยส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันรวมถึงงานวิจัยของ Krystine Batcho, ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ LeMoyne College ให้เหตุผลว่าความคิดถึงทำหน้าที่หลายอย่าง สิ่งที่เชื่อมโยงพวกตัวเราทั้งหมดเข้าด้วยกัน คือ ความคิดถึงเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ที่รวมเราเป็นเราในตอนนี้
1. ความคิดถึงช่วยรวมความรู้สึกของเราว่าเราอยากเป็นใครในอนาคต เพราะเมื่อเวลาผ่านไป เราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราอาจไม่ได้คิดไว้ แต่ความคิดถึงจึงกระตุ้นให้เราจดจำอดีตในชีวิตของเรา จะช่วยรวมเรา ณ ปัจจุบัน เข้ากับตัวตนที่แท้จริงของเราในอดีต และเตือนเราว่าเราเป็นใคร และนั่นทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นใครในอนาคต
2. เรารวมสิ่งที่เราความสุข และความทุกข์เข้าด้วยกันได้ ในขณะที่คิดถึงอดีตเป็นอารมณ์ที่หวานอมขมกลืน มันช่างหวานเพราะเรากำลังจดจำช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิต แต่ความขมขื่นมาจากความรู้สึกที่เรารู้แน่ชัดว่าเราไม่สามารถเอามันกลับคืนมาได้จริง ๆ พวกมันจากไปตลอดกาล
เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้อย่างสมบูรณ์ จึงช่วยให้เราจัดการกับความขัดแย้งในจิตใจ ความปรารถนาในสิ่งที่ไม่สามารถเป็นได้ และทำให้เราได้กลับมาทบทวนความรู้สึกของตัวเอง และยอบรับความจริงได้ และสามารถรวบรวมความสุขและความทุกข์เข้าด้วยกันได้
3. ความคิดถึงทำหน้าที่ทำหน้าที่ทางจิตวิทยาที่สำคัญเชื่อมโยงเรากับคนอื่น ๆ ในตอนเริ่มต้น เมื่อเรายังเด็กมาก ความคิดถึง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราผูกพันกับคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนของเรา เมื่อเราดำเนินชีวิตไป มันสามารถขยายไปสู่คนที่เราโต้ตอบด้วย คุณครู แฟน แม้กระทั่งคนที่เราแค่คุยผ่าน ๆ นี่เป็นปรากฏการณ์ความเชื่อมโยงทางสังคม และความคิดถึงในความรู้สึกนั้น เป็นอารมณ์ที่ดีในการเข้าสังคม
ผลวิจัยอันหนึงมากของ Dr. Routledge ความคิดถึงทำหน้าที่สำคัญในการดำรงชีวิต “มันทำให้นึกถึงประสบการณ์อันน่าจดจำซึ่งทำให้เรามั่นใจว่าเราเป็นคนที่มีคุณค่าและมีชีวิตที่มีความหมาย งานวิจัยบางชิ้นของเราแสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีความคิดถึงเป็นประจำ จะรับมือกับความกังวลเรื่องความตายได้ดีกว่า”
ทำไมกลิ่นทำให้เราโหยหาอดีต
เป็นเรื่องปกติที่กลิ่นจะพาความทรงจำกลับมาได้ เพราะสมองในส่วน “ฮิปโปแคมปัส” (Hippocampus) ที่ทำหน้าที่ในการสร้างความทรงจำระยะยาวให้กับมนุษย์หรือที่เรียกกันว่าความทรงจำนั่นเอง
และสมองส่วนฮิปโปแคมปัสนี้เองไม่เพียงแต่ในการเก็บความทรงจำต่าง ๆ แต่ยังใช้ในการรับกลิ่น ดังนั้นเวลาได้กลิ่นหอม ๆ หรือกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ สมองก็จะคอยบันทึกและเก็บไว้ในความทรงจำ
เสียงที่คุ้นเคยถึงทำให้เราโหยหาอดีต
(APA) ดร.แบตโช ได้กล่าวไว้ว่าดนตรีเป็นอารมณ์ที่ทำให้คนโหยหาอดีต การที่เรากลับไปฟังเพลงเก่า ๆ หรือเพลงประกอบโฆษณาตามทีวีสมัยเราเด็ก ๆ ก็สามารถทำให้เกิด Nostalgia ได้
เพลงบางเพลงก็ได้บันทึกเรื่องราวของเราไว้ในขณะที่เราฟังตอนนั้น ในปี 1999 มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเสียงเพลงมีพลังในการสร้างความทรงจำให้คนฟัง และช่วยกระตุ้นความทรงจำทั่ว ๆ
ไปในวัยเด็ก วัยรุ่น เคยแบบฟังเพลงบางเพลงแล้วเหตุการณ์ในตอนนั้นก็มาเป็นฉาก ๆ เลยเหมือนกัน
วัย coming of age ทำให้เราเจ็บปวด เราจึงโหยหายอดีต
การโหยหาความรู้สึกวัยเยาว์ การโหยหาความรู้สึกวัยเยาว์เป็นการโหยหาความรู้สึกนึกคิดหรือประสบการณ์วัยเด็กขณะทบทวน เรื่องต่าง ๆ ส่งผลต่อการเลือกตัดสินใจในปัจจุบัน
นอกจากนี้ก็มีการนำภาพในอดีตที่มีความสุข ความประทับใจ ในอดีตมาปลอบประโลมจิตใจให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับอุปสรรคในการดำเนินชีวิตยุคปัจจุบัน
Coming of age การข้ามผ่านวัย น่าจะเป็นช่วงที่เลยอายุ 19 มาแล้วจนถึง 30 กว่า ๆ เป็นวัยที่ค้นหาตัวเอง และต้องมีสิ่งที่รับผิดชอบมากมาย ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ มีเรื่องที่ต้องคิดเยอะมากขึ้น
ทำให้เราโหยหาอดีตในวัยเรียน วัยเด็ก วัยที่เรารู้สึกสนุก บางทีสังคมก็ peer pressure เราแบบไม่รู้ตัว ทำให้เราหลงทาง บางทีเราหลงลืมความสุข เพราะมีแรงกดดันจากสังคมรอบข้างที่เร่งให้เราประสบความสำเร็จ
สิ่งที่สำคัญเลย พยายามรู้ให้เท่าทันตัวเองเสมอว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกยังไง คุยกับตัวเอง self talk บ่อย ๆ เพราะความรู้สึกของเราสำคัญมาก ๆ
เทศกาล เป็น Nostalgia ของใครหลายๆ คน?
ดร.แบตโช กล่าวว่า ผู้คนรู้มีความรู้สึกคิดถึงมากขึ้นในช่วงเทศกาลเพราะความทรงจำมากมายถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ช่วงที่ครอบครัวและเพื่อนฝูงจะรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองและสานสัมพันธ์
ถ้าอย่างประเทศไทย ช่วงสงกรานต์ก็รวมตัวกันเพื่อทำบุญ และไปเที่ยว ทำอาหารทานกัน ทำให้หวนคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ และญาติ ๆ เมื่อมาถึงวันหยุดอีกครั้ง มันจึงเตือนเราถึงช่วงเวลาพิเศษ
และช่วยให้เราติดตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป และสิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมในชีวิตของเรา สำหรับหลาย ๆ คน วันหยุดจะนำความทรงจำของช่วงเวลาที่เรียบอบอุ่นกลับคืนมา พร้อมกับความรู้สึกปลอดภัยในวัยเด็ก
เทศกาลยังเตือนเราถึงคนที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตของเราและกิจกรรมที่เราทำด้วยกัน เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมคนที่อยู่ไกลบ้านมักจะรู้สึกคิดถึงความหลังในช่วงวันหยุด และทำไมคนจำนวนมากจึงเดินทางเพื่อกลับไปช่วงเทศกาลเพื่ออยู่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง
อย่างตอนเราวัยเด็ก เราจะได้เจอญาติผู้ใหญ่ เพื่อน ๆ ในวัยเรา ได้เล่น ได้จับของขวัญมีความทรงจำดี ๆ ด้วยกัน พอเราโตขึ้นมาหน่อยได้อยู่ไกลบ้านเราก็รอคอยเทศกาลเพื่อจะได้กลับมาเจอคนที่เราคิดถึง
ทำให้เทศกาลเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่เราจะได้ใช้เวลากับคนที่เรารัก มีความทรงจำที่อบอุ่นกับใครหลาย ๆ คน เคยได้ยินเพลงช่วงใกล้วันปีใหม่ ห้างก็จะเปิดเพลง All I want for Christmas is You ของมาราย แครี่ก็ทำให้เรานึกถึงตอนเพื่อนๆ ร้องในห้องเรียนเราก็จะแอบอมยิ้มตลอดเวลาที่ได้ฟังเลย
ยิ่งเติบโตความสุขยิ่งน้อยลงจริงไหม?
พอได้ทำการพูดคุยถึงประเด็นเรื่อง ความสุข เคยมีเหตุการณ์ที่เพื่อน ๆ ในทีมของเราถามกันว่า ถ้าให้เลือกหนึ่งอย่างที่เราทำบ่อย ๆ ที่เป็นชีวิตปกติประจำวันที่เราสามารถตอบได้
คนในทีมก็มีตอบว่า กิน,ดูคลิปตลก,นอน,กินข้าวแล้วดูอะไรที่ชอบ,อยู่กับคนแฟน จากที่ฟังและได้พูดคุยกันมันเป็นสิ่งเล็กน้อย เหมือนในวัยเด็กเลย แต่ที่เรารู้สึกว่าความสุขมันลดลง เพราะว่าเรามีเรื่องให้รับผิดชอบมากขึ้น คิดมากขึ้น
มันเลยไม่ได้สนุกเหมือนตอนเด็ก ๆ แล้วเท่านั้นเองความสุขไม่ได้น้อยลง แต่สิ่งที่ต้องโฟกัส ความรับผิดชอบต้องมีมากขึ้นในทุก ๆ ด้าน ทำให้เวลาของความสุขของเรา แบ่งไปกับหน้าที่อย่างอื่นของชีวิต
ยิ่งโตขึ้นยิ่งโหยหาอดีตมากขึ้นจริงไหม
ดร.แบตโช กล่าวว่า จากความสอดคล้อง ช่วงเวลาที่คนเราจะมีความคิดโหยหาอดีตมากที่สุดนั่นคือ ช่วงเวลา 20-25 ปี นั่นเป็นเพราะช่วงเวลานี้ เกิดการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่านของชีวิต เป็นช่วงเวลาสำคัญของ สภาพจิตใจ การพัฒนา ไปเป็นบุคคลที่ตัวเองต้องการจะเป็น
การโหยหาอดีตเป็นเรื่องที่ดี Nostalgia ค่อนข้างที่จะเป็นเชิงบวกเวลาที่เราโหยหาอดีต มันทำให้เรามีแรงใจฮึดสู้กับอนาคตมากขึ้น แต่อย่าให้ความโหยหายึดติดกับอดีตจนลืมการใช้ชีวิตในปัจจุบันของเราเช่นกัน เพราะอดีตบางทีก็เป็น ‘กับดัก’ ที่ทำให้เราไม่ก้าวไปพร้อม ๆ กับโลกที่ค่อนข้างจะเปลี่ยนไปเร็วแบบทุกวันนี้